พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ รายงาน
เมื่อการเปลี่ยนผ่านในพม่าไม่คืบหน้าอย่างที่คาดหวัง กองทัพพม่ายังมีบทบาทนำทางการเมือง สงครามกับกลุ่มชาติพันธุ์ยังคุกรุ่น การเลือกปฏิบัติต่อประชากรมุสลิมในพม่าที่ขยายวง ทำให้หลายชีวิตที่ลี้ภัยมาแล้วไม่คิดหวนกลับพม่าอีก อย่างเช่นเรื่องราวของครูอาสาอดีตนักศึกษาพม่ารุ่น ’88จากย่างกุ้ง และหญิงชาวกะเหรี่ยงที่หนีความไม่สงบจากบ้านเกิดมาอาศัยอยู่ตามหัวไร่ปลายนาที่แม่สอดตั้งแต่เด็ก
แม้จะปลอดภัยกว่าบ้านเกิดที่จากมา แต่ชีวิตของพวกเขาเหมือนคนไร้ตัวตน เพราะอยู่อย่างคนไร้รัฐ การได้รับสถานะบุคคลและสัญชาติ สำหรับพวกเขาอาจเป็นเรื่องเกินคาดคิด แต่ก็ยังมีความหวังให้คนรุ่นลูกหลานได้เข้าถึงการศึกษา เพื่อชีวิตใหม่ที่นี่และอนาคตที่ดีกว่าคนรุ่นตัวเอง
00000
เมื่อเส้นทางประชาธิปไตยไม่เป็นอย่างหวัง
การเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารมาสู่การปกครองกึ่งพลเรือนในพม่าไม่ได้ราบรื่นและคืบหน้าอย่างที่หลายคนคาดหวัง การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนปี 2558 จนได้รัฐบาลที่นำโดยประธานาธิบดี ถิ่นจ่อ และที่ปรึกษาแห่งรัฐ อองซานซูจี ไม่ได้นำมาสู่การปฏิรูปประชาธิปไตยเท่าใดนัก
กองทัพพม่ายังคงมีอำนาจตาม ’รัฐธรรมนูญ 2551’ และรักษาบทบาทนำทางการเมือง ขณะที่สงครามกลางเมืองที่กินเวลามากกว่า 7 ทศวรรษระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ก็ยังอยู่ในระดับคุกรุ่น เหตุเพราะการเจรจาสันติภาพไม่คืบหน้า
ซ้ำร้ายที่รัฐยะไข่ ความรุนแรงระลอกใหม่ที่ก่อตัวมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ล่าสุดได้แตกปะทุในปลายเดือนสิงหาคมและบานปลายกลายเป็นวิกฤตมนุษยธรรมครั้งใหญ่ ข้อมูลในเดือนตุลาคมของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เปิดเผยว่ามีผู้อพยพชาวโรฮิงญาข้ามแดนไปยังบังกลาเทศมากกว่า 6 แสนคน
การผลิตซ้ำอคติสร้างความหวาดระแวงต่อชนกลุ่มน้อยที่เป็นชาวมุสลิมในพม่า ยิ่งทำให้ชาวมุสลิมจากพม่าหลายคนที่จากบ้านเกิดมานานนับตั้งแต่สมัยรัฐบาลทหารไม่คิดจะกลับพม่าอีก
โรงเรียนของหนูและครูผู้ลี้ภัย
ปัจจุบันเป็นครูอาสาสอนนักเรียนในชุมชนแรงงานข้ามชาติที่แม่สอด
ที่ชุมชนข้างมัสยิดบังกลาเทศ ตัวเมืองแม่สอด จ.ตาก เสียงท่องอาขยานบนกระดานดำโดยเด็กนักเรียนชายหญิงหลายสิบคน แว่วลอยตามลมอยู่ในชุมชน พวกเขาบ้างนั่งพับเพียบ บ้างนั่งขัดสมาธิ บนพื้นเสื่อน้ำมันที่ปูรองเรือนไม้ยกพื้น ฝาสังกะสี ซึ่งกลายสภาพเป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนกันเองโดยครูอาสาสมัครในชุมชน หรือที่ในพื้นที่นิยมเรียกกันว่า ศูนย์การเรียนรู้ โดยที่นี่เป็น 1 ใน 50 ศูนย์การเรียนรู้ที่จัดการเรียนการสอนในแม่สอด
