Posted: 29 Apr 2018 01:57 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

พจนา วลัย

จิตวิญญาณของวันกรรมกรสากล (May Day) คือ การเป็นผู้กำหนดอนาคตด้วยตัวเอง ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยสหภาพแรงงานแห่งชาติสหรัฐอเมริกา คนงานเมืองชิคาโกในสมัยนั้นรณรงค์กำหนดชั่วโมงทำงานไม่ให้เกินวันละ 8 ชั่วโมงทุกแห่ง และได้กลายเป็นประเด็นร่วมในการเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก ข้อเรียกร้องนี้ได้ถูกเสนอให้พิจารณาในที่ประชุมใหญ่ขององค์กรกรรมกรสากล ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ หรือที่เรียกกันว่า “สากลที่หนึ่ง” ในปี 2429 พร้อมกับมีการเสนอให้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมในปีนี้เป็นวันกรรมกร อีกทั้งเป็นวันแห่งการแสดงออกซึ่งความสมานฉันท์สากล หรือ International Solidarity นั่นคือชนชั้นแรงงานไม่มีการแบ่งแยกสีผิว ศาสนา ความเชื่อ และพรมแดน

สำหรับประเทศไทยได้จัดงานเฉลิมฉลองวันกรรมกรสากลอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะเป็นครั้งแรก 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 โดยการนำของสมาคมสหอาชีวะกรรมกรนครกรุงเทพฯ และสมาคมไตรจักร์ สมาคมของคนถีบสามล้อ ร่วมชุมนุม ณ สนามหญ้าสำนักงานสมาคมไตรจักร์ บริเวณวังสราญรมย์ มีคนงานเข้าร่วมราว 3,000 คน ถัดมาในปี 2490 สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย (มีสมาชิกจาก 60 สาขาอาชีพรวม 75,000 คน) ที่เพิ่งถือกำเนิดได้ใช้ท้องสนามหลวงเป็นสถานที่จัดงานวันกรรมกรสากลอย่างยิ่งใหญ่ มีคนงานเข้าร่วมงานกว่า 100,000 คน โดยได้เรียกร้องให้เอาระบบการทำงานแบบ 888 หรือระบบสามแปด คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาเล่าเรียน 8 ชั่วโมงมาบังคับใช้ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องสากล และยังเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างสำหรับการทำงานล่วงเวลา ให้ยอมรับสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มจัดตั้งของกรรมกร คนงานต้องมีสิทธินัดหยุดงานเพื่อต่อรองกับนายจ้าง ให้มีการประกันสวัสดิภาพของลูกจ้าง และที่สำคัญคือให้ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันหยุดงานของกรรมกร เพื่อเชิดชูกรรมกรทั่วโลกให้สามัคคีกัน

ในประวัติศาสตร์ของกรรมกร การมีสิทธิที่จะกำหนดอนาคตของตนเองด้วยการเรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคมเกิดขึ้นจากการคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในฐานะคนทำงานสร้างโลก เป็นเจ้าของประเทศ ผู้เปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งจะต้องได้รับการเคารพจากผู้นำรัฐบาลผู้บริหารบริษัท ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมให้มีการศึกษาที่ดี มีงานทำ มีหลักประกันชีวิต แต่ความเป็นจริงที่ผ่านมา แรงงานต้องต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและความเป็นอยู่ที่ดีด้วยตัวเอง เพราะรัฐไม่ได้ตอบสนองความต้องการที่แท้จริง ยื่นให้แต่เพียงผลประโยชน์เศษเสี้ยว

ดังนั้น โดยเฉพาะในยุคของการปกครองของรัฐบาลทหารที่มาจากการทำรัฐประหาร การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานจำเป็นต้องเร่งรื้อฟื้นอำนาจการต่อรองของแรงงานทุกภาคส่วน เนื่องจากมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพในวงกว้าง มีการเลิกจ้างผู้นำ/สมาชิกสหภาพแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม และมีการลดทอนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายที่สำคัญ โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั้งผลที่ออกมายังไม่เป็นคุณประโยชน์ต่อประชาชน ดังนั้น ในการเรียกร้องของฝ่ายแรงงานต่อรัฐบาลทหาร รวมถึงพรรคการเมืองที่เตรียมการเลือกตั้งในอนาคตควรโยงไปถึงการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจการเมืองให้ยุติธรรมกับผู้ใช้แรงงานซึ่งมีข้อเสนอ 6 ข้อ ดังนี้

