Posted: 28 Nov 2017 08:34 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ชาวกะเหรี่ยงทั่วประเทศร้องภาครัฐรับรองและสนับสนุนการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ตามมติ ครม. 3 ส.ค.53 อย่างจริงจัง ย้ำวิถีกะเหรี่ยงคือวิถีไทยที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืน

28 พ.ย.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้ผู้นำชาวกะเหรี่ยงจากทั่วประเทศทั้ง 15 จังหวัดที่มีชาวกะเหรี่ยงอยู่ ได้ร่วมประชุมเพื่อถอดบทเรียนปฏิบัติการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 3 ส.ค. 2553 เรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง พบว่ายังขับเคลื่อนไปได้อย่างเชื่องช้า ทั้งที่ผ่านมากว่า 9 ปีแล้ว พร้อมเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งดำเนินการตามมติ ครม. 3 ส.ค.2553 ในพื้นที่ 15 จังหวัดที่มีชาวกะเหรี่ยงอยู่

รายงานข่าวระบุด้วยว่า เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2553 ครม.ได้มีมติเห็นชอบแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชาวกะเหรี่ยง ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอในประเด็นที่สำคัญ 5 ประเด็นคือ 1.อัตลักษณ์ชาติพันธุ์และวัฒนธรรม 2.การจัดการทรัพยากร 3.สิทธิในสัญชาติ 4.การสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม และ5.การศึกษา โดยได้แบ่งเป็นมาตรการฟื้นฟูระยะสั้นและระยะยาว และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปฏิบัติ

สุรพงษ์กล่าวว่าข้อเรียกร้องของชาวกะเหรี่ยงที่สำคัญคือ ภาครัฐต้องยอมรับและรับรองว่าชาวกะเหรี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย เพราะแม้จะยอมรับการมีสัญชาติไทยของชาวกะเหรี่ยงในฐานะชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่มาเนิ่นนานบนแผ่นดินนี้แล้ว ยังต้องยอมรับภาษากะเหรี่ยงในฐานะภาษาไทยรูปแบบหนึ่ง โดยมีการเรียนการสอนภาษาไทย-กะเหรี่ยงในวิชาภาษาไทย ทั้งรณรงค์ฟื้นฟูรักษามรดกวัฒนธรรมไทย-กะเหรี่ยงในวันอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย และในแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนาท้องถิ่น ข้อบัญญัติท้องถิ่น ตลอดจนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีการนำเอาแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ตามมติครม. 3 ส.ค. 2553 ไปบรรจุไว้ด้วย

สุรพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงวัฒนธรรมต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเรียกประชุมคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องซึ่งไม่ได้มีการเรียกประชุมมาเนิ่นนานแล้ว และเร่งผลักดันให้ไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ในปี 2562 หลังจากประกาศให้เป็นมรดกทางภูมิปัญญาของชาติ ตั้งแต่ปี 2556 ตลอดจนประกาศให้วันที่ 9 สิงหาคมของทุกปี เป็น "วันชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์" ซึ่งจะสอดคล้องกับประกาศที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ประกาศให้วันที่ 9 สิงหาคมของทุกปี เป็น “วันสากลแห่งชนเผ่าพื้นเมืองโลก” (International Day of World Indigenous Peoples)

สุรพงษ์ ด้วยว่า วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงที่เรียบง่ายทั้งรักษาสภาพแวดล้อมและแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติหรือ UNDP ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน หน่วยงานของรัฐควรเร่งดำเนินการตามข้อเสนอของชาวกะเหรี่ยงโดยเร็ว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.