โรงเรียนเรือนไม้แห่งนี้เปิดสอนให้ลูกหลานของคนในชุมชนมา 4 ปีแล้ว หนึ่งในครูผู้สอนคือ ซาเหม่าง์ อายุ 55 ปี ชาวพม่าเชื้อสายมุสลิม ทั้งนี้ในปี 2531 เขาเป็นหนึ่งในนักศึกษาพม่าที่ร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในการชุมนุมเดือนสิงหาคมหรือเหตุการณ์ 8888 ทำให้เขาถูกจับเป็นเวลา 4 ปี และถูกปล่อยตัวในปี 2535 ต่อมาเขาพยายามหนีออกจากพม่าและเข้าไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยบ้านอุ้มเปี้ยม อ.พบพระ จ.ตาก เมื่ออยู่มาหลายปี นานวันเข้าเพื่อนหลายคนในค่ายผู้ลี้ภัยเริ่มได้วีซ่าไปต่างประเทศ ทำให้เขาตัดสินใจออกจากค่ายผู้อพยพออกมาอยู่ที่แม่สอด และได้รับการชักชวนให้มาสอนหนังสือให้เด็กๆ ในชุมชนแรงงานในที่สุด
ศูนย์การเรียนรู้: กลไกเข้าถึงการศึกษาในกลุ่มเด็กเคลื่อนย้าย
จากข้อมูลของเครือข่ายคุ้มครองเด็กอำเภอแม่สอด พบว่า รูปแบบการเข้าถึงระบบการศึกษาของกลุ่มเด็กเคลื่อนย้ายในพื้นที่ 5 อำเภอชายแดน จ.ตาก มี 3 รูปแบบคือ
1.ระบบการศึกษาภาครัฐ
2.การศึกษาในศูนย์พักพิงชั่วคราว
3.การศึกษาในศูนย์การเรียนรู้ของเด็กข้ามชาติ
เฉพาะจำนวนศูนย์การเรียนรู้ ข้อมูลในปี 2560 พบว่ามีศูนย์การเรียนรู้ที่ อ.แม่สอด ทั้งสิ้น 50 แห่ง อ.ท่าสองยาง 5 แห่ง อ.แม่ระมาด 4 แห่ง อ.พบพระ 13 แห่ง และ อ.อุ้มผาง 1 แห่ง
และเมื่อจำแนกตามรูปแบบการจัดการศึกษา จะแบ่งได้เป็น 6 รูปแบบคือ หนึ่ง โรงเรียนไทยที่ใช้หลักสูตรแบบกระทรวงศึกษาธิการ สอง โรงเรียนไทยที่ใช้การหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ แต่เพิ่มการสอนแบบทวิภาษา สาม ศูนย์การเรียนรู้ของเด็กข้ามชาติที่ใช้หลักสูตรโรงเรียนไทยประยุกต์ สี่ ศูนย์การเรียนรู้ของเด็กข้ามชาติที่จัดการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรของตนเอง เพื่อให้เด็กสามารถนำกลับไปใช้ในประเทศต้นทางได้ ห้า การศึกษานอกระบบที่ประยุกต์จากหลักสูตรศูนย์การเรียน แต่จัดให้มีการยืดหยุุ่นด้านเวลาเรียน หก การศึกษาแบบอัธยาศัย เน้นกลุ่มเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบโรงเรียน
ทั้งนี้ เครือข่ายคุ้มครองเด็กอำเภอแม่สอดมีข้อเสนอแนะเพื่อการคุ้มครองเด็กว่า หากเด็กขาดโอกาสทางการศึกษา ย่อมเสี่ยงต่อการถูกแสวงประโยชน์ได้ง่ายและเสี่ยงต่อการเป็นแรงงานเด็ก ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ขาดโอกาสที่จะได้รับการส่งเสริมให้เด็กเข้าถึงระบบการศึกษา
แต่หากเด็กเคลื่อนย้ายสามารถเข้าถึงการศึกษา ก็จะลดปัญหาแรงงานเด็ก และเด็กจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ผ่านการศึกษาและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสามารถในอนาคตอันใกล้ โดยข้อเสนอหนึ่งของเครือข่ายคุ้มครองเด็กอำเภอแม่สอดเสนอก็คือส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสมกับความต้องการของเด็กอย่างจริงจัง และมีระบบติดตามเด็กที่ไม่ได้เข้าระบบการศึกษา พร้อมเสนอให้ลดขั้นตอนและเอกสารประกอบการสมัครเรียนในกรณีที่เด็กประสงค์จะเรียนในโรงเรียนที่รัฐบาลไทยจัดให้
