Posted: 11 Dec 2017 08:24 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ความพรั่นพรึงต่อการเลือกตั้งของคณะรัฐประหาร อ้างเหตุต่างๆ ที่จะเลื่อนการเลือกตั้ง เป็นเรื่องไม่ปกติสำหรับคณะรัฐประหารที่ผ่านมาในอดีตของไทยนัก

ตามปกติคณะรัฐประหารจะวางเงื่อนไขการสืบทอดอำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นก็ระดมการสนับสนุนของนักการเมือง, ข้าราชการ, นายทุน, ไว้เพื่อจัดการตามเงื่อนไข หลังเลือกตั้งผู้นำการรัฐประหารจะได้เสียงสนับสนุนในสภามากพอจะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้อย่างมั่นคง ยิ่งหากยังได้กองทัพหนุนหลังอยู่ ก็จะคุมพรรคการเมืองได้เด็ดขาดขึ้น

การเลือกตั้งและการได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นเพียงการสืบทอดอำนาจเท่านั้น แต่เป็นการพิสูจน์ว่าการรัฐประหารที่ผ่านมานั้นมีความชอบธรรม อย่างน้อยก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภาซึ่งส่วนหนึ่งเป็นตัวแทนประชาชน การเลือกตั้งจึงประกันความปลอดภัยของคณะรัฐประหารในทางปฏิบัติ ที่น่าจะมีผลมั่นคงในอนาคตเสียยิ่งกว่ากฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองเสียอีก

การเลือกตั้งจึงเป็นบันไดทองของคณะรัฐประหาร ไม่ใช่ไว้ลงจากอำนาจ แต่ลงจากอำนาจที่ไร้ความชอบธรรม มาสู่อำนาจที่อย่างน้อยก็ชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งจึงเป็นจุดจบที่คณะรัฐประหารทั้งหลายที่ผ่านมาในเมืองไทยต้องการ
งานเลี้ยงที่ไม่ยอมเลิกรานั้นน่ากลัว ทั้งแก่เจ้าภาพและแขกพอๆ กัน

อันที่จริงคณะรัฐประหารปัจจุบันมีเหตุที่พึงวิตกกังวลกับการเลือกตั้งน้อยมาก เพราะได้วางเงื่อนไขไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างรัดกุมพอสมควร ป้องกันไม่ให้ผลของการเลือกตั้งมีส่วนตัดสินอะไรได้มากนัก เช่นอาจไม่ให้อำนาจบริหารแก่ผู้ชนะการเลือกตั้ง หรือถึงช่วงชิงตำแหน่งนั้นไป ก็เป็นเพียงตำแหน่งกลวงๆ ที่ไร้ความหมาย เพราะยังมีอำนาจอื่นที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งเอาไว้คอยกำกับควบคุมอย่างแน่นหนา จนนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าเปิดป้ายโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ

หากคุมไม่อยู่ ก็อาจถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ด้วยอำนาจขององค์กรซึ่งแต่งตั้งเอาไว้อย่างง่ายดาย

นายกรัฐมนตรีที่อาจบริหารประเทศได้จริง ก็คือคนที่องค์กรต่างๆ ซึ่งคณะรัฐประหารตั้งเอาไว้ยอมรับเท่านั้น จริงอยู่สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้ง มีอำนาจผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี จึงอาจขัดขวางนายกรัฐมนตรีที่มาจากคณะรัฐประหารได้ แต่ภายใต้โครงสร้างของรัฐธรรมนูญที่ไม่เอื้อให้นักการเมืองจากการเลือกตั้งมีบทบาทมากนัก การเจรจาต่อรองกับพรรคการเมืองเพื่อให้ผ่านงบประมาณ ย่อมทำได้ไม่ยากนัก ทั้งตบหัวและลูบหลัง

หากระบอบถนอม-ประภาส หรือระบอบสุจินดา คราประยูร มีรัฐธรรมนูญอย่างนี้ เราก็คงต้องอยู่กับทายาททางอำนาจของบุคคลเหล่านั้นสืบมาจนทุกวันนี้

