Posted: 29 Jan 2018 10:46 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์
คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่
การเดินมิตรภาพเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเนื่องจากเป็นกรณีที่ภาคประชาชนสามารถช่วงชิงการใช้การตีความกฎหมายจากการพยายามผูกขาดของหน่วยงานรัฐและสามารถใช้กฎหมายไปกำกับควบคุมการใช้อำนาจของรัฐได้สำเร็จในระดับหนึ่ง ทั้งที่อยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นความสำคัญของภาคประชาชนในการต่อสู้เพื่อสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายที่เคารพสิทธิเสรีภาพประชาชนและปฏิเสธวัฒนธรรมทางกฎหมายแบบอำนาจนิยมด้วยปฏิบัติการทั้งในและนอกสถาบันทางกฎหมายที่เป็นทางการ
การต่อสู้ครั้งแรกของภาคประชาชนกับรัฐบาลเกิดขึ้นในวันที่ 20 มกราคม 2561 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) เมื่อรัฐบาลพยายามปิดกั้นและไม่อนุญาตให้ทีมเดินมิตรภาพที่ชุมนุมกันอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) จัดกิจกรรมเดินจากกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดขอนแก่น โดยอ้าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เป็นฐานในการใช้อำนาจดังกล่าว การปะทะกันครั้งแรกเกิดขึ้นนอกสถาบันทางกฎหมายที่เป็นทางการ เป็นการต่อสู้กันบนท้องถนน
ภาคประชาชนพยายามโต้แย้งการตีความและบังคับใช้กฎหมายของรัฐด้วยการยืนยันว่าสิทธิในการชุมนุมและการเดินของพวกเขาเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและพวกเขาได้ปฏิบัติตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 บัญญัติไว้แล้วทุกประการ พวกเขาจึงมีสิทธิที่จะชุมนุมและเดิน ทีมเดินมิตรภาพยืนยันความคิดความเชื่อของพวกเขา ด้วยการแบ่งกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนออกไปเดินตามที่วางแผนไว้ทั้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยินยอม
การต่อสู้ยกแรกระหว่างวัฒนธรรมทางกฎหมายแบบอำนาจนิยมกับวัฒนธรรมทางกฎหมายแบบเสรีประชาธิปไตยบนท้องถนน อาจถือได้ว่าภาคประชาชนเป็นฝ่ายมีชัยเหนือรัฐบาล เพราะนอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่สามารถยุติการชุมนุม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตามที่ต้องการแล้ว ประชาชนยังสามารถยืนยันสิทธิด้วยการเดินตามที่วางแผนไว้ได้ (แม้จะต้องปรับแผนจากที่จะเดินหลายสิบคนมาเป็นเดินครั้งละ 4 คน) โดยที่ตำรวจไม่สามารถยุติกิจกรรมเดินมิตรภาพได้ ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่าการยืนยันสิทธิของประชาชนมีชัยเหนือการใช้อำนาจควบคุมโดยรัฐ
อย่างไรก็ตามรัฐบาลตอบโต้ปฏิบัติการของภาคประชาชนด้วยการแจ้งความดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มเดินมิตรภาพจำนวน 8 คน นี่เป็นอีกครั้งที่รัฐพยายามสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายแบบอำนาจนิยมด้วยการใช้กลไกทางกฎหมายไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยครั้งนี้เป็นการใช้สถาบันทางกฎหมายที่เป็นทางการคือการใช้คดีอาญาเป็นเครื่องมือ น่าเชื่อได้ว่าการดำเนินคดีอาญาของรัฐบาลในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปิดกั้นการแสดงออกของภาคประชาชนยิ่งกว่าต้องการให้แกนนำทั้ง 8 ต้องรับโทษตามกฎหมาย การฟ้องคดีลักษณะนี้มีชื่อเฉพาะในทางวิชาการว่า “การฟ้องคดียุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมและการแสดงออกของประชาชน” (Strategic Litigation Against Public Participation/SLAPP) เป้าหมายของการฟ้องคดีประเภทนี้ไม่ได้อยู่ที่การแพ้ชนะในชั้นศาลเท่ากับมุ่งขัดขวางการมีส่วนร่วมและการแสดงออกของภาคประชาชนในเรื่องสาธารณะ เป็นการใช้กฎหมายเพื่อขัดขวางกิจกรรมเดินมิตรภาพและเป็นการขู่ทางอ้อมว่าพวกที่เหลือก็อาจถูกดำเนินคดีเช่นนี้ได้
ในส่วนภาคประชาชนนั้นแทนที่จะสยบยอมต่อการคุกคามด้วยกฎหมายของภาครัฐ ด้วยการยุติกิจกรรมเดินมิตรภาพ ทีมเดินมิตรภาพกลับทำในสิ่งตรงกันข้าม พวกเขายังคงยืนยันสิทธิด้วยการเดินต่อไปตามที่วางแผนไว้ ไม่เพียงเท่านั้นพวกเขายังพยายามใช้สถาบันทางกฎหมายที่เป็นทางการควบคุมรัฐที่ลุแก่อำนาจ ด้วยการฟ้องหน่วยงานของตำรวจต่อศาลปกครองในข้อหาละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของพวกเขาเพื่อขอให้ยุติการกระทำที่เป็นการขัดขวางการใช้เสรีภาพของพวกเขาและเรียกค่าเสียหายจากการที่รัฐละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมของพวกเขา
ด้วยการฟ้องคดีปกครองภาคประชาชนได้กลับหัวกลับหางวัฒนธรรมทางกฎหมายแบบอำนาจนิยมอีกครั้ง ด้วยการเปลี่ยนมิติความสัมพันธ์ของภาคประชาชนจากการเป็นผู้ถูกกฎหมายกระทำแต่ฝ่ายเดียว มาเป็นผู้ใช้กฎหมายจัดการกับรัฐที่ลุแก่อำนาจ ทันทีที่ถูกฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐที่เชื่อว่าพวกเขาเป็นผู้ผูกขาดการใช้การตีความกฎหมายก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยุ่งยาก พวกเขาต้องพบกับความจริงที่ว่ากฎหมายไม่ได้เป็นอาวุธของพวกเขาแต่เพียงฝ่ายเดียว ภาคประชาชนก็สามารถใช้กฎหมายมาต่อสู้ต่อรองและจัดการกับพวกเขาได้เช่นกัน เพียงชั่วข้ามคืนพวกเขาพบว่าสถานะความสัมพันธ์ของหน่วยงานตำรวจกับประชาชนได้เปลี่ยนไปอย่างมาก จากเดิมที่เป็นคนใช้กฎหมายกำกับและควบคุมประชาชนแต่เพียงฝ่ายเดียว กลับต้องกลายเป็นผู้ถูกฟ้องคดีในศาล หรือในอีกแง่หนึ่งพวกเขาถูกประชาชนใช้กฎหมายมาควบคุมตรวจสอบย้อนกลับ
ในการไต่สวนตำร้องขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในวันที่ 26 มกราคม 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงที่ถูกฟ้องคดีและที่ศาลเรียกเข้ามาเป็นผู้ฟ้องคดีเพิ่มเติม จำต้องมาแก้ต่างข้อกล่าหาของพวกเขาในศาลปกครอง อำนาจที่ดูแข็งกร้าวและยิ่งใหญ่ของตำรวจที่ขัดขวางการเดินที่ธรรมศาสตร์ คุกคามทีมเดินมิตรภาพ ที่ จ.อยุธยา และขัดขวางการเข้าพักที่วัดต่าง ๆ ซึ่งทีมเดินได้ประสานงานไว้ กลับดูอ่อนลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อต้องมาเป็นผู้ถูกกฎหมายบังคับใช้ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดี
หลังการไต่สวนอย่างยาวนานจากบ่ายถึงค่ำของวันที่ 26 มกราคม 2561 ในที่สุดศาลปกครองก็ได้กำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ด้วยการสั่งการให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสั่งการให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 และภาค 4 ห้ามการกระทำใด ๆ ที่เป็นการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของผู้ฟ้องคดีและผู้ร่วมชุมนุม และให้ดูแลอำนวยความสะดวกให้กับการชุมนุมจนถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561 อันเป็นวันสุดท้ายของกิจกรรมเดินมิตรภาพอย่างเคร่งครัด ด้วยคำสั่งฉบับนี้มิติความสัมพันธ์ทางอำนาจของภาคประชาชนกับรัฐก็ได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ ตำรวจที่เคยผูกขาดและใช้อำนาจตามอำเภอใจได้กลายเป็นวัตถุที่ถูกกฎหมายควบคุมอย่างเคร่งครัดเสียเอง ในแง่นี้จึงกล่าวได้ว่าในการต่อสู้กันในสถาบันทางกฎหมายที่เป็นทางการครั้งนี้ ภาคประชาชนก็ประสบความสำเร็จอีกครั้งในการใช้กฎหมายควบคุมรัฐ ขณะที่คดีอาญาที่รัฐพยายามใช้ควบคุมประชาชนหาได้ส่งผลใด ๆ ต่อการเคลื่อนไหวของทีมเดินมิตรภาพ
คำสั่งศาลปกครองคดีเดินมิตรภาพในแง่หนึ่ง คือ ผลิตผลของการต่อสู้ทางวัฒนธรรมทางกฎหมาย เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ากฎหมายไม่ได้เป็นแต่เพียงเครื่องมือของรัฐในการกดขี่ประชาชน แต่ในบางบริบท บางสถานการณ์ ประชาชนสามารถพลิกกลับและใช้กฎหมายควบคุมรัฐได้เช่นกัน และด้วยการใช้กฎหมายควบคุมรัฐในคดีเดินมิตรภาพ ประชาชนได้แสดงให้เห็นว่าแม้อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากภายใต้รัฐเผด็จการ การพยายามต่อสู้เพื่อสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายแบบเสรีประชาธิปไตยยังเป็นไปได้ จริงอยู่โอกาสที่ภาคประชาชนจะแพ้ในทางคดีอาจมีมากกว่าโอกาสที่จะชนะ แต่การต่อสู้และยืนยันสิทธิโดยตัวมันเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายแบบเสรีประชาธิปไตย ในสถานการณ์เช่นนี้การที่ภาคประชาชนสามารถใช้กฎหมายควบคุมรัฐได้แม้เพียงบางส่วน จึงเป็นชัยชนะร่วมกันของทั้งสังคมไม่ใช่เป็นเพียงชัยชนะของทีมเดินมิตรภาพเท่านั้น เพราะนี่คือส่วนหนึ่งของการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของประชาชน เป็นวัฒนธรรมทางกฎหมายแบบเสรีประชาธิปไตย เป็นวัฒนธรรมที่ยืนอยู่บนฐานคิดที่ว่าประเทศนี้เป็นของราษฎรทุกคน ผู้ปกครองของประชาชน คือ กฎหมายที่มีเหตุมีผล ไม่ใช่รัฐบาล รัฐราชการ หรือสถาบันอื่นใด
แสดงความคิดเห็น