โรเบิร์ต มูกาเบ อดีตผู้นำซิมบับเว ภาพถ่ายปี 2554
(ที่มา: แฟ้มภาพ/Al Jazeera English/Wikipedia/CC BY-SA 2.0)


Posted: 21 Nov 2017 01:47 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ประธานรัฐสภาอ่านจดหมายโรเบิร์ต มูกาเบ แถลงลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ทั้งนี้ทหารยึดอำนาจตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ขณะที่รัฐสภากำลังเริ่มกระบวนการถอดถอน โดยคาดว่าอดีตรองประธานาธิบดีที่ถูกมูกาเบปลดจะได้รับตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี ก่อนจัดเลือกตั้งปีหน้า

โดยมูกาเบ้ในวัย 93 ปี ปกครองประเทศนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อ 37 ปีที่แล้ว ก่อนถูกโลกตะวันตกคว่ำบาตร เพราะบังคับยึดที่ดินคนขาว นอกจากนี้ยังบริหารประเทศจนเกิดภาวะเงินเฟ้อยิ่งยวดจนต้องเลิกใช้เงินสกุลดอลลาร์ซิมบับเว ขณะที่ข้อมูล 'บัวแก้ว' เผยมูกาเบ้เยือนไทยส่วนตัวหลายครั้งเพราะลูกชายเคยเรียนเอแบค



ธนบัตรราคา 100 ล้านล้านซิมบับเวดอลลาร์ พิมพ์ออกมาในปี 2552 ช่วงภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ก่อนที่ซิมบับเวจะเลิกใช้สกุลเงินซิมบับเวดอลลาร์แล้วหันไปใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและสกุลเงินต่างประเทศแทน (ที่มา: Reserve Bank of Zimbabwe/Wikipedia)

ประธานาธิบดีซิมบับเว โรเบิร์ต มูกาเบ วัย 93 ปี ยอมลาออกแล้วหลังปกครองประเทศซิมบับเวมาตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อปี 2523 ทั้งนี้เขาไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องให้ลงจากอำนาจเป็นเวลาเกือบสัปดาห์ หลังจากที่กองทัพยึดอำนาจและไล่เขาออกจากพรรครัฐบาลคือพรรคสหภาพชาวแอฟริกันแห่งชาติซิมบับเว-แนวร่วมแห่งชาติ (The Zimbabwe African National Union) หรือพรรค ZANU-PF

นอกจากนี้ในการกล่าวสุนทรพจน์เมื่อคืนวันอาทิตย์ (19 พ.ย.) เขาก็กล่าวว่าจะไม่ลาออกและจะทำหน้าที่หัวหน้าพรรครัฐบาลต่อไป ทั้งยังกล่าวว่าพร้อมเป็นประธานในการประชุมสมัชชาพรรคที่จะมีขึ้นในเดือนหน้าด้วย

อย่างไรก็ตามมีการแถลงลาออกในวันอังคารนี้ (21 พ.ย.) หลังจากที่เมื่อเวลา 14.30 ตามเวลาท้องถิ่น รัฐสภาซิมบับเวเริ่มกระบวนการถอดถอนผู้นำซิบบับเวไปได้ไม่กี่ชั่วโมง โดยเมื่อเวลา 17.53 น. ตามเวลาท้องถิ่นซิมบับเว (22.53 น. ตามเวลาประเทศไทย) ประธานรัฐสภา จาค็อบ มูเด็นดา ได้อ่านจดหมายลาออกของมูกาเบ

"ข้าพเจ้า โรเบิร์ต กาเบรียล มูกาเบ ตามมาตรา 96 ของรัฐธรรมนูญซิมบับเว มีผลรับรองการลาออกของข้าพเจ้า ซึ่งการลาออกนี้จะมีผลทันที" ประธานรัฐสภาอ่านข้อความในจดหมาย

ฮารู มูกาซา ผู้สื่อข่าวอัลจาซีรา รายงานว่ามีผู้คนออกมาแสดงความยินดีตามท้องถนน มีหลายคนที่ไม่เชื่อสายตาตัวเองว่ามูกาเบได้ประกาศลาออก ผู้คนรู้สึกตื่นเต้นและหวังว่าจะพบกับอนาคตที่ดีกว่านี้

โดยที่ตึกเรนโบว์ทาวเวอร์ ในกรุงฮาราเร เมืองหลวงประเทศซิมบับเว ฝูงชนได้ตะโกนโห่ร้อง พร้อมกับถอดรูปภาพมูกาเบที่ติดอยู่ในย่านธุรกิจแห่งนี้ออก ขณะเดียวกันที่โยฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ เพื่อนบ้านทางใต้ของซิมบับเว ชาวซิมบับเวในแอฟริกาใต้ก็ออกมาแสดงความยินดีตามท้องถนนเมื่อได้ทราบข่าวการลาออกของมูกาเบเช่นกัน



บรรยากาศฉลองในกรุงฮาราเร หลังทราบข่าวโรเบิร์ต มูกาเบ ลาออก เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน (ที่มา: The Herald Zimbabwe)

ทั้งนี้ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (15 พ.ย.) กองทัพซิมบับเวได้ทำการยึดอำนาจ และแทรกแซงพรรครัฐบาลซิมบับเว หลังจากเมื่อ 6 พ.ย. มูกาเบ ปลดรองประธานาธิบดี อีเมอร์สัน มนังกากวา วัย 68 ปี และพยายามจะสืบทอดอำนาจไปยังภรรยาวัย 52 ปีคือ เกรซ มูกาเบ ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากกลุ่ม G40 ภายในพรรค ZANU-PF

