Posted: 14 Dec 2017 07:38 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

วริศ ลิขิตอนุสรณ์
Newground Lab

ข้อมูลประชากรจำนวนมากถูกผลิต เผยแพร่ และไม่เผยแพร่โดยองค์กรใหญ่ๆ ของทั้งภาครัฐและที่ไม่ใช่ Newground เข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ไม่ยากจากการติดต่อศูนย์วิจัยต่างๆ โทรศัพท์สายตรงเข้าไปที่กระทรวงฯ เราอาจรวบรวมข้อมูลเหล่านั้นมาปริทรรศน์และสร้างข้อเสนอเกี่ยวกับทิศทางประชากรได้เลยทันทีในปีนี้ แต่เราปฏิเสธที่จะทำแบบนั้นหนึ่งครั้งเป็นรายงานปิดจบหนึ่งปี เนื่องจากเราเห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการกระจายข้อมูลที่สำคัญกว่า และถ้าหากยังไม่วิพากษ์และเสนอวิธีการเรียบเรียงรวมทั้งกระจายข้อมูลเสียก่อน การทำงานในปีต่อๆ ไปของทุกๆ หน่วยงานที่ต้องการข้อมูลก็จะยังคงยากเย็น และมีส่วนบกพร่องโดยใช่เหตุอีกเช่นเคย กลับกลายเป็นทำให้การทำรายงานข้อมูลภาพรวมประจำปีกลายเป็นเหมือนการขายผ้าเอาหน้ารอด พาเราวนกลับไปที่ปัญหาเก่าที่พัวพันมากับการพัฒนาบนข้อมูลชุดที่ไม่สมบูรณ์ทุกครั้งไป Newground ในบทนี้อยากจะเสนอให้เราก้าวเข้าไปสู่ปัญหาใหม่หลังจากเรามีข้อมูลอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ (อย่างน้อย ใกล้เคียงความสมบูรณ์ หรือมีความทะเยอทะยานที่จะสมบูรณ์) บนหน้าตักแล้ว แม้จะใช้เวลา แต่จะทำให้การพัฒนากลายเป็นปัญหาในตัวเองน้อยลง

เรามักจะได้ยินปัญหาบ่อยครั้งว่าข้อมูลที่เป็นตัวเลขเข้าไม่ถึงความเป็นมนุษย์ และข้อมูลจากฝั่งมนุษยศาสตร์ขาดความน่าเชื่อถือแบบวิทยาศาสตร์ คือวิทยาศาสตร์ก็กดขี่มนุษย์ ในขณะที่มนุษย์ก็ไม่สามารถสื่อสารกลับมาที่นโยบายการพัฒนาซึ่งมีรากฐานแบบวิทยาศาสตร์ได้ ข้อเขียนชิ้นนี้จะพยายามตั้งต้น Action Research หรือการ “วิจัยไปทำไป” เกี่ยวกับคำถามคร่าวๆ สามข้อ คือ 1. ทำอย่างไรให้ข้อมูลประชากรเข้าถึงได้มากขึ้น จนกลายเป็นข้อมูลสาธารณะ 2. ทำอย่างไรให้ข้อมูลนั้นมีความ “เป็นมนุษย์” หรือมีความละเอียดลออมากขึ้น มากกว่าเป็นเพียงแค่ตัวเลข ในขณะเดียวกัน ทำอย่างไรให้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์เกื้อหนุนการพัฒนาที่เป็นมนุษย์มากกว่าการพัฒนาที่กลายเป็นการยึดครองกดขี่ และ 3. ทำอย่างไรให้การคมนาคมของข้อมูลดำเนินไปได้ด้วยความร่วมมือของสาธารณชน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้แนวคิด Block Chain กับข้อมูลประชากร เพื่อลดการผูกขาดอำนาจทางข้อมูลไว้ที่องค์กรขนาดใหญ่ และทำให้ข้อมูลกลายเป็นทรัพยากรของทุกคนมากขึ้น โดยเงื่อนไขใหญ่ของคำถามทั้งสามข้อนี้คือ ทำอย่างไรให้เริ่มทำได้ด้วยทรัพยากรที่ประชาชนและภาคีย่อยๆ ทั้งหลายมีอยู่แล้วในมือ และเข้าถึงได้อยู่แล้วในเวลานี้ เพื่อให้การเริ่มต้นและดำเนินการโดยประชาชนเป็นไปได้ ให้มันไม่กลายเป็นหีบห่อของนโยบายที่เสนอให้คนอื่นเอาไปทำแล้วลอยหายไปในอากาศ ทำอย่างไรให้เริ่มทำได้ทันที


ทำอย่างไรให้ข้อมูลประชากรเข้าถึงได้มากขึ้น

เราอยากเริ่มด้วยข้อเสนอที่ไม่ซับซ้อน แต่จะขอปรับรายละเอียดในข้อเสนอเพื่อทำให้มันเป็นไปได้มากขึ้น คือการสร้างพื้นที่แสดงผลข้อมูล (platform) ที่เผยแพร่การคมนาคมของข้อมูลดิบเกี่ยวกับประชากร ซึ่งโดยปกติแล้วข้อมูลเหล่านี้น่าจะต้องอยู่ในมือของภาครัฐ และถูกจัดระเบียบการเข้าถึงด้วยภาครัฐ แต่ปรากฏว่าองค์กรเช่น UNFPA ที่ตั้งใจจะทำรายงานเกี่ยวกับข้อมูลประชากรก็ไม่ได้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ดังกล่าวและเรียบเรียงสานต่อได้โดยง่าย การจัดระเบียบข้อมูลจำเป็นต้องเกิดขึ้นทุกครั้งที่ผู้จัดทำรายงานจะจัดทำใหม่ ส่วนนี้เป็นส่วนที่ Newground เห็นว่าประชาชน ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ฯลฯ สามารถเข้ามามีบทบาทลดทอนภาระของกันและกัน และสร้างการกระจายตัวของการเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น

