Posted: 29 Apr 2018 08:37 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
โรซา ลัคแซมเบิร์ก เขียน
ปวงชน อุนจะนำ แปล[i]
คำนำผู้แปล
วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกๆปีถือเป็นวันสำคัญของประเทศไทยเนื่องจากเป็น “วันแรงงานแห่งชาติ.” แม้วันที่ว่านี้จะไม่ถือเป็นวันหยุดราชการและหน่วยงานราชการทุกแห่งยังคงเปิดทำการตามปกติ แต่ก็ถือว่าเป็นวันหยุดของภาคเอกชน, หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ, และสถาบันทางการเงิน. นอกจากรัฐบาลไทยจะมุ่งหวังให้มีการระลึกถึงผู้ใช้แรงงานไทยในวันนี้, “วันแรงงานแห่งชาติ” ยังเป็นโอกาสสำคัญที่ตัวผู้ใช้แรงงานเองจะได้ทำการพักผ่อน, เฉลิมฉลอง, และสังสรรค์นันทนาการกับครอบครัวและเพื่อนฝูงหลังจากทำงานมาอย่างหนักตลอดทั้งปี. อย่างไรก็ตาม, หากพิจารณาให้กว้างขึ้นไปกว่าวาทกรรมที่ยึดโยงกับคำว่า “แห่งชาติ” ที่ฟังดูคับแคบ, วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกๆปียังถือเป็นวันสำคัญของโลก เนื่องจากเป็น “วันแรงงานสากล” (International Workers’ Day) หรือที่เรียกกันติดปากว่า “วันเมย์เดย์” (May Day). วันแรงงานสากลที่ว่านี้ถือเป็นวาระประจำปีที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อกรรมกรทั่วโลก เพราะมันไม่เพียงแต่เป็นวาระของการระลึกถึงการเสียสละและความเหนื่อยยากของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก หากแต่มันยังเป็นวาระของการรำลึกถึงการล้อมปราบการประท้วงมวลชนกรรมกรที่จัตุรัสเฮย์มาร์เกต (Haymarket Square) ณ นครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1886.
วันที่ 1 พฤษภาคม คศ. 1886, กรรมกรที่เมืองชิคาโกได้นัดหยุดงานและออกมาเรียกร้องบนท้องถนนพร้อมๆกับกรรมกรหลายแสนคนทั่วสหรัฐฯ ให้มีการออกกฎหมายจำกัดชั่วโมงการทำงานไม่ให้เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน. ในบริบทของเศรษฐกิจการเมืองยุคศตวรรษที่ 19, ตามที่คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ได้อธิบายไว้ในหนังสือที่ชื่อ ทุน เล่มที่ 1 (Capital Volume I), การเรียกร้องให้มีการจำกัดชั่วโมงทำงานของกรรมกรในโรงงานถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับชนชั้นนายทุนและผู้มีอำนาจในรัฐเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากธรรมเนียมที่เป็นที่ยอมรับกันในสมัยนั้นคือการจ่ายค่าแรงในราคาที่ถูกที่สุดแต่กลับบังคับให้กรรมกรทำงานให้นานกว่าค่าแรงที่ได้รับให้มากที่สุด. ในหลายๆกรณี, ดังที่มาร์กซ์ได้ยกตัวอย่างไว้, ไม่เพียงแค่ผู้ชายหากแต่รวมไปถึงสตรีและเด็ก ต่างจำต้องขายแรงงานและทำงานหามรุ่งหามค่ำเป็นเวลา 10, 12, 16, หรือกระทั่ง 24 ชั่วโมงต่อวันอย่างไม่ได้หยุดพัก เพื่อให้ได้ค่าแรงมาประทังชีพ.[2] เรียกได้ว่า ตราบใดที่เครื่องจักรในโรงงานยังทำงานได้อยู่อย่างเป็นปกติและต่อเนื่อง, ตราบนั้นนายทุนก็พร้อมที่จะจัดหากรรมกรผลัดเวรกันเข้าไปทำงานทั้งวันและทั้งคืนอย่างไม่หยุดหย่อน.
