นิธิ เอียวศรีวงศ์
การที่คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ถูกดำเนินคดีหมิ่นสมเด็จพระนเรศวร นอกจากสะท้อนปัญหาในการมีและ/หรือการใช้ม.112 แล้ว ผมคิดว่ายังมีปัญหาความลักลั่นในเรื่องที่สำคัญไม่น้อยอีกสามเรื่อง คือการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในเมืองไทยหนึ่ง คติเกี่ยวกับวีรบุรุษของไทยหนึ่ง และชาตินิยมไทยอีกหนึ่ง
หวังว่าผมจะสามารถอธิบายปัญหาลักลั่นเหล่านี้ให้เข้าใจได้ ขอเริ่มจากเรื่องง่ายสุดก่อน คือปัญหาที่มาจากการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไทยในเมืองไทย
นับตั้งแต่เริ่มมีการศึกษาประวัติศาสตร์แบบตะวันตกในเมืองไทย ก็ดูเหมือนนักประวัติศาสตร์จะให้ความสำคัญแก่การสงครามมาแต่ต้น สงครามมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของทุกประเทศจริง เพราะสงครามสะท้อนอะไรอื่นอีกหลายอย่างเช่นระดับเทคโนโลยี, สังคม, เศรษฐกิจ หรือแม้แต่การเมือง ฯลฯ แต่นักประวัติศาสตร์ไทยสนใจสงครามอยู่เรื่องเดียวคือการรบ และใครแผ่อำนาจไปถึงไหนได้บ้าง
เนื้อหาสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่โบราณมาจนถึงรัชกาลที่ 4 จึงเป็นสงครามตลอด น่าเบื่อเข้าไส้แก่ทุกคน เพราะมองไม่เห็นว่าสงครามโบราณเหล่านั้นจะช่วยให้เข้าใจชีวิตจริงในอดีตหรือปัจจุบันได้อย่างไร ซ้ำร้ายยังช่วยส่งเสริมบทบาทครอบงำทางการเมืองของกองทัพเสียอีก คนไทยจำนวนมากยอมรับทันทีเมื่อกองทัพบอกว่าตนคือแนวหน้าในการปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพราะเขาถูกประวัติศาสตร์สอนมาว่า ชาติคือการรบ และเมื่อจะรบกันแล้ว ใครจะไปสำคัญกว่ากองทัพเล่าครับ
แต่หากชาติมีความหมายมากกว่าการรบ เช่นศาลซึ่งอ้างว่าพิพากษาในพระปรมาภิไธยมีความยุติธรรม โปร่งใสจนเป็นที่ยอมรับของประชาชนอย่างแท้จริง นั่นคือการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่พระบรมเดชานุภาพ ในฐานะสัญลักษณ์อธิปไตยของปวงชน ซึ่งทหารไม่เกี่ยว
ที่ผมสงสัยก็คือ เอ๊ะ นักประวัติศาสตร์สมบูรณาญา¬สิทธิราชย์ไม่น่าจะตั้งใจศึกษาเพื่อส่งเสริมอำนาจทางการเมืองของกองทัพ (แม่ทัพเก่งๆ นั้นเป็นอันตรายต่อราชบัลลังก์ทั้งในเมืองไทย และในรัฐอื่นๆ ทั่วโลก) เหตุใดจึงต้องเน้นเรื่องการสงคราม ผมตอบคำถามนี้ไม่ได้หรอกครับ แต่พยายามจะเดาอย่างเป็นเหตุเป็นผลที่สุดได้ว่า สงครามคือการขยายอำนาจ การขยายอำนาจคือการแสดงอธิปไตยเหนือดินแดนที่เป็นประเทศราช ซึ่งกำลังถูกพรากออกไปด้วยอำนาจทางทหารที่เหนือกว่าของฝรั่ง
