Posted: 27 Nov 2017 10:22 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

น้องแอร์ ไม่มีชื่อสกุล

“ฉันไม่มีสัญชาติ”

ฉันเกิดและเติบโตมาในพื้นที่ชายแดนระหว่างไทย - พม่า - รัฐกะเหรี่ยง โดยมีแม่น้ำสาละวินคั่นกลางระหว่างทั้ง 3 ประเทศและรัฐนั้น

คนในหมู่บ้านของฉัน ส่วนใหญ่ไม่มีสัญชาติไทย รวมถึงครอบครัวฉันด้วย


การเป็นคนที่ไม่มีสัญชาติ หมายถึงเราถูกจำกัดเรื่องอาชีพ เราไม่มีแม้กระทั่งที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ครอบครัวฉันจึงทำได้เพียงรับจ้างเล็กๆน้อยๆในชุมชน ส่วนบ้านหลังเล็กๆที่ทำด้วยไม้ไผ่ ไม่มีความมั่นคงถาวร เบื้องหน้าเป็นหน้าผาสูง ตัวบ้านเหมือนกับวางเกยอยู่บนขอบถนน ด้านหลังหยั่งลึกลงไปในลำห้วยนับสิบเมตร ฤดูฝนเราเผชิญกับอันตรายมาก ลองนึกภาพดู คือ หลังบ้านมีห้วยลึกลงไปหลายสิบเมตร หน้าบ้านเป็นหน้าผาสูง มีต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเราไม่รู้่เมื่อไหร่ ดินจะถล่มลงมา และไม่มั่นใจว่าบ้านจะถูกน้ำพัดไปเมื่อไหร่ หลายครั้งเราต้องหนีไปนอนบ้านญาติด้วยความหวาดกลัว

ในด้านความเชื่อ ชุมชนของฉันยังมีความเชื่อในเรื่องผิดผี มีความเชื่อว่าผู้ชายเป็นผู้นำ ส่วนหญิงเรียนสูงไปก็ไร้ประโยชน์เพราะสุดท้ายต้องแต่งงานมีครอบครัว บางครั้งฉันเองก็เกิดความกดดันกับความเชื่อเหล่านี้ เพราะฉันชอบเรียนรู้ และจริงๆแล้ว ฉันอยากเป็นนักต่อสู้ อยากเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

เมื่อฉันเรียนจบระดับประถมศึกษา ฉันจำเป็นต้องออกจากหมู่บ้าน เพื่อไปเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ฉันและเพื่อนๆไม่สามารถเดินทางไปกลับระหว่างบ้านกับโรงเรียน เพราะการเดินทางยากลำบากและห่างไกล จึงต้องพักนอนที่หอพัก ที่โรงเรียนได้จัดให้ และที่นั่นเอง ฉันได้รู้จักกับครูเจี๊ยบ (มัจฉา พรอินทร์) ผู้ก่อตั้ง โครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน (Sangsan Anakot Yawachon) ซึ่งทำงานเสริมพลังอำนาจเด็กและเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมือง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนหญิง ทั้งที่มีและไม่มีสัญชาติ

โครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงชีวิตฉัน ฉันจะได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองผู้หญิงและการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้แบบเสริมพลังอำนาจต่างๆ ซึ่งนี่เองทำให้ฉันเป็นคนเก่งขึ้น เป็นมีความเป็นผู้นำ กล้าคิด กล้าแสดงออก และผลักดันให้ฉันยืนขึ้นต่อสู้เพื่อชุมชนของตนเอง ฉันมีเรื่องมากมายที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนให้ทุกคนมีสิทธิ มีความเท่าเทียมและไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ


การที่ไม่มีสัญชาติไทยนั้น มันส่งผลต่อชีวิตมาก เราไม่มีสิทธิในการครอบครองที่ดินทำกิน ไม่มีสิทธิในเรื่องอสังหาทรัพย์ การที่เข้าไปทำงานนอกจังหวัดลำบากอาจถูกนายจ้างเอาเปรียบในค่าจ้างเพราะเราไม่มีสัญชาติ การออกนอกจังหวัดต้องขอหนังสืออนุญาตเดินทาง ด้านการศึกษา เราถูกจำกัดสิทธิในการเดินทางตามหาความฝัน เราเข้าไม่ถึงการกู้ยืมเงินกองทุนเพื่อการศึกษา กยศ.

