ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
ก่อนอื่น ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวพิศสุวรรณ กับการจากไปของคุณสุรินทร์อย่างกระทันหัน ผมตื่นมาตอนตี 4 เช้านี้ เพราะนอนไม่หลับ ยังเจ็ทแล็คกับการเดินทาง ก็มาพบกับข่าวร้ายเกี่ยวกับการเสียชีวิตของคุณสุรินทร์ ผมอยากเขียนอะไรบางอย่างสะท้อนความรู้สึกผมต่อคุณสุรินทร์ครับ
ผมได้รู้จักคุณสุรินทร์เป็นครั้งแรกในฐานะข้าราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ ในปี 1997 คุณสุรินทร์ได้ดำรงตำแหน่ง รมว กต ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ผมเดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ แต่การรู้จักในวันนั้นมันแค่ผิวเผิน ผมก็แค่ข้าราชการตัวเล็กๆ คนนึง ส่วนคุณสุรินทร์เป็นถึงรัฐมนตรี ไม่มีอะไรลึกซึ้งไปกว่านั้น แต่โดยส่วนตัว ผมชื่มชมคุณสุรินทร์อย่างมาก เพราะเป็นคนเก่งในเรื่องการต่างประเทศจริงๆ
หลังจากผมหายไปจากกระทรวงต่างประเทศหลายปี ผมได้กลับมาทำงานอีกครั้งหลังสำเร็จปริญญาเอก และในที่สุด ได้ถูกส่งไปประจำการที่สถานทูตของเราที่สิงคโปร์ นั่นเป็นที่มาที่ทำให้ผมได้รู้จักคุณสุรินทร์อย่างแท้จริง
ปี 2007 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ผมรับราชการที่สถานทูต เป็นปีเดียวกับที่คุณสุรินทร์สนใจที่จะเป็นตัวแทนประเทศไทยในการขึ้นสู่ตำแหน่งเลขาธิการของอาเซียน จึงเป็นการเตรียมตัวขอความเห็นชอบจากอาเซียนประเทศอื่นๆ คุณสุรินทร์เลือกสิงคโปร์เป็นฐานในการเดินทางไปประเทศอาเซียนที่เหลือ จึงทำให้ผมได้ใกล้ชิดคุณสุรินทร์มากขึ้น ในปี 2007 นั้น ผมได้รับการขอจาก กต ให้ช่วยเขียนบทความลง นสพ The Straits Times ของสิงคโปร์ เพื่อเชียร์ให้คุณสุรินทร์ได้ตำแหน่ง ในที่สุดผมก็เขียนบทความดังกล่าว และทูตสิงคโปร์ตอนนั้น (ทูตเฉลิมพล) ได้ขอให้ผมเป็นคนติดตาม/ดูแล คุณสุรินทร์ทุกครั้งที่เดินทางมาสิงคโปร์ ในปีนั้น ผมได้พบคุณสุรินทร์บ่อยครั้ง ความรู้จักแบบธรรมดา พาไปสู่ความรู้จักที่เป็นกันเองมากขึ้น ผมอยู่ในหลายเหตุการณ์ร่วมกับคุณสุรินทร์ ในการไปเป็นผู้จดบันทึกทุกครั้งที่คุณสุรินทร์หารือข้อราชการกับสิงคโปร์ ได้มีโอกาสทานอาหารร่วมกันแบบส่วนตัวหลายครั้ง นำพาให้ผมไปรู้จักกับภริยาของคุณสุรินทร์ คนที่ขอให้ผมเรียกเค้าว่า “พี่ษา” ซึ่งได้ให้ความเป็นกันเองกับผม
คุณสุรินทร์เป็นคน bright และ impressive ในการเดินทางไปเกาหลีครั้งนั้นด้วยกันนั้น คุณสุรินทร์ได้รับเชิญให้กล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้านักวิชาการ/นักการเมือง/นักธุรกิจเกาหลีใต้ ในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คน ทันทีที่คุณสุรินทร์กล่าวสุนทรพจน์ คุณสุรินทร์สามารถสะกดให้ทุกสายตาหันมาที่เค้าได้ ผมสังเกตผู้ที่เข้าฟังในวันนั้น ทุกคนมองไปที่คุณสุรินทร์ เหมือนถูกสะกดจริงๆ มีบางคนบอกกับผมในงานว่า นี่แหละที่ทำให้คุณสุรินทร์ต่างไปจากคุณสุรเกียรติ คือ ความสามารถพูด public speaking ที่น่าประทับใจกว่ามาก จนบางคนบอกว่า หากคุณสุรินทร์ชิงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติแทนคุณสุรเกียรติ ป่านนี้เราอาจมีตัวแทนของเราที่ยูเอ็น ก็เป็นไปได้