แม้ว่าเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยสงครามอาจเอื้อต่อการครอบงำทางการเมืองของทหาร แต่เนื้อหาประวัติศาสตร์แบบนี้ก็ทำอันตรายแก่ทหารอย่างมากเหมือนกัน ประวัติศาสตร์สงคราม (อันเป็นวิชาบังคับของโรงเรียนทหารทั่วโลก) ที่สอนในโรงเรียนทหารไทยนั้น กลายเป็นประวัติศาสตร์สงครามที่ตื้นเขิน เพราะประกอบด้วยศาสตร์ของการรบต่างๆ เช่นเทคโนโลยี, กำลังคน, ผู้นำทัพ, ยุทธวิธี (มากกว่ายุทธศาสตร์ด้วยซ้ำ เพราะเป้าหมายของสงครามนั้นย่อมกว้างใหญ่ไพศาลกว่าการรบ เช่นชิงเมืองท่าของข้าศึกเพื่อกีดกันการค้ามิให้มาแข่งขันได้ เช่นที่อยุธยาเคยทำแก่จตุรพักตร์หรือพนมเปญ และหงสาวดีทำแก่เมืองท่าฝั่งตะวันตกของอยุธยา และส่วนนี้แหละที่ประวัติศาสตร์สงครามแบบไทยไม่ได้สอน)
สงครามก็เหมือนกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ ของมนุษย์ เช่นการปกครอง, การปฏิบัติศาสนา, การค้าขาย, การขนส่ง ไปจนถึงการเลือกคู่ และการทำมาหากิน กล่าวคือไม่ใช่อากัปกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่งที่อยู่โดดๆ แต่เป็นการกระทำที่เชื่อมโยงไปถึงด้านอื่นๆ เกือบทุกด้านของสังคม ถ้าเราย่นย่อประวัติศาสตร์สงครามให้เหลือเพียงมิติเดียวคือการรบ เรากำลังสอนเทวปกรณัมที่เทวดาองค์ต่างๆ ทำสงครามกันเท่านั้น ไม่สามารถสร้างนายทหารที่รบเป็นขึ้นมาได้ ไม่พักต้องพูดถึงแม่ทัพใหญ่ที่สามารถนำชัยชนะมาสู่กองทัพได้
ภาษิตอังกฤษบทหนึ่งมีว่า ใครที่มีค้อนย่อมมองทุกอย่างเป็นตะปูไปหมด นั่นคือเหตุผลว่า เพราะเราสอนประวัติศาสตร์กันแบบนี้ นายทหารไทยจึงเป็นแค่คนถือค้อน
ผมขอยกตัวอย่างจากกรณีสมเด็จพระนเรศวรนี่แหละครับ
ไม่ว่าพระนเรศวรจะได้ทรงทำยุทธหัตถีหรือไม่ หรือทรงทำในลักษณาการใด พระนเรศวรก็เป็นกษัตริย์ที่สำคัญพระองค์หนึ่งของอยุธยาอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะทรงมีพระชนมชีพในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของราชอาณาจักรอยุธยา ในช่วงเวลาที่อยุธยาอาจพัฒนาไปเป็นราชอาณาจักรขนาดใหญ่ หรือถอยกลับไปเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อย (principalities) เหมือนรัฐไทยอื่นๆ เช่นล้านช้าง, ล้านนา, รัฐชานในพม่า, รัฐไทในสิบสองจุไท, ฯลฯ
และเป็นเพราะสมเด็จพระนเรศวรนี่แหละที่ทำให้อยุธยาไม่มีวันถอยกลับไปเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อยได้อีก
แม้ว่ากษัตริย์ก่อนหน้าสมเด็จพระนเรศวรพยายามสร้างราชอาณาจักรขนาดใหญ่ โดยการปราบปรามหรือผนวกแคว้นเล็กแคว้นน้อยมาไว้ในอำนาจ แต่แว่นแคว้นที่ขึ้นอยุธยาไม่เคยประสานกันได้สนิท การเสียกรุงแก่พระเจ้าบุเรงนองเป็นพยานให้เห็นว่าหัวเมืองเหนือหรือแคว้นสุโขทัยเดิม พร้อมจะแยกตัวกลับไปเป็นรัฐอิสระ (ที่อาจเปลี่ยนนายได้ตามจังหวะ)