พ่อแม่ของฉันไม่มีสัญชาติ จึงถูกจำกัดเรื่องอาชีพ การทำงานรับจ้างไปวันๆ ไม่สามารถส่งลูกเรียนสูงๆได้ การเป็นคนไม่มีสัญชาตินั้นครอบครัวไหน สามารถส่งลูกเรียนได้ แปลว่าครอบครัวนั่นต้องหาเงินนักเป็นหลายเท่าตัวเพราะลูกไม่สามารถเข้าถึงการกู้ยืมเงินกยศ. ส่วนทุนการศึกษาสำหรับคนไร้สัญชาติก็มีน้อยมาก เพราะเหตุผลเหล่านี้ทำให้ฉันอยากเป็นนักต่อสู้ ฉันเชื่อมั่นว่าไม่มีสิ่งไหนทำไม่ได้ ถ้าเรายังไม่ลงมือทำ ฉันจึงเข้าอบรมต่างๆที่โครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนจัด หรือที่โครงการฯเชิญให้ไปอบรม กับเครือข่าย ซึ่งการอบรมในแต่ครั้งจะเป็นในเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม ทำให้ฉันได้ฝึกฝนตัวเองให้เก่ง ฉันเรียนรู้แบบนี้มาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม.1 จนถึงตอนนี้ฉันเรียนในระดับชั้น ปวส.1 ฉันเข้าร่วมอบรมเริ่มตั้งแต่เวทีเล็กๆ ในโรงเรียน ในหมู่บ้าน ในระดับภาคเหนือ ไปจนถึงระดับประเทศไทย และครั้งนี้ที่ฉันอยากจะเล่า คือ ฉันได้เข้าร่วมประชุมระดับอาเซียน ที่ประเทศฟิลิปปินส์

คนไม่มีสัญชาติ กับการเดินทางออกนอกประเทศ

การเดินทางไปต่างประเทศในครั้งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ฉันอยากเล่าให้ฟัง ดังนี้

วันที่19 ตุลาคม 2560


ฉันได้ทราบข่าวจากครูเจี๊ยบ ว่าจะได้เข้าร่วมการประชุมอาเซียนที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งด้วยระยะเวลาที่จำกัดมาก คือ 3 อาทิตย์ ฉันทราบว่าองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนและมูลนิธิศักยภาพชุมชน (PEF) ได้เตรียมการหลายอย่าง รวมถึงทำหนังสือและประสานงานทั้งกับ NGOs ในพื้นที่ และภาครัฐในหลายระดับ เพื่อให้ฉันสามารถทำหนังสือเดินทางออกนอกประเทศให้ทันเวลา

ฉันดีใจมากจนบอกไม่ถูกนี้เป็นสิ่งที่ฉันใฝ่ฝันฉันอยากไปเรียนรู้ต่างประเทศ เสนอประเด็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติให้เป็นประเด็นที่น่าสนใจเมื่อทราบว่าจะได้ไป สิ่งแรกที่ฉันทำคือหาข้อมูลเรื่องการขอออกนอกประเทศของคนไร้สัญชาติ

วันที่ 20 ตุลาคม 2560

ฉันขับรถไปที่อำเภอที่ฉันอยู่ไปหาเจ้าหน้าที่ที่เดินรื่องเอกสารการเดินทาง “พี่คะพอดีหนูจะไปอบรมอาเซียนในประเทศฟิลิปปินส์ค่ะ แต่หนูไม่มีสัญชาติค่ะ” พี่เจ้าหน้าที่ทำหน้า งง! และแจ้งว่าไม่เคยทำ อีกทั้งปลัดก็ไม่อยู่ ให้กลับมาใหม่

วันที่ 24 ตุลาคม 2560

ฉันเดินทางกลับไปอำเภออีกครั้ง ตั้งแต่เช้า ครั้งนี้ไปหาเจ้าหน้าที่อำเภอในการออกหนังสือให้ และเมื่อได้กระดาษมาฉันก็ดีใจมาก ฉันออกจากอำเภอและเข้าไปประสานศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชนเพื่อขอความช่วยเหลือในการประสานงานนัดหมายกับทางจังหวัดเพื่อดำเนินการเรื่องการขอนุญาตออกนอกประเทศ และทำหนังสือการเดินทางลำดับต่อไป ซึ่งด้วยระยะเวลาที่จำกัด ฉันจำเป็นต้องทำแต่ละขั้นตอนให้ผ่านเท่านั้น

