Posted: 20 Dec 2017 12:19 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
ชี้ดับไฟใต้ไม่ได้ถ้ายึดติดกรอบคิดเดิม ให้ความมั่นคงผูกขาดการแก้ปัญหา ยกนักวิชาการ-มหา’ลัย กลไกสำคัญสร้างองค์ความรู้ สร้างแนวร่วมจากภายนอก-ภายใน มุสลิมต้องคุยกันเองในหลายเรื่องที่คนภายนอกศาสนาไม่เข้าใจ ปัญหาการสื่อสารจากทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติเป็นอุปสรรคสานสันติภาพ
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา ในเวทีเสวนาหัวข้อ “บทบาทของสถาบันวิชาการและนักวิชาการกับการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้” จัดโดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ Strengthening Human Rights and Peace Research and Education in ASEAN/Southeast Asia (SHAPE-SEA)
เวทีเสวนามี มาร์ค ตามไท ผู้อำนวยการกลุ่มสร้างสันติภาพต้นปันรักเชียงใหม่ อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพกับผู้เห็นต่างจากรัฐในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาตร์ จุฬาฯ สุชาติ เศรษฐมาลินี ผู้อำนวยการสถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ และหัวหน้าสาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (ผู้แทน จ.เชียงใหม่) และเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล เป็นวิทยากร
โคทม อารียา: คนนอกกับการสานวาทกรรมและจุดอ่อน หนุนคนในพื้นที่แก้ปัญหาชายแดนใต้
แย้งภาครัฐ คน 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังระแวง ความเกลียดชังแพร่ถึงห้องเรียน
ดับไฟใต้ไม่ได้ถ้ายังติดกรอบความมั่นคง
มาร์คกล่าวว่า ตนไม่มีสิทธิ์ที่จะฝันเรื่องนี้ หรือเขียนบทกวีถึงความปรารถนาเอกราชของปาตานี เพราะไม่ใช่คนที่อาศัยที่นั่น แม้อาจจะมีสิทธิ์ออกความเห็นในเรื่องอื่นในฐานะคนไทยคนหนึ่ง แต่บางอย่างก็เป็นหน้าที่ของคนในที่จะแก้ปัญหา ถ้าคนนอกทำงานพวกนี้จะเป็นงานที่เน้นสันติสุขของประเทศไทยมากกว่า อย่างไรก็ตาม บทบาทคนนอกในสามจังหวัดก็เยอะ และเราจะมาคุยเรื่องนั้นกัน
เขาตั้งคำถามว่า คนไทยเข้าใจปัญหาภาคใต้หรือไม่ และปัญหามีความสำคัญหรือไม่ สำคัญในที่นี้ไม่ใช่สำคัญแบบนามธรรมทั่วไป แต่สำคัญแค่ไหนที่จะมีความรู้เรื่องนี้ สำคัญกว่าเรื่องราคายางไหม สำคัญกว่าความรู้เรื่องความแห้งแล้งในบางเดือนของภาคอีสานหรือไม่ มีหลายปัญหา และมีหลายปัญหาที่สำคัญกว่าปัญหาอื่นที่คนควรจะรับรู้ เในกรณีตากใบ มีผลโพลชี้ว่าคนไทยร้อยละ 85 เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้น เราจึงต้องรู้เพื่อจะได้ไม่ส่งต่อความรู้ที่ผิด และมีการพูดคุยออกความเห็นเพื่อแก้ไขปัญหา หากคนเอาความไม่เข้าใจไปบอกคนอื่นแล้วก็เชื่อกันไป ในที่สุดก็ส่งต่อความไม่รู้ลงไปในระดับต่างๆ
