สภาเมืองออกซฟอร์ดมีมติถอนรางวัลเสรีภาพแห่งเมืองออกซฟอร์ด ที่อองซานซูจีเคยได้รับเมื่อปี 2540 เหตุทำตัวเพิกเฉยวิกฤตมนุษยธรรมโรฮิงญา ขณะที่ในรอบสองเดือนมานี้อองซานซูจีถูกริบรางวัลเสรีภาพเมืองดับลิน ถูกปลดรูปและป้ายชื่อออกจากม.ออกซฟอร์ด แต่ก็ยังเหลืออีกหลายรางวัลรวมทั้งโนเบลสาขาสันติภาพปี 2534 และปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มธ. ที่ได้รับในปี 2548
อองซานซูจี ปราศรัยกับผู้สนับสนุนที่อำเภอกอมู ฐานเสียงของเธอในภาคย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อ 22 มีนาคม 2555 ในช่วงจัดการเลือกตั้งซ่อม (ที่มา: แฟ้มภาพ/Htoo Tay Zar/Wikipedia/CC BY-SA 3.0)
ในรายงานของ เดอะการ์เดียน เมื่อวันจันทร์นี้ (27 พ.ย.) สภาเมืองออกซฟอร์ดได้มีมติถอนรางวัล เสรีภาพแห่งเมืองออกซฟอร์ด ที่อองซานซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) และที่ปรึกษาแห่งรัฐของรัฐบาลพม่า ที่เคยได้รับในปี 2540 โดยให้เหตุผลว่าไม่ต้องการให้มีการยกย่องผู้ที่ทำเป็นมองไม่เห็นต่อเหตุความรุนแรง
แมรี คลาสสัน อดีตนายกเทศมนตรีออกซฟอร์ด ผู้เสนอให้ถอดถอนกล่าวกับบีบีซีว่า ออกซฟอร์ดเป็นเมืองที่มีธรรมเนียมของความหลากหลายและมีมนุษยธรรม "ชื่อเสียงของเมืองหม่นหมองเพราะยกย่องผู้ที่ทำเป็นมองไม่เห็นต่อเหตุความรุนแรง พวกเราหวังว่าวันนี้เราจะได้ส่งเสียงเล็กๆ ของพวกเราต่อคนทั้งหลาย เรียกร้องสิทธิมนุษยธรรมและความยุติธรรมให้กับชาวโรฮิงญา"
ก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายน ภาพวาดอองซานซูจีถูกปลดออกจากอาคารของวิทยาลัยเซนต์ฮิวก์ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ก่อนเริ่มเปิดภาคการศึกษาวันแรก และในวันที่ 19 ตุลาคม หลักสูตรปริญญาตรีของวิทยาลัยเซนต์ฮิวก์ ก็ปลดชื่ออองซานซูจี ออกจากห้องโถงกลางของวิทยาลัย
และก่อนหน้านี้เมื่อ 13 พ.ย. บ็อบ เก็ลดอฟนักแต่งเพลงชาวไอร์แลนด์ ก็ได้แจ้งถอนรางวัลเสรีภาพแห่งเมืองดับลิน ที่อองซานซูจีได้รับในปี 2542 ในระหว่างถูกกักบริเวณ "การข้องเกี่ยวของเธอกับเมืองของเรา สร้างความอับอายแก่พวกเราทุกคน และเราไม่ควรข้องเกี่ยวด้วย เราเคยยกย่องเธอ แต่ตอนนี้เธอทำให้พวกเราตกใจและสร้างความอับอาย" เก็ลดอฟกล่าวตอนหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า อองซานซูจี ได้รับปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปี 2534 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสภามหาวิทยาลัยฯ มีมติไว้ตั้งแต่ปี 2534 "ในฐานะที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการมุ่งมั่นและมีจิตใจที่ยึดแนวทางการต่อสู้และสันติวิธี เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนให้แก่ชาวพม่า การเรียกร้องเพื่อเกียรติ ศักดิ์ศรี และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษยชาติอย่างมีศักดิ์ศรี อย่างผู้มีสิทธิที่จะกำหนดการปกครองของตนเองตามเจตนารมณ์ของปวงชน อันส่งผลให้ได้รับรางวัลระดับนานาชาติหลายรางวัล นับเป็นการประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้ถึงสัจธรรมอันยิ่งใหญ่ของแบบอย่างแห่งการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย"
โดยเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2548 ตรงกับวันเกิดของอองซานซูจี สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานส่งมอบปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปี 2534 ให้กับ ซานซาน เลขานุการสหภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งพม่า ในฐานะตัวแทนของอองซานซูจี ที่ในเวลานั้นยังถูกกักบริเวณอยู่ในบ้าน โดยการส่งมอบใบปริญญาบัตรเป็นมติเพิ่มเติมหลังการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 5/2548 เมื่อ 30 พฤษภาคม 2548 (อ่านรายงานหน้า 59-63)
อนึ่ง ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ เคยให้ความเห็นระหว่างการประชุมสภามหาวิททยาลัยครั้งที่ 5/2548 ดังกล่าวว่า "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถาบันที่มีอิสระทางความคิด มหาวิทยาลัยยึดถือว่า ปริญญาที่จะมอบให้ใครต้องเป็นผู้มีเกียรติและสมควร กรณีที่มหาวิทยาลัยมอบให้แก่นางออง ซาน ซูจี เพราะได้พิจารณาเห็นว่า เป็นบุคคลที่สมควรอย่างที่สุดแล้ว แต่ มธ.เคยลงมติไม่มอบให้แก่นักการเมืองจากต่างประเทศที่มีประวัติไม่ดี ประมาณปี พ.ศ. 2531 ได้มีการเสนอปริญญากิตติมศักดิ์ให้อดีตประธานาธิบดีเซียอุลซัค แห่งประเทศปากีสถาน ซึ่งเป็นรัฐบาลทหาร ตนเองเป็นคนแรกที่คัดค้านในที่ประชุมว่า ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะมอบให้ เพราะเป็นบุคคลที่ไม่ดำเนินการเพื่อมนุษยธรรม ที่ประชุมก็เห็นด้วย..."
ส่วนรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ที่ได้รับในปี 2534 อองซานซูจีเดินทางไปรับที่ศาลากลางกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เมื่อ 16 มิ.ย. 2555 ล่าสุดหลังจากเกิดวิกฤตมนุษยธรรมรอบล่าสุดที่รัฐยะไข่ ประเทศพม่า จนมีผู้อพยพชาวโรฮิงญาเข้าไปในบังกลาเทศมากกว่า 6 แสนคน มีการล่ารายชื่อใน change.org เรียกร้องให้คณะกรรมการรางวัลโนเบลถอนรางวัลโนเบลจากอองซานซูจี โดยมีผู้ลงชื่อแล้ว 4.3 แสนราย
แปลและเรียบเรียงจาก
Aung San Suu Kyi loses Freedom of Oxford over Rohingya crisis, Patrick Greenfield, The Guardian, Monday 27 November 2017
แสดงความคิดเห็น