ภาพวาดสะท้อนเหตุการณ์ความวุ่นวายในจัตุรัสเฮย์มาร์เกต นครชิคาโก
ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 4 พฤษภาคม คศ.1886
ที่มาของภาพ: Wikipedia
ด้วยบริบทที่กล่าวมา, การนัดหยุดงานทั่วสหรัฐฯ เพื่อเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายจำกัดชั่วโมงทำงานไม่ให้เกิน 8 ชั่วโมงต่อวันในวันที่ 1 พฤษภาคม คศ.1886 จึงถือเป็นการกระทำที่สร้างความไม่พอใจให้กับชนชั้นนายทุนและผู้มีอำนาจในรัฐเป็นอย่างมาก. ที่ชิคาโก, เมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ และเป็นศูนย์กลางของการเคลื่อนไหวกรรมกร, กระแสการนัดหยุดงานได้รับการจุดติดและลุกลามจากโรงงานไปสู่ท้องถนน. และนั่นก็นำไปสู่การล้อมปราบผู้ประท้วงของเจ้าหน้าที่รัฐที่จัตุรัสเฮย์มาร์เกต, การก่อจลาจลบนท้องถนน, และการนองเลือดของทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายประชาชนในวันที่ 4 พฤษภาคม คศ. 1886. โศกนาฎกรรมที่ว่ามาได้นำไปสู่การที่เจ้าหน้าที่รัฐทำการกวาดล้างสมาชิกสหภาพแรงงาน, เกิดกระแสการต่อต้านชนชั้นแรงงานและลัทธิคอมมิวนิสต์ในสังคมอเมริกัน, และเกิดกระแสสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐอย่างออกนอกหน้าของชนชั้นกระฎุมพีอเมริกันในเวลาต่อมา. กระนั้นก็ตาม, ความสูญเสียและความพ่ายแพ้ของกรรมกรในเหตุการณ์ที่ชิคาโกก็หาได้เป็นวีรกรรมที่สูญเปล่า. ในปีค.ศ. 1890, ที่ประชุมของตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์และสหภาพแรงงานทั่วโลกที่รู้จักกันในนาม “สากลที่สอง” (The Second International) ได้ลงมติให้มีการประกาศนัดหยุดงานของกรรมกรและออกมาเดินขบวนแสดงพลังของชนชั้นแรงงานทั่วโลกในวันที่ 1 พฤษภาคม เพื่อเป็นการเรียกร้องให้หลักการทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวันได้รับการนำไปปฏิบัติกับกรรมกรทั่วโลก. นอกจากนั้น, มันยังเป็นการรำลึกและเฉลิมฉลองวีรกรรมของพี่น้องกรรมกรที่สูญเสียชีวิตและบาดเจ็บไปในการถูกล้อมปราบที่จัตุรัสเฮย์มาร์เกตอีกด้วย. และนั่นก็คือหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์กรรมาชีพทั่วโลก เพราะในเวลาต่อมา วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1890 ได้ถือเป็นครั้งแรกของการจัดวันแรงงานสากล หรือพูดง่ายๆว่า วันเมย์เดย์ของเหล่ากรรมกรทั่วโลกได้รับการสถาปนาขึ้นมาอย่างเป็นทางการในวันนั้นนั่นเอง.[3]