การสร้างพื้นที่แสดงผลข้อมูลดังกล่าว แทนที่จะเป็นการร้องเรียนให้เกิดผลจากภาครัฐ ควรจะเกิดจากความร่วมมือและรับผิดชอบโดยความร่วมมือของกลุ่มประชาชนที่ต้องการเข้าถึงข้อมูล หรือองค์กรย่อยภาคประชาสังคม ที่สร้างระบบการดึงข้อมูลที่เปิดเผยมาอยู่ร่วมกันบนพื้นที่กลาง ข้อมูลต่างๆ ดังกล่าวอาจประกอบด้วยสถิติทางการทะเบียนของกรมการปกครอง ข้อมูลประชากรจากการสำรวจโดยศูนย์หรือสำนักวิจัยต่างๆ (เช่น งานที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ คณะ/ภาควิชาที่เกี่ยวข้องกับประชากรศาสตร์-รัฐศาสตร์-เศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ) และข้อมูลจากส่วนการบริหารย่อยๆ ทั้งหมดนี้สมควรมีพื้นที่แสดงผลกลางที่ทำให้ผู้ต้องการเข้าถึงข้อมูลสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายผ่านการจัดการประเภทหลายรูปแบบ พื้นที่แสดงผลกลางที่ว่านี้ควรจะเกิดจากความร่วมมือของภาคีต่างๆ ที่ไม่ใช่ภาครัฐ และเปิดเผยข้อมูลในฐานะที่มันควรเป็นทรพยากรของทุกคนเท่าๆ กัน แทนที่จะเป็นเพียงของแหล่งทุนใหญ่ หรือภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ที่ไม่ได้เข้าถึงได้โดยทุกคน

การรวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลในเบื้องต้นเพื่อให้เกิดเป็นพื้นที่แสดงผลข้อมูลนี้ไม่ใช่เพียงการคว้าเอาข้อมูลมากองรวมกัน เนื่องจากข้อมูลไหลบ่าอย่างรวดเร็ว หากเราทำงานหนักหนึ่งครั้งในการรวบรวมทั้งหมดเข้ามาไว้ด้วยกันและเผยแพร่หรือวิเคราะห์มัน ตื่นเช้ามารุ่งขึ้นของวันถัดไป เราก็ต้องทำทุกอย่างใหม่อีกครั้ง การรวบรวมและเรียบเรียงในที่นี้จึงเป็นการคว้าเอา source หรือแหล่งของข้อมูลที่เป็นชุมชน ประชาชน องค์กร ภาคประชาสังคม มาสร้างภารกิจร่วมกันในการออกแบบกลไกเพื่อจัดการการดึงข้อมูลเข้ามาอยู่บนส่วนกลางโดยอัตโนมัติ (หรืออาจสามารถป้อนได้สำหรับบางกรณี) และจัดการเรื่องการเผยแพร่ แลกเปลี่ยน และกระจายมันอีกทีหนึ่ง

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ผู้เขียนขออนุญาตเปรียบเทียบพื้นที่แสดงผลกลางนี้เป็น Social Network อย่างเช่น Facebook แต่พื้นที่แสดงผลกลางนี้จะไม่ใช่ Facebook ของปัจเจก แต่เป็น Facebook ขององค์กรข้อมูล และภาคประชาสังคมที่มีข้อมูล หรือกระทั่งปัจเจกที่มีข้อมูล โดยอาจมีลักษณะการหล่อเลี้ยงและดูแลการเติบโตของข้อมูลที่ใกล้เคียงกับ Wikipedia ที่ก็เป็น Social Network ของข้อมูลอยู่แล้วประมาณหนึ่ง คือมีการจัดประเภทละเอียดและการนิยายข้อมูลที่จำเป็นต้องออกแบบขึ้นใหม่ เมื่ออภิปรายมาในทิศทางนี้แล้วก็จะเห็นว่าการกระจายข้อมูลประชากรที่ Newground ฝันถึงนั้นน่าจะเป็นการกระจายข้อมูลบนเครือข่ายดิจิทัล และเป็นเครือข่ายดิจิทัลของข้อมูลที่หล่อเลี้ยงไปได้ด้วยคุณสมบัติแบบเครือข่ายสังคม (โดย อนึ่ง ไม่ได้นำ algorithm หรือชุดคำสั่งเกี่ยวกับ feed แบบเครือข่ายสังคม หรือชุดคำสั่งที่ใช้เพื่อการโฆษณาเข้ามาด้วย) และอาจมีการคิดถึงศูนย์กลางของแหล่งพลังงานในการกระจายข้อมูลในแบบกระจายศูนย์กลางออกไปด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างแผนผังประกอบที่ยกตัวอย่างขึ้นมาด้านล่างนี้ อาจใช้ได้กับทั้งแนวคิดของการป้อน และเข้าถึงข้อมูลโดยหน่วยงานหรือกลุ่มต่างๆ เองที่กระจายออกจากศูนย์กลาง และแนวคิดของการกระจายแหล่งพลังงานเพื่อพยุงให้เครือข่ายของข้อมูลอยู่ได้โดยไม่ได้พึ่งพาศูนย์กลางทางพลังงาน ในเบื้องต้น ผู้เขียนเห็นว่าการกระจายแบบ distributed นี้ อาจเป็นไปได้อย่างรวดเร็วกว่าเมื่อพูดถึงการป้อนและเข้าถึงข้อมูล ส่วนเรื่องการกระจายแหล่งพลังงานเพื่อพยุงให้เครือข่ายของข้อมูลอยู่ได้ ยังคงเป็นรายละเอียดที่ต้องกล่าวถึงต่อไปด้วยองค์ความรู้ใเกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งยังไม่ได้ศึกษาให้ละเอียดลงไป และต้องค้นหาความเป็นไปได้ต่อ