วันที่ 25 ตุลาคม 2560

ฉันออกเดินทางพร้อมกับครูเจี๊ยบตั้งแต่เวลา 07:00 เพื่อไปที่ตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะทางเกือบ 200 กิโลเมตร การเดินทางในแต่ละครั้งเรามีความหวังกันมาก เอกสารทุกอย่างเราเตรียมมาพร้อม เราหวังว่าจะทำได้รับเอกสารเสร็จภายในหนึ่งวันนั้น

เมื่อไปถึงจังหวัด เราได้ไปเข้าไปห้องกรมการปกครอง ซึ่งเจ้าหน้าที่ดูเป็นกันเองและอัธยาศัยดี เราแนะนำตัวเป็นใครมาจากไหน มาทำอะไร นอกจากนี้เรายังได้ชี้แจงว่าเราได้ยื่นหนังสือผ่านขั้นตอนของอำเภอแล้ว โดยทางอำเภอได้ออกเอกสารให้หนึ่งฉบับ

ฉันยื่นหนังสือให้เจ้าหน้าที่ดู

พอเจ้าหน้าที่เห็นเอกสารที่ทางอำเภอออกให้ ก็แจ้งเราว่า “เอกสารที่ทางอำเภอออกให้หนูมันไม่ถูกค่ะ ต้องกลับไปให้อำเภอทำใหม่ค่ะ”

ฉันตกใจ! วินาทีนั้นเราต่างช่วยกันหาทางแก้ไข

ครูเจี๊ยบได้เข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่

ในขณะเดียวกันฉันได้ประสานงานกับ ปลัดที่อำเภอเพื่อขอให้ช่วยแก้ไขเอกสาร ซึ่งทางปลัดอำเภอ ยินดีที่จะแก้ไขเอกสารให้

ในระหว่างรอการดำเนินการแก้ไขเอกสารจากทางอำเภอ ไฟก็มาดับอีก ไฟดับนานกว่าหนึ่งชั่วโมง

ระหว่างที่ไฟดับ เราไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ส่วนเจ้าหน้าที่จังหวัดได้ช่วยกันหาเอกสารตัวอย่างสำหรับให้ทางอำเภอทำหนังสือให้ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้พิจารณาลงนาม

สำหรับคนไร้สัญชาติ มีค่อนข้างน้อยที่จะไปต่างประเทศกัน ประกอบกับขั้นตอนการขอเดินทางออกนอกประเทศ มีความซับซ้อน จึงต้องใช้เวลานับตั้งแต่ 30-90 วันโดยประมาณ คือ ต้องผ่านระดับหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด แล้วส่งเข้ากรมฯ รวมถึงกระทรวงต่างประเทศ และบางครั้งอาจจะไม่ได้รับอนุมัติให้เดินทาง

ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ ได้หาเอกสารเจอและส่งตัวอย่างให้ทางอำเภอ ทางอำเภอก็รีบดำเนินการให้

ขณะนี้เวลาก็ล่วงเลยถึง 17:30 น.ทางอำเภอก็ยังทำหนังสือไม่เสร็จ ทางจังหวัดก็รอ ผู้ว่าก็กำลังจะกลับบ้าน เราได้แต่รออย่างมีความหวัง รอลุ้นทั้งวันว่าจะเสร็จไหม ถ้าเสร็จแล้วผู้ว่าจะเซ็นให้ไหมเพราะมันก็เริ่มดึกแล้ว (ฉันจองตั๋วรถกลับในเวลา 2 ทุ่ม)

ฉันโชคดี! ในที่สุดทางอำเภอก็ส่งเอกสารกลับมา ฉันกับเจ้าหน้าที่อำเภออีกคนก็ขับรถไปที่บ้านท่านผู้ว่าฯ เพื่อขอให้ท่านผู้ว่าฯลงนาม ฉันรู้สึกว่าผู้ว่าใจดีและช่วยเหลือคนไร้สัญชาติมาตลอด ครั้งนี้ฉันก็ได้รับการช่วยเหลือจากท่านเป็นอย่างดี ฉันรู้สึกขอบคุณจริงๆ