ข้อเสนอที่ 1 ยกเลิกรูปแบบการจ้างงานไม่มั่นคง เช่น ลูกจ้างเหมาช่วง ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างสัญญาจ้างระยะสั้น ที่ดำรงชีวิตแบบวันต่อวัน ดิ้นรนในการหาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทย ไม่เป็นการสร้างขวัญกำลังใจและคุณภาพของกำลังแรงงานในระยะยาว ดังนั้น รัฐบาลต้องมีนโยบายการจ้างงานที่มั่นคง (Job security) ไม่ใช่พร่ำถึงแต่ความมั่นคงแห่งชาติ โดยบรรจุลูกจ้างชั่วคราวในภาครัฐและเอกชนให้เป็นพนักงานรายเดือน ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างงาน และจ้างงานโดยตรง

ข้อเสนอที่ 2 ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวกันทั่วประเทศและครอบคลุมสมาชิกครอบครัวอีก 2 คนตามมาตรฐานแรงงานสากล ไม่ใช่ค่าจ้างที่เลี้ยงคนทำงานเพียงคนเดียวเพราะเป็นเรื่องไร้เหตุผลที่จะปล่อยให้คนหาเลี้ยงชีพแบบวันต่อวัน ซึ่งผลักให้คนงานต้องทำงานยาวนาน พึ่งพาการทำงานล่วงเวลาโดยไม่จำเป็น ไม่มีเวลาพักผ่อน ดูแลครอบครัว ศึกษาหาความรู้ อบรมทักษะฝีมือเพิ่มเติม ตามระบบสามแปด และส่งผลต่อการสร้างภาระหนี้สินซึ่งนายจ้างต้องปรับตัวเพื่อให้กำลังแรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ไปพร้อมกับขึ้นเงินเดือนแก่ลูกจ้างตามอายุงานด้วย

ข้อเสนอที่ 3 สร้างเสริมสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าทุกด้านตั้งแต่เกิดจนตาย และเก็บภาษีจากคนรวยมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ นำไปสร้างหลักประกันให้แก่ประชาชนทุกคน (รัฐสวัสดิการ) เช่น เรียนฟรี มีระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพราคาถูก มีบำเหน็จบำนาญที่สามารถดำรงชีพได้

ข้อเสนอที่ 4 ยอมรับอำนาจเจรจาต่อรองและบทบาทในการบริหารองค์กรร่วมของลูกจ้าง โดยรัฐบาลต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 เสรีภาพในการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองร่วม ต้องเปิดพื้นที่และออกกฎระเบียบที่เอื้อให้ลูกจ้างรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน โดยปราศจากการกลั่นแกล้งจากนายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชนและให้สหภาพแรงงานอยู่ในโครงสร้างการบริหารองค์กรหรือบุคคลร่วมกับนายจ้างเพื่อสร้างความรับผิดชอบ (accountable) ซึ่งกันและกัน

ข้อเสนอที่ 5 ควบคุมตรวจสอบภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานแรงงานสุขภาพอนามัย ลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อชีวิต และควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชน โดยจัดให้ตัวแทนลูกจ้าง ประชาชนในชุมชนใกล้เคียง เข้าไปตรวจสอบกระบวนการผลิต การควบคุมภายใน เพื่อประกันความปลอดภัยในการทำงาน ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อิเล็กทรอนิกส์

ข้อเสนอที่ 6 สังคมไทยจะต้องไม่ยอมรับวัฒนธรรมอำนาจนิยม การใช้ความรุนแรง และเลือกปฏิบัติต่อประชาชนที่แตกต่างกันในเรื่องเพศ อายุ ร่างกาย เชื้อชาติ ศาสนา การศึกษา ความคิดเห็นทางการเมือง เช่น แรงงานข้ามชาติ แรงงานหญิง แรงงานผู้พิการ เพศที่หลากหลาย ผู้เสียประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล เพื่อเสริมสร้างเสรีภาพในการแสดงออก ประชาธิปไตยและความสมานฉันท์ในสังคม

เพราะการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนกับการบริหารของหน่วยงานภาครัฐ ลูกจ้างคือองค์ประกอบหนึ่งของระบบการผลิต หากปล่อยให้กำลังแรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมอยู่อย่างด้อยศักดิ์ศรีกว่าชนชั้นอื่น ก็เท่ากับว่านายจ้าง/ผู้บริหารเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ความมั่นคงของชาติ (National Security) จึงเกี่ยวข้องกับการสร้างหลักประกันให้นายทุนทำกำไรและสะสมทุนอย่างมหาศาลมากกว่าการสร้างความมั่นคงในการทำงานของลูกจ้าง เพราะท้ายสุดเมื่อเกิดปัญหาข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ก็เลือกที่จะเลิกจ้างคนงานด้วยดุลพินิจของศาลอยู่บ่อยๆ คือ “หากเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทํางานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกําหนดจํานวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน”


สมานฉันท์วันกรรมกรสากล 2561
พจนา วลัย นักกิจกรรมกลุ่มสังคมนิยมแรงงาน[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.