Posted: 26 Nov 2017 02:13 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

องค์กรปกป้องสิทธิแรงงานต่างชาติในอิสราเอลเผยแพร่เกร็ดความรู้สำหรับแรงงานไทยที่ต้องพ่นยากำจัดศัตรูพืชในการทำงาน หากมีอาการผิดปกติให้รีบแจ้งนายจ้างเพื่อให้นายจ้างพาไปพบแพทย์


ที่มาภาพประกอบ: GREENCROSS FOUNDATION

เมื่อปลายเดือน พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา องค์กรคาฟลาโอเวด (Kavlaoved Agriculture) ซึ่งเป็นองค์กรปกป้องสิทธิแรงงานต่างชาติในอิสราเอล ได้เผยแพร่เกร็ดความรู้สำหรับแรงงานไทยที่ต้องพ่นยากำจัดศัตรูพืชในการทำงาน โดยระบุว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชสามารถเข้าสู่สู่ร่างกายได้หนทาง เช่น 1.ทางผิวหนัง มีการศึกษาพบว่าร้อยละ 90 ของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังโดยตรง เช่นเมื่อเกษตรกรสัมผัสกับพืชผลที่เพิ่งจะฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือเมื่อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชสัมผัสผิวหนัง หรือเสื้อผ้าที่เปียกชุ่มด้วยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือเมื่อเกษตรกรผสมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชด้วยมือเปล่า 2. ทางการหายใจ เกษตรกรที่ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือผู้คนที่อยู่ใกล้กับผู้ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชผ่านทางการหายใจได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่อันตรายที่สุดคือสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ไม่มีกลิ่น เพราะเกษตรกรจะไม่รู้สึกตัวเลยว่าได้สูดดมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้าไป

ทั้งนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพของผู้ได้รับพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีอยู่ 2 แบบคือ 1. พิษเฉียบพลัน เกิดขึ้นเมื่อได้รับพิษของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทันทีทันใด ตัวอย่างเช่น ปวดศรีษะ มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บหน้าอก ปวดกล้ามเนื้อ เหงื่อออกมาก ท้องร่วง เป็นตะคริว หายใจติดขัด มองเห็นไม่ชัดเจน หรือตาย และ 2. พิษเรื้อรัง เกิดขึ้นเมื่อได้รับพิษของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแล้วแสดงผลช้า ใช้เวลานาน อาการอาจใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปีภายหลังจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จึงจะแสดงออกมาให้เห็น เช่น การเป็นหมัน การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ การเป็นอัมพฤต อัมพาต และมะเร็ง เป็นต้น

ดังนั้่น ในการพ่นยาต้องสวมหน้ากากและถุงมือ ใส่เสื้อผ้าที่ปิดร่างกายให้มิดชิด เมื่อพ่นสารเคมีเสร็จแล้ว ควรรีบอาบน้ำชำระล้างร่างกาย ฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง เสื้อผ้าที่ใช้ในการปฏิบัติงานควรซักให้สะอาดด้วยทุกครั้ง ก่อนที่จะเริ่มทำงานในการพ่นยา ตามกฏหมายนายจ้างจะต้องให้ท่านได้รับการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะเริ่มทำงาน และนายจ้างจะต้องมีมีอุปกรณ์ป้องกันให้เราในการพ่นยา หากนายจ้างไม่หาให้ ท่านสามารถร้องเรียนมาที่องค์กรคาฟลาโอเวดได้



ท้ายสุดผู้ที่มีหน้าที่พ่นยาทุกคนต้องรับผิดชอบตัวเองด้วยการใช้อุปกรณ์ป้องกันสารเคมีต่าง ๆ และหากมีอาการผิดปกติให้รีบแจ้งนายจ้างเพื่อให้นายจ้างพาไปพบแพทย์

ก่อนหน้านี้ใน รายงาน 'สัญญาเถื่อนการปฏิบัติมิชอบต่อแรงงานไทยในภาคเกษตรของอิสราเอล' ขององค์กรฮิวแมนไรท์วอตซ์ (Human Rights Watch) ที่เผยแพร่เมื่อปี 2558 ระบุว่าแรงงานในฟาร์มหลายแห่งระบุถึงโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดศีรษะ ปัญหาระบบทางเดินหายใจ และอาการแสบตา ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นผลมาจากการฉีดยาฆ่าแมลงโดยขาดอุปกรณ์ป้องกันอย่างเหมาะสม แรงงานบางส่วนระบุว่ามีญาติในไทยส่งยามาให้พวกเขา เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่นี่ได้

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.