ในที่สุดเอกสารก็เสร็จทันในเวลา 2 ทุ่มก่อนการเดินทางกลับ

การเดินทางของเอกสาร เพื่อขออนุมัติจากปลัดกระทรวงมหาดไทย

วันที่ 26 ตุลาคม 260

ฉันก็เตรียมเอกสารทุกอย่างเพื่อส่งไปให้กับครูเจี๊ยบของฉัน เอกสารก็จะมี หนังสือจากอำเภอ จากจังหวัด เอกสารของฉันต่างๆ รวมไปถึงเอกสารมอบอำนาจ เพราะฉันไม่อาจขึ้นไปที่กรุงเทพฯได้ ครูเจี๊ยบเลยทำหน้าที่ดำเนินเรื่องการขออนุญาตที่กรมแทน เอกสารไปถึงมือครูในตอนบ่ายและครูได้เดินทางไปกรุ่งเทพฯในวันเดียวกันนั้นเอง

วันที่ 27 ตุลาคม 2560

เช้าวันนั้นเองครูเจี๊ยบ มุ่งหน้าไปกระทรวง แต่ได้รับการช่วยเหลือจากพี่หลวง ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชนซึ่งได้โทรประสารงาน กับเจ้าหน้าที่ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งแจ้งว่าให้มายื่นหลังสือที่กรมการปกครอง วังไชยาแทน เพื่อความสะดวก (หมายเหตุ ช่วงเวลานั้นมีการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และกรมการปกครอง ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับที่จัดพระราชพิธี)

เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่ของกรมการปกครองได้แจ้งว่า จำเป็นจะต้องมีหนังสือรับรองจากสถาบันการศึกษา ที่ฉันสังกัดอยู่อีกหนึ่งฉบับ และเมื่อต้องดำเนินเรื่องแข่งกับเวลา หมายความว่าฉันจำเป็นจะต้องขอให้สถาบันทำหนังสือรับรองความเป็นนักศึกษา และรับรองว่าสถาบันการศึกษาต้นสังกัดของฉัน รับทราบว่านางสาวน้องแอร์ ได้รับเชิญจากมูลนิธิศักยภาพชุมชน (PEF) เพื่อร่วมประชุมในอาเซียนภาคประชาสังคม (ASEAN Civil Society Conference/ASEAN Peoples’ Forum 2017) ฉันก็รีบขึ้นไปพบผู้อำนวยสถาบันการศึกษาของฉัน เพื่อพูดคุย ชี้แจง และขอความช่วยเหลือจากผู้อำนวยการฯ ซึ่งการทำหนังสือครั้งนี้ก็นับว่ายาก เพราะเจ้าหน้าก็ไม่เคยมีประสบการณ์ทำหนังสือแบบนี้ ฉันดีใจที่อย่างไรก็ดีสถาบันการศึกษาของฉัน พยายามให้การช่วยเหลือและในที่สุดก็สามารถทำหนังสือให้ฉันได้ทันเวลาและครูเจีี๊ยบซึ่งเป็นตัวแทนของฉัน ได้ยื่นหนังสือที่มีทั้งหมดให้กับกรมการปกครอง เป็นอันว่า ถึงตอนนี้หนังสือทั้งหมดของฉัน ก็จะเดินทางตามขั้นตอน เพื่อเสนอและรอการอนุมัติจากปลัดกระทรวงมหาดไทย

ระหว่างนั้นทุกๆวันฉันกับโครงการสร้างสรรค์ฯ ได้คุยกันตลอดเรารอลุ้นว่าจะเสร็จทันไหมเพราะเวลามันเหลือน้อยเต็มที ฉันจะต้องเดินทางไปฟิลิปปินส์ ในวันที่ 9-15 พฤศจิกายน 2560 และต้องรีบทำให้เสร็จ เพราะต้องรีบจองตั๋วเครื่องบิน รอทุกวันอย่างมีความหวัง และเราไม่คิดที่จะยอมแพ้