มาร์คชี้ว่า บทบาทสถาบันวิชาการคือการไม่ควรให้มีบัณฑิตคนไหนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยไทยแล้วไม่สามารถพูดเกี่ยวกับภาคใต้ได้ ส่วนจะสอนอย่างไรก็เป็นปัญหาหนึ่ง จะทำอย่างไรให้มีการบรรจุในหลักสูตร ให้บัณฑิตพูดได้ ไม่ต้องพูดได้หมด ไม่ต้องตัดสินข้อถกเถียง แต่สามารถเล่าข้อถกเถียงทุกด้านได้
บทบาทนักวิชาการที่อยากเสนอในฐานะนักวิชาการที่เป็นคนนอกพื้นที่คือ อยากให้พิจารณาจากเรื่องของเด็กที่แม่พาไปหาหมอฟันเพราะฟันผุ หมอฟันก็ดูและอ้างว่ากินขนมหวานเยอะไป แม่ก็เอากลับไปแล้วบอกว่าห้ามกินขนมหวานเดี๋ยวจะฟันผุ แต่เด็กก็ไปหาขนมจนได้ แล้วก็ฟันผุอีก จริงๆ คือแก้ผิดจุด เราบอกว่าอย่ากินขนม โดยไม่ถามว่าทำไมเขากินขนม แต่บางกรณีก็ไม่ได้ดื้อ แต่แค่ไม่สามารถคิดนอกกรอบนี้ ร่างกายต้องการแต่หมอ
“ผมกำลังคิดเรื่องความเข้าใจเรื่องความมั่นคงของสังคมไทย บางทีคนที่ศึกษาเรื่องนี้ทั้งในและนอกพื้นที่ ก็มีหลายคนที่ไปร่วมอบรมหลายครั้ง และก็ตั้งใจฟัง มีจัดเกมให้เล่น เล่นจำลองบทบาทต่างๆ แล้วก็ทำแบบเดิมแบบนี้มาหลายปี ทำไมทัศนะของคนทำงานด้านนี้ไม่เปลี่ยน ก็บอกให้เปลี่ยนผ่านการอบรม ผมก็มองเรื่องนี้แบบเดียวกับเรื่องหมอฟัน มันเกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องความมั่นคง ตราบใดที่ความเข้าใจความมั่นคงไม่เปลี่ยน การอบรมสันติวิธีไม่น่าจะช่วยมากเพราะมันไปชนกับความเข้าใจเดิมที่มีอยู่ก่อน ไม่ได้วิเคราะห์และทำให้เข้าใจ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยไม่เข้าใจปัญหาภาคใต้เพราะฝ่ายความมั่นคงบอกเป็นปัญหาความมั่นคง ตราบใดที่ปัญหาภาคใต้ยังจำกัดเป็นเรื่องความมั่นคงมันก็จะเป็นอย่างนี้ แต่มันเป็นปัญหาเรื่องจริยธรรมและการเมืองการปกครอง เป็นปัญหาของส่วนหนึ่งของประเทศมีความทุกข์บางอย่างและผู้มีหน้าที่แก้ไขนั้นแก้ไม่ได้ ปัญหาหลักไม่ใช่ปัญหาความมั่นคง เพียงแต่มีเรื่องความมั่นคงมาเกี่ยวข้อง”
มาร์ค กล่าวว่า สิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงขาดคือคำว่าความมั่นคงแปลว่าอะไร คิดว่าไม่มีการศึกษาว่าที่มาของความหมายของความมั่นคงที่ติดในหัวคนทำงานมาจากไหน นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่ไม่ได้แปลว่านักวิชาการในพื้นที่ทำไม่ได้ แต่บางทีคนนอกพื้นที่ก็ทำได้ อาจจะช่วยถอยมามองเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความมั่นคงกับสถาบัน มันปนไปหมดตราบใดที่มันยึดติดอยู่กับอย่างเดียวก็ไม่ได้แก้ปัญหาที่ผล ไม่ได้แก้ตรงที่ว่าจริงๆ แล้วทำไมคุยกันแล้วเปลี่ยนไม่ได้ ก็มันเปลี่ยนไม่ได้เพราะถ้าเปลี่ยนแล้วมันกระทบหลายอย่าง
