Posted: 20 Dec 2017 12:23 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เล่าเรื่องเบื้องหลังการลงพื้นที่ของเยาวชน 4 ภาคถึงวัฒนธรรม ความสวยงาม องค์ความรู้และความท้าทายในยุคที่พื้นที่กำลังจะเปลี่ยนไป รร.เชียงของวิทยาคมคลอดหลักสูตรท้องถิ่นตามมาแล้ว เล่นเกม “พลังพลเมือง” สะท้อนปัญหาชุมชน สิทธิพลเมืองที่ถูกท้าทายโดยรัฐและทรัพยากรจำกัด
เมื่อ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมา ลานกว้างในพิพิธบางลำพู พิพิธภัณฑ์ริมถนนพระอาทิตย์เป็นสถานที่จัดงาน “Behind กลางแปลง” ซึ่งรวมเอากิจกรรมเยาวชน คนรุ่นใหม่จากโครงการ Behind จากภาคใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเชื่อมร้อยกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นของคนรุ่นใหม่จากทั้ง 4 ภาค

โครงการ Behind เกิดขึ้นผ่านการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และภาคีเครือข่ายเด็กเยาวชน 4 ภาค จัดให้เกิดเวทีอบรมเชิงปฏิบัติการ นักข่าวพลเมืองเด็ก เยาวชนและคนรุ่นใหม่ 4 พื้นที่ 4 ภาค

ในงานมีการเล่าเรื่องราวของพื้นที่การทำโครงการ Behind ทั้งในเรื่องความงดงาม ความน่าสนใจ ประเด็นปัญหา ความท้าทายที่คนในพื้นที่พบเจอจากปากคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นแผนการจัดตั้งโรงน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่แม่น้ำลำเซบาย จ.ยโสธร การกลายสภาพเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงใน อ.เชียงของ จ.เชียงราย การบอกเล่าความสวยงามใน จ.สตูลที่จะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อการมีโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราขึ้นในท้องที่ ฯลฯ


“ถ้ามีโรงงานเกิดขึ้นในพื้นที่อุดมสมบูรณ์อันเป็นที่ปลูกข้าวหอมมะลิอันดับหนึ่งของประเทศก็ว่าได้ ก็จะกระทบกับวิถีเกษตรกรของคนที่นั่นแน่นอน เครือข่ายฯ จำนวนพันกว่าคนจึงใช้สิทธิยื่นหนังสือตามที่ต่างๆ ที่คิดว่าจะสามารถช่วยเหลือได้ แม้แต่นายกฯ ประยุทธ์ พวกผมก็ไป แต่ยังถูกหน่วยงานราชการทหารไม่ให้เข้าใกล้เหมือนกรณีเทพา แกนนำต้องถูกควบคุมตัว แต่กลุ่มทุนได้เข้าไปหาผู้หลักผู้ใหญ่อย่างสบาย” อิสรา แก้วดี เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำลำเซบายขึ้นพูดบนเวทีในประเด็นการสร้างโรงน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลใน จ.ยโสธร


“คนเห็นวัยรุ่นเป็นปัญหา คิดว่าออกจากบ้านไปก็ไปมั่วสาว มั่วยา ทะเลาะวิวาท เด็กแว้นที่นั่นจึงต้องการพิสูจน์ให้ผู้ใหญ่เห็นว่าพวกเราไม่ได้เป็นแบบนั้น เมื่อมีกรณีโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา เยาวชนก็รวมตัวกันทำกิจกรรมในพื้นที่ เก็บขยะ ปลูกป่า จากนั้นก็มีการทำกิจกรรมมาเรื่อยๆ เยาวชนมีการวมตัวกันเพื่อส่งเสียงว่าชาวสตูลต้องการอะไร มีการช่วยเหลือเรื่องท่องเที่ยว ดำน้ำ ถ่ายภาพปะการังมาโพสต์ ไปปลูกข้าว ดำนา เป็นครั้งแรกที่ได้เรียนรู้ว่าดำนาอย่างไร มีกิจกรรมสองล้อรักษ์บ้านเกิดให้น้องๆ ใน จ.สตูลรู้ว่าบ้านเรามีอะไรบ้าง” นันทวัฒ ติงหวัง จากกลุ่มสองล้อรักษ์บ้านเกิด เล่าเรื่องราวความเป็นมาของกลุ่มนักกิจกรรมวัยรุ่นที่รณรงค์และสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายในพื้นที่ จ.สตูล