สิงคโปร์รักคุณสุรินทร์ ผมเคยอยู่ในการสนทนาระหว่างคุณสุรินทร์กับลีกวนยู แม้แต่ลีกวนยูก็ยังชื่นชมคุณสุรินทร์ ในที่สุด เมื่อได้ตำแหน่งแล้ว คุณสุรินทร์ก็พยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์อาเซียน และเมื่อไซโคลนนาร์กิสโจมตีพม่าในปี 2008 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่คุณสุรินทร์รับตำแหน่งเลขาอาเซียน คุณสุรินทร์เป็นบุคคลสำคัญที่สามารถเกลี้ยกล่อมให้พม่าเปิดประเทศ ยอมรับความช่วยเหลือจากต่างชาติ จากเหตุการณ์นั้น คุณสุรินทร์ติดต่อผมมา (ในปี 2008 ผมได้ออกไปอยู่กับสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาที่สิงคโปร์แล้ว) เพื่อขอให้ผมเดินทางไปพม่าด้วย และเขียนหนังสือเกี่ยวกับบทบาทของอาเซียนในการช่วยเหลือพม่า ซึ่งเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ผมได้ใช้เวลาร่วมกับคุณสุรินทร์ ในที่สุด หนังสือผมก็ออกมา เขียนร่วมกันนักวิชาการพม่า (Moe Thuzar) เรื่อง Myanmar: Life After Nargis (ISEAS, 2009) เป็นประสบการณ์ที่ลืมไม่ลงจริงๆ ครับ ผมได้ใช้เวลาหลายชั่วโมงสัมภาษณ์คุณสุรินทร์ทั้งที่กรุงเทพและย่างกุ้ง นับเป็นผลงานอีกชิ้นที่คุณสุรินทร์ฝากไว้
มรดกตกทอดที่เหลือของคุณสุรินทร์ในระหว่างการเป็น รมว.กระทรวงการต่างประเทศ คือการช่วยผลักดันนโยบาย constructive engagement ในการช่วยพม่าเปิดประเทศ ดังนั้น ผลงานในการช่วยพม่าจากภัยนาร์กิสก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของมรดกตกทอดนั้น…
ยังมีอีกหลายโมเม้นท์ที่ผมนึกถึง ใครที่สนิทกับผม ผมก็เคยเล่าเรื่องนี้แล้วบ้าง ในครั้งหนึ่ง เมื่อคุณสุรินทร์บินมาจากปารีส ผมไปรับที่สนามบินชางงี จากนั้นมีเวลาเหลือไม่มากก่อนที่คุณสุรินทร์จะต้องขึ้นพูดอีกครั้ง เมื่อผมไปส่งที่โรงแรม คุณสุรินทร์ขอให้ผมรีดเสื้อให้ เพื่อที่จะใส่ไปในงานดังกล่าว ผมนึกถึงมันก็ขำดี บอกกับตัวเองตอนนั้น แม้เป็นนักการทูต ก็ต้องหัดรีดเสื้อให้เป็นด้วย
คุณสุรินทร์ในมุมส่วนตัว เป็นคนมีอัธยาศัยดี โกรธคนยาก รับฟังความเห็นของบุคคลอื่น แน่นอน เหมือนกับคนทั่วไป ก็อาจจะมีด้านลบบ้าง แต่ขอไม่พูดในโอกาสนี้ครับ เพียงแต่อยากจะบอกว่า การเมืองมันก็อาจทำลายจุดยืนของคนบางคน เมื่อการเมืองไทยกลายมาเป็นเรื่อง “สีเสื้อ” ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับคุณสุรินทร์ก็จางไป ผมพบกับคุณสุรินทร์ครั้งสุดท้ายคือต้นปีก่อนรัฐประหาร เราเดินสวนกันที่สนามบินชางงี ผมกำลังบินกลับไทย คุณสุรินทร์เอ่ยทักผมเชิงขำๆ “อ้าว คุณปวิน ยังกลับเมืองไทยได้เหรอ” ผมได้แต่ยิ้มตอบกลับ แต่ไม่ได้พูดอะไร
ขอให้คุณสุรินทร์ไปสู่สุขคติครับ ผมระลึกถึงเสมอ
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
30 พฤศจิกายน 2017 เมืองตูซอน อะริโซน่า สหรัฐอเมริกา
แสดงความคิดเห็น