15 ปีผ่านไปหลังจากการเข้าฉายของภาพยนตร์เรื่อง Minority Report ที่วาดฝันอนาคตแห่งการที่เทคโนโลยีสามารถช่วยทำนายความน่าจะเป็นของการเกิดอาชญากรรมได้ และยังเป็นไอเดียให้กับเทคโนโลยีอีกจำนวนไม่น้อยที่ก่อเกิดขึ้นมาในภายหลัง ในที่สุดตอนนี้เราก็ได้กลับมาคุยกันเรื่องการใช้เทคโนโลยีทำนายการเกิดอาชญากรรมกันอีกครั้งในปี 2017

ซึ่งถือว่าเกิดก่อนปี 2054 ในเนื้อเรื่องตั้งเกือบสี่สิบปี!

ก่อนจะพูดถึงหนังเรื่องอะไรสักเรื่องนั้นมารยาทที่ดีที่ควรทำคือการไม่สปอยล์เนื้อหาในหนัง หรือการเตือนไว้ก่อนล่วงหน้าว่าจะมีการสปอยล์เกิดขึ้น แต่ผ่านมา 15 ปีแล้ว ซู่ชิงคิดว่าเราน่าจะคุยถึง Minority Report กันได้โดยไม่จำเป็นต้องกลัวสปอยล์กันแล้วใช่ไหมคะ ถ้าอย่างนั้นเริ่มกันเลยดีกว่า

เตือนความทรงจำกันสักนิดหนึ่งก่อนแล้วกันค่ะว่าพล็อตเรื่องคร่าวๆ คืออะไร ในปี 2054 ตำรวจในกรุงวอชิงตัน ดีซี ของสหรัฐฯ ใช้เทคโนโลยีในการทำนายว่าฆาตกรจะลงมือเมื่อไหร่และเข้าไปสกัดยับยั้งและจับกุมก่อนที่จะเกิดการสังหารขึ้น ทำให้อัตราการฆาตกรรมในเมืองลดลงจนเหลือศูนย์ แต่พล็อตเรื่องเกิดเข้มข้นขึ้นมาตรงที่ว่า ทอม ครูซ ซึ่งรับบทเป็น จอห์น แอนเดอร์ตัน หัวหน้าตำรวจที่รับผิดชอบแผนกนี้โดยตรงเกิดอยู่ในคำทำนายว่าเขาจะกลายเป็นฆาตกรเสียเอง จนต้องหนีหัวซุกหัวซุนเพื่อพิสูจน์ตัวเอง



คราวนี้กลับมาที่โลกแห่งความจริงในปี 2017 และย้ายฉากมาอยู่ที่กว่างโจว ประเทศจีนกันค่ะ

ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่าตอนนี้ทางการของจีนกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาเทคโนโลยีการรู้จำใบหน้า โดยนำมาผสานเข้ากับปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถในการคาดการณ์ เพื่อที่จะทำแบบเดียวกันกับที่ทอม ครูซ และลูกน้องทำในภาพยนตร์ คือใช้แจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนที่จะเกิดเหตุอาชญากรรมขึ้น โดยการประมวลผลข้อมูลจากรูปแบบพฤติกรรมนั่นเอง

Cloud Walk (คลาวด์ วอล์ก) บริษัทเทคโนโลยีผู้อยู่เบื้องหลังโครงการนี้ ได้ทำการทดลองระบบการรู้จำใบหน้าและการติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคลมาสักระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งเทคโนโลยีที่คลาวด์ วอล์ก พัฒนานั้น จะเก็บข้อมูลของใครคนใดคนหนึ่ง ว่าเขาไปที่ไหน ณ เวลาใด และนำมาประมวลผลออกมาเป็นคะแนนว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนที่บุคคลๆ นั้นจะก่อเหตุอาชญากรรมขึ้น