คาดหมายว่ามนังกากวา หรือฉายา "จระเข้" ผู้เคยเป็นมือไม้ของมูกาเบ้ก่อนที่จะถูกปลดดังกล่าว จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรักษาการผู้นำซิมบับเว ขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปถูกกำหนดไว้ในปีหน้า

"เราคาดหวังว่ามนังกากวาจะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา" แพดดิงตัน จาปาจาปา สมาชิกรัฐสภาจากพรรคฝ่ายค้านกล่าวกับอัลจาซีา เขากล่าวด้วยว่า หากไม่เป็นเช่นนั้นเราก็จะจัดการเขาเช่นกัน เราเหนื่อยหน่ายแล้วกับการปกครองของพรรค ZANU-PF

ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ซิมบับเวได้รับเอกราชจากอังกฤษตั้งแต่ปี 2523 โดยยมูกาเบ เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2523-2530 หลังจากนั้นได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ

หลังจากดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมูกาเบได้ยึดที่ดินมาจากชาวซิบบับเวผิวขาว ส่วนมากเป็นคนเชื้อสายอังกฤษ คิดเป็นร้อยละ 75 ของที่ดินทั้งประเทศ มาจัดสรรใหม่ให้กับชาวซิมบับเวพื้นเมือง เพื่อเรียกความศรัทธาและความนิยมของประชาชน เหตุการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นในปี 2543 เมื่อเริ่มมีการใช้นโยบายปฏิรูปที่ดินแบบ "ฟาสต์แทร็ก" ส่งผลทำให้เกษตรกรผิวขาวต้องอพยพออกจากที่ดิน และอีกจำนวนมากต้องยุติการเพาะปลูก นโยบายปฏิรูปที่ดินนี้นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนและวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง

ข้อมูลในวิกิพีเดีย ระบุว่า ได้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในซิมบับเว มาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 และเกิดภาวะเงินเฟ้อหนักในปี 2551 ก่อนที่ในปี 2552 ซิมบับเวจะเลิกพิมพ์ธนบัตรและเลิกใช้เงินสกุลดอลลาร์ซิมบับเว และยอมให้ใช้สกุลเงินต่างชาติแทน โดยข้อมูลในปี 2559 ปริมาณเงินหมุนเวียนในซิมบับเว ร้อยละ 90 เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ และร้อยละ 5 เป็นเงินสกุลแรนด์ของแอฟริกาใต้

ประเทศตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ได้มีมาตรการ Smart/Targeted Sanctions เพื่อต่อต้านและกดดันรัฐบาลของมูกาเบตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ประกอบด้วยการเพิกถอนสมาชิกภาพของซิมบับเวในเครือจักรภพชั่วคราวโดยไม่มีกำหนด การห้ามการเดินทางเข้าประเทศและการอายัดทรัพย์สินที่มีอยู่ในประเทศตะวันตก ของมูกาเบ รวมทั้งพรรคพวกและเครือญาติ อย่างไรก็ตาม เป็นที่สังเกตว่า การกดดันของประเทศตะวันตกไม่อาจทำให้วิกฤตการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในซิมบับเวบรรเทาลงได้ ซิมบับเวได้ประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศเครือจักรภพในเดือนธันวาคม 2546 และฝ่ายรัฐบาลซิมบับเวได้ใช้กำลังเข้าทำร้ายร่างกายและจับกุมผู้นำฝ่ายต่อต้านและนักเคลื่อนไหวกว่า 40 คน เมื่อเดือนมีนาคม 2550

ในเดือนมิถุนายน 2550 เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา ประจำประเทศไทย ได้เข้าพบ รองอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อโน้มน้าวให้ไทยร่วมดำเนินมาตรการ Smart Sanctions ห้ามการเดินทางเข้าไทยกับมูกาเบและพวก แต่ฝ่ายไทยได้แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยต่อการใช้มาตรการกดดันที่ไม่ได้อยู่ภายใต้มติของ UN โดยฝ่ายไทยเชื่อมั่นในการที่จะบรรลุข้อยุติของปัญหาบนพื้นฐานของการเจรจาร่วมกันอย่างตรงไปตรงมาและเท่าเทียมกัน ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและเห็นว่ามาตรการกดดันเพื่อโดดเดี่ยวซิมบับเวนั้นจะไม่ส่งผลดีต่อการแก้ปัญหา

เนื่องจากได้รับแรงต่อต้านจากประเทศตะวันตกอย่างสูง รัฐบาลซิมบับเวจึงดำเนินนโยบาย Look East แสวงหามิตรประเทศจากภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะการเร่งกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน ในส่วนของไทย รัฐบาลซิมบับเวพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์กับไทย โดยได้แต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ซิมบับเวประจำประเทศไทย และได้มีความพยายามที่จะจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าซิมบับเวในกรุงเทพฯ

โดยที่ผ่านมา มูกาเบและภริยา เดินทางเยือนไทยเป็นการส่วนตัวบ่อยครั้ง บุตรชายของมูกาเบเคยศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

อนึ่งไทยและซิมบับเวได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2528 โดยไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ มีเขตอาณาครอบคลุมซิมบับเว เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐซิมบับเวคนปัจจุบันคือ นนทศิริ บุรณศิริ โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงพริทอเรีย ส่วนซิมบับเวมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตซิมบับเวประจำมาเลเซีย มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐซิมบับเวประจำประเทศไทยคนปัจจุบันคือ ลูคัส พันเด ทาวายา มีถิ่นพำนัก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และแต่งตั้งเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ซิมบับเวประจำประเทศไทย



ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

BREAKING NEWS: President Mugabe resigns! . . . Announcement of a new leader tomorrow, The Herald, November 21, 2017

Robert Mugabe resigns as Zimbabwe's president, Aljazeera, November 22, 2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.