มาร์คกล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าจะแก้ปัญหาในอนาคต ต้องการสองอย่างจากคนไทย หนึ่ง ต้องการความใจกว้าง ไม่ใช่หน้าที่ฝ่ายวิชาการอย่างเดียว เป็นหน้าที่ของครอบครัวไทยทุกครอบครัว ทุกหน่วยของสังคมที่ต้องปลูกฝังความใจกว้าง สอง ต้องการจิตเสรี เป็นหน้าที่ของสถาบันวิชาการโดยตรง การคิดอย่างเสรี จิตเป็นอิสระ ไม่ผูกพันกับกรอบอะไรในอดีต วางอยู่บนฐานของความเมตตาและการใช้เหตุผล จิตเสรีขาดมากในสังคมไทย จะโทษใครก็คงเป็นสถาบันวิชาการ ที่ทำให้นักศึกษาติดในกรงขังความคิดเหมือนนักโทษ
อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฯ กล่าวในประเด็นเรื่องการชื่นชมความต่างว่า แม่ผมเป็นคนอเมริกัน พ่อเป็นคนไทย ก็อยู่ระหว่างสองวัฒนธรรมและถูกล้อเลียน ผมเองก็ชั่งไม่ได้ระหว่างการชูความเป็นมนุษย์เหมือนกัน กับชื่นชมความต่าง ความคิดนี้ยังสู้กันอยู่ทุกวันนี้ บางครั้งก็ไปทางการเคารพความต่าง แต่พอดูตัวอย่างที่ทำงานจริงๆ การชูความเหมือนมีผลมากกว่า เวลาเอาคนที่ต่างกันมาก เช่น กองทัพภาค 3 ไปอยู่กับคนบนดอยที่เชียงราย เวลาเลกเชอร์เรื่องความงดงามของวัฒนธรรมที่แตกต่างไม่ได้อะไร แต่พอได้คุยกันในเรื่องธรรมดา เช่น ลูกป่วยทำอย่างไร มันเริ่มมีการสานสัมพันธ์กัน การเห็นความต่างและความงามของมันทำให้เปิดใจเห็นความเหมือนกันในฐานะมนุษย์ เมื่อเห็นความเหมือนกันในฐานะมนุษย์แล้ว การเคารพความต่างมันจะตามมาเอง แต่ถ้าเริ่มด้วยความต่าง มันไม่เห็นความเหมือน
ชี้นักวิชาการ-มหา’ลัย กลไกสำคัญสร้างองค์ความรู้
ฉันทนากล่าวว่า เรื่องสันติภาพมีประเด็นที่ต้องตั้งคำถามคือ หนึ่ง ฐานพลเมืองผู้แสวงหาสันติภาพมีขอบเขตที่ไหน อย่างที่อาจารย์มาร์คพูดแล้วคือ ถึงเราจะอยู่ กทม. แต่ในฐานะที่เป็นสังคมเดียวกันอย่างไรเรื่องก็ต้องถึงตัวอยู่ดี ถ้าดูในเรื่องงบประมาณ สิบกว่าปีในชายแดนใต้ใช้งบไปกี่แสนล้านบาท แค่นี้ก็รู้แล้วว่าสำคัญกับสังคมอย่างไร สังคมส่วนใหญ่อาจจะเป็นผู้ชี้เป็นชี้ตายปัญหาสามจังหวัดก็ได้ ถ้าไม่อยู่ในความเข้าใจแบบเดียวกันก็อาจจะเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหา ฐานพลเมืองผู้แสวงหาสันติภาพได้ขยายตัวจนปัญหาชายแดนใต้มันขยายกลายเป็นโจทย์ของชาติแล้ว
สอง เราต้องการอะไรในกระบวนการสันติภาพ ไม่มีตัวอย่างอื่นๆ ในประเทศต่างๆ ที่เอามาเลียนแบบได้เป๊ะๆ แต่มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ของสังคม กระบวนการสันติภาพที่ไม่มีการเรียนรู้จะไม่สามารถหาทางออกได้ กระบวนการเรียนรู้สำคัญมากซึ่งก็เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย และต้องตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วบทบาททางสังคมของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร มหาวิทยาลัยนอกพื้นที่จับเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขนาดไหน ก็พบว่ากระท่อนกระแท่น เว้นเสียแต่มหาวิทยาลัยมหิดล ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่น อาจจะมีการจัดตั้งกลไกที่มีความสืบเนื่องในการที่จะติดตามปัญหาต่อไป เห็นบทบาทการเชื่อมโยงระหว่างฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กัน เช่น ไอร์แลนด์เหนือ พื้นที่มหาวิทยาลัยก็เป็นพื้นที่กลางที่เอาไว้เชื่อมคนกลุ่มที่เห็นไม่ตรงกันให้ปรับจูนกันได้ คนคิดว่ามหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่เชื่อมต่อที่น่าจะปลอดภัยในการพูดเรื่องหนึ่งๆ ที่คนอาจจะคิดว่าพูดไม่ได้