เหตุใดคณะรัฐประหารชุดปัจจุบันจึงไม่อาจวางใจกับเงื่อนไขที่พร้อมมูลของรัฐธรรมนูญ แล้วเปิดการเลือกตั้ง เพื่อปิดฉากอำนาจที่ขาดความชอบธรรม เปิดเข้าสู่ฉากใหม่ของอำนาจที่ดูชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ

เหตุผลที่คณะรัฐประหารและบริวาร กับคนชั้นกลางที่สนับสนุนการรัฐประหาร น่าจะมองเห็นแล้วในบัดนี้ก็คือ การเมืองไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว และไม่สามารถใช้อำนาจเด็ดขาดของคณะรัฐประหารดึงการเมืองแบบเก่ากลับมาได้อีก

ความเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือ การเมืองไทยได้กลายเป็นการเมืองมวลชนไปเสียแล้ว การเกี้ยเซี้ยระหว่างผู้มีอำนาจกลุ่มต่างๆ อย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะทำให้การเมืองสงบราบคาบได้อย่างแต่ก่อน พรรคการเมืองไม่ได้นำประชาชน แต่ประชาชนเป็นผู้นำพรรคการเมือง จึงยากมากที่คณะรัฐประหารจะสามารถหาเสียง ส.ส.มาสนับสนุนได้เป็นกอบเป็นกำ

ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะวางเงื่อนไขให้คะแนนเสียงของ ส.ส.ค่อนข้างกระจาย แต่พรรคการเมืองที่ยังหวังจะมีอนาคตในการเมืองไทยต่อไปข้างหน้า ไม่อาจสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารได้เต็มที่นัก จะเหลือก็แต่พรรคเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนคณะรัฐประหารโดยตรง แต่การหยั่งเสียงที่ทำกันอย่างลับๆ ชี้ให้เห็นว่า พรรคเช่นนี้จะได้รับเลือกตั้งไม่มากนัก

แม้แต่พรรคภูมิใจไทย ก็ต้องแสดงท่าทีที่ไม่ถึงกับสยบยอมอย่างที่เคยเป็นข่าวเมื่อสองสามปีที่แล้ว

การเมืองมวลชนของไทยคงขยายตัวอย่างรวดเร็วในปลายทศวรรษ 2530 น่าสังเกตว่าพลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกคนชั้นกลางในเมืองใหญ่ประท้วงขับไล่นั้น ที่จริงแล้วได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนในสภาอย่างท่วมท้น

แสดงว่าจนถึง 2535 มวลชนที่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองคือคนชั้นกลางในเขตเมืองเท่านั้น ในขณะที่คนในชนบทยังพร้อมจะเดินตามพรรคการเมืองหรือหัวคะแนน แสดงว่าเป้าหมายทางการเมือง คือประโยชน์ที่ท้องถิ่นจะได้รับจากนักการเมืองระดับชาติ มากกว่าเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองระดับชาติโดยตรง

แต่หลังรัฐประหาร 2549 ผู้คนจำนวนมากที่ไม่เคยเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างใกล้ชิดได้หลั่งไหลเข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างคึกคัก การเคลื่อนไหวของคนชั้นกลางในเมืองสูญเสียอำนาจนำทางการเมืองในระดับประเทศไป หรืออย่างน้อยก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเมืองมวลชน

จุดมุ่งหมายของการรัฐประหารใน 2549 ไม่บรรลุผลจน “เสียของ” แม้แต่การแทรกแซงของกองทัพเพื่อตั้งรัฐบาลประชาธิปัตย์ขึ้นก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ก็เพราะการเมืองไทยได้เปลี่ยนเป็นการเมืองมวลชนไปแล้ว การเจรจาต่อรองระหว่างชนชั้นนำบนเวทีรัฐประหารและอำนาจพิเศษ ไม่อาจคืนความสงบราบคาบให้แก่การเมืองได้อย่างเคย

การเคลื่อนไหวทางการเมืองในระยะกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งฝ่ายคนชั้นกลางในเมือง และคนชั้นกลางจากชนบท ได้ให้ประสบการณ์ทางการเมืองแก่คนไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน

สื่อไซเบอร์ทำให้การจัดตั้งทางการเมืองทำได้ง่ายขึ้น ประสบการณ์ทำให้รู้ว่าต้องเคลื่อนไหวอย่างไร จึงจะสามารถยึดความชอบธรรมทางกฎหมายไว้ได้ การเมืองมวลชนจึงเต็มไปด้วยสีสันของการเคลื่อนไหวของผู้คนจำนวนมาก
มวลชนที่มีสำนึกทางการเมืองชัดเจนถึงเพียงนี้ ทำให้พรรคการเมืองต้องเดินตามมวลชน

จริงอยู่ไม่ว่าเสื้อแดงหรือ กปปส.ล้วนได้รับการอุดหนุนทั้งด้านการเงินและอื่นๆ จากนักการเมือง แต่ทั้งสองกลุ่มไม่ใช่สมุนของพรรคการเมืองแท้ๆ นักการเมืองไม่อาจตั้งเงื่อนไขได้ว่าหากรับการอุดหนุนของตนแล้วต้องเคลื่อนไหวอย่างไร ตรงกันข้าม เพราะมวลชนเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างหาก นักการเมืองที่หวังผลการเลือกตั้งจึงไม่อาจวางเฉยหรือขัดขวางได้ กลายเป็นว่านักการเมืองต่างหากที่ต้องเดินตามมวลชน

การเมืองมวลชนทำให้วิธีรวบอำนาจอย่างที่เคยทำกันมาเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว แม้จะเขียนรัฐธรรมนูญให้เอื้อต่อการรวบอำนาจของคนบางกลุ่มอย่างไร ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนัก เพราะการเมืองมวลชนทำให้เส้นทางการรวบอำนาจไม่มีวันราบรื่นไปได้ บันไดลงจากอำนาจที่ไม่ชอบธรรมซึ่งรัฐธรรมนูญจัดไว้ให้เป็นบันไดที่ล้าสมัยไปเสียแล้ว ขืนลงบันไดนั้น ก็อาจไม่ได้พบกับอำนาจที่ดูชอบธรรมได้ แต่อาจพบกับความไร้ระเบียบที่ไม่มีอำนาจใดๆ สามารถจัดการได้

ไม่จำเป็นว่าการเมืองมวลชนจะนำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตยเสมอไป การเมืองมวลชนอาจนำมาซึ่งระบอบเผด็จการก็ได้ แต่ไม่ใช่เผด็จการเชยๆ อย่างที่เราคุ้นเคย ต้องเป็นเผด็จการอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมี “ประสิทธิภาพ” สูง ทั้งในเชิงกำกับควบคุมและในเชิงการยอมรับของมวลชน เมืองไทยยังไม่เคยมีเผด็จการทันสมัยประเภทนี้

มีอุปสรรคหลายอย่างที่ทำให้เราเป็นประชาธิปไตยได้ยาก และมีอุปสรรคหลายอย่างที่ทำให้เราเป็นเผด็จการทันสมัยได้ยากกว่า เช่น เรามีกลไกรัฐที่ขาดเอกภาพ เราไม่มีอุดมการณ์ของความเปลี่ยนแปลง ซึ่งขาดไม่ได้ในเผด็จการทันสมัย กองทัพซึ่งอาจเป็นหัวหอกหรือผู้สนับสนุนหลักของเผด็จการทันสมัย ต้องเป็นกองทัพที่ประสบความสำเร็จอย่างเลื่องลือบางอย่าง เช่น กู้ชาติ หรือรวมประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างมั่นคง ฯลฯ

บ่ายหน้าไปทางประชาธิปไตยก็ยาก บ่ายหน้าไปทางเผด็จการทันสมัย ก็ดูไม่มีแววจะเป็นไปได้เลย

แล้ว คสช.จะลงจากอำนาจอันไม่ชอบธรรมของตนอย่างไร จากสามปีที่แล้วเมื่ออำนาจประเภทนี้ยังเป็นกำไรหรือข้อได้เปรียบ (asset) นับวันกลับกลายเป็นภาระ (liability) เพิ่มขึ้นทุกวัน



หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน www.matichonweekly.com

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.