(ภาพจาก Business Insider http://www.businessinsider.com/what-is-blockchain-2016-3
ที่พูดถึง Block Chain ในการเงิน)


พื้นฐานของการตั้งต้นในทางข้อเสนอควรจะมีเท่านี้ คือเน้นการกระจายของแหล่งและการเข้าถึงข้อมูลบนพื้นที่กลางซึ่งเกิดจากความร่วมมือของเครือข่ายเป็นหลัก แต่ผู้เขียนอยากจะเสนอเพิ่มไปถึงรูปลักษณ์ของการแสดงผลและความสะดวกในการเข้าถึงเพื่อใช้งานของมัน (User Interface, User Experience) และอยากให้อยู่ในข้อเสนอชิ้นนี้ตั้งแต่ต้นเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญใน “ปลายน้ำ” ของการนำเสนอข้อมูลว่าทั้งหมดที่ทำมาอาจสูญเปล่าถ้ามี UI และ UX ที่จำกัดรูปแบบอยู่เพียงรูปแบบข้อมูลที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญนั่งมองเท่านั้น กล่าวคือ เทียบได้กับว่า ถ้ากองทุนทุกกองทุนในประเทศนี้อาจจุดประสงค์ที่ดี มีทุนเพียบพร้อม มีการดำเนินการบริหารจัดการภายในที่เพียบพร้อม แต่สามารถที่ไม่มีผู้ขอรับทุนที่มีคุณภาพไปทำงานเพื่อสังคมได้ เพียงเพราะว่าผู้ขอรับทุนไม่ทราบว่าปุ่มเข้าไปดูรายละเอียดของทุนมันอยู่ตรงไหน ไม่ต่างจากปัญหาของแหล่งทุนที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนกำลังประสบอยู่ คือผู้ขอทุนมีแต่หน้าเดิม และไม่มีทางออกใหม่ ในขณะที่กลุ่มที่กำลังทำงานพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง ไมไ่ด้เห็นแหล่งทุนเยาวชนอยู่เป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะเข้าถึงทุน

โดยปกติแล้วข้อเสนอในเชิงนโยบายมักจะไม่ไปยุ่งย่ามกับปลายทางของการปฏิบัติ แต่หลักการที่ถูกต้องจำเป็นจะต้องตอบสนองด้วยการปฏิบัติที่สอดรับด้วยเสมอจึงจะเกิดผลเพื่อการพัฒนาได้ ประเทศไทยประกอบด้วยหลักการที่ถูกต้องเบื้องหลังหลายๆ นโยบายที่ปราศจากอรรถประโยชน์ ซ้ำอาจยังทำร้ายผู้ได้รับผลกระทบต่อนโยบายนั้น Newground และผู้เขียนเห็นว่ามันเป็นเพราะข้อเสนอหรือนโยบายประกาศแยกตัวเองออกจากภาคปฏิบัติตั้งแต่ต้น (แยกการพัฒนาออกจากการวิจัย แยกคนคิดนโยบายออกจากคนรับนโยบายไปทำ เป็นต้น) ฉะนั้นประตูแรกของการใช้งานพื้นที่กลางที่จะแสดงผลข้อมูลดังกล่าวจึงอาจจำเป็นที่จะต้องเริ่มคิดไปพร้อมๆ กับข้อเสนออื่น

ผู้เขียนไม่ต้องการให้พื้นที่แสดงผลข้อมูลประชากรไปตกหล่มการพัฒนาด้วยการแยกขั้วดังกล่าว จึงเสนอว่า เพื่อลดอุปสรรคทางภาษา ชนชั้น และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในการป้อนและเข้าถึงข้อมูล ข้อมูลประชากรที่รวบรวมและเรียบเรียงแล้ว ควรมีการเสนอข้อมูลเป็นแผนที่หรือแผนภาพ หรือเพิ่มเติมด้วยการออกแบบใดๆ ที่ทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลประชากรเหล่านี้จะสามารถกระทั่งให้ความบันเทิงอันน่าขบคิดกับเด็กคนหนึ่งที่กำลังเปิดดูสิ่งนี้ระหว่างที่เดินไปรอบๆ ชุมชนของเขาในเบื้องต้น และในขณะเดียวกัน นักวิจัยประชากรหรือนักบริหารนโยบายก็สามารถกดเข้าไปดูต่อเพื่อเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกเพื่อประโยชน์แบบผู้ใหญ่ได้