ปีค.ศ. 1894, โรซา ลัคแซมเบิร์ก (Rosa Luxemburg), นักปรัชญา, นักเศรษฐศาสตร์, และนักปฏิวัติสังคมนิยมที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพ, ได้เขียนงานสั้นๆที่ชื่อ “อะไรคือต้นกำเนิดของวันเมย์เดย์?” (What Are the Origins of May Day?).[4] ความน่าสนใจของงานชิ้นนี้ก็คือ ลัคแซมเบิร์กได้พาผู้อ่านไปพบกับต้นกำเนิดของวันเมย์เดย์ที่สามารถสืบสาวประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปไกลกว่าวีรกรรมของกรรมกรที่จัตุรัสเฮย์มาร์เกตในปี ค.ศ. 1886. นอกจากนั้น, เธอยังได้พาผู้อ่านไปพบกับเบื้องหน้าเบื้องหลังของการประชุมของสหภาพแรงงานสากลกับการลงมติให้มีการนัดหยุดงานทั่วโลกในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1890 ซึ่งที่ประชุมไม่ได้มีใครคาดคิดมาก่อนว่า การจัดวันเมย์เดย์จะประสบความสำเร็จ, ได้รับการยอมรับ, และกลายเป็นประเพณีสืบต่อกันมา. ที่สำคัญที่สุด, เธอได้เน้นย้ำให้ผู้อ่านได้ตระหนักว่า แม้การเรียกร้องให้นายจ้างจำกัดการทำงานในโรงงานของกรรมกรไม่ให้เกิน 8 ชั่วโมงจะประสบความสำเร็จในเวลาต่อมาและกลายเป็นชัยชนะของชนชั้นแรงงานทั่วโลก, แต่การต่อสู้ทางชนชั้นจะยังคงดำเนินต่อไปและไม่มีทางเสร็จสิ้น ตราบใดที่ระบบทุนนิยมยังดำรงอยู่ และชนชั้นกระฎุมพียังคงกดขี่ขูดรีดชนชั้นกรรมาชีพอยู่ร่ำไป.
ด้วยเหตุนี้, ในวาระที่วันที่ 1 พฤษภาคมได้หวนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งในปีนี้, การย้อนรอยกลับไปดูว่า “อะไรคือต้นกำเนิดของวันเมย์เดย์?” ผ่านคำบอกเล่าของนักปฏิวัติคนสำคัญอย่างลัคแซมเบิร์ก น่าจะทำให้ผู้อ่านทุกๆท่านได้รู้จักที่มาที่ไปของวันสำคัญที่ว่านี้มากยิ่งขึ้น และไม่สงวนการเฉลิมฉลองและการระลึกถึงชนชั้นแรงงานไว้ให้กับ “วันแรงงานแห่งชาติ” ของราชอาณาจักรไทยแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังเผื่อแผ่การตระหนักรู้ทางสังคมให้กับพ่อแม่พี่น้องผู้ใช้แรงงานทั่วทุกหนทุกแห่ง ที่เสียสละและแบกโลกใบนี้ไว้ทั้งใบด้วยหยาดเหงื่อและสองมือตนเองจากอดีตจนถึงปัจจุบัน.
โรซา ลัคแซมเบิร์ก นักปฏิวัติสังคมนิยมชาวโปลิช-เยอรมัน
ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างปีค.ศ. 1871-1919.
ที่มาของภาพ: Wikipedia
เนื้อหา
แนวคิดอันน่ายินดีว่าด้วยการใช้การเฉลิมฉลองวันหยุดของกรรมาชีพเป็นยุทธวิธีในการบรรลุการทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในออสเตรเลีย. กรรมกรที่นั่นได้ตัดสินใจร่วมกันในปีค.ศ. 1856 ที่จะจัดให้มีการนัดหยุดงานกันอย่างเด็ดขาดหนึ่งวัน พร้อมกับมีการประชุมและงานมหรสพ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนให้มีการทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน.