เมื่อถามถึงความจำเป็นที่ต้องเปิดโรงเรียน ทั้งที่เด็กๆ ในชุมชนหลายคนก็เข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาล ซาเหม่าง์ บอกว่าหลังจากผู้นำชุมชนมาปรึกษากับเขาว่ายังมีเด็กในชุมชนอีกมากที่ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ บางครอบครัวพ่อแม่ไม่มีเงินส่งลูกไปโรงเรียนทุกวัน นอกจากนี้ เขาเห็นว่าเด็กๆ ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ก็เที่ยวเล่น บ้างก็เที่ยวเก็บขยะขาย เขากลัวว่าเมื่อเด็กๆ เติบโตมาจะไม่มีอนาคต หรือถูกชักนำให้ไปก่อเรื่องไม่ดี ดังนั้น เขาเลยมาเปิดโรงเรียนแบบไม่เป็นทางการและชักชวนพ่อแม่ให้ส่งลูกมาเรียน มารับการอบรมด้วย โดยเขาตั้งเกณฑ์ให้พ่อแม่ว่าถ้าเริ่มมีฐานะหรือพอมีกำลัง ก็ค่อยส่งลูกไปเรียนต่อกับโรงเรียนข้างนอก
ซาเหม่าง์เปิดสมุดระเบียนของโรงเรียนชี้ให้ดูชื่อนักเรียนและผู้ปกครองของเด็กซึ่งมีทั้งคนในชุมชนและใกล้เคียง โดยปัจจุบันโรงเรียนของเขาดูแลมีนักเรียน 42 คน โดยจัดการเรียนการสอนแบบชั้นรวมภายในเรือนไม้ขนาด 6 คูณ 8 เมตร ที่เด็กเล็กพอนั่งเรียนได้แบบไม่เบียดเสียด โดยเปิดสอนทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เริ่มเวลาบ่ายสองถึงห้าโมงเย็น สอนวิชาภาษาอังกฤษ วิชาภาษาพม่า วิชาคณิตศาสตร์ระดับ 1 และวิชาคณิตศาสตร์ระดับ 2 เขาบอกว่า สามสี่ปีก่อนเคยมีครูอาสาสมัครมาช่วยสอนวิชาภาษาไทยด้วย แต่มาปีนี้ไม่มีครูอาสาสมัคร ก็เลยไม่ได้สอนวิชาภาษาไทยให้เด็กนักเรียน โดยการเรียนการสอนที่เริ่มตั้งแต่บ่ายสอง พอถึงเวลาเย็น นักเรียนก็จะไปเรียนศาสนาอิสลามต่อที่มัสยิดจนถึงสองทุ่ม
คนรุ่น ’88 ที่ยังไม่ได้รับชัยชนะ
ซาเหม่าง์ กล่าวด้วยว่าแม้พม่าจะมีการเลือกตั้งจนได้รัฐบาลชุดใหม่ แต่เขาก็ไม่มีโอกาสได้กลับบ้านเลย ทั้งนี้คนพม่าเชื้อสายมุสลิมแบบเขาอยู่เหมือนคนไม่มีประเทศ ต้องหาประเทศอยู่ ที่ผ่านมาคนพม่าเชื้อสายมุสลิม ถึงแม้ไม่ใช่ชาวโรฮิงญาก็ประสบความยากลำบากเวลาที่ต้องกลับไปพิสูจน์สัญชาติเพื่อทำบัตรประชาชนพม่า
“รู้จักอองซานซูจีใช่ไหม นั่นแหละ (ปัจจุบันนี้) คนมุสลิมก็ยังคงเดือดร้อน อีก 50 ปีก็ยังเดือดร้อน และผมคิดว่าไม่ใช่แค่ชาวโรฮิงญาเท่านั้น อย่างผมก็คงกลับไปไม่ได้อีกแล้ว ต้องอยู่เมืองไทยนี่แหละ”
เมื่อถามว่าหากร้องเรียนกับอองซานซูจีได้ อยากร้องเรียนเรื่องใด ซาเหม่าง์บอกว่า ถ้าร้องเรียนได้ เขาอยากเสนอเรื่องกลุ่มหัวอนุรักษ์ในพม่า เพราะว่าเดี๋ยวนี้เวลาปัญหาเกิดที่พม่า หลายเรื่องจากคนกลุ่มเหล่านี้ส่งผลกระทบกับคนมุสลิม เขาไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น “ที่ผ่านมาถ้าผู้ใหญ่ทำไม่ดี เราต้องสอนเขา แต่นี่ไม่มีใครสอน ปล่อยให้เขาก่อปัญหาได้ตามใจ”
“ประเทศพม่ามีทั้งรัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ ฯลฯ ในประเทศมีประชาชนนับถือหลายศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม ที่ผ่านมารัฐบาลดูแลแต่คนเชื้อชาติพม่าอย่างเดียว คนเชื้อชาติอื่น นับถือศาสนาอื่นเหมือนโดนกดขี่” ซาเหม่าง์กล่าว