ในช่วงที่อยุธยาตกเป็นประเทศราชของหงสาวดีภายใต้รัชกาลพระมหาธรรมราชา ไม่เฉพาะละแวกเท่านั้นที่ยกกำลังมาโจมตีกวาดต้อนผู้คนถึงอยุธยา แต่หัวเมืองในเขตที่เคยขึ้นต่ออยุธยาเองก็ทำอย่างเดียวกัน เช่นเพชรบุรี, ญาณพิเชียรได้กำลังคนจากลพบุรีก่อกบฏ และเจ้าเมืองพิชัยและสวรรคโลกเลือกจะขึ้นหงสาวดีแทนอยุธยา (นี่ว่าเฉพาะเท่าที่มีหลักฐานบอกให้รู้ได้) นี่คืออาการล่มสลายของราชอาณาจักรใหญ่ของพวกไทย-ลาวซึ่งเคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งหลายหนแล้ว แต่สมเด็จพระนเรศวรสามารถหยุดยั้งกระบวนการนี้ได้ ซ้ำเสริมสร้างให้แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม
มหายุทธนาการที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐต่างๆ ในช่วงนี้ เป็นไปได้ก็เพราะความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้มาเป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว ซึ่งมีผลต่อเทคโนโลยีทางทหาร สรุปได้สามอย่างคือ หนึ่งปืนไฟ (ทั้งปืนใหญ่และปืนประจำกายทหาร) ซึ่งฝรั่งพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยีจีน สองทหารจ้าง ซึ่งกลายเป็นกำลังหลัก (elite force) ของกองทัพ ทหารจ้างเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญ¬การรบยิ่งกว่าทหารเกณฑ์ในกองทัพชาวพื้นเมือง เพราะวิถีชีวิตในวัฒนธรรมหรืออาชีพก็ตาม และสามคือความสามารถที่จะเกณฑ์ช้างและม้าและผู้คนจำนวนมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเพื่อใช้ในการสงครามได้
สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างเต็มที่ ทรงเสริมสร้างให้กำลังทหารและกำลังการบริหารของอยุธยาแข็งแกร่งเหนือหัวเมืองทั้งหมดอย่างเทียบกันไม่ได้ ปราศจากพลังกดดันอย่างใหญ่จากอำนาจภายนอก ก็ยากที่ราชอาณาจักรอยุธยาจะแตกสลายลงได้
ทรงกวาดต้อนผู้คนในแคว้นสุโขทัยเดิมลงมาไว้ในภาคกลางภายใต้อยุธยา เพื่อรวบรวมกำลังในการป้องกันตนเองจากทัพหงสาวดี ทำให้รอยแยกระหว่างสุโขทัยและอยุธยาสลายไปหมดในทางปฏิบัติ การเมืองเรื่องแย่งอำนาจระหว่างราชวงศ์ที่ครองอยุธยากับราชวงศ์ท้องถิ่น ต้องย้ายมาอยู่ในราชสำนักอยุธยาเพียงจุดเดียว
การเอาคนที่ยังวางใจสนิทไม่ได้จำนวนมากมาไว้ใกล้ตัว ด้านหนึ่งก็ทำให้ควบคุมได้ง่าย แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจก่ออันตรายให้แก่ตนเองได้ง่ายด้วย กวาดต้อนจึงไม่ใช่แค่เรื่องใช้กำลังทหาร แต่ต้องใช้วิธีอื่นๆ อีกมากที่จะทำให้ภัยใกล้ตัวไม่เกิดขึ้น สงครามจึงไม่ใช่เรื่องการรบอย่างเดียวดังที่สอนกันในโรงเรียนทหาร มีเงื่อนไขอื่นๆ ที่ทหารไม่ชำนาญอีกมาก ที่จะทำให้กองทัพประสบชัยชนะได้
การที่ทรงยกทัพไปปราบหัวเมืองใกล้เคียงและทำสงครามกับหงสาวดีเกือบตลอดรัชกาล ทำให้กองทัพจากส่วนกลางเหยียบย่ำไปทั่วพระราชอาณาจักร สะกดหัวเมืองให้สยบยอมต่ออยุธยาสืบต่อมาอีก 200 ปี ก็เป็นผลให้อยุธยาเข้มแข็งขึ้นและใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์เหนือหัวเมืองทั้งหมดได้อย่างมั่นคง จริงอยู่ กษัตริย์นักรบที่ทำสงครามตลอดรัชกาลย่อมนำบ้านเมืองสู่หายนะ (อย่างเช่นกษัตริย์ราชวงศ์ตองอูระยะแรก ราชอาณาจักรอันไพศาลล่มสลายลงในพริบตาเมื่อสิ้นพระเจ้าบุเรงนอง) แต่ก็บังเกิดผลในระยะยาว หากผู้นำต่อๆ มารู้จักใช้ประโยชน์จากอำนาจครอบงำที่เกิดขึ้นได้อย่างสร้างสรรค์ เช่นสร้างระบบปกครองที่รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางยิ่งขึ้น