อินทิรา วิทยสมบูรณ์ ผู้รับผิดชอบโครงการ Behind กลางแปลง กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการจัดงานในมุมของการเติมเต็มการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับเยาวชนว่า เมื่อตั้งคำถามว่าการศึกษาเป็นของใคร ทำเพื่อใคร ก็พบว่าการศึกษานั้นเป็นของผู้เรียน คือเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ และพบว่าการศึกษาในปัจจุบันไม่ได้เป็นแบบนั้น จึงคุยกับไทยพีบีเอสในเรื่องโครงการ Behind Project ว่าทำไมเราไม่ให้เยาวชนออกแบบการศึกษา แสดงเบื้องหลังในสังคมที่ห้องเรียนไปไม่ถึง จึงเกิดเป็นโครงการที่กระจายไปทั้ง 4 ภาค ซึ่งองค์ความรู้ที่เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ค้นเจอได้นำมาร้อยเรียงออกสู่สายตาสาธารณะที่พิพิธบางลำพู

โครงการที่อบรมเยาวชน มุ่งให้พวกเขาออกแบบการเรียนรู้และถอดองค์ความรู้จากพื้นที่ได้สร้างผลผลิตออกสู่สายตาสาธารณชนผ่านนิทรรศการ

วสันต์ สรรพสุข

วสันต์ สรรพสุข ครูจากโรงเรียนเชียงของวิทยาคม ที่ร่วมกับกลุ่ม Behind เชียงของลงพื้นที่กับเด็กและเยาวชน สะท้อนถึงผลผลิตของโครงการว่า “ปรกติเวลาเราพูดถึงการเรียนการสอนก็จะเน้นที่สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางเป็นหลัก กลุ่มพลเรียน (กลุ่มนักกิจกรรม ครู ที่ทำงานประเด็นการศึกษาเชิงวิพากษ์ ตั้งคำถามกับแนวทางการเรียนการสอน) ลงไปในพื้นที่ก็ให้เทคนิคใหม่ๆ ในการจัดกิจกรรม ซึ่งได้ไปเผยว่าในพื้นที่มีองค์ความรู้และภูมิปัญญาอีกหลายอย่างที่จะเอามาใช้ได้ น้อง(กลุ่มพลเรียน) เข้ามาและใช้เทคนิคต่างๆ รวมถึงการทำสื่อเพื่อแสดงให้เห็นถึงเบื้องหลังของ อ.เชียงของซึ่งปัจจุบันมันกลายเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปเยอะ แต่ในพื้นที่ก็มีองค์ความรู้อย่างอื่นนอกเหนือไปจากการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

“หลังจากที่น้องไปทำ Behind โรงเรียนก็มีแนวคิดที่จะพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นที่ชื่อว่า หลักสูตรคนเชียงของ เราเป็นภาคีผลักดันร่วมกับกลุ่มฮักเชียงของ โดยเน้นลักษณะความสัมพันธ์ 3 มิติ หนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คือความหลากหลายของคนในเชียงของ สอง ระหว่างคนกับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำโขง ประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับน้ำโขง และลักษณะทางภูมิศาสตร์ สาม ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เราจะชี้ให้เห็นว่าเชียงของมีความเชื่ออะไรที่เกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติ และมันเป็นความรู้เฉพาะท้องถิ่น เช่น ปู่ละหึ่ง เด็กก็จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับปู่ละหึ่ง และพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับแม่น้ำโขงและชุมชนตัวเอง