สำหรับอนาคต เขาคาดหวังว่า แม้ตัวเขาจะอยู่แบบคนไม่มีสถานะ ไม่มีบัตรประชาชนก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้เด็กๆ ในชุมชนมีบัตรประชาชน ได้เรียนหนังสือ โดยที่ไม่ถูกส่งกลับ เขาก็พอใจแล้ว ทั้งนี้ เขาเชื่อว่าถ้าเด็กๆ มีบัตร ก็จะตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและมีอนาคตที่ดี ส่วนคนต่างศาสนาต่างวัฒนธรรมถึงที่สุดแล้วสามารถอยู่ร่วมกันได้เพราะทุกศาสนาสอนให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ไร้รัฐไร้ตัวตน: ลี้ภัยจากรัฐกะเหรี่ยงสู่หัวไร่ปลายนาเมืองชายแดน
ไม่ไกลจากถนนใหญ่ของตัวเมืองแม่สอด จ.ตาก ลัดเลาะไปตามถนนคอนกรีตเข้าหมู่บ้าน เดินไปตามคันนาจนถึงลานกว้างเป็นที่ตั้งของกระท่อม 3 หลังอยู่ไม่ห่างกัน เรามีโอกาสพูดคุยกับครอบครัวชาวกะเหรี่ยงไร้สัญชาติที่อาศัยในละแวกเดียวด้วยกันกว่า 14 ชีวิต พวกเขาเป็นหนึ่งในหลายกรณีของประชากรอพยพจากรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ที่ไม่ได้อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดน แต่เข้ามาอาศัยอยู่ตามหัวไร่ปลายนาในแม่สอด
มึมึ หญิงชาวกะเหรี่ยงอายุ 42 ปี เธอเกิดที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้กับเมืองดูปลายา หรือที่รัฐบาลพม่าเรียกว่าเมืองกอกะเร็ก ในรัฐกะเหรี่ยง ไม่ไกลจากแม่สอดมากนัก เพราะความไม่สงบในรัฐกะเหรี่ยงทำให้เธอตัดสินใจหนีมาอยู่แม่สอดตั้งแต่ปี 2531 หรือตั้งแต่ตอนอายุ 13 ปี โดยข้ามกลับไปที่บ้านเกิดครั้งเดียวตอนอายุ 30 ปีเพื่อรับพ่อที่ชรามาอยู่ด้วย
ความรันทดอดยากที่ ‘ดูปลายา’ ช่วงสงครามยึดครองของกองทัพพม่า
แผนที่เมืองดูปลายาหรือเมืองกอกะเร็ก ในรัฐกะเหรี่ยง (ที่มา: Google Maps)
ตลอดทศวรรษที่ 2530 รัฐบาลทหารพม่าปฏิบัติการทางทหารอย่างหนักในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ยึดครองพื้นที่ ต่อมาในเดือนธันวาคม 2537 มีทหารกะเหรี่ยงแยกตัวออกมาร่วมกับกองทัพพม่าและตั้งกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย หรือ DKBA ซึ่งมีผลทำให้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) อ่อนกำลัง จนสูญเสียฐานที่มั่นสำคัญคือ มาเนอปลอ (Manerplaw) เมื่อกุมภาพันธ์ 2537 และคอมูรา (Kawmoora) เมื่อกุมภาพันธ์ 2538
เมื่อสูญเสียฐานที่มั่นสำคัญไปแล้ว กองทัพพม่าก็รุกคืบเข้ามาในพื้นที่อื่นๆ ของรัฐกะเหรี่ยงมากขึ้น ในรายงาน ที่เผยแพร่ปี 2543 ของกลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยง (Karen Human Rights Group – KHRG) (อ่านรายงาน) เปิดเผยว่าหมู่บ้านส่วนใหญ่ของเมืองดูปลายาที่กินพื้นที่นับพันตารางกิโลเมตร ซึ่งแต่เดิมอยู่ในการปกครองของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) นั้น นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาต้องตกอยู่ในความยึดครองของกองทัพพม่า หลังจากกองทัพพม่าจำนวน 26 กองพัน เปิดฉากปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ โดยได้รับความร่วมมือจากกองกำลัง KPA ของ ธูมูเฮ (Thu Mu Heh) อดีตผู้บัญชาการของกองกำลังกะเหรี่ยง KNU ในพื้นที่ ซึ่งแปรพักตร์มาเข้าร่วมกับกองทัพพม่า