ฉันทนา ตั้งคำถามว่า นักวิชาการด้านนี้อยู่ที่ไหนและกำลังทำอะไร ถ้าถามว่านักวิชาการด้านสันติศึกษาได้สถาปนาลงไปในสังคมศาสตร์หรือยัง ก็คงตอบได้ว่ากระท่อนกระแท่น ก็คงเป็นสิ่งที่กำลังเติบโต และมหาวิทยาลัยก็ต้องตั้งคำถาม เห็นว่ามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมีผู้เชี่ยวชาญ 2-3 คนและพยายามสร้างองค์ความรู้ขึ้นมา แต่ผู้บริหารก็ถามว่าอันนี้เป็นสาขาวิชา (discipline) อะไร จะเอาไปเปิดเรียนได้ไหม ก็เป็นสิ่งที่ต้องฝ่าฟันไป
“งานของดิฉันไม่เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนใต้ ยกเว้นแต่งานวิจัยที่ทำเรื่องแรงงานเด็กในสามจังหวัดชายแดนใต้ แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ตากใบ ในฐานะนักวิชาการอธิบายไม่ได้ว่าเรากำลังเข้าสู่โลกสมัยใหม่ สิ่งที่เราทำมันเรียกว่าอะไรกันแน่ นำมาสู่การตั้งคำถามว่าเราไม่มีความรู้ในการแก้ไข มาตรการทางทหาร การผนวกรวมทางวัฒนธรรมมันแก้ปัญหาไม่ได้ใช่ไหม คนที่ต่อต้านรัฐในสามจังหวัดฯ ถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ แต่ที่จริงๆ แล้วมันก็เป็นโจทย์การเมืองธรรมดาที่เราสามารถพูดคุยกันได้”
ฉันทนาเล่าถึงสถานการณ์หลังเหตุการณ์ตากใบว่า เมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมเต็มไปด้วยอารมณ์ นักวิชาการ 148 คนจึงรวมตัวกันไปพบนายกฯ ในเวลานั้น เพื่อบอกว่าทำแบบนั้นไม่ได้ ไม่ใช่โจรกระจอกอย่างที่ท่านว่า และตั้งคำถามว่าเราจะใช้วิธีการอย่างไรในการอยู่ร่วมกัน ก่อให้เกิดคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ถือเป็นองค์กรแรกๆ ของสังคมไทยที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อทำความเข้าใจปัญหาภาคใต้ใหม่อย่างเป็นทางการ นำไปสู่การคิด ทำความเข้าใจเรื่องสามจังหวัดชายแดนใต้ในมุมใหม่
สถานการณ์สามจังหวัดภาคใต้ตอนนั้นเหมือนเป็นเขาควายที่มีตัวแสดงสองกลุ่มคือรัฐและผู้ต่อต้านรัฐ ไม่มีคนอื่นพูดอะไร และไม่กล้าจะพูดเพราะกลัวถูกผลักเข้าทางใดทางหนึ่ง แล้วในความขัดแย้งนั้นมีคำถามว่า ใครมีความชอบธรรมในความขัดแย้งบ้าง ถ้าคนสามจังหวัดชายแดนใต้พูดอะไรไปคนจะฟังไหม ในสถานะนั้นใครจะตั้งประเด็นให้หลุดออกไป โจทย์หลังเหตุการณ์ตากใบคือ อะไรคือทางออกทางการเมือง เราจะแก้ปัญหาด้วยการเมืองได้หรือไม่ นำไปสู่โครงการวิจัยว่า ถ้าเราต้องการเห็นอัตลักษณ์ในระบบการเมือง ถ้าระบบการเมืองสามารถสะท้อนความเป็นตัวตนของคนในแต่ละที่ได้ จะทำให้เขามีความมั่นใจและภูมิใจที่จะอยู่เป็นสังคมร่วมเดียวกันได้หรือไม่ นี่ก็นำไปสู่การหาคำตอบเยอะ เช่น การพูดถึงปริศนาการปกครองตนเองรูปแบบต่างๆ ในการแก้ไขความขัดแย้งในชาติ การแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองชาติพันธุ์