วันแห่งการเฉลิมฉลองที่ว่านี้ถูกกำหนดให้เป็นวันที่ 21 เมษายน. ในตอนแรก, กรรมกรออสเตรเลียนตั้งใจจัดงานนี้ไว้สำหรับแค่ปีค.ศ.1856 เท่านั้น. แต่การเฉลิมฉลองครั้งแรกนี้กลับมีผลเป็นอย่างมากต่อเหล่ามวลชนกรรมาชีพของออสเตรเลีย, มันทำให้พวกเขากลับมาคึกคักและนำไปสู่การรณรงค์เคลื่อนไหวใหม่ๆ, นั่นก็นำไปสู่การตกลงกันว่า การเฉลิมฉลองเช่นนี้จะต้องมีการทำซ้ำอีกในทุกๆปี.
จะว่าไปแล้ว, อะไรเล่าที่จะสามารถทำให้กรรมกรมีความกล้าหาญและศรัทธาในพลังของตนเองขึ้นมา ถ้าไม่ใช่การรวมพลกันหยุดงานซึ่งพวกเขาได้ตัดสินใจทำกันด้วยตนเอง? อะไรเล่าที่จะสามารถทำให้ผู้ที่เป็นทาสตลอดกาลในโรงงานและห้างร้านต่างๆมีความกล้าหาญขึ้นมา ถ้าไม่ใช่การชุมนุมกันของกองกำลังตนเอง? ด้วยเหตุนี้, แนวคิดที่ว่าด้วยการเฉลิมฉลองของกรรมาชีพจึงได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว และมันได้เริ่มแพร่กระจายจากออสเตรเลียไปยังประเทศอื่นๆ จนกระทั่งมันได้ยึดครองโลกทั้งใบของกรรมาชีพในที่สุด.
คนกลุ่มแรกที่เอาอย่างกรรมกรออสเตรเลียนก็คือ คนอเมริกัน. ในปีค.ศ. 1886, พวกเขาตัดสินใจกันว่า ควรให้วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นวันของการนัดหยุดงานสากล. ในวันที่ว่านี้ กรรมกรอเมริกันสองแสนคนหยุดทำงานและเรียกร้องให้มีการทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน. ต่อมา, การคุกคามของตำรวจและกฏหมายได้ปิดกั้นมิไห้กรรมกรได้ทำการประท้วงในระดับเดียวกันแบบนี้ได้อีกเป็นเวลาหลายปี. อย่างไรก็ตาม ในปีค.ศ. 1888 พวกเขายึดมั่นในการตัดสินใจของตนอีกครั้งและตกลงกันว่า การเฉลิมฉลองครั้งต่อไปจะเป็นวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1890.
ในขณะเดียวกัน, ขบวนการเคลื่อนไหวมวชนของกรรมกรในยุโรปได้เติบโตขึ้นอย่างแข้มแข็งและมีชีวิตชีวา. การแสดงออกอย่างทรงพลังเป็นที่สุดของขบวนการที่ว่านี้ปรากฏให้เห็นที่การประชุมระดับสูงขององค์กรแรงงานสากลในปีค.ศ. 1889. ณ การประชุมนี้, ซึ่งมีกลุ่มผู้แทนเข้าร่วม 400 กลุ่ม, ได้มีการลงมติกันว่า การทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวันจะต้องเป็นข้อเรียกร้องแรกสุด. จากนั้นผู้แทนจากสหภาพแรงงานฝรั่งเศสนามว่าลาวีน, ซึ่งเป็นกรรมกรจากเมืองบอร์กโดซ์, ยกระดับข้อเรียกร้องที่ว่านี้ให้ได้รับการปฏิบัติในทุกๆประเทศผ่านการนัดหยุดงานกันทั่วทุกหนทุกแห่ง. ผู้แทนของกรรมกรอเมริกันได้ร้องขอให้พิจารณาถึงการตัดสินใจของเหล่าสหายของเขาที่จะให้มีการนัดหยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1890, และที่ประชุมก็ได้ลงมติให้วันที่ว่านี้เป็นวันเฉลิมฉลองสากลของกรรมาชีพ.
