Posted: 10 Dec 2017 12:16 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ 'หนึ่งร้อยปีวิกฤตรัฐธรรมนูญและการเมืองของสยามประเทศไทย' ชวนมองวิกฤตลึกลงไปในประวัติศาสตร์การเมืองนับแต่ รัชกาลที่ 4 จนถึงปัจจุบัน พบเรายังวนเวียนอยู่กับคำตอบเดิม ประชาธิปไตยต้อง “รอไปก่อน”

คลิปปาฐกถาหัวข้อ หนึ่งร้อยปีวิกฤตรัฐธรรมนูญและการเมืองของสยามประเทศไทย
โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ



10 ธ.ค. 2560 ที่ห้อง 201 ชั้น 2 อาคารคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่ม Third Way Thailand และกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยได้จัดงานนิทรรศการการเมืองเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ โดยมีปาฐกถาพิเศษหัวข้อ 'หนึ่งร้อยปีวิกฤตรัฐธรรมนูญและการเมืองของสยามประเทศไทย' โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

“วิกฤตประชาธิปไตยของเราในปัจจุบัน ถ้าขยายความ เอาเข้าจริงมันเป็นเรื่องวิกฤตรัฐธรรมนูญ กับวิกฤตของการเลือกตั้ง และผมจะตบท้ายด้วยการดูเรื่องอำนาจกับบารมี คนบางคนมีอำนาจ แต่ไม่มีบารมี บารมีเป็นเรื่องที่ต้องสะสม และอันนี้เป็นปัญหาที่กำลังเผชิญประเทศของเรา” ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ชาญวิทย์ เริ่มต้นด้วยชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่จะนำเสนอในวันนี้เป็นชวนให้หันกลับไปดูอดีตกว่าร้อยปีที่ผ่านมา เพื่อที่จะช่วยทำให้เห็นว่าวิกฤตประชาธิปไตย นั้นเป็นเรื่องเดียวกับกับวิกฤตรัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น และกินระยะเวลาที่ยาวนานนับร้อยปี

เขากล่าวต่อไปว่า ในแง่ของประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทย เรากำลังอยู่ในช่วง Long History ซึ่งเป็นช่วงประวัติศาสตร์ที่ยาวกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบปี เขาตั้งต้นด้วยย้อนกลับไปดูว่าความคิดเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญนั้นมีมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งปรากฎว่ามีการแปลรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเป็นภาษาไทย โดยหมอบรัดเลย์ แม้ผู้ที่ได้อ่านก็มีเพียงคนไม่กี่คน แต่ก็นับได้ว่า ตั้งแต่จุดนั้นประเทศไทยก็ได้เดินผ่านประวัติศาสตร์การเมืองที่สำคัญที่เกี่ยวกับเรื่องของรัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งเรื่อยมา

ชาญวิทย์ ระบุต่อไปว่าจากช่วงรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลที่ 5 มีการขอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกในปี ร.ศ.103 (พ.ศ.2427) โดยเจ้านายกลุ่มเล็กๆ ดังนั้นช่วงต้นของรัชกาลที่ 5 ความคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญก็เริ่มผลิดอกออกผล โดยมีความพยามยามที่จะชี้ให้เห็นว่า ญี่ปุ่นในช่วงเดียวกันนั้นได้มีรัฐธรรมนูญแล้ว แล้วเหตุใดสยามซึ่งมีการปฏิรูปครั้งใหญ่พร้อมๆ กันประเทศญี่ปุนถึงยังไม่มีรัฐธรรมนูญ จึงได้มีการเสนอขอให้มีรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาคือ “ขอให้รอไปก่อน”

เขาอธิบายต่อไปว่า หลังจากนั้นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งคนไทยอาจจะลืมไปแล้วคือ กบฎ ร.ศ.130 (2454-2455) ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากมีการปฏิวัติซุน ยึดเซ็น ที่ประเทศจีน ประมาณหนึ่งปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าอิทธิพลความเปลี่ยนแปลงในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศญี่ปุ่น การเปลี่ยนในประเทศจีน หรือการแปลงเปลี่ยนในประเทศสหรัฐอเมริกา กระแสการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ส่งอิทธิพลเข้ามาในสยามแล้ว ซึ่่งผู้ปกครองไม่สามารถสร้างกำแพงกั้นได้

“ฉะนั้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เราก็จะเห็นว่ามันมีความพยายามที่จะยึดอำนาจ ซึ่งเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงและการปฏิวัติในระดับโลกคือ การปฎิวัติในจีน ของซุน ยึดเซ็น และการสิ้นสุดของราชวงศ์ชิง เรื่อยมาเราก็รู้ดีว่าในสมัยราชกาลที่ 6 มีการทดลองเมืองจำลองดุสิตธานี แต่มันก็กลับมาที่คำตอบเดิมคือ รอไปก่อน”

