สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 19-25 พ.ย. 2560
Posted: 25 Nov 2017 06:45 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
สำนักงานประกันสังคม เผย คนพิการได้รับสิทธิตามเกณฑ์ครบถ้วน แจ้งเปลี่ยนโรงพยาบาลได้ เริ่ม 1 ม.ค. 2561
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการให้ความช่วยเหลือคนพิการให้ได้รับความสะดวกตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ว่า คนพิการในระบบประกันสังคมสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่เลือกไว้ได้ อีกทั้งยังได้รับสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคมครบถ้วน โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด นอกจากนี้ ผู้พิการสามารถยื่นเรื่องเพื่อเปลี่ยนแปลงสิทธิการรักษาพยาบาล ระหว่างสิทธิบัตรทองกับสิทธิประกันสังคม หรือเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาลได้ ณ สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี
อย่างไรก็ตามสิทธิการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคม เมื่อเลือกแล้ว สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่เลือกไว้ได้ทันทีโดยเริ่มใช้สิทธิได้ ตั้งแต่วันที่ 1 และ 16 ของเดือน นับแต่วันที่มายื่นเรื่อง ทั้งนี้หากคนพิการที่ถูกโอนสิทธิไปหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ไม่แจ้งเปลี่ยนแปลงสิทธิการรักษา จะถือว่าคนพิการประสงค์จะใช้สิทธิบัตรทองต่อไป และกรณีที่ใช้สิทธิบัตรทองจะต้องรับบริการในหน่วยบริการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยกเว้น กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป
ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 25/6/2560
ฮือประท้วงขอโบนัส! พนักงานรวมตัวจี้บริษัทดัง เผยปีที่แล้วได้ 8 เดือน+62,000บาท
ช่วงปลายปีแบบนี้มนุษย์เงินเดือนต่างรอคอยและลุ้นว่า “โบนัสประจำปี” จะอยู่ที่เท่าไหร่กัน ตามปกติอัตราโบนัสจะขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจในปีนั้นๆ แน่นอนว่าถือเป็นแรงจูงใจที่สำคัญและสะท้อนสถานภาพของบริษัทด้วยเช่นเดียวกัน
ดังนั้นอัตราโบนัสค่าตอบแทนของแต่ละบริษัทในช่วงปลายปี จึงเป็นแรงดึงดูดให้แรงงานและพนักงานมีกำลังใจในการทำงานมากยิ่งๆขึ้นไปอีก
ล่าสุดเพจ บ่อวินห้วยปราบสะพานสี่มาบยางพรปลวกแดง ได้เผยภาพเหตุการณ์ที่สหภาพบริษัทผลิตรถยนต์แห่งหนึ่ง ในจ.ระยอง รวมตัวประท้วงบริษัท เพื่อเรียกร้องให้จ่ายโบนัส โดยตอนนี้อยู่ในขั้นตอนเดินหน้าเจรจาเรื่องของโบนัสปี 2560 โดยพนักงานพากันเดินขบวนเรียกร้องต่อนายจ้างถึงการจ่ายโบนัสของปีนี้ ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการ
ส่วนโบนัสของบริษัทผลิตรถยนต์แห่งหนึ่งในปีที่แล้ว มีรายงานว่าได้รับโบนัส 8 เดือน + เงินพิเศษ 62,000 บาท
ที่มา: ข่าวสด, 25/11/2560
ประกันสังคม เผยร่างกฎหมายเพิ่มสิทธิผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เตรียมประกาศใช้ ปี 2561
สำนักงานประกันสังคม เผยความคืบหน้าร่างกฎหมายเพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนรอที่ประชุมคณะรัฐมนตรียืนยันการปรับสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เตรียมเสนอให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมติเพื่อทราบอีกครั้ง คาดภายในสิ้นปี 60 นี้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ประกันตน
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึง ความคืบหน้าการปรับปรุงพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 25 เมษายน 2560 ได้ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองจำนวน 3 ฉบับ เพื่อปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จำนวนกว่า 2 ล้านคน ประกอบด้วย
1. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. ... 2. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทน พ.ศ. ... 3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. ...