“หลักสูตรท้องถิ่นตอนนี้เริ่มใช้ในเทอมที่แล้วหนึ่งวิชา ในภาคการศึกษาที่สองเราเปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษา 1-6 หลักสูตรเน้นให้เด็กออกไปค้นคว้าความรู้นอกห้องเรียน ซึ่งเด็กก็อยู่ในชุมชนอยู่แล้ว ก็ทำให้ง่ายในการไปดึงความรู้จากผู้เฒ่าผู้แก่หรือคนในท้องถิ่นออกมาและพัฒนาร่วมกัน ครูก็ไม่ใช่จะมีความรู้ทุกอย่าง แต่ครูได้เรียนรู้ไปกับเด็ก และในเดือน มี.ค. 61 เราจะจัดประชุมระหว่างโรงเรียนกลุ่มสาระสังคมกับกลุ่มฮักน้ำของเพื่อสรุปบทเรียนว่าเราได้อะไรบ้างจากการใช้หลักสูตรท้องถิ่น มีจุดอ่อน จุดแข็งอะไร มีอะไรที่ต้องพัฒนาเพื่อให้มันเป็นโมเดลและพัฒนาขยายไปยังโรงเรียนอื่นๆ ปัจจุบันเราก็พยายามมีค่าย ตอนนี้ก็ทำค่ายร่วมกับโรงเรียนเชียงของ พาเด็กไปล่องเรือ ตรวจคุณภาพน้ำ เรียนรู้วิถีชีวิตคนลื้อที่บ้านหาดบ้าย (บ้านหาดบ้าย อ.เชียงของ)” วสันต์กล่าว

นอกจากมีเวทีให้ตัวแทนจากเยาวชนทำกิจกรรมร้อง เล่น เต้น และสะท้อนความรู้ที่พวกเขาค้นพบ ในงานยังมีการให้เล่นเกมกระดาน (บอร์ดเกม) บทบาทสมมติที่ชื่อว่า “พลังพลเมือง” เป็นเกมที่มุ่งสร้างความตระหนักแก่ผู้เล่นถึงประเด็นปัญหาที่พลเมืองในพื้นที่แต่ละโครงการ Behind พบเจอ และสิทธิที่พลเมืองมีและทำได้เพื่อแสดงพลังและข้อเรียกร้องของตัวเอง

รูปแบบเกมคือการจำลองบทบาทให้ผู้เล่นเป็นพลเมืองที่อาศัยในชุมชนต่างกัน แต่ละชุมชนต้องแข่งขันกันว่าชุมชนใดจะมีเงินเยอะที่สุดเมื่อเกมจบ โดยในแต่ละรอบ ชุมชนต่างๆ จะต้องเลือกวิธีการหารายได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำการเกษตรจากพืชชนิดต่างๆ ที่มีเงื่อนไขว่าต้องใช้น้ำที่เป็นทรัพยากรร่วมกันและมีอย่างจำกัด หรือเลือกที่จะขายแรงงานและไม่ต้องใช้น้ำ


นอกจากเงื่อนไขด้านทรัพยากรแล้ว ยังมีเงื่อนไขที่ทำให้แต่ละชุมชนประสบปัญหาในการหารายได้ ได้แก่ สภาพอากาศที่แปรปรวนตามการจับสลากแต่ละรอบ และหน่วยงานภาครัฐที่สร้างเงื่อนไขการใช้ทรัพยากรร่วมกันตลอดเกม แต่ละชุมชนก็ต้องใช้มาตรการต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐสนใจและได้ทรัพยากรเพิ่ม และในทางกลับกัน ภาครัฐก็มีท่าทีตอบโต้การเรียกร้องของชุมชนด้วยกฎหมายมาตราต่างๆ รวมถึงมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วย โดยในงานมีทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่ให้ความสนใจเข้าเล่นเกมจำนวน 20 กว่าคน


“ถ้าหมู่บ้านลดลง ก็จะแพ้กันทั้งหมด...ถ้าช่วยกันมากกว่าแก่งแย่งกัน ก็จะทำให้สังคมพัฒนาไปได้” เป็นหนึ่งในเสียงของผู้เข้าร่วมที่สะท้อนหลังการเล่นเกมพลังพลเมือง

ทีมงานกลุ่มพลเรียนที่มานำเสนอและนำเล่นเกม
(ซ้ายไปขวา) อรรถพล ประภาสโนบล ชัชวาลย์ งานดี ธีรพงษ์ ภักดีสาร พีระศิน ไชยศร