ชาญวิทย์เห็นว่า ปัญหาของวิกฤตรัฐธรรมนูญที่มีมาในระยะเวลายาวนาน เป็นปัญหาระหว่าง “การรอได้” กับ “การรอไม่ได้” หรือพูดอีกอย่างคือ เป็นปัญหาที่ว่าด้วยการปฏิรูปก่อนมีรัฐธรรมนูญ หรือการปฏิรูปก่อนมีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังเกิดขึ้นตลอดในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา

“ในสองร้อยปีที่ผ่านมา หรือร้อยกว่าปีของไทยก็ตาม มันเป็นเรื่องของยุคในโลกโลกาภิวัตน์ ที่เป็น modern world เป็น modernity ซึ่งจะมีสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้ง ฉะนั้นเราจะเห็นว่าสถาบันกษัติรย์ที่มั่นคงและดูจะสถาวร ก็จะมีให้เห็นเช่นอังกฤษ หรือสหราชอาณาจักร และญี่ปุน ซึ่งเขาปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไปแล้ว ให้ไปได้กับรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย และการเลือกตั้ง ส่วนประเทศที่ไม่สามารถปฎิรูปสถาบันให้ไปกับสิ่งเหล่านี้ได้ก็ล้มสลายไป เช่นจีน และรัสเซีย”

เขาอธิบายต่อไปว่า ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นโดย คณะราษฎร เขาสรุปว่าวิกฤตรัฐธรรมนูญในช่วงแรกนั้นกินระยะเวลา 48 ปี นับจากการขอให้มีรัฐธรรมนูญของกลุ่มเจ้านายในปี พ.ศ.2427 (รศ.103) มาจึงถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร ในวิกฤตรัฐธรรมนูญในช่วงหลังนั้นกินระยะเวลายาวนานจาก พ.ศ.2475 มาจนถึงปัจุบัน

“คณะราษฎรเข้ามากุมอำนาจได้เพียง 10 ปี แต่หลังจากสงครามโลครั้งที่ 2 คณะราษฎรก็แตกสลายด้วยวิกฤตการณ์ที่ใหญ่มากคือ กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 จึงทำให้ผู้นำเก่า อำนาจเก่า บารมีเก่า เงินเก่า และความคิดเก่า สามารถใช้กรณีสวรรคตอ้าง อิง โหนสถาบันกษัตริย์ปราบปรามความคิดและกลุ่มการเมืองประชาธิปไตยให้ราบเรียบไป โดยเริ่มจากการรัฐประหาร พ.ศ.2490 ของจอมพลผิน ชุณหะวัณ ฉะนั้นความคิดที่มันแตกต่างหลากหลาย เช่นประชาธิปไตย เสรีนิยม ก็ถูกขจัดไป”

ชาญวิทย์ ชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากกรณีสวรรคตคือ ฝ่ายทหาร โดยเฉพาะทหารบก ฝ่ายเจ้า และอำมาตย์ ได้ร่วมมือกันกลับมามีอำนาจอีกครั้ง และหลังจาก พ.ศ.2490 เป็นต้นมารัฐบาลที่ได้มาจาการเลือกตั้งก็กลายเป็นรัฐบาลที่ขาดเสถียรภาพ พร้อมกับการสถาปนาสิ่งที่เรียกในวงวิชาการว่า พระราชอำนาจนำ (Royal Hegemony) ขึ้น ซึ่งเด่นชัดในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และเหตุการณ์หลังเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535

ชาญวิทย์ ระบุว่า ทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับการเมืองไทยคือ วัฏจักร วังวน ซึ่งทำให้ประเทศไทยนั้นเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยการรัฐประหาร และการร่างรัฐธรรมนูญซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งหากนับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ พ.ศ.2475 จะเห็นว่าการเมืองไทยมีทหารรวมอยู่ด้วยตลอด เพียงแต่การปฏิวัติ 2475 นั้นทหารเลือกอยู่ฝั่งประชาธิปไตย

“ฉะนั้นในอนาคตผมคิดว่า ถ้าเราดูในกรณีของประเทศที่มีปัญหาแบบนี้ เช่นพม่า อินโดนีเซีย พิลิปปิน มันก็จบด้วยการที่ทหารกลุ่มหนึ่งเล่นเกมส์ประชาธิปไตย ในกรณีของอินโอนีเซีย มันก็มีทหารเข้ามาเป็นส่วนประกอบของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงจะนำประชาธิปไตยมาได้”

ชาญวิทย์ ทิ้งทายด้วยว่า วิกฤตการเมืองล่าสุดนับตั้งแต่ 2548 เป็นต้นมา ได้ทำให้เกิดการรัฐประหาร 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นสิ่งบ่งบอกว่านี่คือการเปลี่ยงแปลงครั้งใหญ่ของประเทศไทย และเป็นการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาที่สำคัญคือ ช่วงของการเปลี่ยนผ่านรัชกาล ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยคิดว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้น คำถามที่สำคัญที่เราต้องช่วยกันหาคำตอบคือ ทำอย่างไรการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะไม่เกิดความเสียหายที่รุนแรงอย่างกรณีของรัสเซีย จีน หรือกัมพูชา ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดความเสียหาน้อยที่สุด และกินระยะเวลาสั้นที่สุด

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.