แต่สงครามขยายดินแดนอย่างเดียวไม่มีความหมายมากนัก ว่ากันที่จริงแล้ว การสถาปนาตนเองเป็น"มหาจักรพรรดิ"ตามคติของพุทธศาสนาเถรวาทสายลังกา ทำให้พระเจ้าบุเรงนองก็ตาม สมเด็จพระนเรศวรก็ตาม ต่างขยายดินแดนออกไปเกินกำลังทางเศรษฐกิจ, การเมืองทั้งภายในและต่างประเทศ, และสังคม,ของหงสาวดีและอยุธยาเอง
เมื่อสิ้นรัชกาล ทั้งสองรัฐก็ไม่สามารถรักษาการครอบงำของตนไว้เหนือดินแดนส่วนใหญ่นอกเขตแกนกลางได้มากนัก
นี่ไงครับ การรบอย่างเดียวอธิบายประวัติศาสตร์สงครามไม่ได้ สงครามคืออะไรที่มากกว่าการรบเสมอ ซ้ำสำคัญกว่าการรบเสียด้วยซ้ำ
(ความเข้าใจประวัติศาสตร์อยุธยาตอนนี้ของผมคงเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่อาศัยความรู้และข้อมูลจากหนังสือประวัติศาสตร์อยุธยาที่ดีที่สุดในทุกภาษาของโลก คือ A History of Ayutthaya ของอาจารย์คริส เบเคอร์และอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร น่ายินดีที่หนังสือเล่มนี้กำลังอยู่ในกระบวนการพิมพ์ออกเป็นภาษาไทย)
แต่ความสำคัญของสมเด็จพระนเรศวรที่เรียนและสอนกันในประวัติศาสตร์ไทย เหลืออยู่แค่เรื่องชนช้าง จนทหารบางคนเดือดร้อนที่มีคนพูดว่าท่านไม่ได้ชนช้าง ต้องไปฟ้องร้องให้เป็นคดีความว่าหมิ่นพระนเรศวร ซึ่งไม่รู้ว่าผิดกฏหมายข้อไหน (กลับไปอ่าน ม.112 ให้ดี ไม่ว่าจะยืดความหมายอย่างไร ก็คลุมไม่ถึงพระนเรศวรอยู่นั่นเอง) ในแง่นี้แหละที่ผมเห็นว่าพระนเรศวรทรงเป็นพระมหากษัตริย์อยุธยาที่อาภัพที่สุดพระองค์หนึ่ง
บางคนพูดว่า พระนเรศวรไม่ได้กู้ชาติ เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีชาติให้กู้ ฟังดูเหมือนเป็นการเล่นคำสนุก แต่ที่จริงแล้วมีความสำคัญมาก เพราะชาติไม่ได้หมายถึงดินแดนหรือบุรณภาพทางดินแดน เมื่อชาติไทยหรือสยามถือกำเนิดขึ้นในศตวรรษที่แล้ว ก็หาได้มีดินแดนตรงกับดินแดนราชอาณาจักรอยุธยาสมัยพระนเรศวรไม่ เราอาจพูดอย่างนี้ได้กับแทบทุกชาติในโลกเวลานี้ คือหาได้มีดินแดนตรงกับสมัยที่ยังไม่เกิดชาติขึ้นทั้งสิ้น
ชาติเป็นหน่วยการเมืองการปกครองอันแรกที่ประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน ทั้งจากการกดขี่บีฑาของอำนาจภายนอกและของอำนาจภายใน ชาติไทยพยายามทำอย่างนี้ให้ได้อย่างน้อยก็โดยทฤษฎีนับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา ไม่ว่าดินแดนของชาติจะเหลืออยู่เท่าไร หรือขยายออกไปอีกสักเท่าไร หลักการพื้นฐานของความเป็นชาติดังกล่าวต้องดำรงอยู่ ความสิ้นชาติจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเราละทิ้งหลักการพื้นฐานดังกล่าวไปสิ้นเชิงนั่นเอง