อย่างไรก็ตาม การวิจัยนำไปสู่การค้นหาตัวแสดงอื่นๆ นอกจากสองฝั่ง บทบาทประชาสังคมก็ถูกตั้งคำถาม ในปี 2547-48 มีการวิจัย ปี 2551 สามารถผ่านกระบวนการวิจัย จัดประชุมประชาสังคมครั้งแรกมีผู้เข้าร่วมเป็นร้อยองค์กร เริ่มมีหน้าตาตัวแสดงอื่นๆ เพิ่มเข้ามา เวลานั้นคนในทำได้หรือไม่ เพราะตอนนั้นเป็นช่วงเขาควาย ต่างคนต่างระวังตัว สถาบันทางศาสนาและการพัฒนาก็ยังขยับไม่ได้ เลยเป็นคนข้างนอกที่มีบทบาทในการสร้างความชอบธรรมในการเปิดประเด็นและพื้นที่ที่มีความไม่ไว้วางใจสูง จากนั้นก็มีการขยับขยายนักวิชาการออกมามากขึ้นและมีการสนับสนุนโครงการวิจัย
ความจริงเรื่องสันติภาพเรื่องการเรียนรู้ การติดตามความคืบหน้า การตามผลบวก ลบงานนโยบายของรัฐบาลว่าไปทางไหนเป็นเรื่องที่ต้องทำ มาตรการที่ทำต้องได้รับการทบทวนตลอดเวลาเพราะใช้งบประมาณเยอะและกระบวนการสันติภาพมีพลวัตสูง นอกจากนั้นการสื่อสารกับสังคมส่วนใหญ่ยังไม่มีระบบที่ดีเพียงพอ ไม่มีวาระ ไม่สามารถที่จะสถาปนากลไกการติดตามได้ชัดเจน ซึ่งเป็นข้อจำกัดของมหาวิทยาลัยที่ต่างไปจากในต่างประเทศ
อีกอันหนึ่งคือเรื่องการสร้างเสริมศักยภาพ คิดว่าถ้าเราใช้สันติวิธี พรมแดนของความรู้มันกว้างมากและต้องเอื้อมไปให้ถึงว่าประสบการณ์ที่อื่นมันเป็นอย่างไร การเรียนรู้ไปด้วยกันระหว่างคนข้างในและคนข้างนอกพื้นที่เป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่ และตอนนี้ยังน้อยไปด้วยซ้ำสำหรับงานสามจังหวัดชายแดนใต้
ฉันทนากล่าวเพิ่มเติมว่า นักวิชาการโดยสันดานจะต้องอยากรู้ โดยที่ยังไม่มีความรู้สึกอยากจะแก้ปัญหาอะไร แต่ความอยากรู้ก็จำเป็นให้เกิดการอธิบายและความเข้าใจ พื้นที่สามจังหวัดฯ มันมีเรื่องแนวคิดความเป็นชาติอยู่ การสร้างคำอธิบายปรากฏการณ์นั้นๆ การได้มาซึ่งคำอธิบายไม่ใช่จะมาบอกว่าเป็นของใคร แต่ต้องเป็นกระบวนการที่ค่อยๆ สามารถตอบคำถามของหลายฝ่ายได้ ไม่ใช่แค่ประเด็นสามจังหวัดฯ อย่างเดียว แต่ต้องตอบคำถามคนส่วนใหญ่ด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่หลุดพ้นพันธนาการทางความคิด เรื่องนี้ต้องการเวลา การทำงานระยะยาวและต่อเนื่อง
ส่วนตัวยอมรับว่ามีอุตสาหกรรมวิจัยเรื่องภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ถ้าการวิจัยเป็นการเรียนรู้ของคนทั่วไป มันก็มีประโยชน์ แต่มันแก้ไขปัญหาหรือไม่นั้นไม่การันตี สามจังหวัดฯ ต้องเป็นฝ่ายรุก สิบกว่าปีที่ผ่านมามีความตื่นกลัว และมีพลวัตสูงมาก งานวิจัยส่วนมากก็ยังไปจากส่วนกลาง ยุทธศาสตร์เรื่องการวิจัยและความต้องการงานวิจัยต้องมาจากภาคใต้ และมาใช้ทรัพยากรส่วนกลาง เท่าที่เห็นก็มีการร่วมมือกันระหว่างสถาบันต่างๆ แต่มันไม่เป็นวาระ ขณะที่อิทธิพลศาสนายังมีบทบาทมากกับการออกแบบงานวิจัย ซึ่งไม่สอดคล้องกับลักษณะของงานวิจัยที่ต้องตั้งคำถามกับอะไรบางอย่าง
