Posted: 22 Nov 2017 02:10 AM PST

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล


14 พฤศจิกายน 2560 เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนา ซึ่งเป็นการรวมตัวของประชาชนจากทั้ง 4 ภาค เดินทางไปยื่นหนังสือต่อรัฐบาลที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการเดินหน้าร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.... เอาไว้ก่อน หากรัฐบาลเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้อง วันที่ 6 ธันวาคม พวกเขาจะกลับมาใหม่และปักหลักคัดค้านที่ทำเนียบรัฐบาล

21 พฤศจิกายน คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และส่งร่างให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าการทักท้วงของเครือข่ายประชาชนฯ เบาหวิวเกินกว่าจะรับฟัง

'ประสิทธิ์ชัย หนูนวล' หนึ่งในเครือข่ายประชาชนฯ กล่าวว่า สรุปได้ว่าแม้ทางประชาชนจะมีการทักท้วงและยื่นหนังสือถึง 3 รอบ แต่เสียงของประชาชนก็ไม่มีผล เขายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเป็นการเห็นชอบที่รวดเร็วมาก ทั้งที่ ครม. ยังมีเวลาถึงวันที่ 2 ธันวาคม

สอดไส้ ม.44 ลดธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม เปิดช่องเดินหน้าโครงการโดยไม่ต้องมีอีไอเอ

ประเด็นหลักที่ต้องหยุดกฎหมายฉบับนี้ไว้ก่อนคือปมเรื่องการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (Environmental Impact Assessment: EIA) ที่นอกจากไม่พยายามยุติปัญหาความบกพร่องของกลไกการทำอีไอเอที่ดำเนินมาตลอด 25 ปี ตรงกันข้าม ร่างแก้ไขกลับลดธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อมลง เปิดทางให้รัฐและเอกชนเดินหน้าโครงการไปก่อนโดยยังไม่ต้องทำอีไอเอ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อระบบการทำอีไอเอที่ภาคประชาชนเห็นว่าควรถูกยกเครื่องใหม่

เครือข่ายประชาชนฯ ยังเปิดโปงว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังยัดไส้คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตามคำสั่งที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ระบุว่า

‘ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสี่ ของมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535

‘ในกรณีที่มีความจําเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการดําเนินโครงการหรือกิจการด้านการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย ในระหว่างที่รอผลการพิจารณา รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามวรรคหนึ่ง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการนั้น อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดําเนินการ เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดําเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้รับดําเนินการตามโครงการหรือกิจการไม่ได้’

คำสั่ง คสช. ในย่อหน้าข้างต้นทั้งหมด (อาจ) แปรสภาพเป็นกฎหมายถาวร เมื่อมาตรา 50 วรรค 4 ของร่างกฎหมายของกฤษฎีกาที่ผ่าน ครม. เป็นการนำคำสั่งนี้ใส่ลงไป

‘มาตรา 50 วรรค 4 ในกรณีที่โครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามวรรคหนึ่งเป็นโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการด้านการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล ที่อยู่อาศัย หรือความมั่นคงทางพลังงาน ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์สาธารณะ ในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามวรรคหนึ่ง หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการนั้น อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินกระบวนการหรือขั้นตอนเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนที่จะเป็นผู้รับงานนั้นไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้นั้นไม่ได้จนกว่าคณะรัฐมนตรีจะมีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการนั้นได้’

นอกจากนี้ มาตรา 48 วรรค 1 ของร่างกฎหมายฉบับกฤษฎีกายังระบุว่า

‘ในกรณีที่โครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 47 หรือที่จะจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ใดที่มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและได้รับความเห็นชอบแล้ว และเป็นมาตรฐานที่สามารถใช้กับโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการในประเภทและขนาด หรือในพื้นที่ลักษณะเดียวกันได้ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอาจประกาศกำหนดให้โครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการในทำนองเดียวกันถือปฏิบัติโดยได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานกาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้’

กฎหมายวรรคนี้ชัดเจนในตัวเองโดยไม่ต้องขยายความ

ชาวบ้านยันอีไอเอโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาฯ ไม่ตรงกับความจริงในพื้นที่

บ้านคลองประดู่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา พื้นที่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) วางแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 2,200 เมกะวัตต์ บนเนื้อที่ 2,850 ไร่ กำลังเป็นอีกเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในพื้นที่กับโครงการขนาดใหญ่ที่มีให้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อปี เรียกว่าจับไปภูมิภาคไหนของประเทศไทยเป็นต้องเจอ

