Posted: 20 Dec 2017 12:23 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

คณะทำงานจับตาการสร้างเขื่อนในจีน-ลาว-เขมร ถกทำงานในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม-สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง หลัง รมว.ต่างประเทศ ระบุ จีนยอมยุติโครงการโดยเชื่อว่าส่วนหนึ่ง จีนได้ออกกฏหมายใหม่ที่บังคับให้ภาคธุรกิจที่จะไปลงทุนต่างประเทศต้องปฎิบัติตามกฎหมาย และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิทธิ-สิ่งแวดล้อม

20 ธ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า คณะทำงานเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้จัดประชุม ณ โฮงเฮียนแม่น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เพื่อหารือเกี่ยวกับการทำงานในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง โดยในที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นในประเด็นเร่งด่วน โดยเฉพาะโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ ซึ่งล่าสุด ดอน ปรมัต์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออกมาระบุว่า จีนยอมยุติโครงการ โดยเชื่อว่าส่วนหนึ่งเนื่องจากจีนได้ออกกฏหมายใหม่ที่บังคับให้ภาคธุรกิจที่จะไปลงทุนต่างประเทศต้องปฎิบัติตามกฎหมาย ที่สำคัญคือการดำเนินการต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันได้มีการรายงานให้ทราบถึงตัวแทนบริษัทข้ามชาติของจีนได้เดินสายพบปะภาคประชาชนเพื่อเก็บข้อมูลมากขึ้น นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือกันถึงโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง ทั้งในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และเขื่อนตอนล่างในลาวและกัมพูชา ซึ่งต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดเพราะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขงทั้งสาย

ส. รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่าตั้งแต่เริ่มเกิดปัญหาแม่น้ำโขงจนถึงปัจุบัน คือ กฎหมายที่จะคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการลงทุนข้ามพรมแดน ยังไม่มีพัฒนาการที่จะทำให้ประชาชนเห็นว่ามีความคุ้มครองมากยิ่งขึ้นในโครงการต่างๆ บนแม่น้ำโขง แม้มีข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 ระหว่างประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แต่กลับพบว่ายังไม่สามารถไม่บังคับใช้ได้จริง และยังพบหลายกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงตีความให้ไม่ใช้ข้อตกลงดังกล่าว เช่น โครงการผันน้ำโขงเลยชีมูล และโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ซึ่งคิดว่าภาคประชาชนต้องผลักดันให้เกิดความคุ้มครองที่เป็นจริง

สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา กล่าวว่าการประเมินการคุ้มค่าในการลงทุนในแม่น้ำโขง ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ ต้องทำการศึกษาก่อนรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของแต่ละโครงการ เพราะทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นฐานสำคัญของประชาชน กลับไม่ได้นำมาพิจารณาในการวางแผนการพัฒนา รัฐจำเป็นต้องทบทวนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงยี่สิบปีที่ผ่านมา เพราะปัญหาตกอยู่กับประชาชนนับล้านที่อาศัยทรัพยากรธรรมชาติแม่น้ำโขง

จีระศักดิ์ อินทะยศ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่าก่อนหน้านี้เขื่อนจิงหง ในมณฑลยูนนานลดการระบายน้ำลงเหลือ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยพบว่าตอนนี้น้ำแห้งลง แต่เป็นไปตามฤดูกาล เพราะฤดูแล้งไม่มีฝนตก แต่หากเขื่อนจิงหงเพิ่มการระบายน้ำ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงก็จะเพิ่มขึ้นมา ทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งโขงเกิดความสูญเสีย

"บนเกาะและดอนกลางลำน้ำโขง ที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง เป็นแหล่งอาศัยและวางไข่ของนกอพยพต่างๆ ที่อพยพมาในช่วงฤดูหนาว ส่วนระบบนิเวศตามเกาะแก่ง ต้นไคร้ ที่เมื่อโดนเขื่อนจีนระบายน้ำลงมา น้ำเกิดท่วมในช่วงฤดูแล้ง ก็ตายไปเป็นจำนวนมาก การที่น้ำขึ้นลงผิดฤดูกาล ส่งผลกระทบต่อที่อาศัยของนก สำหรับในฤดูน้ำหลาก เกาะแก่งและต้นไคร้เหล่านี้ก็เป็นแหล่งอาศัยและวางไข่ของปลา เมื่อถูกทำลายไปก็ส่งผลระยะยาวต่อปริมาณปลาในแม่น้ำโขง" ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าว
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.