Posted: 19 Nov 2017 11:42 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล


ยอมรับว่าล่าช้าไปมาก หากนับว่ามีวาระครบรอบเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคมไทยที่มักเวียนบรรจบอยู่เนืองๆ และสื่อมีหน้าที่ต้องผลิตเนื้อหาเพื่อย้ำเตือน

วันที่ 25 ตุลาคม 2547 คืออีกหนึ่งวาระที่ถึงเวลานี้มันคงเป็นแค่เชิงอรรถเล็กๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ หนักกว่านั้นคือถูกหลงลืมและไม่สลักสำคัญ 13 ปีของการสลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส ผู้ชุมนุมถูก ‘ขน’ ขึ้นรถ วางทับซ้อนกันเหมือนวัตถุสิ่งของ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน และจนบัดนี้ ยังไม่มีผู้สั่งการและผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต้องรับผิดแม้แต่คนเดียว

ในประเทศที่วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถูกค้ำยัน-ผลิตซ้ำด้วยโครงสร้างและกลไกต่างๆ ของรัฐ อาจบางที...การทบทวนเหตุการณ์ตากใบเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ทุกวัน

ประทับจิต นีละไพจิตร กับงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง ‘ความยุติธรรมกับการขับเคลื่อนความขัดแย้ง: ศึกษากรณีเหตุการณ์ความรุนแรงหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส’ เธอบอกกับเราว่า จุดตั้งต้นของความสนใจศึกษาเหตุการณ์นี้และการงานอันเกี่ยวเนื่องกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้คือการหายตัวไปของพ่อเธอ สมชาย นีละไพจิตร เมื่อศึกษาลึกขึ้นๆ เธอค้นพบว่าตากใบมีสถานะพิเศษในตัวมันเอง

ตากใบไม่ได้เกิดขึ้นวันที่ 25 ตุลาคม 2547 แล้วจบวันนั้น แต่หลังจากนั้นอีกหลายปี มันส่งผลกระทบและยังเกิดเหตุการณ์ตลอดเวลา


ที่ตามมาหลังจากนั้น


“ในทางทฤษฎี เรามองว่าเหตุการณ์ตากใบเป็นเหตุการณ์ที่มีศักยภาพนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความขัดแย้ง มันเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ตากใบไม่ได้เกิดขึ้นวันที่ 25 ตุลาคม 2547 แล้วจบวันนั้น แต่หลังจากนั้นอีกหลายปี มันส่งผลกระทบและยังเกิดเหตุการณ์ตลอดเวลา ที่สำคัญคือตากใบเป็นเหตุการณ์แรกในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ก่อผลสะเทือนเยอะ ทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัย 44 คน นำโดยอาจารย์สุริชัย หวันแก้วเข้าไปหาคุณทักษิณ ชินวัตร ว่าเรื่องนี้ต้องจัดการ”

สำหรับประทับจิต เหตุการณ์ตากใบสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อการมองสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพราะหลังจากเกิดเหตุ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) มีอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ซึ่ง กอส. ได้นำพาองคาพยพอีกแบบหนึ่งในการคิดถึงสามจังหวัดชายแดนใต้ให้ปรากฏ

“ก่อนหน้านี้ ทักษิณจะใช้คำว่า ‘โจรใต้’ เรื่องความหลากหลายทางชาติพันธุ์ คนส่วนกลางไม่รู้อะไรเลย แต่หลังจากที่มี กอส. ทำให้มีความคิดใหม่ๆ ในการจัดการปัญหาชายแดนภาคใต้ เกิดการยอมรับ ตระหนักเกี่ยวกับความหลากหลายทางอัตลักษณ์ ตากใบนำองคาพยพใหม่ในการแก้ปัญหาเข้ามาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้สถานการณ์มีความยืดหยุ่น”

ในส่วนของชาวบ้าน ประทับจิตกล่าวว่า คนที่เห็นการเปลี่ยนแปลง-เปลี่ยนผ่านมากที่สุดคือ ‘แยนะ สะแลแม’ ที่ก้าวจากหญิงชาวบ้านธรรมดามาเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นตากใบในฐานะเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ แต่เธอไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มผู้ชาย ทั้งที่ผู้ที่รอดชีวิตน่าจะแสดงบทบาทเป็นแกนนำ แต่ปรากฏว่าหลังเหตุการณ์ตากใบหรือหลังเหตุการณ์อื่นๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีผู้ชายขึ้นมาเป็นแกนนำเลย