คนนอก-คนในยังซับซ้อน แนะมุสลิมคุยกันเองก่อน
สุชาติกล่าวว่า ส่วนตัวมีปัญหากับความเป็นคนนอกคนใน เพราะตัวเองก็พยายามจะมีส่วนในการแก้ปัญหา แต่ถ้าเอาแผนที่มากางกันตัวเองก็คงไม่มีส่วนร่วม ตนเองเป็นมุสลิม แม้จะเป็นมุสลิมเชื้อสายจีนจากล้านนาแต่ก็ละหมาด 5 เวลา ถือศีลอดเหมือนกับคนในพื้นที่ ถามว่าแล้วตนจะสามารถเอาตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งของคนในพื้นที่ได้หรือไม่
สุชาติเล่าว่า เคยทำโครงการนำเยาวชนที่พ่อแม่เป็นเหยื่อความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้จำนวน 40-50 คน ไปอบรมเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงเป็นเวลา 7 วันเต็ม ที่ประทับใจคือการได้ไปพูดเรื่องมุสลิมจีนว่ามุสลิมไม่ได้มีแค่ในมลายู มุสลิมมีการปรับตัวตามโครงสร้างสังคม มุสลิมในจีนก็มีมัสยิดทรงเก๋งจีน ภาษาอาหรับก็มีลายตวัดเป็นลวดลายจีนที่ชาวอาหรับอ่านไม่ออก เด็กหลายคนก็ตาตั้ง ได้พาเด็กไปที่วัดพุทธที่ทำงานร่วมกับอิหม่าม เด็กมุสลิมคนหนึ่งมาบอกผมว่าเป็นครั้งแรกที่เขาได้เข้ามาเหยียบพื้นที่วัด ได้พูดคุยกับพระคุณเจ้าอย่างใกล้ชิด ได้เห็นแววตาเด็กพวกนี้ว่าเขาอยากเรียนรู้ความแตกต่าง แล้วอะไรที่เป็นตัวกั้น
เขาชี้ว่า การใช้ปัญญาญาณที่จะก้าวข้ามความแตกแยกทางสังคมสู่สายสัมพันธ์ที่ให้เกียรติกันเป็นเรื่องใหญ่ พร้อมตั้งคำถามว่าแต่ผ่านมาสิบปีเรายังไม่ได้ก้าวไปถึงไหนเลยหรือเปล่า จากการลงไปพูดที่นราธิวาส ได้มีการเชิญทั้งชาวพุทธและมุสลิมมานั่งฟัง ก็ได้ยินจากวงคุยกลุ่มย่อยว่า คอยดูนะ ถ้าพระสงฆ์ลงจากรถมา พวกเด็กมุสลิมจะถ่มน้ำลาย ซึ่งเด็กก็ทำตามนั้นจริงๆ ตนลงไปในพื้นที่อย่างไร้เดียงสามาก หลายคนตั้งคำถามเรื่องสังคมพหุวัฒนธรรมแต่ไม่พูดเรื่องโครงสร้างที่ถูกอธรรม เพราะไร้เดียงสาจริงๆ ในฐานะมุสลิมคิดว่ามีเรื่องที่ชาวมุสลิมต้องมานั่งคุยกันเอง
สุชาติกล่าวว่า ตนเคยได้ลงไปบรรยายในพื้นที่และได้ยกคำสอนขึ้นมาเรื่องหนึ่งว่า เราถูกสอนถ้าเรามีเมล็ดแล้วไปหว่าน แล้วนก คน สัตว์ไปกินก็จะเป็นผลบุญที่เราจะได้รับ อิสลามสอนเช่นนั้น ตนก็สร้อยต่อว่า อิสลามไม่เคยสอนว่าเอาระเบิดไปวางให้โดนคนเด็ก คนแก่ ผู้หญิง คนที่ไม่ใช่คู่สงครามแล้วจะได้ผลบุญ และยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ตนยกคำสอนศาสดามูฮัมหมัดขึ้นมาอ้าง พอบรรยายจบ บาบอ (ครู) ก็มาบอกว่า อาจารย์พูดแรงนะ อาจารย์เป็นคนนอกอาจารย์พูดได้ ผมเป็นคนในผมพูดไม่ได้ ส่วนตัวก็อยากบอกว่าผมเป็นคนนอกผมก็ตายได้เหมือนกัน