โครงการพัฒนาใหญ่ๆ อย่างโรงไฟฟ้า โรงถลุงเหล็ก เขื่อน เหมือง โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ ที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ถ้าว่ากันตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 จะต้องผ่านการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (Environmental Impact Assessment: EIA) แต่กลับปรากฏข่าวคราวโครงการใหญ่ๆ ถูกต่อต้านและชาวบ้านไม่ยอมรับอีไอเอ เพราะนอกจากข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงแล้ว การได้รายงานอีไอเอมาเพื่ออ่านก็ยังเป็นเรื่องยากเย็นสำหรับชาวบ้านในพื้นที่ มิพักต้องพูดถึงว่าเนื้อหาที่อยู่ในรายงานไม่ได้เขียนขึ้นให้ชาวบ้านอ่านเข้าใจ

“เรื่องอีไอเอ เขาก็ไม่ได้สำรวจอะไรนะผมว่า คือข้อมูลมันผิดพลาดตั้งแต่บอกว่าในคลองมีปลากระดี่ ที่จริงแล้วในคลองมันเป็นน้ำกร่อยกับน้ำเค็ม ปลาพวกนี้ไม่สามารถอยู่ได้ เขาบอกว่าทะเลร้าง ไม่มีปลา มีแค่ปลา 4 ชนิด ก็หมายความว่าเขาไม่ได้ศึกษาจริง เขาไม่ได้ลงมาศึกษาพื้นที่จริง

“พื้นที่จริงอุดมสมบูรณ์ มีปลาเป็นร้อยชนิด ที่ไปถามเขาที่ สผ. (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เขาบอกว่าข้อมูลผิดพลาดบางส่วน คือปลามีหลายชนิด แต่เขาก็แบ่งๆ ออกไป เราก็ไม่ได้ดูว่าเขาแบ่งกันยังไง แต่ที่ชัดเจน ที่เราเห็น คือเขาบอกว่าทะเลร้าง ไม่มีปลา มีแค่ 4 ชนิด เราจับติดเลยว่าเท็จแน่นอน แล้วในคลองที่มีป่าโกงกาง เขาบอกว่าไม่มีป่าโกงกาง มีแค่พันธุ์ไม้ 4 ชนิด ซึ่งมันขัดแย้งกับในพื้นที่ พื้นที่นี้เป็นป่าโกงกาง เป็นป่าสงวน พอเห็นที่เขาแก้มา เขาบอกว่าพื้นที่โรงไฟฟ้าไม่ได้อยู่ในพื้นที่ป่าโกงกาง มันก็ใช่ แต่มันอยู่ติดกับกำแพงของโรงไฟฟ้า ซึ่งมันปล่อยน้ำเสียลงในคลองป่าโกงกาง”

ริมทะเลเทพา ณ ตือโละปาตานีหรืออ่าวปัตตานี 'มัธยม ชายเต็ม' บอกเล่าถึงการทำอีไอเอโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ที่เขาอยู่กิน เขาให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ชาวบ้านในพื้นที่ประกอบอาชีพประมงและเพาะปลูกเป็นหลัก มีเรือประมงพื้นบ้านเกือบ 300 ลำที่หากินบริเวณที่จะมีการก่อสร้างสะพานขนถ่านหินของโรงไฟฟ้า

อีไอเอจึงกลายเป็นปมปัญหามาโดยตลอด แทนที่จะเป็นเครื่องปกป้องสิ่งแวดล้อม มันกลับเป็นตราประทับความชอบธรรมให้กับโครงการต่างๆ

เร่งรีบเพื่ออะไร?

ทำไมจึงต้องเร่งรีบผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อม? เป็นเพราะต้องบัญญัติกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 58 วรรค 1

‘การดําเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดําเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสําคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดําเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนํามาประกอบการพิจารณา ดําเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ’

แล้วในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 278 ยังระบุอีกว่าจะต้องทำกฎหมายส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายใน 240 วัน และ สนช. ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างกฎหมาย

นี่จึงเป็นสาเหตุของความเร่งรีบชนิดที่ว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผ่านทางเว็บไซต์ และเพิกเฉยข้อเสนอของภาคประชาชนที่เคยร่วมกันวิเคราะห์และสรุปปัญหาเอาไว้และส่งให้ทางกระทรวงทรัพย์ฯ ถึงสองครั้ง ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมายหรืออาร์ไอเอ (Regulatory Impact Analysis: RIA) ตามมาตรา 77 ในรัฐธรรมนูญ