นายสุรเดช กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมได้ทำหนังสือตอบกลับไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อยืนยันการปรับสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ตามที่เสนอไปก่อนหน้านี้ ขั้นตอนต่อไปต้องรอให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมติเพื่อทราบอีกครั้ง และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับต่อไป คาดว่าจะทันภายในสิ้นปี 2560 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ประกันตนและพี่น้องผู้ใช้แรงงาน นอกระบบกว่า 20 ล้านคน ที่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ทางเลือกใหม่ได้
สำหรับร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญโดยได้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 การเพิ่มและขยายสิทธิประโยชน์รวมถึงเพิ่มทางเลือกใหม่ (ทางเลือกที่ 3) สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ให้ใกล้เคียงกับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้แก่ เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เพิ่มเป็นวันละ 300 บาท สำหรับกรณีนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเบิกได้ตั้งแต่วันแรกที่นอนโรงพยาบาล และกรณีไม่ได้นอนพักรักษาตัวแต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ได้วันละ 200 บาท รวมกรณีนอนและไม่นอนโรงพยาบาลไม่เกิน 30 วัน/ปี กรณีไปพบแพทย์ และมีใบรับรองแพทย์ (ไปเช้ากลับเย็น) ให้ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ครั้งละ 50 บาท แต่ไม่เกินคนละ 3 ครั้งต่อปี เพิ่มเงินสงเคราะห์กรณีตาย 3,000 บาท เมื่อส่งสมทบมาแล้ว 60 เดือน
นอกจากนี้ยังได้เพิ่มทางเลือกใหม่ (ทางเลือกที่ 3) หากเลือกจ่ายสมทบ 300 บาท รัฐบาลสมทบ 150 บาท โดยเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เมื่อนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป ในอัตราวันละ 300 บาท และไม่ได้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลแต่แพทย์ให้หยุดพักรักษา ตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ในอัตราวันละ 200 บาท รวมกรณีนอนและไม่นอนโรงพยาบาล รวมกันไม่เกิน 90 วันต่อปี กรณีตายค่าทำศพ 40,000 บาท ส่วนกรณีสงเคราะห์บุตร อัตราคนละ 200 บาทต่อเดือนคราวละ 2 คน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี กรณีชราภาพเงินบำเหน็จชราภาพ เดือนละ 150 บาทพร้อมดอกผล หากส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้รับเงินเพิ่มจำนวน 10,000 บาท ทั้งนี้ข้อดีของการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 คือ ไม่ต้องมีการตรวจสุขภาพ และยังสามารถใช้สิทธิการรักษาบัตรทองได้ หากขาดการนำส่งเงินสมทบ ก็ยังเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ต่อได้ และรัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบกับผู้ประกันตน
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวด้วยว่า การสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ผู้สมัครใช้หลักฐานเพียงบัตรประชาชนใบเดียวก็สามารถดำเนินการได้ และการจ่ายเงินสมทบมีความสะดวกเพราะจ่ายได้ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป รวมทั้งที่ทำการไปรษณีย์ ตู้เติมเงิน ที่จะกระจาย ไปตามตำบล และหมู่บ้านทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกันตนในการเข้าถึงบริการ ของสำนักงานประกันสังคมได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง
ที่มา: NationTV, 23/11/2560
มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน เผย 1 ปี ‘เด็กข้ามชาติ’ ถูกทารุณ-ล่วงละเมิด 73 ราย