ประเด็นที่อาจารย์โคทม (โคทม อารียา) พูดเรื่องการตีความดารุลอิสลาม ญิฮาด มีความสำคัญและต้องมานั่งคุยกัน การจากลงไปในฐานะนักวิชาการด้วย มุสลิมด้วย คิดว่ามีเครื่องมือบางอย่าง อย่างน้อยนักวิชาการต้องไปรบกวนคำอธิบายแบบเดิมๆ ให้เขาเห็นว่ามีคำอธิบายที่หลากหลายในโลกอิสลาม ไม่ใช่ผูกขาดคำอธิบาย ต้องถกเถียงกัน ซึ่งไม่ใช่ความง่ายเลยในการสร้างการพูดคุยกันระหว่างภายในศาสนา บทบาทคือต้องทำให้เห็นถึงความหลากหลายของการตีความ ในปี 2547 ที่เคยเขียนเรื่องกรือเซะ เขียนเรื่องการเมือง อภัยวิถีลงในฟ้าเดียวกัน ยกตัวอย่างกรณีเรื่องที่เดินทางไปเจอมุสลิมอัฟกัน-อเมริกันที่เป็นอิหม่ามที่นั่น ลูกเขาถูกยิง และเขาก็วิ่งหนีไปหลบตำรวจที่บ้านอิหม่ามที่เป็นพ่อของเด็กที่ถูกยิง อิหม่ามก็คิดว่าจะจัดการกับคนที่ฆ่าลูกเขาตาย อิหม่ามเล่าให้ฟังว่าระหว่างที่เขายังอยู่กับเด็กคนนั้น เขาก็อยากชักปืนออกมายิงล้างแค้น แต่เมื่อนึกถึงหลักศาสนาอิสลาม เขาจึงเลือกที่จะให้อภัย ไม่ว่าศาสนาใดก็ตามล้วนมีพลังในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น ในอีกด้านหนึ่งก็มีคนที่เอาศาสนาไปซ้อนรับอุดมการณ์ความรุนแรงต่างๆ
“เคยถูกนักเรียนถามว่า อิสลามถูกทำให้เป็นศาสนาแห่งสันติตั้งแต่เมื่อไหร่ ในฐานะครูบาก็ตอบว่าคำถามแบบนี้ไม่ใช่คำถามวิจัย เพราะทุกคนที่เป็นมุสลิมก็บอกว่าอิสลามคือสันติ คำถามที่เป็นคำถามวิจัยคือ อิสลามถูกทำให้เป็นศาสนาแห่งความรุนแรงตั้งแต่เมื่อไหร่ต่างหาก เป็นสิ่งที่เราต้องเอามาพูดคุยเยอะมาก”
สุชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ลงไปทำหลังๆ คือเรื่องผู้หญิง การสร้างสันติภาพจากกลุ่มสตรีใน 14 จังหวัดภาคใต้ หลายเรื่องคิดว่ายังเป็นเรื่องใหญ่ที่ยังต้องพูดคุยกันอีกเยอะ ในประเด็นทางศาสนา เวลาพูดถึงครั้งหนึ่งเคยเถียงกับบาบอว่าผู้หญิงที่ถูกข่มขืนที่แก้ปัญหาด้วยการจับแต่งงานนั้นยังมีอยู่และเป็นเรื่องใหญ่ เราก็ต้องกลับมาทำความเข้าใจว่าพื้นฐานครอบครัวอิสลามนั้นมาจากไหน มันมีประเด็นเยอะมาก เรื่องความไม่ถ่อมตนทางปัญญาของนักวิชาการ ในนักการศาสนาก็มี ความไม่ถ่อมตนทางปัญญา มีหนังสือเรื่อง Speaking in God’s Name เป็นบทบาทที่นักวิชาการต้องมาคุยกัน ว่า คนนอกวันนี้ต้องทำความเข้าใจปัญหาสามจังหวัด เพราะวันนี้ปัญหาชายแดนใต้เป็นปัญหาของสังคมและสร้างผลกระทบเป็นรูปธรรมกับจังหวัดอื่น เช่น จดหมายจากจังหวัดน่านที่ต่อต้านการสร้างมัสยิดก็สะท้อนชัด ญาติพี่น้องที่ทำงานในสามจังหวัดส่งต่อความรู้ผิดๆ หลายครั้งที่มีโอกาสลงไปพูดคุยก็ต้ั้งคำถามว่า คนที่ไม่ใช่อิสลามไม่รู้จักมุสลิมเพราะอะไร ไม่เพียงแต่เป็นเพราะคนที่ไม่ใช่ศาสนิกไม่มีความเข้าใจ หรือเป็นความผิดของเราที่ล้มเหลวในการอธิบายตัวเองด้วย
ปัญหาการสื่อสารจากทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติเป็นอุปสรรคสานสันติภาพ