ในกรณีนี้, ดังเช่นที่เกิดขึ้นในออสเตรเลียสามสิบปีก่อนหน้านั้น, กรรมกรคิดกันจริงๆแค่ว่า มันจะเป็นการแสดงพลังแค่ครั้งเดียวจบ. ที่ประชุมลงมติว่า กรรมกรในทุกๆประเทศจะแสดงพลังร่วมกันเพื่อการจำกัดเวลาทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1890. ไม่ได้มีใครพูดถึงแผนการนัดหยุดงานซ้ำอีกในปีต่อๆไป.
เป็นเรื่องธรรมดาที่จะไม่มีใครคาดคิดว่า แนวคิดนี้จะประสบความสำเร็จอย่างฉับพลัน และมันจะถูกนำไปประยุกต์ใช้โดยชนชั้นแรงงานอย่างรวดเร็ว. อย่างไรก็ตาม, การได้เฉลิมฉลองวันเมย์เดย์แค่ครั้งเดียวในตอนนั้นก็เพียงพอแล้วในการกระตุ้นเร้าให้ทุกคนตระหนักและรู้สึกขึ้นมาได้ว่า วันเมย์เดย์จะต้องเป็นประเพณีที่กระทำกันทุกๆปีและต่อเนื่องไปเรื่อยๆ.
ในการจัดวันเมย์เดย์ครั้งแรก ข้อเรียกร้องก็คือให้เริ่มใช้หลักการทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน. แม้ว่าเป้าหมายที่ว่านี้จะสำเร็จลุล่วง, วันเมย์เดย์ก็ไม่ถูกยกเลิกแต่อย่างใด. ตราบใดที่การต่อสู้ของกรรมกรต่อชนชั้นกระฎุมพีและชนชั้นปกครองยังคงดำรงอยู่, ตราบใดที่ข้อเรียกร้องทั้งหมดของกรรมกรยังไม่ได้รับการตอบสนอง, ตราบนั้นวันเมย์เดย์ก็จะเป็นการแสดงออกถึงข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นประจำทุกปีต่อไป.
และเมื่อวันที่ดีกว่านี้ได้ทอแสงมาให้เห็น, เมื่อชนชั้นแรงงานของโลกได้ชัยชนะจากการปลดปล่อยตนเอง เมื่อนั้นเองที่มนุษยชาติทั้งมวลก็อาจจะหันมาเฉลิมฉลองวันเมย์เดย์เช่นกัน เพื่อเป็นการระลึกถึงการต่อสู้อันขื่นขมและความทุกข์ทรมานที่เหลือล้นในอดีตที่ผ่านมา.
[1] ผู้แปลขอขอบคุณ กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ ที่ช่วยปรับปรุงสำนวนการแปลและให้คำแนะนำในส่วนของคำนำการแปล
[2] ผู้ที่สนใจประเด็นปัญหาเรื่องชั่วโมงการทำงานในแต่ละวันกับชีวิตของชนชั้นแรงงานในศตวรรษที่ 19 โปรดดู Karl Marx, Capital Volume I. trans. Ben Fokes (New York: Penguin Books, 1976), Chapter 10.
[3] ประวัติศาสตร์โดยย่อของเหตุการณ์ที่จัตุรัสเฮย์มาร์เกตและการสถาปนาวันแรงงานสากลที่กล่าวมานี้ เป็นการสรุปใจความสำคัญมาจาก “Haymarket Affair.” Wikipedia. https://en.wikipedia.org/wiki/Haymarket_affair#Aftermath_and_red_scare. (accessed April 26, 2018).
[4] แปลจาก Rosa Luxemburg, “What Are the Origins of May Day?” in Selected Political Writings of Rosa Luxemburg. trans. Dick Howard (New York: Monthly Review Press, 1971), 315-16. หรือดูฉบับออนไลน์ได้จาก https://www.marxists.org/archive/luxemburg/1894/02/may-day.htm หรือ https://www.jacobinmag.com/2016/05/may-day-rosa-luxemburg-haymarket.
[full-post]
แสดงความคิดเห็น