Posted: 30 Nov 2017 09:08 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
อสมา มังกรชัย
ข้าพเจ้าไม่ใช่มารีญา คงไม่ตอบว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมอะไรที่สำคัญในยุคของเรา
ข้าพเจ้าคิดว่า สังคมในปัจจุบันมีความหลากหลายไปไกลมาก หรือมีความเป็นพหุวัฒนธรรมจนกระทั่งไม่อาจระบุว่าอะไรที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกคน อะไรสำคัญสำหรับใครมากกว่า
และใครที่ว่านี้ ก็ไม่ได้แยกจากกัน
สิทธิมนุษยชน ไม่ได้แยกออกจากประเด็นสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การเมืองเรื่องเพศ มันคงไม่มีประเด็นเดี่ยวๆ เต็มร้อยหรอก แต่มันเกาะเกี่ยวกันไป
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงสองสามวันนี้ คือ การเคลื่อนไหวต่อต้านถ่านหินเทพา และเมื่อโฆษกของรัฐบาลออกมาพูดจาพาดพิงแกนนำเคลื่อนไหวท่านหนึ่งในเชิงชู้สาวเสียหาย จนเป็นเหตุทำให้ภรรยาของแกนนำผู้นี้ได้ลุกขึ้นมาปกป้องเกียรติของสามีและครอบครัวตัวเอง ประเด็นเล็กๆ จากถ้อยคำเล็กๆ น้อยๆ นี้ได้ขยายความไม่พอใจไปในวงกว้าง ราวกับน้ำผึ้งหยดเดียว เพราะไม่ใช่แค่ความอยุติธรรมในภาคทางการเมืองภาคสาธารณะ แต่มันมีมิติวัฒนธรรมศาสนาที่ภาครัฐไม่เข้าใจร่วมอยู่ด้วย เรื่องเล็กๆ ในสายตาตัวแทนของรัฐเป็นเรื่องใหญ่ใจกลางของสังคมมุสลิม
สำหรับคนสนใจการเมืองเรื่องเพศ การเคลื่อนไหวนี้น่าสนใจ บทบาทภรรยาในการต่อสู้เป็นเฟมินิสต์ได้ไหม
ผู้หญิงมุสลิมส่วนใหญ่ถูกสั่งสอนและมีค่านิยมของการเป็นภรรยาและแม่ที่ดี ครอบครัวเป็นคุณค่าใหญ่ของสังคมนี้
เฟมินิสต์กระแสหลักไม่ได้ลดทอนคุณค่าของการเป็นภรรยาและแม่ เพียงแต่ไม่ได้จำกัดบทบาทหรือความสำคัญของผู้หญิงไว้ในเพียงพื้นที่เหล่านี้ –ผู้หญิงเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น
มีงานที่เฟมินิสต์พยายามจะชี้ให้เห็นความสำคัญของแรงงานในบ้านอยู่ด้วย สิ่งที่นักวิชาการเหล่านี้เรียกร้องคือความเท่าเทียมและมองเห็นคุณค่าซึ่งกันและกันต่างหาก อย่างไรก็ดี เฟมินิสต์มีหลายสำนักคิด สำนักแห่งการรื้อถอนย่อมพยายามรื้อมายาคติของความดีงามถูกผิด และกรงขังสังคมออกจากผู้คนเสมอ
มนุษย์ไม่เคยมีเสรีภาพ สำหรับนักคิดสำนักหลังโครงสร้างนิยม ความคิด ความเชื่อ ความปรารถนาของเราล้วนแล้วถูกกำหนด กำกับ ตามบรรทัดฐาน อุดมคติ และความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคม
มนุษย์ผู้หญิงและผู้ชาย มีศาสนาหรือไม่มีศาสนา ไม่มีใครตาสว่าง รู้แจ้ง ปลอดการครอบงำภายใต้โครงสร้างไปได้ แต่ในบางโครงสร้างได้ผลิตชุดอำนาจที่ไม่เท่ากัน มีมนุษย์บางกลุ่มที่โอกาสในชีวิตและคุณค่าของเขาหรือเธอถูกริดลอน และมีมนุษย์บางกลุ่มที่มีอภิสิทธิ์เหนือกลุ่มอื่น
การเคลื่อนไหวของผู้หญิงมุสลิม ขยับบทบาทจากข้างหลังมาเป็นข้างหน้ามักจะเป็นในภาวะวิกฤติที่ผู้ชาย ผู้นำทำหน้าที่ไม่ได้ เช่น ถูกอุ้มหาย ตาย สาบสูญหรือถูกนำไปเรือนรับรอง พักผ่อนนอกบ้านแทน
ผู้หญิงมุสลิมบทบาทนี้คนสำคัญคนแรกๆ ที่เราเห็นกันคือ คุณอังคณา นีละไพจิตร ตามมาด้วยรอมละห์ แซแยะ ที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ ไม่นับผู้หญิงอีกหลายๆ คนที่ได้เคลื่อนตัวเองสู่การทำงานภาคประชาสังคม อัญชนา หีมมิหน๊ะ สตรีโสดที่ได้ชื่อว่าเป็นสตรีเหล็กกับประเด็นเรียกร้องความเป็นธรรมและลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านด้วยใจมาตลอด ก็เริ่มการทำงานด้วยผลกระทบจากสถานการณ์ที่ครอบครัวได้รับแม้จะไม่ใช่สามีก็ตาม
การเคลื่อนไหวของผู้หญิงเหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่า ประเด็น ความเป็นธรรม สิทธิมนุษยชน สตรีนิยม วัฒนธรรมศาสนามันเกาะเกี่ยวกันอยู่ แยกกันไม่พ้น
ผู้หญิงเหล่านี้เป็นสตรีนิยมไหมไม่รู้
แต่วงการสตรีนิยมไม่อาจปฏิเสธพวกนาง
พอๆ กันกับสิทธิมนุษยชน ย่อมไม่เลือกปฏิบัติต่อ สตรี เพศสภาพหลากหลายอื่น หรือชาติพันธุ์อื่นที่แตกต่างไปจากตนเอง
ความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ว่านี้ไปไกลในระดับทิศทางที่ว่า หากมีใครพยายามจะสถาปนาอำนาจคุณค่าของตัวเองเหนือคุณค่าอื่น เช่น อิสลามกับ LGBT ความเป็นไทยปะทะความเป็นมลายู มันจะไม่มีใครยอมใคร เพราะแต่ละกลุ่มคนก็มีชุดคุณค่าหลักๆ ที่ผ่านการผสมแล้ว ประมาณว่ามีแก้วค็อกเทลของตัวเอง
การเคลื่อนไหวถ่านหินที่เทพากำลังสลายเส้นแบ่งความเป็นเหลืองแดงในคนใต้ ส่วนหนึ่งคือรัฐทำลายตัวเอง แต่อีกส่วนคือ เงื่อนไขส่วนผสมที่ไปกันได้มากเท่าไหร่ ยิ่งนำพามวลชนให้รวมกันไปได้มากเท่านั้น
และภูมิทัศน์ของการเคลื่อนไหวทางสังคมต่างหากที่สำคัญ
ทั้งรูปแบบการสื่อสาร เทคโนโลยีที่กระชับระยะใกล้ของความสัมพันธ์ และการผสมผสานกันของสิทธิมนุษยชน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เพศ สิ่งเหล่านี้เมื่อผสมรวมกันแล้วเท่ากับ ‘การเมือง’.
แสดงความคิดเห็น