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน น.ส.ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (แอลพีเอ็น) กล่าวถึงสถานการณ์ทางสังคมและเด็กข้ามชาติที่เข้ามาในพื้นที่ประเทศไทย ในงานเสวนาเนื่องในวันสิทธิเด็กสากล เรื่อง “ประเทศไทยกับความสำเร็จหรือล้มเหลวต่อการคุ้มครองทางสังคมเด็กข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมง กิจการประมงต่อเนื่อง พื้นที่แคมป์ก่อสร้าง เด็กข้างถนน และเด็กผู้หญิงในภาคบริการ และข้อเสนอการจัดการปัญหา การพัฒนาความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ” ว่า ได้รับการช่วยเหลือจากมูลนิธิแอลพีเอ็น ในปี 2558-2560 จำนวน 13,000 คน โดยในช่วง 2 ปี มี 4,446 คน ได้รับการส่งเสริมด้านการศึกษาและด้านสิทธิเด็ก แต่พบว่าในช่วง 12 ปี มีเด็ก 400 คน เป็นเหยื่อที่ได้รับการช่วยเหลือจากการถูกบังคับค้ามนุษย์ ถูกกระทำทารุณกรรมร่างกายและทางเพศ ส่วนสถิติใน 1 ปี ยังคงมีกรณีเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศจากนายจ้างและเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ 73 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กหญิง 45 คน และเด็กชาย 28 คน ด้วยเหตุที่ศูนย์พักพิงของรัฐรับเพียงกรณีที่เด็กถูกทำร้ายร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ยอมรับเด็กในกรณีอื่น ทำให้แอลพีเอ็นต้องเข้ามาช่วยฟื้นฟูจิตใจเด็กที่ถูกทำร้ายร่างกายจนกว่าจะมีสภาพจิตใจดีขึ้น
“แม้จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือปัญหาเด็กข้ามชาติ แต่พบว่าเด็กอายุ 10-14 ปี ควรได้รับทักษะเพิ่มเติม โดยเฉพาะทักษะการใช้ชีวิตและภาษาไทย ซึ่งเสนอว่าควรร่วมมือกับภาคธุรกิจจัดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กข้ามชาติ โดยเฉพาะในแคมป์ก่อสร้าง และให้สถานะเด็กต่างชาติเป็นผู้ติดตาม” น.ส.ปฎิมา กล่าว
ด้าน ศ.สุภางค์ จันทวานิช ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย กล่าวว่า เห็นควรให้เพิ่มการคุ้มครองทางสังคมเด็กข้ามชาติ ด้วยกฎหมายที่เข้มงวดและมีบทลงโทษรุนแรง เพราะที่ผ่านมา พบปัญหาเรื่องสัญชาติเด็กข้ามชาติยังไม่ชัดเจน กระบวนการพิสูจน์สัญชาติทำให้เด็กบางส่วนไม่มีสัญชาติ แม้จะพากลับประเทศต้นทางแล้ว ยังประสบปัญหาหลักฐานการเกิด มีปัญหาด้านการศึกษา
“ขณะนี้ขั้นตอนการพิสูจน์อัตลักษณ์เด็กยังไม่ชัดเจน ควรมีขั้นตอนการพิสูจน์กระดูกเพื่อทราบอายุที่แท้จริงหากเกิดปัญหาการพิสูจน์อายุในเด็กข้ามชาติ และจะต้องมีฐานข้อมูลที่ชัดเจนและเชื่อมโยงทั้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงแรงงาน เพื่อให้เด็กได้รับความคุ้มครองในทุกด้าน” ศ.สุภางค์ กล่าว
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 20/11/2560
เร่งผลิตช่างไฟฟ้ามี License ก่อนปฏิบัติงาน
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า อาชีพช่างไฟฟ้า เป็นอาชีพที่น่าสนใจและมีรายได้ดีอีกอาชีพหนึ่ง และงานด้านช่างไฟฟ้าเป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญในการซ่อมแซม ปรับปรุง ติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งภายใน ภายนอกอาคาร และในที่สาธารณะด้วยความปลอดภัย ทั้งตัวช่างไฟฟ้าและประชาชน ปัจจุบัน อาชีพช่างไฟฟ้าเป็นอาชีพแรกที่ถูกกำหนดให้เป็นอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ ต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ (License) ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 ปัจจุบัน มีผู้ผ่านการประเมินความรู้ความสามารถแล้วกว่า 78,000 คน (ณ วันที่ 18 พ.ย. 60) คาดว่าปีนี้จะมีผู้เข้ารับการประเมินไม่น้อยกว่า 32,000 คน