เพราะไปสอนและเรียนประวัติศาสตร์มาอย่างผิดๆ นี่แหละ ที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยไปเข้าใจว่าชาติคือดินแดน แล้วปล่อยปละละเลยให้พี่น้องร่วมชาติถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างหนัก ในนามของการรักษาดินแดนไว้ให้ได้ทุกตารางนิ้ว
พระนเรศวรนั้นเป็นวีรบุรุษของอยุธยาแน่ ขนาดคนสมัยนั้นสร้างพระรูป (เข้าใจว่าพระพุทธรูปฉลองพระองค์) ขึ้นไว้ในโรงแสง สำหรับกราบไหว้บูชา ชาวกรุงเก่าเชื่อว่าเสด็จลุกขึ้นกระทืบพระบาทเมื่อก่อนจะเสียกรุงในค.ศ.1767 (ดังนั้นหากเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ ก็น่าจะเป็นปางป่าเลไลยก์) แต่พระองค์จะทรงเป็นวีรบุรุษของชาติไทยหรือไม่ คงเถียงกันได้ ไม่ใช่เพียงเพราะสมัยนั้นยังไม่มีชาติเท่านั้นนะครับ แต่เพราะพระราชกรณียกิจของพระองค์ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของพลเมืองเลย
อย่างไรก็ตาม จะให้เกี่ยวโดยอ้อมก็พอจะลากไปได้ พระนเรศวรเป็นกษัตริย์สำคัญองค์หนึ่งของอยุธยา ที่ช่วยทำให้อยุธยาสามารถรวมอำนาจเข้าศูนย์กลางในทางปฏิบัติได้จริง ราชอาณาจักรอยุธยาที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (ซึ่งคือท้องที่ภาคกลางและใต้ในทุกวันนี้) นี้แหละที่เป็นแกนกลางให้เกิด"ชาติไทย"ขึ้นในภายหลัง แต่ก็เป็น"ชาติ"ในทางดินแดนเท่านั้น ไม่ใช่"ชาติ"ในเชิงหลักการ
เราอาจพูดอย่างเดียวกันได้กับพระเจ้าชาลมาญของฝรั่งเศส (หรือเยอรมัน?) ราชอาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาลของท่านไม่ได้ทำให้เกิดดินแดนของรัฐชาติใดในปัจจุบัน แต่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระดับหนึ่ง ทำให้เกิดรัฐอีกชนิดหนึ่งซึ่งรวมแว่นแคว้นต่างๆ ไว้ภายใต้กษัตริย์ฝรั่งเศส และจักรพรรดิของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
เช่นเดียวกับจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งในพระราชประวัติคือผู้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองอย่างร้ายกาจ แต่ก็ทิ้งมรดกดินแดนจักรวรรดิจีนไว้ให้แก่"ชาติ"จีนในเวลาต่อมา จะนับว่าเป็นวีรบุรุษของ"ชาติ"จีน (อย่างที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนอยากให้นับ) ก็มีเหตุผล จะไม่นับก็มีเหตุผล
เรื่องวีรบุรุษของ"ชาติ" และชาตินิยมนั้นมีอะไรที่สับสนพอสมควร เพราะไม่ว่าจะ"ชาติ"อะไร ก็ต้องสร้าง"ประวัติ"ของ"ชาติ"ขึ้น เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่ดินแดนและประชาชนซึ่ง"ชาติ"ครอบครองอยู่ทั้งสิ้น ผมจะขอยกเรื่องนี้ไปคุยกันในตอนหน้า
(ยังมีต่อ)
a
แสดงความคิดเห็น