แต่เบื้องหลังความเร่งรีบอีกชั้นหนึ่ง สันนิษฐานว่าเป็นต้องการของรัฐบาล คสช. ที่ต้องการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ของตนให้เดินหน้าได้อย่างสะดวกโยธิน โดยไม่ถูกขัดขวางจากกฎหมายสิ่งแวดล้อม (แม้ว่าโครงการสำคัญอย่างระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจะมีกฎหมายเฉพาะที่ก็ให้อำนาจไว้มากมายแบบที่กฎหมายสิ่งแวดล้อมแทบจะแตะต้องไม่ได้แล้วก็ตาม) เพื่อเร่งสร้างผลงานในช่วงที่เหลือก่อนการเลือกตั้งในปลายปีหน้า (?) มาถึง ปูทางให้การกลับคืนตำแหน่งมีความชอบธรรมขึ้นบ้างเล็กน้อย

'สุภาภรณ์ มาลัยลอย' จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมหรือ EnLaw กล่าวกับประชาไทไว้ว่า กระบวนการแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นกฎหมายกลางควรนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น แต่ถ้าเร่งรีบ เพียงแค่ต้องให้ทันเวลา โดยไม่คำนึงถึงมาตรา 58 ในรัฐธรรมนูญที่ต้องพิจารณาการประเมินศักยภาพโดยรวมด้วย มันก็จะยังวนอยู่กับรายโครงการและยิ่งเป็นการลดทอนมาตรา 58 อย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น จึงควรต้องหยุดกระบวนการตรากฎหมายฉบับนี้ไว้ก่อน

ข้อเสนอภาคประชาชนที่ถูกเพิกเฉย

เครือข่ายประชาชนฯ เคยเสนอ 3 ประเด็นหลักที่กฎหมายสิ่งแวดล้อมควรต้องได้รับการปรับแก้ คือ

1.ระบบการทำอีไอเอต้องถูกยกเครื่องใหม่ จากเดิมที่มีเพียงการทำอีไอเอและการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรืออีเอชไอเอ (Environmental Health Impact Assessment: EHIA) ควรเพิ่มการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์หรือเอสไอเอ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ซึ่งเป็นการประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้เห็นถึงความเหมาะสมและเป้าหมายการพัฒนาของพื้นที่ เพื่อให้การพัฒนาสอดคล้องกับเอสอีเอของแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ จะต้องพิจารณาต้นทุนด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านสุขภาพ เพื่อใช้ประกอบการประเมินผลกระทบด้วย

2.ต้องทำการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) ของพื้นที่ ทั้งในด้านระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ การแก้ไขผลกระทบหรือการเยียวยา โดยคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหากมีโครงการหรือกิจกรรมเพิ่มเข้าไปในพื้นที่จะส่งผลต่อศักยภาพในการรองรับของพื้นที่อย่างไร

3.ควรแยกองค์กรบริหารจัดการระบบอีไอเอเป็นหน่วยงานอิสระหรือหน่วยงานกลาง แล้วมีหน้าที่จัดจ้างผู้จัดทำรายงานอีไอเอ แทนที่จะให้เจ้าของโครงการเป็นผู้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาจัดทำ ซึ่งก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะบริษัทที่ปรึกษาย่อมต้องทำรายงานให้ผ่านตามความประสงค์ของผู้ว่าจ้าง และต้องมีระบบการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงทั้งในระยะก่อนเริ่ม ระหว่าง และหลังจากดำเนินการโครงการ โดยในส่วนคณะกรรมการผู้ชำนาญการในการพิจารณาอนุมัติรายงานจะต้องมีองค์ประกอบที่เท่าเทียมกันระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ และชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ และอาจมีคณะกรรมการผู้ชำนาญการในระดับพื้นที่เข้าร่วมด้วย

แต่ก็ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ข้อเสนอที่สังเคราะห์ วิเคราะห์ร่วมกันของภาคประชาชนและภาควิชาการจากปัญหาการทำอีไอเอตลอด 20 กว่าปี ไม่ได้รับการใยดีจากกระทรวงทรัพย์ฯ และ ครม.

ประสิทธิ์ชัย ยืนยันว่า วันที่ 6 ธันวาคม เครือข่ายประชาชนฯ จะเดินทางไปปักหลักชุมนุมยืดเยื้อที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ เชื่อว่าจะมีการขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ แต่จะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการเคลื่อนไหว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.