พื้นที่แสดงผลข้อมูลดังกล่าวอาจมีลักษณะในเบื้องต้นที่เรียบง่าย เข้าถึงได้ง่าย และเมื่อต้องการข้อมูลที่ลึกลงไปเรื่อยๆ ประตูต่อๆ ไปก็อาจจะมีลักษณะที่ซับซ้อนขึ้นไปด้วยตามความจำเป็น และอาจมีการช่วยลดทอนความซับซ้อนในเชิงภาพลักษณ์ของข้อมูล เพื่อความง่ายต่อการใช้งานข้อมูล ฯลฯ ในขณะเดียวกัน ข้อมูลในเชิงละเอียดก็จำเป็นจะต้องถูกรักษาไว้เพื่อการใช้งานที่ละเอียดยิ่งขึ้น แนวคิดเหล่านี้เป็นอาจความตั้งใจที่มีอยู่แล้วโดยพื้นฐานของนักวิจัยเพื่อการออกแบบภาพ (visual design) ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเขาจะต้องมีส่วนในการทำ Action Research นี้ ตั้งแต่ต้น[1] ร่วมกับนักออกแบบในส่วนอื่นๆ และผู้ที่ทำหน้าที่พัฒนาข้อเสนอในเชิงนโยบายคนอื่นๆ เพื่อให้นักวิจัยเพื่อการออกแบบภาพ หรือนักออกแบบภาพ เห็นนัยสำคัญของข้อมูลแต่ละแบบเท่าๆ กับคนอื่นๆ ที่ทำงานเรื่องการจัดการข้อมูลมาตั้งแต่ต้น และสามารถออกแบบการแสดงผลของข้อมูลออกมาได้ตามเจตจำนงของข้อมูลนั้นๆ เพราะการแสดงผลของข้อมูลแทบจะเป็น “ทั้งหมด” ของความสำคัญในการสร้างความเข้าถึงได้ของข้อมูล และเป็นตัวบ่งชี้ความมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของข้อมูลสำหรับผู้ใช้งาน

แนวคิดการอยู่เพื่อรู้เท่าๆ กันตั้งแต่ต้นนี้มีอยู่แล้วในแวดวงของละครเวที หรือวิธีคิดของคณะละคร (อาจเป็นด้วยกระทั่งในลิเก หรืองิ้ว หรือการแสดงพื้นบ้านต่างๆ) ที่การซ้อมที่มีคุณภาพคือการซ้อมด้วยกัน นักดนตรีและนักแสดง รวมถีงนักออกแบบฉากและเสื้อผ้าไม่สามารถจะทำงานแยกจากกันและนำมาประกอบกันในวันแสดงได้ เพราะนั่นหมายถึงการแสดงที่ล้มเหลวในทัศนะของการพัฒนาหรือการแสดงสมัยใหม่ ในมุมหนึ่ง ศิลปะร่วมสมัยอาจมองว่าการแยกกันซ้อมและนำมารวมกันในภายหลังมันอาจให้ผลที่เป็นสิ่งใหม่ที่น่าสนใจได้ แต่ผู้เขียนเสนอว่า การพัฒนาและการสร้างนโยบายในประเทศไทย ทดลอง “แยกกันซ้อม มาเจอกันวันแสดง” มามากพอจนเห็นผลแล้วว่ามันออกมาเป็นอะไร เป็นปัญหาทุกอย่างที่ทุกคนกำลังหมดหวัง หรือพยายามแก้ไขกันอยู่


ทำอย่างไรให้ข้อมูล “เป็นมนุษย์” และ “เพื่อมนุษย์”

ความคิดแบบหนึ่งที่ผู้เขียนอยากเรียกว่าเป็น Social Positivist (ปฏิฐานนิยมทางสังคม) หรือแบบที่มองมนุษย์เป็นวัตถุแห่งการศึกษาที่สามารถอธิบาย จัดการ และครอบครองได้ด้วยวิทยาศาสตร์[2] สามารถถูกศึกษา จำกัด ระบุตัวตนได้ด้วยวิธีแบบที่วิทยาศาสตร์ใช้กับวัตถุอื่นๆ ได้เปลี่ยนมนุษย์ให้เป็นตัวเลขและจัดหมวดหมู่เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ วิธีคิดแบบที่ว่านี้ฝังลึกเข้าไปผนวกกับศาสตร์ของการบริหารจัดการ การพัฒนา การสร้างนโยบาย และสร้างปัญหาที่มาพร้อมคุณูปการมากมายให้เราได้แก้ไขต่อ หนึ่งในปัญหาดังกล่าวที่ข้อเขียนชิ้นนี้ต้องการจะเน้นย้ำคือการแยกส่วนธรรมชาติของวัตถุ (object) ออกจากวัฒนธรรม (subject/culture) ทำให้เกิดความไม่สามารถที่จะเห็นลักษณะของสังคมที่ซับซ้อนมากไปกว่าที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยทางธรรมชาติของมนุษย์

สภาวะดังกล่าวในเบื้องต้นเกิดจากการแสดงผลของข้อมูลแต่ข้อมูลทางธรรมชาติ หรือที่เป็นแบบ “หลักฐานหนักแน่น” Hard Evidence[3] (เช่น อายุ เพศกำเนิด หรือกระทั่ง “ศาสนา” ที่ถูกแปลงให้กลายเป็นวัตถุวิสัยหรือข้อมูลที่เปลี่ยนไม่ได้) เพียงอย่างเดียว เมื่อการแยกส่วนดังกล่าวเกิดขึ้นในระดับข้อมูล การดำเนินนโยบายหรือการพัฒนาต่างๆ จึงเป็นไปตามการชี้นำโดยข้อมูลนั้นๆ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาเป็นการพัฒนาและสร้างนโยบายที่ละเลยมุมของวัฒนธรรม กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การบริหารดำเนินไปด้วยวิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประชากรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ โดยหลงลืมการถามหาการเชื่อมถึงข้อมูลและวิธีคิดที่อยู่ในมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา สังคมวิทยา ฯลฯ กล่าวอีกอย่างก็คือ “ไม่ได้ถามชาวบ้านเลย”

