Posted: 21 Nov 2017 08:38 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ส่ง สนช. พิจารณาต่อ ระบุช่วยผู้ที่ไม่มีทุนทรัพย์ให้ได้รับการศึกษา ตั้งเป้า 43 ล้านคน ใน 6 กลุ่มช่วงวัยตั้งแต่อายุ 0-18 ปี ตามการศึกษาภาคบังคับ เงินทุนประเดิมเบื้องต้น 1,000 ล้าน


21 พ.ย. 2560 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยประเด็นหนึ่งคือ ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

MGR Online รายงานเพิ่มเติมว่า กอบศักดิ์ ภูตระกูล ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยด้วยว่า กองทุนดังกล่าวจะช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีทุนทรัพย์ให้ได้รับการศึกษา โดยตั้งเป้ากลุ่มเป้าหมาย 43 ล้านคน ใน 6 กลุ่มช่วงวัยตั้งแต่อายุ 0-18 ปี ตามการศึกษาภาคบังคับ ส่วนเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอยู่ในระหว่างการพิจารณา โดยมีเงินทุนประเดิมเบื้องต้น 1,000 ล้านบาท

สำหรับ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ตามสรุปของ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ระบุไว้ดังนี้



1. กำหนดให้มี “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูและอาจารย์ และเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติให้มีความรู้ ความสามารถ และคุณธรรม รวมทั้งมีศักยภาพที่จะดำรงชีวิตโดยพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง

2. กำหนดให้กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ได้แก่ เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นทุนประเดิมจำนวนหนึ่งพันล้านบาท เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของเงินงบประมาณแผ่นดินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา และเงินรายได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ทั้งนี้ ตามอัตราที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เป็นต้น โดยเงินและทรัพย์สินของกองทุนไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

3. ผู้เสียภาษีเงินได้มีสิทธิแสดงเจตนาให้รัฐนำเงินที่ตนได้เสียภาษีไว้ไปอุดหนุนกองทุนได้ปีละไม่เกินห้าพันบาท และผู้บริจาคเงินให้แก่กองทุนมีสิทธินำจำนวนเงินที่บริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนหรือรายจ่ายเพื่อการบริจาคตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากรได้เป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนเงินบริจาค ในอัตราไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินเฉพาะส่วนที่ไม่เกินห้าแสนบาทสำหรับบุคคลธรรมดาและไม่เกินร้อยละสองของกำไรสุทธิสำหรับนิติบุคคล

4. กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวนหนึ่งคน เป็นประธานกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวนหกคน เป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลังปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการและผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการโดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.