Posted: 20 Dec 2017 02:22 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออกของยูเอ็นหวั่นแนวทางคุมเฮชสปีชของกลุ่มประเทศยุโรป กระทบเสรีภาพในการแสดงออก เหตุเอกชนใช้ระบบอัตโนมัติในการคัดกรองข้อมูล ซึ่งเสี่ยงต่อการปิดกั้นความคิดเห็นหรือข้อความที่ถูกกฎหมายไปด้วย

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2560 เดวิด เคย์ ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออกของสหประชาชาติ (UN Special Rapporteur on Freedom of Expression) เขียนบทความเกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ ของยุโรปที่จะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก ลงในเว็บไซต์ https://www.foreignaffairs.com

เคย์ระบุว่าในขณะที่ในสหรัฐฯ มีการวิพากษ์วิจารณ์การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ใช้อำนาจในทางที่ผิดอย่างการใส่ร้ายป้ายสีสร้างความเกลียดชัง การแพร่ข่าวปลอม การเหยียดเชื้อชาติและเหยียดเพศกระจายไปทั่ว และผู้คนก็มีความชอบธรรมในการเรียกร้องให้จัดการปัญหาเหล่านี้ แต่สหรัฐฯ ก็ยังคงเอาใจกลุ่มทุนใหญ่และวางเฉยในระดับสภาร่างกฎหมายทำให้ไม่มีการจัดการเรื่องนี้

แต่ในยุโรป สภาพการณ์กำลังเป็นไปในทางตรงกันข้าม ในทุกๆ ภาคส่วนกำลังเริ่มจำกัดการแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะเป็นรัฐ ฝ่ายบริหารประเทศ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ และสหภาพยุโรปเอง เคย์มองว่าถึงแม้การกำกับดูแลเหล่านี้จะมีความชอบธรรมในการจำกัดการปฏิบัติไม่ดีในโลกออนไลน์ แต่ก็มีการจำกัดที่เสี่ยงต่อการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นขั้นพื้นฐาน และมีโอกาสสูงที่เทรนด์การจำกัดแบบนี้จะแพร่ออกไปไกลกว่ายุโรป

พื้นฐานในเรื่องการกำกับดูแลการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ในยุโรปนั้นเน้นฐานเรื่องการคุ้มครองกลุ่มคนที่เสี่ยงจะตกเป็นเป้าหมายของ "วาจาที่สร้างความเสียหาย" เช่นการจำกัดไม่ให้มีการแพร่กระจายคำกล่าวอ้างว่าการสังหารหมู่ชาวยิวไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่เคย์ชี้ว่ามีกรณีแบบอื่นที่ไม่ใช่การคุ้มครองเช่นนี้แต่กลายเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เช่น กรณีที่ศาลยุโรปเคยพิจารณาคดีเกี่ยวกับ "สิทธิในการที่จะถูกลืม" จากการฟ้องร้องในสเปนต่อกูเกิลในกรณีที่คนต้องการปกป้องชื่อเสียงของตนเองไม่ให้ถูกค้นเจอเรื่องแย่ๆ ในเว็บค้นหา ซึ่งศาลออกวามเห็นในเชิงไม่เห็นด้วยกับการนำลิงก์ออกเพราะนอกจากขัดต่อผลประโยชน์ของกูเกิลแล้วยังขัดต่อหลักการที่ประชาชนทั่วไปต้องเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้

ทนายองค์กรเสรีภาพสื่อ วิจารณ์การอ้าง 'สิทธิในการถูกลืม' ของศาลยุโรป
ศาลอียูหนุน 'สิทธิในการถูกลืม' สั่งกูเกิลลบผลค้นหาที่ถูกร้องเรียน

กระนั้นก็ตามการตัดสินใจของกูเกิลสเปนกลับปรับเปลี่ยนอะไรเองโดยทำให้เว็บของพวกเขาเน้นรักษาชื่อเสียงของบุคคลมากขึ้นในระบบค้นหา ซึ่งเป็นการตัดสินนอกเหนือจากชั้นศาลไปสู่ระดับเอกชน โดยที่ศาลจะตัดสินหลังจากนี้ว่าควรจะจัดการให้ "สิทธิในการถูกลืม" นี้นำมาใช้ในระดับทั่วโลกหรือเฉพาะโดเมนของประเทศนั้นๆ