แต่ในขณะเดียวกัน ข้อมูลภาคสนามจำนวนมากของมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา สังคมวิทยา เอง ก็กลับไม่ได้อยู่ในที่ทางของมัน คือไปใช้เพื่อโอบอุ้มหรือเห็นรายละเอียดของแต่ละพื้นที่ของมนุษย์มากขึ้นและนำไปสู่การพัฒนาที่เป็นไปเพื่อตอบสนองสิ่งเหล่านั้น พวกมันกลับนอนตายอยู่ในหอสมุดหรือวงสนทนาของนักวิชาการ ข้อมูลเหล่านี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ (และถูกเชื่อ หรือถูกกระทำในแบบที่) ว่าไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่ได้ถูกนำไป “ใช้” ต่อยอดทั้งในทางวิชาชีพและวิชาการ ถึงแม้มันจะเป็นข้อมูลที่ “เป็นมนุษย์” แต่มันกลับไม่ค่อยได้ช่วยเหลือมนุษย์ด้วยกันเท่าไรนัก ในขณะที่นักมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์จำนวนหนึ่งก็ยอมรับในข้อวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว และทำงานอย่าง “ล้อฟรี” คือ ยอมจำนนต่อสภาพของงานที่ไม่ต้องถูกเอาไปใช้เร็วๆ นี้ก็ได้

ผู้เขียนเห็นว่าการเยียวยาปัญหาของข้อมูลทั้งสองฝั่งสามารถทำได้ด้วยวิธีเดียวกัน โดยจะเล่าผ่านตัวอย่างที่จำได้คร่าวๆ จากผู้ร่วมประชุมที่ผู้เขียนไม่รู้จักคนหนึ่งในการประชุม การอบรมเชิงปฏิบัติการว่าด้วย Actor-Network Theory (ANT) ที่จัดโดย ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายละเอียดที่ผู้เขียนเล่าอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่ใจความของเรื่องมีนัยสำคัญที่ผู้เขียนต้องการจะเสนออยู่

เรื่องก็คือมีชุมชนประมงชุมชนหนึ่งพบปัญหาปลาเลี้ยงเป็นโรค กรมการประมง[4] อยากที่จะแก้ไขปัญหานี้ กรมฯ ได้รับตัวเลขเกี่ยวกับชุมชนที่ทำการประมงได้ว่ามีกี่ครัวเรือน ภูมิประเทศเป็นอย่างไร น้ำน่าจะมีปริมาณเท่าไรและเป็นอย่างไร และข้อมูลทางชีววิทยาที่ระบุได้ว่าประชากรปลาในบริเวณนั้นเป็นโรคที่กรมฯ มียารักษาให้หายขาดได้ กรมฯ ได้จัดยาเพื่อให้ชาวประมงฉีดลงไปในน้ำ ในจำนวนที่พอดีกับทุกครัวเรือน ครอบคลุมประชากรของปลาด้วย ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด แต่ปรากฏว่าชุมชนนั้นมีความเชื่ออย่างแรงกล้าที่จะไม่ปล่อย “น้ำอื่น” หรือ “สารเคมี” ลงในแม่น้ำของพวกเขา (อาจเพราะมีเทพเจ้าท้องถิ่นเป็นเจ้าของอยู่ หรือเพราะหัวหน้าชุมชนไม่เชื่อในการใช้สารเคมี ไม่ไว้วางใจ ฯลฯ) เมื่อปัญหาเป็นเช่นนี้แล้ว กรมฯ จะทำอย่างไร? และจะทำอย่างไรบนเงื่อนไขที่การรณรงค์ป่าวประกาศว่าสารเคมีตัวนี้ดีจริงไม่สามารถทำได้สำเร็จ นี่คือเงื่อนไขและข้อจำกัดของข้อมูลแบบปฏิฐานนิยม คือมันไม่ได้มีเอาไว้เพื่อสื่อสารกับความซับซ้อนของมนุษย์ และล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการปฏิบัติ

กรมฯ ตัดสินใจศึกษาเกี่ยวกับชุมชนนี้แบบนักมานุษยวิทยา หลังจากนั่งมองวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนและใช้ชีวิตอยู่ด้วยสักพักหนึ่งแล้ว กรมฯ มองเห็นว่าชุมชนนี้ถึงจะไม่ปล่อยน้ำอื่นลงในแม่น้ำ แต่พวกเขาให้อาหารเม็ดกับปลาที่พวกเขาเลี้ยง ผู้เขียนขอจบเรื่องง่ายๆ ว่า กรมฯ สามารถที่จะเห็นโอกาสในการนำยาที่มีไปผสมกับอาหารเม็ด อัดเม็ดให้ชุมชนใช้เลี้ยงปลาภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ข้อมูลกับชุมชนว่า เป็นอาหารปลาที่ทำขึ้นมาเพื่อเป็นยารักษาโรค อธิบายที่มาที่ไปของอาหารเม็ดดังกล่าวให้ชุมชนสามารถรู้สึกปลอดภัยว่ามันก็เป็นหนึ่งในผลิตผลของธรรมชาติที่จะคืนเข้าไปสู่ธรรมชาติ ปลาหายป่วย เทพเจ้าไม่โกรธ แฮปปี้ จบ