ทั้งนี้ระหว่างปี 2540-2542 กองทัพพม่าได้เผาทำลายหมู่บ้าน และบังคับโยกย้ายชาวบ้านกะเหรี่ยงในพื้นที่ห่างไกลของเมืองดูปลายาเพื่อตัดการสนับสนุนทหารกะเหรี่ยง KNU โดยให้ชาวบ้านเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านยุทธศาสตร์ใกล้กับค่ายทหารพม่า การออกนอกพื้นที่เพื่อไปทำไร่ทำนาต้องขออนุญาตกองทัพพม่า ทหารพม่าเกณฑ์ชาวบ้านไปเป็นลูกหาบ มีการจับกุมและทรมานผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมมือกับทหารกะเหรี่ยง KNU และหลายกรณีจบลงด้วยการสังหาร
นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคมปี 2542 ชาวบ้านกะเหรี่ยงที่เมืองดูปลายาต้องยกผลผลิตทั้งหมดจากการเก็บเกี่ยวให้กับกองทัพพม่า โดยกองทัพพม่าจะปันส่วนรายวันให้กับชาวบ้านแต่ละครอบครัวแทน ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารทั่วไปในเมืองดูปลายา ชาวบ้านต้องออกหาของป่าและขุดเผือกกินประทังชีวิต บ้างเลือกที่จะละทิ้งไร่นาเพื่อหลบหนีจากการถูกบังคับโยกย้ายบ้านเรือนเข้าไปอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ในป่า ซึ่งทหารพม่าในพื้นที่ลั่นวาจาว่าจะยิงทิ้งถ้าเจอตัว บ้างก็เลือกที่จะอพยพข้ามเข้าชายแดนไทย ที่ซึ่งมีอนาคตไม่แน่นอนรอพวกเขาอยู่
ปัจจุบัน มึมึอยู่กับสามีชาวกะเหรี่ยง มีลูก 3 คน ลูกสาวคนโตอายุ 25 ปี ลูกชายคนกลางอายุ 16 ปี ลูกสาวคนเล็กอายุ 9 ปี พอลูกสาวคนโตแต่งงานกับสามีแล้วแยกไปอยู่ที่อื่น จึงฝากลูกชายอายุ 4 ขวบที่เกิดกับสามีคนแรกให้เลี้ยง ส่วนกระท่อมอีกสองหลัง หลังหนึ่งเป็นบ้านของพี่ชาย อีกหลังเป็นบ้านของน้องสาวที่อยู่กับสามีและลูกๆ โดยทั้ง 3 หลัง โดยมึมึและทุกคนในครอบครัวนับเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติเพราะไม่มีเอกสารติดตัวใดๆ มีเพียงสามีของน้องสาวมึมึคนเดียวที่มีบัตรอนุญาตทำงานของแรงงาน 3 สัญชาติ
มึมึเล่าว่าเดือนแรกที่มาอยู่เมืองไทย ทำงานได้เงิน 300 บาท โดยอาชีพของเธอคือการรับจ้างทำไร่ ถ้าหมดงานก็ย้ายไปเรื่อยๆ แล้วแต่คนจะจ้าง ส่วนมากมึมึจะทำงานอยู่ในแม่สอด แต่ก็เคยไปรับจ้างถึง ต.แม่จะเรา อ.แม่ระมาด และ ต.แม่กาสา อ.แม่สอด จ.ตาก งานหนึ่งมักจะทำหลายอาทิตย์หรือหนึ่งเดือน เมื่อเสร็จงานแล้วก็กลับมาที่แม่สอด วนเวียนอยู่เช่นนี้
โดยมากงานที่ทำคืองานรับจ้างในไร่ข้าวโพด คัดเมล็ดข้าวโพด และรับจ้างทำนา งานช่วงนี้คือแกะเมล็ดข้าวโพดใส่กระสอบ ได้ค่าจ้างกระสอบละ 15 บาท วันหนึ่งถ้าทำได้มากเคยได้ถึงวันละ 200 บาท น้อยสุดก็วันละ 80 บาท
ต่อมาเมื่อปลายเดือนมิถุนายน เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว เจ้าของที่ดินมาบอกครอบครัวของมึมึให้ออกจากพื้นที่ เพราะถ้าอยู่เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารจะมาจับ ทำให้มึมึและครอบครัวพากันไปอาศัยอยู่ในชายป่า3 วัน 3 คืน เมื่อข่าวซาลงแล้วจึงกลับมาอยู่ที่กระท่อมตามเดิม