กพร.ได้ร่วมกับองค์กรต่างๆ อาทิ ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง สมาคมช่างเหมาไฟฟ้า สถาบันการศึกษาอีกหลายแห่ง รวมถึงภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุนจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมและขออนุญาตเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ล่าสุด บริษัท ชไนเดอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ได้มอบกระเป๋าสาธิตระบบแสงสว่างอัจฉริยะ EZInstall3 เพื่อนำไปใช้ในการฝึกอบรม สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร พร้อมอบรมให้ความรู้วิธีการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่ครูฝึกของ กพร. เพื่อขยายผลการฝึกต่อไป ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 ณ อาคารรุ่งโรจน์ธนากุล ชั้น 1 ถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้สนับสนุนจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมช่างไฟฟ้าและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ลำพูน และระยอง ในศูนย์ฝึกอบรมจะมีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน มีชุดการสอน motor starter 5 ชุด สำหรับฝึกอบรมหลักสูตรยกระดับฝีมือ สาขาการประยุกต์ใช้มอเตอร์ในงานควบคุมอุตสาหกรรม (Applications Motor Control for industrial) พร้อมมอบอุปกรณ์อื่นที่จำเป็นใช้ประจำศูนย์ฝึกอบรม และจังหวัดอื่น ๆ อีก 54 จังหวัด ในปีนี้บริษัทจะจัดส่งอุปกรณ์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศอีก 19 จังหวัด สำหรับเดือนมีนาคม – ธันวาคม 2561 บริษัทฯ จะจัดส่งวิทยากรให้ความรู้แก่ครูฝึกของ กพร.และช่างไฟฟ้า ใน 9 จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย นครราชสีมา อุบลราชธานี สุพรรณบุรี ชลบุรี กระบี่ สงขลา และภูเก็ต หัวข้อที่จะอบรมนั้น อาทิ มาตรฐานและการติดตั้งเบรกเกอร์กันดูด และมาตรฐานการเลือกใช้งานเบรกเกอร์ในงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
ความรู้ ความสามารถ และทักษะของช่างไฟฟ้า มีความจำเป็นอย่างมากต่อการปฏิบัติงาน ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุมและทดสอบวัดระดับฝีมือของช่างก่อนปฏิบัติงาน เพื่อป้องกันและลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ทำให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน การติดตั้งระบบไฟฟ้าจากช่างที่ได้มาตรฐาน มีหนังสือรับรอง License แล้ว ก็สามารถให้บริการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สร้างความมั่นใจและเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้รับบริการ ปัจจุบันมีศูนย์ทดสอบฯ รวมทุกสาขาทั้งสิ้น 444 แห่ง สำหรับผู้ที่ต้องการทดสอบมาตรฐานหรือขอรับการประเมิน สามารถติดต่อได้ที่สถาบันหรือสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานที่ใกล้บ้านท่านทั้งในกรุงเทพและอีก 76 จังหวัด สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0 -2245- 4035
ที่มา: บ้านเมือง, 20/11/2560
นศ.วิทยาลัยอาชีวศึกษานครสวรรค์ รักษาหน้า กอศ.สถานประกอบการชูสองนิ้วชมเชยประสิทธิภาพการ
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผย ถึงความสำเร็จของ นักศึกษาสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ วิทยาลัยอาชีวศึกษานครสวรรค์ ในการเรียน ระบบ ทวิภาคี จำนวน 32 คน ที่เข้าฝึกประสบการณ์ วิชาชีพกับบริษัท โซนี่เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ว่า ได้รับความพึงพอใจจากแหล่งประกอบการอย่างมาก เนื่องจากมีอัตราการมาทำงานของนักศึกษา ร้อยละ 99 ซึ่งสูงจากกรอบอัตราการมาทำงานที่สถานประกอบการกำหนดไว้ที่ร้อยละ 97