จะเห็นว่าสภาวะ “ปลาหายป่วย เทพเจ้าไม่โกรธ แฮปปี้ จบ” จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเกิดการประสานข้อมูลองค์ความรู้ทั้งจากวิถีที่เป็นวิทยาศาสตร์ ที่เป็นปฏิฐานนิยมก็ตาม และจากวิถีที่เป็นศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ มานุษยวิทยา เข้ามาเกี่ยวข้อง ข้อมูลทั้งหมดจะเกิดพลังในการพัฒนาหรือการต่อยอดในทางต่างๆ ได้ก็ต่อเมื่อมันสามารถประสานกับข้อมูลอื่นๆ ขึ้นเป็นเครือข่าย เหมือนกับที่ฟุตบอลจะเกิดเป็นเกมได้ก็ต้องมีผู้เล่นมากกว่าหนึ่งคน แน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาอาจไม่ได้ทำได้อย่างรวดเร็วและฉาบฉวยอย่างที่ผู้เขียนเล่าเรื่อง แต่รูปแบบของการสร้างสะพานให้วิทยาศาสตร์และมนุษย์ หรือนโยบายและชุมชนมาเจอกันได้นั้น มีอยู่ และคุ้มค่าที่จะค้นหา

ข้อเสนอเกี่ยวกับการทำให้ข้อมูลเป็นมนุษย์ และเพื่อมนุษย์นี้ ไม่ใช่การปฏิเสธข้อมูลตัวเลข หรือข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ ด้วยน้ำเสียงสุดโต่งแบบเดียวกันกับรุ่นแรกๆ ของแนวคิด “หลังสมัยใหม่” แต่เป็นความพยายามที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ และใช้อย่าง “ไม่ปักใจ” (Skeptic) โดยใช้ร่วมกับข้อมูลจากฝั่งมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ ที่ผ่านการลงพื้นที่และสำรวจทบทวนวัฒนธรรมตามพื้นที่หรือเฉพาะกลุ่มต่างๆ มาแล้ว เมื่อเสนอมาในแนวทางนี้ก็จะเห็นว่าสิ่งที่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นก็คือ การจับคู่ (pairing) หรือสานสะพาน (bridge) ระหว่างรูปแบบของข้อมูลจากหลากหลายฝั่ง และไม่ใช่เพียงสองขั้วระหว่างวิทยาศาสตร์กับมนุษยศาสตร์ แต่อาจรวมกว้างไปถึงข้อมูลใดๆ ที่เกิดจากการอธิบายตนเองของชุมชน หรือกลุ่มวัฒนธรรมนั้นๆ ด้วย ที่จำเป็นจะต้องถูกจับคู่เข้ากับข้อมูลมหภาค หรือข้อมูลวิทยาศาสตร์อื่นๆ

หากจะสรุปยอดเป็นข้อเสนอให้ชัดเจนก็คือ ข้อมูลความรู้มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ แทนที่จะไปอยู่ในหอจดหมายเหตุต่างๆ เพียงอย่างเดียว ควรมีการจัดทำการเผยแพร่ใหม่ ให้เชื่อมโยงกับข้อมูลประชากรในแต่ละพื้นที่ เช่น เมื่อผู้ต้องการใช้งานข้อมูลสืบค้นข้อมูลประชากรเกี่ยวกับหมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดตราด นอกจากจะเห็นข้อมูลตัวเลขและข้อเท็จจริงแบบ Hard Evidence ต่างๆ แล้ว อาจยังสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เป็นงานศึกษา (โดยเฉพาะจำพวกวิทยานิพนธ์ ที่ควรจะมีประโยชน์กว่าที่เป็นอยู่) หรือคำอธิบายตนเอง หรือความคิดเห็นเล็กน้อย เกี่ยวกับกลุ่มวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตต่างๆ ในหมู่บ้านนั้นได้ด้วยพร้อมๆ กัน ภายในไม่กี่คลิ๊ก กระบวนการทั้งหมดของการสร้างเครือข่ายข้อมูลเช่นนี้เกิดขึ้นได้จากการนำเอาข้อมูลเก่าที่มีอยู่แล้วออกมาจัด และสร้างระบบที่พร้อมสำหรับการรองรับข้อมูลใหม่เพิ่มเติม การทำพื้นที่แสดงผลข้อมูลให้เป็นเช่นนี้อาจเป็นการชำระมลทินความ “ไม่มีประโยชน์” ของงานวิชาการมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ย้อนหลังไปได้อีกหลายปี และทำให้การลงทุนเพื่อการศึกษาในระดับวิทยานิพนธ์ กลับกลายเป็นการลงทุนเพื่อสังคมได้จริง มากกว่าเป็นการลงทุนเพียงเพื่อความก้าวหน้าในทางวิชาชีพมากขึ้น ในขณะที่อำนาจของข้อมูลที่เป็นหลักฐานหนักแน่นก็จะถูกลดทอนลงให้เข้ากันได้กับมนุษย์มากขึ้น และกลายเป็นปัญหาน้อยลง ผู้เขียนตระหนักดีว่ามีความยากรออยู่เบื้องหน้าในการปรับใช้ข้อมูลแบบดังกล่าวเพื่อการพัฒนา แต่เป็นความยากที่จำเป็น และเป็นความยากที่ถูกละเลยมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ยกตัวอย่าง เช่นการรักษาโรคของปลานี้ คือกรณีที่ข้อมูลไม่สามารถเข้าถึงเพื่อช่วยเหลือได้ แต่ยังมีกรณีเลวร้ายอีกมากที่ข้อมูลเหล่านี้กลับกลายเป็นอำนาจในการใช้กดขี่ เช่น กรณีของชนกลุ่มน้อย กรณีของการกำหนดนโยบายอย่างสุดโต่งตามข้อมูลตัวเลข เช่น การกำหนดเขตรับน้ำท่วมในเขตที่มีประชาชนไม่มาก หรือกรกำหนดนโยบายทางการศึกษา ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญหาทางจริยธรรมที่ต้องผ่านการถกเถียงต่อไป ว่าเพียงการเข้าถึงและเข้าใจ หรือ “ความรู้” นั้นเพียงพอหรือไม่ที่จะสร้างสังคมที่ดีขึ้น และมันจะไม่ถูกใช้เพื่อการเอาเปรียบกดขี่ได้อย่างไร ในวันเวลาที่ข้อมูลมีพลังมากขึ้น ทำอย่างไรให้พลังของมันไม่ถูกใช้ต่อต้านมนุษย์เอง