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น จากคำให้สัมภาษณ์ของโฆษกของบริษัท เขาบอกว่า หากคนๆ หนึ่งเดินไปซื้อมีดหนึ่งเล่ม ก็ไม่ใช่เรื่องที่เข้าข่ายมีความเสี่ยงแต่อย่างใด แต่หากคนเดียวกันนั้นเดินไปซื้อค้อนและกระสอบหลังจากนั้น คะแนนความมีพิรุธของเขาก็จะเพิ่มสูงขึ้นทันที

นอกจากนั้นเทคโนโลยีของคลาวด์ วอล์ก ก็ยังสามารถดึงเอาฐานข้อมูลพฤติกรรมในอดีตมาใช้ในการระบุสถานที่อยู่ใครคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษได้ด้วย เช่นจะแจ้งเตือนตำรวจทันทีหากตรวจพบว่าบุคคลต้องสงสัยที่ถูกหมายหัวนั้นไปปรากฎตัวอยู่ในสถานที่สำคัญๆ หรือโผล่ให้เห็นในกล้องวงจรปิด

คล้ายๆ กับตอนที่ จอห์น แอนเดอร์ตัน ต้องยอมเปลี่ยนดวงตาเพื่อให้สามารถเดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้าโดยที่ไม่ถูกระบบสแกนม่านตาตรวจจับได้ว่านั่นคือเขาที่ทางการกำลังล่าหัวอยู่


“แต่จีนห้าวหาญกว่า [การแค่บอกว่าอาชญากรรมอาจจะเกิดขึ้นที่ไหนเมื่อไหร่] เพราะไปถึงขั้นที่บอกเลยว่า “ใคร” น่าจะเป็นคนก่ออาชญากรรมนั้นๆ”

ส่วนใหญ่แล้วเทคโนโลยีอาชญากรรมมักจะต้องพึ่งพาเทคนิคทางด้านปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งก็จะประกอบไปด้วยการวิเคราะห์พฤติกรรมหรือรูปแบบการเคลื่อนย้ายสถานที่ไปมา ซึ่ง ยูนิวิว อีกหนึ่งบริษัทสัญชาติจีน ก็ตามเก็บข้อมูลการเดินทางของบุคคลเพื่อหาว่าใครเดินทางไปยังประเทศที่ต้องสงสัยบ่อยๆ และเมื่อพบว่าเข้าข่ายก็จะเฝ้าติดตามดูเป็นพิเศษ

ถึงแม้ว่านี่จะไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการนำเอาเทคโนโลยีมาคาดการณ์การเกิดอาชญากรรม เนื่องจากว่าในลอสแองเจลีสหรือในมิลานเองก็เคยมีการทำแบบเดียวกันมาแล้ว แต่ส่วนใหญ่ที่ทำกันมักจะเป็นการนำฐานข้อมูลมาประมวลผลเพื่อหาว่าอาชญากรรมมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นที่ไหนและเมื่อไหร่ แต่จีนห้าวหาญกว่านั้น เพราะไปถึงขั้นที่บอกเลยว่า “ใคร” น่าจะเป็นคนก่ออาชญากรรมนั้นๆ

ฟังดูเป็นเทคโนโลยีในฝัน หากว่าเราสามารถทำให้ประเทศหรือโลกที่เราอยู่ปราศจากภัยอันตรายที่ก่อขึ้นมาจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ไม่มีอะไรที่เราจะได้มาโดยไม่เสียอะไรอีกอย่างหนึ่งไปจริงไหมคะ แม้กระทั่งในหนังเองก็มีการแสดงให้เห็นช่องโหว่ว่าการจับคนที่มีแนวโน้มก่ออาชญากรรมในขณะที่อาชญากรรมนั้นๆ ยังไม่เกิดขึ้นจริงถือเป็นเรื่องที่สมควรหรือไม่ และเมื่อคนที่บังคับใช้ระบบ อย่าง จอห์น แอนเดอร์ตัน ต้องตกมาเป็นอาชญากรที่ถูกตามล่าเสียเองก็ทำให้เขาได้เห็นจุดอ่อนของมัน