อีกกรณีหนึ่งที่จะส่งผลเกี่ยวเนื่องกับการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์คือปัญหาการก่อการร้ายและปัญหาอาชญากรรมต่อชนกลุ่มน้อยและผู้ลี้ภัย บีบให้บริษัทโซเชียลมีเดียและบริษัทไอทีต่างๆ พยายามกำกับดูแลพื้นที่ดิจิทัลมากขึ้นภายใต้การกดดันจากคณะกรรมการยุโรป โดยให้มีการจัดการนำ "เฮทสปีชผิดกฎหมาย" ออกจากเว็บภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากที่มีการแจ้งเตือน และยอมรับการเล่นบทโฆษณาชวนเชื่ออ่อนๆ อย่างการ "ให้ความหมายและส่งเสริมเรื่องเล่าต้านลัทธิรุนแรงสุดโต่งที่เป็นอิสระ" ซึ่งเป็นการทำงานในลักษณะเดียวกับศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป

คณะกรรมการยุโรปเริ่มดำเนินการจริงจังมากขึ้นในช่วงเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาในการกดดันให้บริษัทไอทีต่อต้าน "เนื้อหาผิดกฎหมาย" โดยเฉพาะจากการใช้อัลกอริทึมอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม ดาปห์เน เคลเลอร์ จากศูนย์เพื่ออินเทอร์เน็ตและสังคมของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดวิจารณ์ว่า การอาศัยระบบอัตโนมัติในการจัดการกับ "เนื้อหาผิดกฎหมาย" เป็นไปไม่ได้ที่ระบบอัตโนมัติพวกนี้มันจะไม่เผลอกวาดเอาเนื้อหาที่ถูกกฎหมายไปด้วย เช่น เนื้อหาเชิงเสียดสี การอ้างเนื้อหาเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ และเนื้อหาในบริบทอื่นๆ นั่นหมายความว่าระบบอัตโนมัติจะชี้ว่ามันผิดกฎหมายโดยไม่สนใจบริบทใดๆ เลย

เรื่องนี้ยังถูกวิจารณ์จากมุมมองของนักวิเคราะห์กฎหมายคือ เกรแฮม สมิทธ์ ว่ากระบวนการแบบของคณะกรรมการยุโรปเป็นการกลับหัวกลับหางกระบวนการเดิมที่ให้มองว่าถูกกฎหมายไว้ก่อนที่จะพิสูจน์ได้ว่าผิดกฎหมาย และการอุดช่องโหว่ก็อ่อนมากจนอาจจะทำให้บริษัทไอทีเน้นนำเนื้อหาออกแทน

ในประเด็นเรื่องการให้ข้อมูลเท็จเพื่อใส่ร้ายป้ายสีหรือการโฆษณาชวนเชื่อนั้นแม้แต่กลุ่มที่มีจุดยืนส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหนักแน่นก็ยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหา แต่ก็ใช้วิธีการประกาศแต่งตั้งคนในระดับสูงมาจัดการกับปัญหาเหล่านี้

เคย์ระบุว่าเรื่องของการจำกัดเนื้อหายังแพร่กระจายจากส่วนกลางยุโรปมายังประเทศสมาชิกต่างๆ เช่น ในเยอรมนีที่มีการวางข้อผูกมัดกับบริษัทไอทีในการให้นำ "เนื้อหาที่ผิดกฎหมายอย่างโจ่งแจ้ง" ออกภายใน 24 ชั่วโมง ในอังกฤษก็มีการออกกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลในปีนี้โดยอ้างว่าจะคุ้มครองเด็กและเยาวชนจาก "เนื้อหาให้โทษ" ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการนำเนื้อหาแบบผู้ใหญ่ที่ถูกกฎหมายออกเพราะกลัวถูกลงโทษ ในสเปนก็มการพยายามปราบปรามกลุ่มคนที่ต้องการให้คาตาลุญญาแยกตัวเป็นอิสระ สภานิติบัญญัติในฝรั่งเศสก็พยายามทำให้การเข้ารับชมเนื้อหา "ยกย่องการก่อการร้าย" เป็นเรื่องผิดกฎหมายแต่ก็ถูกตีตกไปโดยสภารัฐธรรมนูญ โปแลนด์ก็มีการเพิ่มมาตรการทางอินเทอร์เน็ตโดยอ้างเรื่องความมั่นคงของชาติเช่นกัน