เอกพันธุ์กล่าวว่า ความขัดแย้งที่เกิดในสามจังหวัดมีความซับซ้อน หนึ่งในแนวคิดการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งคือการรื้อสร้างใหม่ ถ้าเรามองสภาพสังคมที่มีความขัดแย้งรุนแรงเหมือนอาคารผุพัง เราก็อยากสร้างมันขึ้นมาใหม่ แต่การสร้างก็จำเป็นที่จะต้องรื้อชิ้นส่วนว่าอะไรเป็นอะไรออกมาก่อน แต่ต้องรื้ออย่างเป็นระบบ แต่พอออกมาได้จึงมีโอกาสประกอบใหม่ อาจจะประกอบในลักษณะใหม่ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการทางสังคมในอนาคต เราไม่ควรมองภาพความรุนแรงเป็นอะไรที่ตายตัว แต่มันมีพลวัตที่ต้องได้รับการศึกษามากกว่านี้
ปัจจุบันสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา แบ่งงานเป็นหลายส่วน ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องสันติศึกษา หนึ่งในสัดส่วนสำคัญของสถาบันฯ คือการทำงานประเด็นพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ตอนแรกที่เกิดความรุนแรงนั้นไม่ใช่แค่คนในพื้นที่ที่งุนงงว่าเกิดอะไรขึ้น คนนอกพื้นที่เองก็งงที่เกิดความรุนแรงอย่างทันทีได้อย่างไร ความรุนแรงที่เกิดจากฝ่ายผู้ก่อการก็ค่อนข้างจะเยอะ ทางสถาบันฯ สันนิษฐานว่าเจ้าหน้าที่รัฐก็ใช้ความรุนแรงไม่ใช่น้อยไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิฯ การอุ้มหาย การซ้อมทรมาน ทำให้การสานสัมพันธ์ทำได้ไม่ดีเพราะต่างฝ่ายยังต่อยกันนัวเนียอยู่
สถาบันฯ พยายามมุ่งเน้นว่า ก่อนที่เราจะสื่อสารทั้งคนในและคนนอกพื้นที่ในทางกายภาพ จะต้องมีแนวความรู้บางอย่างที่จะเอามาอ้างอิงได้ หลายครั้งที่พยายามเอาทฤษฎีแปลกๆ ที่ไม่ได้รับการตีแผ่มาทดลองใช้ มาปรับกับบริบทสังคมเรา ในขณะเดียวกัน อีกจุดยืนหนึ่งคือ ความเชื่อคนทำงานเรื่องแนวทางแก้ปัญหาคือต้องเริ่มจากคนในชุมชน สโลแกนในระยะนั้นคือจากชุมชนสู่นโยบาย วิจัยที่ทำช่วงแรกๆ คือไปฟังความต้องการ ปัญหา และพยายามที่จะเอาไปเชื่อมโยงระดับโครงสร้าง ไปเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายได้ไหม ต้องเอาไปวิจัย และยังต้องทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ทำนโยบายกับฝ่ายชาวบ้าน ซึ่งปัญหามีเยอะมาก เพราะผู้เชื่อมต่อก็ใช่ว่าจะรู้เรื่อง ตอนตนเองลงพื้นที่วิจัยครั้งแรกก็ไม่รู้เรื่อง บริบทต่างจากที่ศึกษามามาก ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นมีอยู่เพราะว่าเวลาเราคิดเป็นทฤษฎีนั้นแปลให้คนในวงกว้างเข้าใจได้ยาก เวลาผลักดันแนวคิดอะไรบางอย่างจึงต้องชำนาญทั้งการทำให้คนในชุมชนรับรู้ได้ ต้องแปลคลื่นความถี่ให้ตรงกับช่องทางรับสารของเขา ในฐานะนักวิชาการและคนทำงานด้านการศึกษาน่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก หลายครั้งที่ส่งสารไปมันไม่ตรงกับเครื่องรับ ซึ่งถ้ารับไม่ได้ก็ไม่มีทางที่สารจะแปรไปสู่การเกิดกระบวนการสันติภาพ
[full-post]
แสดงความคิดเห็น