“ส่วนหนึ่งก็ต้องเข้าใจ เพราะหลังจากคุณถูกปล่อยตัว คุณจะถูกติดตามไปตลอดชีวิต เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดระเบิดที่ตากใบ คนเหล่านี้จะถูกเรียกกลับมาสอบสวน เรามองว่าเป็นผลกระทบระยะยาวต่อผู้ชาย แล้วหลายคนก็ได้รับความกระทบกระเทือนทางใจมาก โดยเฉพาะการเอามือมัดไพล่หลัง การทับ ในทางระหว่างประเทศนี่คือการซ้อมทรมาน มันรุนแรง แต่ไม่มีใครช่วยบำบัดพวกเขาให้ผ่านพ้นจุดนี้ไป รัฐก็ไม่ได้เข้าไปช่วย เพราะตอนนั้นความรู้ทางด้านการแพทย์และด้านสิทธิมนุษยชนไม่มี”

นอกจากการเปลี่ยนแปลง-เปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นแล้ว เหตุการณ์ตากใบยังถูกฉวยใช้จากหลายฝ่าย ประทับจิตกล่าวว่า ในปีกของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ใช้ความรุนแรงก็ยังใช้เรื่องนี้ในการรณรงค์เพื่ออัตลักษณ์ เพื่อเอกราชของคนมลายู ซึ่งเธอวิจารณ์ว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้ติดตามเรื่องตากใบโดยละเอียด เพียงแต่ใช้เหตุการณ์วันที่ 25 ตุลาคม 2547 โดยไม่ได้คำนึงว่าชาวบ้านมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีผลกระทบดีหรือไม่ดีอย่างไร ดังนั้น แม้จะเป็นปีกการเมืองที่เคลื่อนไหวอย่างสันติ กลับไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เหตุเพราะไม่เข้าใจพลวัตที่เกิดขึ้นจากความรุนแรง

ฝ่ายรัฐ ฝ่ายความมั่นคงก็ใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์ตากใบด้วยการอ้างว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก แต่หากตรวจสอบจะพบว่าหลังจากเหตุการณ์ตากใบก็ไม่เกิดการชุมนุมระดับนี้อีกเลย ในทศวรรษ 2550 เป็นต้นมา ลักษณะการชุมนุมเปลี่ยนแปลงไป เป็นการชุมนุมแบบใช้ผู้หญิงปิดหน้า ด้านนักศึกษาก็เพียงแค่เดินขบวน ไม่มีการประท้วงแสดงความไม่พอใจต่อความไม่ยุติธรรมระดับเดียวกับเหตุการณ์ตากใบอีกต่อไป

“ทุกปีฝ่ายความมั่นคงบอกว่า วันนี้ 25 ตุลาคม เราต้องเฝ้าระวังความรุนแรง เพราะฝ่ายความรุนแรงจะเคลื่อนไหว เฝ้าระวังความรุนแรงคืออะไร คือจับตามองและจับกุมคนที่ต้องสงสัยเพิ่มมากขึ้น นี่คือการใช้แบบหนึ่งและบอกว่าความยุติธรรมคือการที่เราให้เงินแล้ว”


12 ปี ตากใบ บาดแผลที่ยังไม่เลือน ความยุติธรรมที่ยังไม่มา
การเมืองของเหตุการณ์ตากใบ (1) ฟังความขัดแย้ง-สันติภาพผ่านเวทีรำลึก 11 ปี
การเมืองของเหตุการณ์ตากใบ (2) คำถาม-คำตอบเพื่อเดินหน้าสู่สันติภาพปาตานี


ไม่ไหวแล้ว พอ จบ

แม้จะมีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คนจากการสลายการชุมนุม แต่ไม่น่าเชื่อว่าชาวบ้าน 75 คนที่รอดชีวิตกลับถูกฝ่ายความมั่นคงฟ้องร้องในข้อหาอั้งยี่และก่อความเสียหายต่อทางราชการ อีกด้านหนึ่ง ประทับจิตเล่าว่า หลังจากเหตุการณ์ต่อเนื่องนานหลายปี ฝ่ายกองทัพมีปฏิบัติการหลายอย่างเพื่อลดความตึงเครียดและบรรเทาความรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมของชาวบ้านลง เช่น มีการส่งนายทหารที่มีประวัติดีลงไปดูแลชาวบ้าน มีการเข้าไปหาชาวบ้าน เข้าหาคนพิการ ในระหว่างการเจรจาก็มีการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน เจ้าหน้าที่ก็ไม่ติดใจอุทธรณ์คำสั่งศาล มีกรณีที่ชาวบ้านจะได้รับเงินเพิ่ม แต่ขอให้เซ็นว่าจะไม่ดำเนินคดีอาญา แต่ทนายบอกว่าไม่ควรให้มีการเซ็นในลักษณะนี้ จึงลงเอยด้วยการไม่มีใครเซ็น