เพราะค่อนชีวิตของเธอเลือกแล้วที่จะอยู่ที่ฝั่งไทย รวมทั้งการที่รัฐบาลพม่าจัดระเบียบการปกครองใหม่ในพื้นที่เมืองดูปลายาที่ปัจจุบันถูกเรียกว่าเมืองกอกะเร็ก ยิ่งทำให้มึมึไม่มีหลักฐานที่ออกให้โดยทางการพม่าเลย ทั้งบัตรประชาชนพม่าและทะเบียนบ้าน เมื่อไม่มีทะเบียนบ้าน การพิสูจน์สัญชาติที่พม่าก็ไม่มีทางเป็นไปได้ มึมึถึงกับบอกว่า
“ถ้ากลับไปที่รัฐกะเหรี่ยงก็ไม่มีทางทำกิน แต่ถ้าอยู่เมืองไทยก็ยังพอมีทางทำกิน คงอยู่แม่สอดจนตาย ถ้าถูกจับส่งกลับพม่าก็ยังจะนั่งเรือข้ามกลับมาฝั่งไทย”
ระหว่างที่พูดคุยกับมึมึ ‘ลาก่อ’ วัย 16 ปี ลูกชายคนกลางก็มานั่งเคียงข้างอยู่กับผู้เป็นแม่ด้วย เขาก็เป็นเช่นเดียวกับเด็กไร้สัญชาติอีกหลายคนที่ทำคลอดกับหมอตำแยตามหัวไร่ปลายนาและพ่อแม่ไม่ได้พาไปแจ้งเกิด ทำให้ไม่มีทั้งสูติบัตรหรือหนังสือรับรองการเกิด
และถึงแม้ว่าจะมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 5 กรกฎาคม 2548 ให้โรงเรียนและสถานศึกษาทุกแห่งรับเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยทุกคนเข้าศึกษาเล่าเรียน และเมื่อเรียนจบแล้วจะต้องออกหลักฐานรับรองผลการเรียนให้ทุกราย แต่ลาก่อก็ไม่มีโอกาสได้ไปโรงเรียน เพราะเขากลายเป็นกำลังสำคัญของบ้าน โดยออกไปรับจ้างทำงานกับอู่ล้างรถแห่งหนึ่งในตัวเมืองแม่สอด โดยเขาเก็บเงินให้แม่ 3-4 พันบาทต่อเดือน
เมื่อถามมึมึว่าอยากให้ลูกได้เรียนหนังสือหรือไม่ มึมึเคยคิดว่าไม่อยากให้ลูกชายไปเรียน เพราะเป็นคนเดียวที่ช่วยพ่อแม่ทำงาน ส่วนลูกสาวคนเล็ก ไม่รู้ว่าลูกสาวมีใจอยากเรียนหรือไม่ แต่ก็อยากให้เรียนอยู่ และในเวลาต่อมาเมื่อมึมึได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่คลินิกกฎหมายแรงงานแม่สอด ภายใต้มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) มึมึก็ตัดสินใจว่าจะวางแผนเพื่อให้ลูกๆ ของเธอทุกคนได้เรียนหนังสือ
ต่อกรณีไร้รัฐไร้สัญชาติที่เกิดขึ้นกับมึมึและครอบครัว สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสัญชาติ ประธานมูลนิธิช่วยเหลือทางสังคมเพื่อเด็กและสตรี (SAW) กล่าวถึงช่องทางเข้าถึงสิทธิของมึมึ และนโยบายของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติว่า ระหว่างปี 2549-2554 กระทรวงมหาดไทยเคยสำรวจบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เพื่อสำรวจบุคคลตกหล่นจากการสำรวจครั้งก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสำรวจปี 2542 ทั้งนี้บุคคลที่เข้ามาในประเทศไทยก่อนปี 2542 โดยหลักการต้องได้รับการสำรวจและจัดทำบัตรไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือ "บัตร 089" ซึ่งเป็นบัตรประจำตัวที่มีเลข 13 หลัก โดยหลักที่ 1 จะระบุเลข 0 และหลักที่ 6 และ 7 จะระบุเลข 89 แต่มึมึก็ตกหล่นจากการสำรวจอีก และที่ผ่านมารัฐก็ไม่เปิดสำรวจอีกแล้ว
แต่ในปี 2551 มีการแก้ไขพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร ฉบับที่ 2 มาตรา 38 วรรค 2 ที่ให้ทำทะเบียนประวัติให้กับคนซึ่งยังไม่มีสัญชาติไทย ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย โดยที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ก็เคยมีการดำเนินการบ้างแล้ว
กรณีของมึมึถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่าอยู่มานานแล้ว ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับรัฐพม่าเลย ก็สามารถไปขอเพิ่มชื่อในทะเบียนประวัติหรือแบบ ทร.38 แต่ต้องพิสูจน์ได้ว่าตัวเองอยู่มานานแล้ว แม้จะตกหล่นจากการสำรวจที่ผ่านมาก็สามารถทำได้ แต่ก็จะได้แค่ใบทะเบียนประวัติ มีบัตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งเป็นบัตรที่มีเลขประจำตัว 13 หลัก หลักแรกจะขึ้นต้นด้วยเลข "0" ส่วนที่หลักที่ 6 และ 7 จะเป็นเลข "00" ซึ่งบัตรนี้มอบบัตรให้บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน แต่ยังไม่มีสิทธิอาศัย ยังไม่ได้รับสิทธิรักษาพยาบาล แต่จะมีเอกสารแสดงตัว
ส่วนลูกเกิดจากพ่อแม่ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนแม้จะเกิดในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้สัญชาติไทย จะได้สัญชาติไทยก็ต่อเมื่อเข้าคุณสมบัติมติคณะรัฐมนตรี 7 ธันวาคม 2559 และประกาศกระทรวงมหาดไทย 14 มีนาคม 2560 (อ่านประกาศ) กรณีที่ลูกไม่ใช่บุตรของชนกลุ่มน้อยที่เกิดในประเทศไทย แม้จะยังไม่ได้สัญชาติไทยอัตโนมัติ แต่ลูกของมึมึซึ่งเกิดในประเทศไทย หากต้องการพิสูจน์สัญชาติไทย หนึ่ง ต้องทำหนังสือรับรองการเกิดว่าเกิดในประเทศไทย คือต้องมีพยานหลักฐาน สอง ต้องเรียนหนังสือจนจบปริญญา เมื่อมีองค์ประกอบทั้ง 2 อย่างก็จะได้รับสัญชาติไทย
รัฐบาลทราบดีอยู่แล้วเวลามีคนพิสูจน์สัญชาติแล้วประเทศต้นทางไม่มีหลักฐานเขาก็ไม่รับ แต่มึมึนั้นมีตัวตนอยู่ในประเทศไทย เป็นหน้าที่ของรัฐไทยต้องกำหนดว่าจะให้เขาอยู่แบบไหน แต่รัฐไทยก็ยังไม่ได้กำหนด
สำหรับลูกของมึมึที่ยังไม่ได้เข้าเรียนนั้น สุรพงษ์เห็นว่า เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ในการพาเด็กเข้าสู่โรงเรียน เป็นหน้าที่ของโรงเรียนต้องรับเด็กเข้าเรียน โดยไม่ต้องถามเด็กว่าอยากเรียนไหม เพราะเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะต้องทำให้เด็กได้รับการพัฒนาสูงสุดในช่วงวัยเด็ก กฎหมายกำหนดให้พ่อแม่พาลูกเข้าโรงเรียน โรงเรียนก็มีหน้าที่ในการรับเด็กเข้าเรียน พ่อแม่ต้องรีบพาลูกไปเข้าโรงเรียน เพื่อให้มีพื้นฐานภาษาไทย และหากลูกไม่มีพื้นฐานเลย ไม่ได้ปรับตัว ไม่เข้าใจภาษา ก็จะเรียนไม่ทันเขา
รัฐไทยต้องปฏิบัติต่อประชากรกลุ่มชาติพันธุ์อย่างผู้ลี้ภัย
ต่อข้อเสนอเชิงนโยบายกรณีประชากรชาติพันธุ์จากพม่าที่อยู่ในชุมชนตามแนวชายแดนไทย-พม่า รวมทั้งประชากรข้ามชาติชาวพม่าเชื้อสายมุสลิมนั้น สุรพงษ์ เห็นว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐจะใช้วิธีตีขลุมไม่ได้ ต้องจำแนกคนออกเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มแรกคือ แรงงานข้ามชาติ คือคนที่มีถิ่นฐานอยู่ต่างประเทศ เดินทางเข้ามาประเทศไทยเพื่อทำงาน และยังสามารถกลับประเทศต้นทางหรือมีเงินส่งกลับได้ รัฐต้องดูแลแบบแรงงานข้ามชาติ