ฝันเป็นจริง! การทำพลาสปอร์ตครั้งแรกในชีวิต

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2560

ในที่สุดสิ่งที่รอก็มาถึงในเวลา 17:40 น. ครูเจี๊ยบโทรมาบอกว่าหนังสือได้รับการอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว และครูได้ประสานของความช่วยเหลือไปมูลนิธิศักยภาพชุมชน เพื่อให้ช่วยเหลือ ฉัน ซึ่งไม่คุ้นเคยกับการเดินทางในกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการขั้นตอนสุดท้าย นั่นคือ ต้องไปทำพาสปอร์ตที่กรมการกงสุล(กรุงเทพฯ) เราแน่ว่าในขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ แต่เข้าใจว่าต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด ฉันจึงรีบไปแม่สะเรียงไป เพื่อซื้อตั๋วทัวร์เพื่อเข้ากรุงเทพมหานครในคืนเดียวกันนั้น ฉันได้รถเที่ยว 20.00 น. ซึ่งยังมีเวลากลับไปอาบน้ำก่อนการเดินทาง (หมายเหตุ การเดินทางออกนอนพื้นที่ของคนไม่มีสัญชาติ ต้องได้รับการอนุมัติจากอำเภอ การเดินทางไปกรุงเทพมหานครครั้งนี้ได้รับอนุมัติ โดยเป็นผลสืบเนื่องมากจากการขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทย ระหว่างวันที่ 1 - 20 ตุลาคม 2560 ฉันจึงไม่จำเป็นต้องไปขออนุญาตจากอำเภอ)

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2560

ฉันเดินทางถึงกรมการกงสุลในเวลา 08:08 น. ซึ่งที่นั่นมีพี่ตรอง เจ้าหน้าที่มูลนิธิศักยภาพชุมชน มาคอยช่วยเหลือเรื่องการทำพาสปอร์ต ในการทำพลาสปอร์ตมีขั้นตอนก็ไม่ยุ่งยาก สามารถทำวันเดียวเสร็จ แต่จะได้พาสปอร์ตใน วันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งพาสปอร์ตที่ได้จะไม่เหมือนของคนที่มีสัญชาติไทย สำหรับพาสปอร์ตที่ฉันได้จะเป็นเล่มสีเหลืองหน้าปกจะเขียนไว้ว่า “เอกสารเดินทางสำหรับคนต่างด้าว”

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2560

พาสปอร์ตของฉันถูกส่งถึงครูเจีี๊ยบ ที่เชียงใหม่ เพื่อรอให้ฉันเดินทางจากแม่สะเรียงมาขึ้นเครื่องบินเดินทางจากเชียงใหม่ ไปยังฟิลิปินส์ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560

ฉันมีความพร้อมที่จะประชุมในครั้งนี้เป็นอย่างมากในทุกๆวันฉันตื่นเต้นดีใจฉันมีความสุขมาก

การทำหนังสือเดินทางในครั้งนี้เริ่มตั้งแต่ วันที่ 24 ตุลาคม 2560 – วันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 ใช้เวลาทั้งหมด11 วันด้วยกัน

การทางไปต่างประเทศของเยาวชนไร้สัญชาติ คนแรกในเวทีประชุมอาเซียน ภาคประชาสังคม


วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560

ฉันเดินทางเกือบ 200 กิโลเมตรจากแม่สะเรียง เพื่อมาเตรียมความพร้อมในการเริ่มต้นเดินทางจากสนามบินนานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งคืนเพราะต้องขึ้นเครื่องแต่เช้าในวันรุ่งขึ้น ในคืนนั้น พี่จุ๋ม(เจ้าหน้าที่โครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน) ได้ช่วยเหลือเตรียมเอกสารและเตรียมความพร้อมสำหรับการเดินทางของฉัน

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2560

นี้เป็นการออกเดินทางที่มีความหวัง เพราะฉันไม่ได้ไปเพียงคนเดียว แต่ฉันมาพร้อมกับความหวังของพี่น้องที่ยังไร้สัญชาติที่รออยู่ข้างหลัง

ทุกๆขั้นตอน ในสนามบินตั้งแต่สนามบินเชียงใหม่ - สุวรรณภูมิ - ฟิลิปินส์ ฉันถูกตั้งคำถาม เจ้าหน้าที่ต่างสงสัยถึงการเดินทางของฉัน ดูเหมือนว่าเพื่อนๆคนไทยที่เดินทางพร้อมกันจะไม่มีปัญหา ผ่านแต่ละขั้นตอนแป๊บเดียว แต่สำหรับฉันเนื่องดูเหมือนเจ้าหน้าที่ในสนามบินไม่มีความเข้าใจ และไม่เคยเห็นเอกสารเดินทางแบบนี้ เจ้าหน้าที่เองต้องหาคนช่วยหลายคนถึงจะเข้าใจ เรียกได้ว่าพอถึงขั้นตอนสุดท้ายที่จะได้ขึ้นเครื่อง ก็ยังต้องมีลุ้น มีความกลัว ว่าจะทันเวลาไหม จะได้ขึ้นเครื่องลำดับต่อไปรึเปล่า