ซู่ชิงคิดว่าอีกหนึ่งความน่าเป็นห่วงของการใช้เทคโนโลยีรู้จำใบหน้าและปัญญาประดิษฐ์ในการทำนายว่าใครมีแนวโน้มจะก่อเหตุอาชญากรรมในจีนก็คือสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่คงไม่เอื้อให้ผู้บริสุทธ์มีโอกาสที่จะอธิบายตัวเองได้สักเท่าไหร่ ไม่ต้องไปไกลถึงการทำนายว่าใครจะฆ่าใคร ทุกวันนี้ในจีนก็เริ่มใช้เทคโนโลยีรู้จำใบหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ และบางกรณีก็ดูสุดโต่งไปมาก อย่างล่าสุดคือในเมืองจี้หนานที่ทางการใช้เทคโนโลยีนี้ในการระบุตัวตนของคนข้ามถนนอย่างผิดกฎหมายแล้วนำภาพใบหน้าคนๆ นั้นมาออกอากาศบนจอเพื่อประจานให้อับอาย คราวหลังจะได้ไม่ทำซ้ำแบบเดิมอีก

ที่น่าตกใจคือ ไม่ใช่ออกอากาศแค่ภาพหน้าในขณะนั้นนะคะ แต่ยังขึ้นรายละเอียดเลขที่บัตรประชาชนพร้อมกับที่อยู่ไปข้างๆ กันด้วยเลย แถมอาจจะยังเอาภาพและข้อมูลเหล่านี้ไปเปิดเผยบนโซเชียลมีเดียของจีนต่ออีกทอดด้วย

อันนี้ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมจะต้องประจานกันไปถึงเลขที่บ้านขนาดนั้น ซึ่งถ้าหากเกิดขึ้นในประเทศอื่นที่ให้ความสำคัญกับสิทธิส่วนบุคคลมากกว่านี้ ป่านนี้คงประท้วงถกเถียงกันจนร้อนเป็นไฟไปแล้ว

นอกจากนี้จีนก็ยังมีการนำเทคโนโลยีรู้จำใบหน้าแบบเดียวกันนี้ไปใช้ในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดแห่งหนึ่งเพื่อคาดการณ์ว่าจะต้องสั่งกระดาษทิชชู่ตอนไหนและเอาไว้จับขโมยทิชชู่ในห้องน้ำด้วย ช่างมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจหลากหลายจริงๆ

จีนจะเอาจริงเอาจังกับวงการปัญญาประดิษฐ์โดยมีแผนจะทุ่มเงินมากกว่าแสนล้านดอลลาร์ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ภายในปี 2030 รองนายกรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนบอกว่าเทคโนโลยีคาดการณ์การเกิดอาชญากรรมจะเป็นหนึ่งในการใช้งานปัญญาประดิษฐ์หลักๆ ของทางการจีน และก็จะทำให้ได้รู้ว่าใครอาจจะเป็นผู้ก่อการร้าย หรือใครมีแนวโน้มจะทำอะไรไม่ดีได้

สิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังในการใช้เทคโนโลยีแบบนี้ คือจะมีการเปิดช่องว่างสำหรับคนบริสุทธิ์ที่ “เข้าข่าย” ต้องสงสัยทุกประการให้ได้แก้ต่างหรือเปล่า ระบบมีความแม่นยำแค่ไหนเพราะมนุษย์ก็สามารถเปลี่ยนใจ กลับใจได้ตลอดเวลาเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน จะเกิดการใช้อำนาจในการจับกุมสอดส่องโดยมิชอบหรือไม่

และท้ายที่สุดคำถามที่เราจะต้องตอบตัวเองให้มั่นเหมาะและแม่นยำก็คือ มันจะทำให้โลกที่เราอยู่ดีขึ้นหรือแย่ลงกันแน่?


source ;-  https://everydaysueching.com/2017/11/19/china-uses-ai-to-prevent-crime/


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.