กลุ่มที่ 2 เป็นชนกลุ่มน้อยดั้งเดิม คือเข้ามาประเทศไทยนานแล้ว อาจจะเป็นผู้ลี้ภัยหนีมา คนกลุ่มนี้ไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้ เพราะมานานแล้ว จากถิ่นฐานบ้านเดิมแล้ว และสถานการณ์ในพม่ายังไม่สงบ กลุ่มนี้ต้องดูแลแบบชนกลุ่มน้อย หรือแบบผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นคนละแบบกับแรงงานข้ามชาติ
กลุ่มที่ 3 คือเด็กที่เกิดในไทย คนกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นแรงงาน และไม่ใช่คนที่หนีภัยมา เป็นคนที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งตามหลักดั้งเดิมคนเหล่านี้อาจเป็นคนที่มีสัญชาติไทยตามหลักดินแดนได้ แต่รัฐไทยยังไม่ให้สัญชาติ ซึ่งนโยบายของประเทศอื่นให้
ดังนั้นการดำเนินการกับ 3 กลุ่มนี้ต้องดำเนินการไม่เหมือนกัน แต่ปัจจุบันนี้เจ้าหน้าที่รัฐใช้วิธีตีขลุม ดำเนินการเหมือนกันหมด หาว่าหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ก็ไปใช้วิธีจับกุม หรือผลักดันออกนอกประเทศ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตลอดมา
ข้อเสนอของสุรพงษ์ก็คือ ต้องจัดให้ประชากรผู้ลี้ภัยได้อยู่อย่างถูกต้อง ถ้าประเทศต้นทางไม่มีความพร้อม ก็ต้องอยู่ในประเทศไทยไปก่อน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยดูแล ส่วนแรงงานข้ามชาติก็ให้ดูแลตามขั้นตอน และสามารถกลับบ้านได้เมื่อระยะเวลาอนุญาตให้เข้าทำงานสิ้นสุด ส่วนเด็กที่เกิดในประเทศไทยก็ต้องดูแลแบบเด็กที่เกิดในไทย เพราะไม่ใช่ทั้งผู้ลี้ภัยและแรงงาน
วิธีแก้ปัญหาคือรัฐบาลต้องแก้ไขให้ตรงจุดที่เป็นปัญหา ในเมื่อปัญหาคือเจ้าหน้าที่จับกุมโดยอ้างพระราชกำหนดฯ วิธีแก้คือต้องเลิกจับกุม แล้วไปกำหนดสถานะเขาเสียใหม่ให้ถูกต้องว่าเขาเป็นคนกลุ่มไหน ถ้าเขาเป็นผู้ลี้ภัย ต้องทำสถานะผู้ลี้ภัย ถ้าเป็นแรงงานข้ามชาติ ก็ขึ้นทะเบียนแรงงานให้ถูกต้อง ถ้าทำแบบนี้เขาก็อยู่ในบ้านเมืองได้อย่างถูกต้อง มีข้อกำหนด มีผู้ดูแลชัดเจน แต่ถ้าบอกว่าเขาผิดกฎหมาย ไปส่งกลับ เขาก็กลับเข้ามาใหม่อีก
00000
กลับมาที่ลานกว้างหน้ากระท่อมปลายนาของมึมึ บทสนทนาดำเนินมาถึงเวลาที่พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว เมื่อหันหลังมองไปทางฝั่งถนนใหญ่ก็เห็นแสงไฟจากถนนหลวงและห้างสรรพสินค้าอยู่ลิบๆ แทนเส้นขอบฟ้า หลังรับประทานอาหารเย็นแล้ว ครอบครัวของมึมึก็เก็บกวาดบ้านเรือน เตรียมพักผ่อน เก็บออมกำลังแรงเอาไว้ต่อสู้ชีวิตในเช้าวันใหม่
ก่อนขอตัวอำลาจากมึมึและลาก่อ เมื่อถามถึงสิ่งที่จำเป็นที่สุดในชีวิต มึมึตอบว่า “ต้องมีบัตรเป็นอันดับแรกเลย ทำให้เราหางานที่ไหนก็ได้ ถ้าเรามีงาน ก็มีอาหารให้กิน” มึมึกล่าวต่อว่า “ถึงมีเงินทอง แต่ไม่มีบัตร ก็ไปไหนมาไหนไม่สะดวก ต้องหลบๆ ซ่อนๆ”
เธอเชื่อว่าถ้าครอบครัวของเธอได้สัญชาติ หรืออย่างน้อยมีสถานะ คิดว่าชีวิตคงดีขึ้น ไม่ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ลูกชายก็สามารถทำงานอย่างอื่น เช่น ไปสมัครงานที่โรงงานได้ ที่ผ่านมาลูกชายก็เคยไปสมัครงานกับโรงงาน แต่ไม่มีนายจ้างที่ไหนรับเข้าทำงาน เพราะเป็นคนไม่มีสถานะ
แสดงความคิดเห็น