เลขาธิการ กอศ. เปิดเผยถึงรายละเอียด การปฏิบัติงานของนักศึกษาในส่วนของ Logistics Manufacture ภาคอุตสาหกรรม ว่า แบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหารงานทั่วไป General Affairs (GA) เป็นส่วนสำนักงาน ดูแลสวัสดิการของพนักงาน การจัดเตรียมห้องประชุม อุปกรณ์ ต่างๆ รวมถึง Visa Work Permit ฝ่ายการผลิต Production Support คือ ส่วนการผลิตแบ่งเป็น หลายส่วนหลักๆ ได้แก่ การผลิตตัวกล้อง เลนส์ ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตเครื่องเสียง ติดรถยนต์ การตรวจสอบคุณภาพ การผลิตบรรจุภัณฑ์ ซึ่งงานในภาคอุตสาหกรรมจะเน้นกระบวนการไหลของวัตถุดิบ (Flow of inbound logistics) และฝ่ายสุดท้าย คือ ฝ่ายจัดซื้อ จะรับผิดชอบเอกสารการ วางบิล การทำ Invoice ทั้งนี้ บริษัทได้ให้การสนับสนุนเบี้ยเลี้ยง เป็นเงินประมาณ 12,000 บาท ต่อเดือน เงินพิเศษสิ้นสุดการฝึกงาน 3,000 บาท บริการรถรับ-ส่ง จากหอพัก ชุดพนักงาน ตรวจสุขภาพก่อน เริ่มการฝึกงาน ประกันชีวิตกลุ่ม ค่ารักษาพยาบาล บริการอาหารฟรี กิจกรรมสันทนาการ วันหยุด วันลา การฝึกอบรมพัฒนาทักษะวิชาชีพ รวมทั้งคณาจารย์นิเทศนักศึกษาเป็นระยะๆ ฝ่ายบุคคลจะเข้าเยี่ยมนักศึกษาฝึกงานเดือนละครั้ง
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวปิดท้ายว่า การเรียนรู้ไม่เพียงอยู่แต่ในห้องเรียนเท่านั้น การให้ความรู้ทั้งทักษะอาชีพ และทักษะทางสังคมจากประสบการณ์จริงจะทำให้ผู้เรียนมีความสมบูรณ์พร้อม มีความแข็งแกร่ง พร้อมที่จะรับมือกับโลกอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และ เชื่อว่าการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาในรูปแบบ ทวิภาคีจะสร้างสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้กับผู้เรียนได้ดี
ที่มา: แนวหน้า, 20/11/2560
กสร.แนะ “นายจ้าง” จัดสวัสดิการยืดหยุ่นลูกจ้างทุกวัย
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า สถานการณ์และวิวัฒนาการด้านแรงงานในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความแตกต่างในช่วงวัยของลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ การจัดสวัสดิการในรูปแบบเดิมจึงไม่ตอบสนองความต้องการของลูกจ้างทั้งหมด กสร.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการส่งเสริมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับรูปแบบการจัดสวัสดิการ จึงได้กำหนดแนวทางในการส่งเสริมการสวัสดิการแรงงานในสถานประกอบกิจการในรูปแบบสวัสดิการยืดหยุ่น ซึ่งลูกจ้างจะมีส่วนร่วมในการออกแบบและกำหนดรูปแบบของสวัสดิการ โดยคำนึงถึงความแตกต่างทั้งในเรื่องของวัย เพศ วิถีการดำเนินชีวิต และเปิดโอกาสให้ลูกจ้างสามารถเลือกและปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ เช่น จัดสวัสดิการด้านสุขภาพ โดยกำหนดงบประมาณและเปิดโอกาสให้ลูกจ้างเลือกเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าสมาชิกสถานที่ออกกำลังกาย ค่าตรวจสุขภาพ หรือ กำหนดเป็นชุดสวัสดิการให้ลูกจ้างเลือก เป็นต้น
“การจัดสวัสดิการแบบยืดหยุ่น เป็นรูปแบบของการจัดสวัสดิการที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเหมาะสมกับการบริหารแรงงานในยุคปัจจุบันที่มีลูกจ้างหลายวัยทำงานร่วมกัน มีความต้องการและวิถีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน การจัดสวัสดิการแบบยืดหยุ่นจะทำให้ลูกจ้างมีความสุขในการทำงานมากขึ้น ลดความขัดแย้งด้านแรงงาน และผลิตภาพสูงขึ้น ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายงบประมาณด้านสวัสดิการแรงงานของนายจ้างก็จะคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด สถานประกอบกิจการ” นายอนันต์ชัย กล่าว
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 19/11/2560
แสดงความคิดเห็น