ทำอย่างไรให้ข้อมูลเป็นของสาธารณะ

แม้ในบทย่อยที่ผ่านมา อำนาจในการอธิบายข้อมูลยังคงอยู่ในมือขององค์กร ภาครัฐ และนักวิจัยหรือนักวิชาการ หรือยังคงเป็นกลุ่มชนชั้นนำ (elite) ของสังคม สาธารณชนยังขาดอำนาจในการ “นิยามตนเอง” หากเรานั่งคิดเรื่องนี้กันในยุคที่ข้อมูลยังไม่ถูกอพยพขึ้นมาบนเครือข่ายดิจิทัล มันคงเป็นความเป็นไปได้ยากที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่อำนาจในการนิยามตนเองโดยมีความน่าเชื่อถือของข้อมูลรองรับในยุคนี้อาจไม่ใช่เรื่องยากในแบบเดิมอีกต่อไป (แต่ยากอีกแบบหนึ่ง)

นอกจากพื้นที่แสดงผลข้อมูลจะทำการแสดงผลข้อมูลจากองค์กรต่างๆ แล้ว มันอาจทำหน้าที่เป็นผู้เปิดรับข้อมูลจากสาธารณะได้ โดยการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มชุมชนหรือวัฒนธรรมสามารถค้นหาพื้นที่ทั้งทางกายภาพและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อกับตนเอง และทำการป้อนข้อมูลเกี่ยวกับตนเองลงไป โดยมีการนำเสนอของข้อมูลในระดับที่ไม่แบ่งแยกออกจากงานวิจัยและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ด้วยแนวคิดพื้นฐานที่ว่าข้อมูลใดๆ ควรถูกนำมาพิจารณาร่วมกัน และเท่าๆ กันเพื่อการต่อยอดในการศึกษาหรือกระทำการ

เราอาจไม่เคยทราบว่าบริษัทใหญ่ๆ ทั้งระดับโลก และระดับภูมิภาค รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ มีข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับประชากร หรือเกี่ยวกับ “พวกเรา” มาโดยตลอด และพวกเขาใช้มันในการดำเนินการต่างๆ แต่ข้อมูลจำนวนมากดังกล่าวที่เป็นของสาธารณะ ของประชาชน กลับแทบจะไม่มีอยู่ คือข้อมูลมีอยู่ แต่เกิดการจำกัดการเข้าถึงข้อมูล เช่น ข้อมูลสุขภาพของประชากรในจังหวัด ไม่ได้อยู่ในมือของประชาชน แต่อยู่ในมือของบริษัทประกัน แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ที่แทนที่มันจะอยู่ในมือบริษัทประกันเพียงอย่างเดียว เครือข่ายหรือภาคีประชาชนอาจสร้างข้อมูลสุขภาพขึ้นมาอีกชุดเพื่อใช้เป็นการต่อรองกับบริษัทประกันได้ และทำให้ “ราคา” ของข้อมูลที่เดิมทีต้องใช้ซื้อขายระหว่างองค์กรหรือหน่วยทุนใหญ่ๆ ลดลง และกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนจะเข้าไปหยิบใช้ได้มากขึ้น และเช่นเดียวกันในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่สุขภาพ การ “แบไพ่” ของข้อมูลที่มีอยู่แล้ว จึงเป็นไปได้ว่าจะเป็นไปในทางที่สนับสนุนการพัฒนามากกว่าช่วยเหลือเพียงกลุ่มทุนใหญ่ หรือกลุ่มอำนาจเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่

โดยสรุปแล้ว พื้นที่การแสดงผลข้อมูลนี้ควรจะเป็นพื้นที่ที่รองรับการไหลบ่าของข้อมูลจากสี่แหล่งหลัก คือ 1. ทะเบียนราษฎร และข้อมูลประชากรจากภาครัฐ 2. ข้อมูลจำเพาะจากภาคเอกชนและองค์กรอิสระที่เปิดเผยได้ ที่แยกย่อยลงไป เช่น ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรท้องถิ่น เป็นต้น 3. ข้อมูลจากหอจดหมายเหตุของสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย 4. การขอความร่วมมือข้อมูลจากประชาชนและภาคประชาสังคม