บทความของเคย์ยังระบุถึงสิ่งนอกเหนือจากเรื่องเฮชสปีช คือ การที่ชาติตะวันตกทั้งอียูและสหรัฐฯ พยายามร่างกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งจะกลายเป็นการปิดกั้นการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ กฎหมายออนไลน์ใหม่ที่จะควบคุมลิขสิทธิ์มีลักษณะบีบให้บริษัทไอทีเอกชนดำเนินการต่างจากเดิม เดิมทีแล้วเอกชนจะปล่อยให้เนื้อหาต่างๆ คงอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีการแจ้งเตือนให้นำเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ออก แต่กฎหมายใหม่จะบีบให้ผู้ให้บริการพื้นที่ออนไลน์ "ป้องกันไม่ให้มี" เนื้อหาที่ถูกคุ้มครองโดยลิขสิทธิ์ เอื้อต่อการทำให้บริษัทไอทีอาศัยเทคโนโลยีอัตโนมัติในการตรวจจับ ซึ่งสิ่งที่เคย์เรียกว่า "ความคลั่งใช้ระบบอัตโนมัติ" เหล่านี้จะส่งผลให้เกิดการกำกับควบคุมเกินกว่าเหตุ

แล้วอนาคตของการแสดงออก-แสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์จะเป็นอย่างไร เคย์มองว่าผู้ที่คำนึงถึงเสรีภาพในการแสดงออกควรแสดงความเป็นห่วงต่อการออกกฎหมายเหล่านี้ ที่ถึงแม้จะมีเจตนาดีในการต่อต้านการข่มเหงรังแกออนไลน์และเป็นการพยายามแก้ปัญหาการขาดเสถียรภาพทางการเมืองกับปัญหาพรรคการเมืองขวาจัด แต่เครื่องมือที่ใช้แบบที่บีบให้เอกชนจัดการพื้นที่ตัวเองตามคำสั่งก็เสี่ยงจะเป็นการจำกัดการแสดงออกมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลต่อการถกเถียงอภิปรายและความคิดสร้างสรรค์

เคย์แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่าในยุคสมัยอนาล็อกผู้คนอาจจะมีประสบการณ์แบบหนึ่งเกี่ยวกับการต่อกรในเรื่องผู้เชื่อการสมคบคิดว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวไม่เคยเกิดขึ้นจริงหรือผู้สนับสนุนการก่อการร้าย แต่ในโลกยุคดิจิทัลนั้นแตกต่างออกไป จากการที่บรรษัทใหญ่มีการบริหารจัดการซึ่งอาจจะส่งผลต่อพื้นที่อินเทอร์เน็ตในวงกว้างได้ การปิดกั้นเนื้อหาที่ถูกมองว่าเป็นภัยอย่างหนึ่งอาจจะส่งผลอย่างช้าๆ ต่อความเสื่อมของเสรีภาพในการแสดงออก เช่นกรณีการสร้างระบบกรองเนื้อหาอัตโนมัติ

เคย์ระบุต่อไปว่าในยุคสมัยที่รัฐบาลมักจะลิดรอนเสรีภาพเช่นนี้ การสร้างระบบปิดกั้นอาจจะเป็นภัยต่อผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตในทางที่ดีเสียเอง เช่นคนที่เขียนบล็อกวิจารณ์การเผยแพร่ข้อมูลเท็จของผู้มีอำนาจในสังคมถูกสั่งปิดบล็อก เคย์มองว่าก่อนหน้านี้รัฐต่างๆ ในยุโรปที่มีการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกดีแล้วโดยเฉพาะในรัฐแถบสแกนดิเนเวีย

ทั้งนี้ เคย์ก็สนับสนุนให้บริษัทไอทีต่างๆ ควรหาวิธีการพัฒนาเพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยต่างๆ สามารถต่อต้านการถูกข่มเหงรังแกได้โดยอยู่ภายใต้มาตรฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชน ควรมีการแจ้งเตือนเนื้อหาที่เป็นการคุกคามหรือรังแกได้โดยที่มีการเปิดเผยกระบวนการจัดการกับเนื้อหาเหล่านั้นอย่างโปร่งใส และยอมรับผิดเมื่อฝ่ายไอทีที่ดูแลเนื้อหาเหล่านี้ตัดสินใจพลาด สิ่งเหล่านี้เป็นวิธีการที่ภาคประชาสังคมจำนวนมากพยายามผลักดัน ซึ่งจะดีกว่าการใช้วิธีแบบที่ภาครัฐหรือภาคส่วนอียูบีบให้เอกชนจัดการตัวเองแบบที่จะจำกัดการตรวจสอบที่เป็นประชาธิปไตย


ภาพจาก Alexei Kuznetsov

เรียบเรียงจาก

How Europe's New Internet Laws Threaten Freedom of Expression, David Kaye} Foreign Affairs, 18-12-2017
https://www.foreignaffairs.com/articles/europe/2017-12-18/how-europes-new-internet-laws-threaten-freedom-expression[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.