พีระศิน ชัยศร (นิว) ครูองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สอนสังคมศึกษาอยู่ที่ จ.ระยอง สมาชิกกลุ่มพลเรียน ที่มุ่งเคลื่อนไหวประเด็นการศึกษาเชิงวิพากษ์ กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของการใช้เกมในระบบการศึกษาว่า

“ที่มาของเกม จริงๆ แล้วเกิดจากกิจกรรม Behind ที่ทำในแต่ละพื้นที่และผู้เรียนรู้ได้พบเจอปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนต่างๆ ทำให้มีคำถามว่าเราจะทำกิจกรรมอย่างไรให้ผู้เข้าร่วมที่ไม่ได้เห็นภาพ Behind ในที่ต่างๆ อย่างไร เลยทำเป็นกิจกรรมเกมการเรียนรู้เป็นเกมกระดาน ซึ่งกลุ่มเราก็สนใจกันอยู่แล้วเนื่องจากทำงานเป็นครู เลยใช้เกมจำลองสถานการณ์มาสร้างเป็นกิจกรรมนี้ ชื่อเกมคือพลังพลเมือง ก็จำลองบทบาทเป็นเกษตรกรที่ต้องทำมาหากิน แข่งขันกันภายใต้ทรัพยากรจำกัด แล้วก็มีแอคชั่นหรือเงื่อนไขเข้ามาเพิ่มคือพลังในการใช้สิทธิ์เพื่อต่อสู้ ซึ่งก็จะมีหลายรูปแบบ และจะเห็นได้ว่มีตัวละครที่เป็นภาครัฐที่เข้ามาป้องกัน ปราบปรามความเคลื่อนไหวต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในโครงการ Behind แต่ละที่ เราเลยนำสถานการณ์มาสร้างเงื่อนไขเกมเพื่อให้ผู้เข้าร่วมเล่นมีความปั่นป่วนในความคิดว่ามันเกิดเรื่องขึ้นเพราะอะไร ทำไมเขาถึงถูกจำกัดสิทธิ์ ทำไมรัฐต้องทำแบบนี้ แล้วในฐานะพลเมืองพวกเขาสามารถทำอะไรได้บ้างภายใต้ชุมชนหรือการอยู่ร่วมกัน

“มีกลุ่มเครือข่ายพันธมิตรที่ทำงานเรื่องการศึกษาและสนใจอย่างจริงจังและพัฒนาเกมจากประเด็นทางสังคมชื่อว่าเถื่อนเกม นำโดยอาจารย์เดชรัต สุขกำเนิด เราได้เข้าไปร่วมและได้เห็นว่าประเด็นต่างๆ ทางสังคมเอามาทำเป็นเกมและทำให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจ เปิดมุมมองต่างๆ ได้เห็นประเด็นต่างๆ ที่อยู่ในเกม เป็นการเรียนรู้ที่ง่ายและเข้าถึงกลุ่มต่างๆ ได้

“ที่ผ่านมาก็ได้เอาเกมเข้าไปใช้ในระบบการศึกษาตั้งแต่ตอนที่ยังเรียนอยู่และได้ไปสอนในโรงเรียน ช่วงก่อนหน้านี้ก็มีเกมที่เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง หรือแม้แต่เหตุการณ์สำคัญทางศาสนาที่ผมก็เอาไปใช้ในห้องเรียน แล้วแต่ว่าเราจะสอนเรื่องอะไรเราก็พัฒนาเกมนั้นขึ้นมา

“ปัจจุบันห้องเรียนมีลักษณะเป็นห้องเรียนกลับทาง ความรู้มีอยู่ทุกที่ไม่ใช่มีแต่ในตำรา เด็กหาความรู้ที่ไหนก็ได้ เปิดอินเทอร์เน็ตหรือหนังสือก็ได้ แต่ประสบการณ์ ความคิด การตัดสินใจ เราไม่สามารถสร้างให้เขาได้จากที่อื่นนอกจากในห้องเรียน เกมจึงเป็นตัวสำคัญที่จะทำให้เขาคิด ตัดสินใจ ลงมือปฏิบัติผ่านสถานการณ์ เงื่อนไขในเกม” พีระศินกล่าว

บรรยากาศงาน






[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.