ผู้เขียนเสนอให้การเก็บเกี่ยวข้อมูลเริ่มจากแหล่งที่ 3 และ 4 เป็นหลัก โดยเริ่มจากขึ้นพื้นที่เล็กๆ ที่มั่นคงและแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่ชุมชนนั้นๆ จะได้รับตอบแทนในทันที มันอาจสามารถสร้างผลเชิงประจักษ์ให้กับงานวิชาการทีถูกทิ้ง ถูกใช้เพื่อการพัฒนาได้ในเฉพาะพื้นที่ที่เป็นจุดเริ่มต้น อาจทำให้ชุมชนนั้นตระหนักถึงการโยกย้ายทรัพยากร การเอาเปรียบในเชิงข้อมูลของกลุ่มทุน หรือกระทั่งภาครัฐ หรือมองเห็นโอกาสอื่นๆ ในการเคลื่อนไหว (ทั้งในระดับปัจเจกและมากกว่านั้น) ได้มากขึ้น ข้อมูลที่เริ่มต้นดังกล่าวจึงจะเป็นข้อมูลของประชาชนก่อน ถูกตั้งต้นทิศทางของข้อมูลจากประชาชนก่อน ก่อนจะนำข้อมูลที่มีไปใช้ในการต่อรองเอาข้อมูลจากภาครัฐ และเอกชนเกี่ยวกับข้อมูลทางการอื่นๆ ที่ต้องการ โดยข้อมูลในแหล่งที่ 3 และ 4 อาจถูกจับคู่หรือสานสะพานในเบื้องต้นกับข้อมูลที่ภาครัฐเปิดเผยอยู่แล้ว เช่น จำนวนประชากร ข้อมูลอายุ เพศ อัตราการเกิดของประชากร เป็นต้น

แม้ Newground จะสนใจในการพัฒนาและแก้ปัญหาของคนรุ่นใหม่ แต่ Newground ที่ได้เคยวิพากษ์การแก้ปัญหาสังคมหลายปัญหาว่าได้ละเลยปัญหาแวดล้อมอื่นๆ ที่มีผลต่อปัญหานั้น ไม่สามารถจัดทำพื้นที่แสดงผลข้อมูลต่างๆ เพียงเพื่อ “คนรุ่นใหม่” หรือมุ่งพัฒนาคนรุ่นใหม่เพียงลำพังโดยไม่มองสิ่งอื่นได้ เนื่องเพราะรากฐานของปัญหาหลายปัญหา เช่นปัญหาทางข้อมูลที่ยกมานี้ เป็นปัญหาพื้นฐานที่ทุกคนมีร่วมกัน และหากแก้ไขปัญหาพื้นฐานเกี่ยวกับข้อมูลที่ว่านี้ได้ ชีวิตของ “คนรุ่นใหม่” รวมทั้ง “คนอื่นๆ” ก็อาจมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ได้มากขึ้น ร่วมกัน





เชิงอรรถ


[1] เพื่อการไม่เป็นสหวิทยาการแบบ “ฉีกวัตถุศึกษา แยกกันไปศึกษา แล้วเอากลับมาต่อใหม่ แล้วนั่งมองภาพรวมในขณะที่มันเสียหายแล้ว” อ้างถึงใน วริศ ลิขิตอนุสรณ์. 2559. สู่ภววิทยาการสื่อสารของมนุษย์ : กระบวนทัศน์. วารสารสหวิทยาการ14 (2)


[2] วิทยาศาสตร์ของยุคปฏิวัติวิทยาศาสตร์ หรือในกระแสธารก่อนความนิยมของความคิดแบบ “หลังสมัยใหม่” ที่วิทยาศาสตร์เองยังไม่สามารถมองเห็นรายละเอียดของความเป็นมนุษย์ได้เท่าในปัจจุบัน วิทยาศาสตร์ในแง่นี้คือวิธีคิดที่เชื่ออย่างปักใจว่าทางออกของปัญหาหรือการจัดการต่างๆ มีทางเดียว คือทางที่ผ่านกระบวนการวัดผลแล้วโดยวิธี การชั่งตวงวัดและวิจัยที่เชื่อถือได้โดยจำกัด โดยผู้เชี่ยวชาญ หลักการที่พิสูจน์ได้เท่านั้น และทุกคนจะต้องถูกจัดการด้วยแนวคิดการแก้ไขที่ถูกผลิตออกมาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เช่นนั้น อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนทราบดีว่าวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน และในหลายแขนงกลุ่มก้อน ไม่ได้กำลังเป็นแบบนั้น


[3] ตามคำแปล Hard Evidence ของ จันทนี เจริญศรี (2559) ในหนังสือ ศาสตร์ อศาสตร์ : เข้ามาข้างนอก ออกไปข้างใน โดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ Paragraph Publishing


[4] หรืออาจจะเป็นกลุ่ม NGO ฯลฯ ในที่นี้ผู้เขียนจะใช้ “กรมการประมง” เพื่อให้เห็นภาพของการพัฒนาที่มีรากฐานมาจากการวางนโยบายและวิธีคิดแบบที่ใกล้เคียงการเข้าไปพัฒนาโดยสายตาของวิทยาศาสตร์และความเป็นเหตุเป็นผลแบบองค์กรจัดตั้ง ที่เข้าไปยุ่งย่ามกับความเป็นมนุษย์ เป็นชุมชน



หมายเหตุ: Newground Lab เป็นหน่วยทำงานความคิด วิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับทุกอย่างเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม วิชาการคนรุ่นใหม่โดยไม่จำกัดรูปแบบ ติดตามข่าวสารของ Newground องค์กรวิจัยและพัฒนา ได้ที่ www.newgroundforum.comสนใจร่วมพัฒนาการจัดการข้อมูลประชากรที่กล่าวถึงในบทความ ติดต่อ call.newground@gmail.com แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เขียน varisli.mail@gmail.com

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.