Posted: 10 Dec 2017 12:18 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เอกชัย หงส์กังวาน

กรณีแคมเปญก้าวคนละก้าวของ ตูน บอดี้สแลม ที่ต้องการระดมทุน 700 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือ 11 โรงพยาบาลรัฐก่อให้เกิดกระแสดราม่ามากมาย

ประชาชนส่วนหนึ่งให้การสนับสนุนแคมเปญนี้ ขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งแสดงความไม่เห็นด้วย

แม้เจตนาของการระดมทุนนี้เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ขาดแคลนเงิน แต่เราต้องมองให้เห็นว่า สิ่งใดเป็นสาเหตุของการขาดแคลนเงินของโรงพยาบาล

ปัญหาการขาดแคลนเงินของหน่วยงานรัฐเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การหารายได้, การจัดสรรงบประมาณ และการทุจริต

1. การหารายได้: แต่ละปีรัฐบาลจะจัดเก็บภาษีจากประชาชน ขณะที่รัฐวิสาหกิจมีหน้าที่นำส่งรายได้ให้รัฐ หลายคนอาจสงสัย แต่ละปีเราจัดเก็บรายได้เท่าไร่ ?

ข้อมูลจากกระทรวงการคลังแสดงให้เห็นถึงการจัดเก็บรายได้ช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559-กันยายน พ.ศ. 2560 กว่า 2.35 ล้านล้านบาท

รายได้เหล่านี้มาจากกรมสรรพากรกว่า 1.79 ล้านล้านบาท เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล

- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กว่า 742,199 ล้านบาท

- ภาษีเงินได้นิติบุคคลกว่า 625,978 ล้านบาท

- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากว่า 314,892 ล้านบาท

ปัจจุบันกระทรวงการคลังใช้วิธีสุ่มตรวจการเสียภาษีเป็นรายกรณี เนื่องจากไทยขาดเทคโนโลยีระดับสูงที่จะตรวจสอบการเสียภาษี ส่งผลให้เกิดการเลี่ยงภาษีจำนวนมาก เช่น การออกใบกำกับภาษีปลอม และการตกแต่งบัญชี

หากรัฐลงทุนในเทคโนโลยีตรวจสอบภาษีระดับสูงจะช่วยให้กระทรวงการคลังสามารถจัดเก็บภาษีมากขึ้น นี่คือวิธีการแก้ปัญหาเพื่อหารายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ขณะที่รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ให้รัฐกว่า 162,265 ล้านบาท หากพิจารณาเป็นรายรัฐวิสาหกิจปรากฎว่ามีเพียงกว่า 10 แห่งจาก 55 แห่งที่นำส่งรายได้ให้รัฐ

หลายรัฐวิสาหกิจ เช่น การบินไทย, ทีโอที และการรถไฟแห่งประเทศไทย ประสบภาวะขาดทุนมหาศาลในแต่ละปี สร้างภาระให้กับงบประมาณรัฐจำนวนมาก

การขาดทุนของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การขาดความสามารถในแข่งขันกับเอกชน และการทุจริตในองค์กร

หากรัฐแปรรูปรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ให้กับเอกชน โดยรัฐถือหุ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่าจะช่วยให้เอกชนมีอำนาจในการบริหารมากขึ้น ปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไข ขณะที่รัฐมีภาระการอุดหนุนน้อยลง

เมื่อรายได้ของรัฐมากขึ้น การอุดหนุนลดลง รัฐก็จะสามารถจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานรัฐที่จำเป็นมากขึ้น



เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟสบุ๊ค เอกชัย หงส์กังวาน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.