สำหรับประทับจิต สิ่งนี้ไม่ต่างกับการตบหัวแล้วลูบหลัง เป็นการผ่อนคลายสถานการณ์ความตึงให้มากที่สุด ซึ่งก็ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง

แต่เหตุการณ์ที่ประทับรอยแผลในความรู้สึกของเหยื่อและประทับรอยด่างพร้อยให้แก่กระบวนการยุติธรรมคือกรณีการไต่สวนการตายที่เป็นการหาสาเหตุการตายและหาว่าใครทำให้ตาย

“ชาวบ้านจบลงที่การไต่สวนการตาย วันที่ไปสังเกตการณ์การไต่สวนการตาย ซึ่งก็คือการเปิดเผยข้อเท็จจริงโดยกระบวนการศาล หลังจากชาวบ้านฟังแล้วก็ส่ายหัว ทุกคนบอกว่าไม่ไหวแล้ว พอ จบ ทั้งที่ชาวบ้านควรคัดค้านการไต่สวนการตายและนำคดีขึ้นสู่ศาลอาญา แต่ถ้าจะฟ้อง มันต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด เพราะไม่มีพยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านสักเท่าไร

“การไต่สวนการตายบอกว่า ชาวบ้านตายเพราะขาดอากาศหายใจ ซึ่งเป็นคำอธิบายแรกที่คุณหมอพรทิพย์ (โรจนสุนันท์) พูดตั้งแต่วันแรกที่มาเจอศพ แต่คำไต่สวนการตายไม่บอกว่าใครเป็นคนทำให้ขาดอากาศหายใจ แถมบอกอีกว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องทำให้ตายจริง แต่อยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ วรรคทองตรงนี้ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่า เหมือนกำลังบอกว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ทำอะไรผิด เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาความสงบ”

เพราะต้องขึ้นโรงขึ้นศาลหลายคดี อายุอานามของชาวบ้านแต่ละคนที่เป็นผู้เสียหายก็อยู่ในวัยปลายชีวิต ไม่มีการส่งผ่านรุ่นต่อรุ่น ‘แยนะ’ ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงการเคลื่อนไหวก็ค่อยๆ วางมือ ไม่มีชาวบ้านคนใดคิดสานต่อ ทั้งที่กฎหมายยังเปิดช่องให้หาตัวคนผิด อย่างการผ่านช่องทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แต่ก็นั่นแหละ เวลาล่วงเลยมาขนาดนี้ พบเผชิญกระบวนการยุติธรรมแบบนี้ ชาวบ้านเหนื่อยล้าเกินกว่าจะทำอะไรได้อีก ราคาสูงเกินไปที่จะเรียกร้องความยุติธรรม

“ชาวบ้านเหนื่อย ไม่มีความหวังกับกระบวนการยุติธรรม”

ความยุติธรรมติดเพดาน

“ความยุติธรรมติดเพดาน มันมีเพดานบางอย่าง เหตุการณ์นี้ไม่สามารถนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงกองทัพได้เลย เราเคยสัมภาษณ์อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ที่เข้ามารับตำแหน่งหลังจากเหตุการณ์ตากใบ ถามว่าชาวบ้านต้องการให้ท่านขอโทษในทางสาธารณะ เขาบอกว่าทำไม่ได้ ถ้าทำอย่างนั้น ความชอบธรรมในการอยู่ภาคใต้จะหมด นี่คือการรักษาความชอบธรรมของกองทัพ ถ้ามีความรับผิดชอบ (accountability) ปุ๊บ กองทัพคิดว่าจะหมดความชอบธรรมในการคงอำนาจนำไว้ แล้วเขาก็เล่าให้ฟังว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ทหารการย้ายออกจากพื้นที่มันน่าอาย มันทำให้เสียหน้า มันคือการลงโทษแล้ว นี่คือความเข้าใจของกองทัพว่าเขาได้ทำดีที่สุดแล้ว เขายอมรับในความผิด แต่ไม่สามารถขอโทษได้ เพราะตามหลักการของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ขอโทษแล้วมักจะนำมาซึ่งการปฏิรูปกองทัพให้อยู่ใต้พลเรือน แต่ประเทศไทยไม่ไปไหน”

