Posted: 23 Nov 2017 11:31 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ศรีสุวรรณ จรรยา เตรียมร้อง กสม. สอมกรณีการเสียชีวิตของ เมย นักเรียนเตรียมทหาร 24 พ.ย.นี้ ขณะที่ อังคณา ยันกรรมการสิทธิฯ พร้อมสอบ ชี้จะทำให้คนรู้รักษาวินัย มีวิธีการการอื่นๆอีกมากมาย


ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

23 พ.ย. 2560 จากกรณี การเสียชีวิตของ ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ เมย นักเรียนเตรียมทหาร ซึ่งข้อสงสัยจากทางญาติและก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างมากนั้น วันนี้ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย แจ้งว่า วันศุกร์ที่ 24 พ.ย.นี้ เวลา 10.30 น. จะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ สนง.กสม.ชั้น 6 อาคารศูนย์ราชการฯ อาคาร B ถ.แจ้งวัฒนะ หลักสี่ กทม. ให้ใช้อำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบการกระทำและปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นทั้งระบบ เพื่อนำความจริงมาชี้แจงต่อสาธารณะโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงก่อนที่ กสม.ชุดนี้จะหมดวาระไป

‘ราโชมอน’ ความจริงที่ต่างกันของกองทัพ หมอ และครอบครัว กรณี นตท.เสียชีวิต
ชี้ กม.ชันสูตรมีช่องโหว่ แนวปฏิบัติไม่ชัด ทำแพทย์ไม่ต้องแจ้งญาติหากเก็บอวัยวะไว้
ศพสุดท้ายอีกกี่ครั้ง?: รวมกรณีซ้อมทรมาน-ตายแปลกในค่าย คุก บ้านพักนายทหาร

ศรีสุวรรณ ระบุว่า กรณีนี้มีลักษณะการพิสูจน์ที่ผิดธรรมชาติกลายเป็นที่ครหาของสาธารณชนและกระทบต่อภาพลักษณ์ของโรงเรียนทหารและระบบการเรียนการสอนจนถึงคำให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารสูงสุดของประเทศที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญว่าด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และอาจขัดหรือแย้งต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยร่วมเป็นภาคีสมาชิกอยู่ด้วยโดยตรงโดยเฉพาะการขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment – CAT) แม้กระทั่งจนบัดนี้ก็ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนต่อกรณีดังกล่าวไม่ได้

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เห็นว่าด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 247 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจ (1) ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณีโดยไม่ล่าช้า และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง (2) เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และอื่น ๆ

กสม.พร้อมตรวจสอบกรณี 'นตท.เนย'

ขณะที่วันเดียวกัน สำนักข่าวไทย รายงานว่า อังคณา ลีนะไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงการเสียชีวิตของ ภคพงศ์ ว่า รู้สึกตกใจและแปลกใจกับการที่แพทย์ออกมาระบุ ในทำนองว่าสามารถเอาอวัยวะภายในของน้องเมยออกไปได้ตรวจได้ โดยไม่บอกญาติให้ทราบชัดเจนก่อน ซึ่งต้องทำเป็นเอกสารให้เซ็นยินยอม เพราะการเสียชีวิตผิดธรรมชาติที่จะต้องมีการชันสูตร และหากญาติยังมีความข้องใจเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิต ก็เป็นสิทธิที่จะผ่าศพพิสูจน์อีกกี่ครั้งก็ได้ เหมือนกับกรณีของ ห้างทอง ธรรมวัฒนะ ที่ก็มีการผ่าพิสูจน์หลายครั้ง และต้องสรุปชัดเจนก่อนว่าน้องเมย ตายเพราะอะไร หากเสียชีวิตเพราะถูกบังคับให้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งจนร่างกายรับไม่ไหว ก็ต้องถือว่าเสียชีวิตโดยการที่มีคน ซึ่งมีอำนาจบังคับให้ต้องทำแบบนั้น คนที่มีอำนาจคนนั้นก็ต้องรับผิดชอบ อย่างไรก็ตามในส่วนของญาติผู้เสียหาย หากรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ กสม.พร้อมจะเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง

“จะตรวจสอบได้ว่ามีการละเมิดหรือไม่ แต่ก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้เกิดความจริงได้ง่าย เพราะผู้ที่เห็นเหตุการณ์ คือนักเรียนนายร้อยด้วยกัน ขึ้นอยู่ที่ว่าจะพูดหรือไม่ เพราะก็อาจจะอ้างเรื่องวินัย พูดไม่ได้ เป็นความลับราชการ ก็ยากจะหาหลักฐาน นอกจากหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตายหรือไม่ น่าจะเกิดจากสาเหตุอะไร แต่ก็อาจจะฟันธงไม่ได้ชัด ถ้าพยานที่เห็นเหตุการณ์ไม่พูดจริงๆ เรื่องนี้ถ้าหากเจ้าหน้าที่ระดับสูงคิดว่า เป็นเรื่องที่ควรจะเยียวยาครอบครัวเขา ก็ควรบอกความจริงกับเขาดีกว่า" อังคณา กล่าว

ส่วนที่ทหารอ้างว่าเรื่องธำรงวินัย เป็นเรื่องปกติที่จะฝึกวินัย ความอดทนของนักเรียนใหม่ อังคณา กล่าวว่า ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านทรมานแล้วทั้งปี 50 และปี 52 ประเทศก็มีภาระผูกพันที่ต้องทำตามอนุสัญญานี้ และอนุสัญญาต่อต้านทรมานของสหประชาติก็ระบุไว้ว่า ไม่ว่าสถานการณ์ใด รวมถึงสภาวะสงคราม การทรมานไม่สามารถเอามาใช้เป็นเหตุผลที่จะกระทำกับบุคคลอย่างไรก็ไม่ได้ อีกทั้งปัจจุบันมีร่างกฎหมายทรมานสูญหาย ที่ขณะนี้อยู่ในชั้นการแก้ไขของกระทรวงยุติธรรม หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้นำกลับไปปรับปรุงเนื้อหา ซึ่งตามร่างกฎหมายนี้ การทรมานจะกระทำไม่ได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ และการทรมานตามนิยามไม่ได้หมายถึงการทรมานด้านร่างกายอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการทรมานด้านจิตใจ การบังคับขู่เข็ญด้วย ฉะนั้นการธำรงวินัย เช่น การชกท้อง หรือบังคับให้ทำอะไรหนักๆ เกินกว่าร่างกายจะรับไหว มันก็เข้าข่ายเป็นการทรมานเช่นกัน

อังคณา กล่าวด้วยว่า การจะทำให้คนรู้รักษาวินัย มีวิธีการการอื่นๆอีกมากมาย และประเพณีวัฒนธรรมอะไรที่ไม่ดี ไม่ถูกต้องก็ควรจะปรับปรุง รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียน หากรัฐบาลจะประกาศเอาเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ ควรจะปฏิรูประบบนี้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีก

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.