จริงๆการเดินทางครั้งนี้ ต้องคอยลุ้นตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศ รวมทั้งการเดินทางที่สนามบิน พอถึงขั้นตอนสุดท้ายที่จะได้ขึ้นเครื่อง ซึ่งต้องผ่านสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทย เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่มีหนังสือจากกระทรวงมหาดไทยแจ้งมาที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จุดนี้เองเลยเป็นปัญหา ซึ่งทีมของเราพยายามชี้เจง และเจ้าหน้าที่ก็พยายามหาทางออก เราใช้เวลาจุดนั้นประมาณครึ่งชั่วโมง และในที่สุดเจ้าหน้าที่ก็อนุญาตให้เราขึ้นเครื่องไปประเทศฟิลิปปินส์


ช่วงเวลาแห่งการการเรียนรู้

การเรียนใน วันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2560 สิ่งที่ได้มามันมีมากมายเหลือเกินฉันได้เข้าใจถึงประชาคมอาเซียนอย่างแท้จริงความคิดภาครัฐกับภาคประชาสังคมมีความคิดที่แตกต่างออกไปภาคประชาสังคมมีความคิดที่ทำงานแล้วไม่หวังผลตอบแทนไม่หวังผลกำไรทำเพื่อนประชาชนทำให้มีสิทธิความเท่าเทียมไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบได้เห็นถึงปัญหาของแต่ละประเทศแต่ละประเทศจะมีปัญหาการต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่แตกต่างกันออกไป ฉันเข้าใจว่ามาประชุมในอาเซียนครั้งนี้จะได้นำเสนอประเด็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติให้เป็นประเด็นหลักประเด็นสำคัญฉันมีความพยายามเหลือเกินที่จะนำเสนอประเด็นนี้ฉันได้นำเสนอถึงสองครั้งด้วยกัน

ในการประชุมอาเซียนในครั้งนี้จะแบ่งเป็นแต่ละห้องแต่ละห้องจะมีประเด็นเฉพาะแตกต่างกันออกไปฉันได้เลือก ห้องสิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ฉันได้เห็นถึงปัญหาของแต่ละประเทศแต่ละประเทศจะมีปัญหาการต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่แตกต่างกันออกไปฉันเข้าใจว่ามาประชุมในอาเซียนครั้งนี้จะได้นำเสนอประเด็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติให้เป็นประเด็นหลักแต่ยังก็ยังไม่เป็นประเด็นหลักสักเท่าไหร่ ทุกคนที่มาประชุมในครั้งนี้ได้เขียนข้อความร่างบทความเพื่อจะแถลงการณ์ในวันต่อไป


วันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2560 ได้พบกับ Edmund Bon Tai Soon คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ ไอชาร์ (AICHR: ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights) ของประเทศมาเลเซีย ในระหว่างเข้าพบร่วมกับคณะเยาวชนในอาเซียน ฉันได้แนะนำตัวเป็นใครมาจากไหน ความยากลำบากที่จะได้มาประชุมอาเซียนในครั้งนี้อย่างไร รวมถึงการได้นำเสนอสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เช่น ความยากลำบากในการใช้ชีวิต การเรียน การทำงาน การเดินทาง รวมถึงการไม่ได้รับการยอมรับในฐานะพลเมือง นอกจากนี้ฉันได้นำเสนอว่าเยาวชนแม้จะไร้สัญชาติ แต่ก็มีศักยภาพที่จะทำงานทั้งในประเทศที่ตนอาศัยอยู่ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านต่างๆในอาเซียน ดังนั้นหากไม่ถูกเลือกปฏิบัติในมิติต่างๆเยาวชนไร้สัญชาติก็จะสามารถใช้ศักยภาพที่มีอย่างเติมกำลังความสามารถและเป็นสวนหนึ่งในการพัฒนาสังคม

ฉันรู้สึกขอบคุณ AICHR Edmund Bon Tai Soon ขอบคุณประเทศเพื่อนบ้าน ขอบคุณประชาคมอาเซียน ที่รับฟังสิ่งที่ฉันนำเสนอ และยังมีข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายรวมทั้งชี้ให้เห็นกลไกสิทธิมนุษยชน ที่สามารถใช้ได้ในอาเซียน


วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560

เป็นวันที่ฉันมีความสุขที่สุดเลย เป็นวันท้าทาย การเดินรณรงค์ในประเด็นต่างๆ ที่เราอยากนำเสนอให้รัฐบาล เพื่อนำไปสู่การแก้ไข มันทำให้ฉันมีความเข้มแข็งมากขึ้นเห็นถึงพลังนักต่อสู้ไม่คิดที่จะยอมแพ้กับปัญหาที่เจอ ประเทศฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่สามารถเดินรณรงค์ในเรื่องต่างๆได้ เห็นนักเรียนนักศึกษาออกมารณรงค์ด้วยกัน ดูทุกคนมีพลังกันมาก ฉันอยากให้ประเทศของฉันทำแบบนี้ได้เหมือนกัน นี่เป็นครั้งแรกของฉันที่ฉันได้เดินรณรงค์ มันทำให้ฉันมีพลังมีความสุขและฉันเข้มแข็งขึ้นมาก


วันที่14 พฤศจิกายน 2560

ช่วงเช้ากลุ่มคนไทยได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาชุมชนแออัดแห่งหนึ่ง ชุมชนแห่งนี้ต่อสู้ในเพื่อสิทธิในที่อยู่อาศัย ชุมชนก่อตั้งมาได้ 40 กว่าปีแล้ว มี 400 กว่าครอบครัว ปัจจุบันเผชิญกับสถานการณ์ถูกขับไล่ให้ออกไปให้ไปอยู่ที่อื่น ตอนนี้เหลือแค่ 200 กว่าครอบครัวที่ยังคงยืนยันที่อยู่ที่นี้จะต่อสู้และเจรจากับรัฐบาล เพราะบริเวณนี้จะถูกใช้เพื่อสร้างเขื่อน นอกจากนี้ชุมชนยังต้องเผชิญกับน้ำท่วมทุกปี ถึงกระนั้นคนในชุมชนนี้ก็ยังสู้ แม้รัฐบาลจะมีข้อเสนอให้ย้ายชุมชนออกไปอยู่ที่อื่น แต่คนในชุมชนเห็นว่า อยู่ที่ใหม่จะให้ย้ายไปนั้นห่างไกลจากตัวเมือง ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ถ้าย้ายบ้านไปก็ต้องหาที่ทำงานใหม่ อีกทั้งที่ดินที่รัฐบาลจัดหาให้นั้น ก็ไม่ได้มาฟรี ชาวบ้านในชุมชนจะต้องผ่อนเป็นรายปี

วันที่15 พฤศจิกายน 2560

เป็นวันที่ต้องกลับมาในเมืองไทยขากลับมาก็มีปัญหาในเรื่องพาสปอร์ตตามเคยฉันไม่เคยมีความสุขในการเดินทางเลยฉันต้องคอยระแวงอยู่ตลอดเวลาทุกขั้นตอนที่ก่อนเข้าและขาออกต้องมีปัญหาตลอด ฉันหายใจไม่ทั่วท้องเลยก็ว่าได้ แต่ก็ว่านะ มันคือประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าเหลือเกินในชีวิตฉัน


ท้ายที่สุดนี้ฉันอยากจะขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ทำให้ฉันสามารถนำเรื่องราว ประสบกรณ์และชีวิตของคนที่ไร้สัญชาติ ไปพูดคุยที่เวทีระดับอาเซียน ครูเจี๊ยบและพี่จุ๋ม (โครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน), ครูชลิดา ทาเจริญศักดิ์และพี่ตรอง (มูลนิธิศักยภาพชุมชน: PEF), แหล่งทุนสนับสนุนเพื่อเพิ่มศักยภาพกลุ่มผู้หญิงจากประเทศพม่า (WLB), พี่หลวงและพี่ปุ๊ (ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน)​, คุณวีนัส สีสุข (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารงานทะเบียน)
พี่มึดา, พี่ยอดปอง รวมถึงพี่ๆที่เป็นล่ามและคณะภาคประชาสังคม ประเทศไทย สถาบันการศึกษาต้นสังกัดของฉัน (วิทยาลัยการอาชีพแม่สะเรียง) และที่ขาดไม่ได้ คือ เจ้าหน้าที่ภาครัฐทั้งในระดับหมู่บ้าน อำเภอและจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน (สืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารย์) และเจ้าหน้าที่ภาครัฐในระดับประเทศ บุคคลที่กล่าวถึงทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนช่วยให้ฉันได้เดินทางไปประชุมเวทีนานาชาติ ระดับอาเซียน ได้มีประสบการณ์และเกิดแรงบัลดาลใจที่จะทำงานเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนของคนไร้สัญชาติ

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.