ประทับจิตตั้งข้อสังเกตว่า ระบบศาลยุติธรรมกล้าตัดสินว่ากองทัพต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ตากใบหรือไม่ อย่างในการไต่สวนการตาย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ส่งคนขับรถซึ่งมองไม่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นหลังรถมาเป็นผู้ให้ปากคำ ขณะที่ศาลก็ไม่ใช้อำนาจที่ตนมีเพื่อเรียกคนระดับแม่ทัพหรือผู้บังคับบัญชามาให้ปากคำ

“ศาลในระบบไต่สวนการตายมีสิทธิ์จะปฏิเสธพยานที่เป็นแค่คนขับรถ แล้วให้เรียกนายทหารระดับสูงแค่ไหนก็ได้มาให้การในศาล แต่ไม่ทำ เพราะเขายึดตามกฎหมาย ในระบบศาลไทย ถ้าคุณจะกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐสักคน คุณต้องไปหาหลักฐานมาเอง ต้องทำให้ศาลเชื่อ มันเป็นระบบกล่าวหา คนที่เป็นผู้กล่าวหาต้องเอาพยานหลักฐานมาให้ศาลดูและทำให้ศาลเชื่อได้”

ความยุติธรรมที่ติดเพดาน ประทับจิตมองว่าเป็นผลจากโครงสร้างใหญ่ มันเกี่ยวกับการคงไว้ซึ่งระบอบทหารในสังคมไทย ขณะที่บทบาทของผู้พิพากษา อัยการ และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมก็เป็นส่วนหนึ่งของการค้ำยันโครงสร้างนี้

“อัยการบอกว่าชาวบ้านก่อความรุนแรง ทั้งที่ชาวบ้านบอกว่ามันคือการชุมนุมภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 มีการสกรีน แล้วเรามั่นใจว่าชาวบ้านไม่มีอาวุธ อาวุธก็แค่เก็บหินมาปา อัยการเป็นคนของรัฐมีหน้าที่ช่วยชาวบ้าน แต่ไม่ได้ทำหน้าที่นั้น”

ด้วยโครงสร้างเช่นนี้ แม้ชาวบ้านจะอยากได้ความยุติธรรม ก็เป็นไปไม่ได้ ประทับจิตถ่ายทอดความยุติธรรมแบบที่ชาวบ้านต้องการให้ฟังว่า เวลาที่ชาวบ้านทำผิดกับเวลาที่เจ้าหน้าที่รัฐทำผิด ควรจะได้รับผลเท่ากัน เท่านี้จริงๆ ที่พวกเขาต้องการ ทั้งที่รู้เต็มอกว่าเป็นไปไม่ได้ มีเรื่องเล่าของการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมที่ตอกย้ำลงในความรู้สึกนึกคิดของคนสามจังหวัดว่า ฝืนต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม ไม่นานก็ต้องแพ้ เพราะมันตัน เมื่อความยุติธรรมไม่อาจเป็นจริง โดยส่วนมากคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเลือกขอเงินชดเชยเพื่อจบเรื่อง ขอเพียงมีความรู้สึกว่าได้มากขึ้นจากสิ่งที่ต้องสูญเสียไป และนี่คือแนวโน้มที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้

กรณีตากใบจึงแสดงให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรม วุฒิภาวะของสังคมไทยในการเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนาดใหญ่ ซึ่งสังคงไทยไม่มีความรู้เรื่องนี้ ไม่มีนโยบายการพัฒนา และไร้การเตรียมพร้อมสำหรับหลังความขัดแย้ง

“เรารู้สึกว่าเหตุการณ์ตากใบเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนผ่านความยุติธรรมในสังคมไทยไม่มี ขนาดเคสที่ชัดเจนยังไม่สามารถผลักได้ มันตัน มันติดเพดาน ตากใบควรเป็นกรณีที่คนมาไขกุญแจให้เยอะๆ ว่ามีตรงไหนบ้างที่ติด และในที่สุดตากใบจะชี้ให้เห็นว่าปัญหาอำนาจอธิปไตยในประเทศไทย คือปัญหาใหญ่มาก ความยุติธรรมถูกดันอยู่ด้วยเรื่องอำนาจอธิปไตย ความมั่นคง

“จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้” ประทับจิตกล่าว “ถ้าไม่มีการปรับโครงสร้างหรือปฏิรูปรัฐจริงๆ ณ ปัจจุบันนี้ เราพูดตรงๆ ว่าตากใบคือความว่างเปล่า เวลาที่ความรุนแรงผ่านมานาน คนก็ลืม สังคมไทยเป็นสังคมที่ลืมง่าย”

13 ปีผ่านไป เหตุการณ์ตากใบและความยุติธรรมหลงเหลือเพียงความว่างเปล่า...

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.