Posted: 24 Apr 2018 10:01 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
ธีรวัฒน์ ขวัญใจ
อลิสา บินดุส๊ะ
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา กลุ่มนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้จัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “SLAPP LAW : ปฏิบัติการปิดปากคนด้วยกฎหมาย”[1] ขึ้น โดยมีวิทยากรทั้งที่เป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ทนายความที่ทำงานด้านสิทธิชุมชน รวมถึงนักปกป้องสิทธิชุมชนซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาจากการปกป้องฐานทรัพยากรของชุมชนเข้าร่วมการเสวนา ผู้เขียนเห็นว่าเนื้อหาของการเสวนามีประโยชน์ต่อการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องดังกล่าวของสังคมไทย จึงขอสรุปสาระสำคัญของการเสวนามาบอกเล่าให้ท่านผู้อ่านได้รับฟังกันในที่นี้ด้วย
“SLAPP” ย่อมาจากคำเต็มว่า Strategic Lawsuit Against Public Participation ซึ่งหมายถึงการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการสาธารณะ หรืออาจเรียกง่าย ๆ ว่า “การฟ้องคดีเพื่อปิดปาก” หรือ “การแกล้งฟ้อง” คดีประเภทนี้จะแตกต่างจากคดีทั่ว ๆ ไปตรงที่ผู้ฟ้องไม่ได้มุ่งหมายที่จะชนะคดี แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อขู่อีกฝ่ายให้กลัวหรือทำให้เกิดภาระมากมายจนหยุดการกระทำ หรือแกล้งขัดขวางยับยั้งการใช้สิทธิเสรีภาพของอีกฝ่ายเท่านั้น โดยถ้อยคำข้างต้นพ้องกับคำว่า slap ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีความหมายว่า “ตบ” ทำให้เห็นได้ว่าการฟ้องคดีที่มีลักษณะเป็น SLAPP ก็เหมือนเป็นการตบคนด้วยกฎหมายนั่นเอง
SLAPP มักเกิดขึ้นกับบุคคลหรือชุมชนที่ลุกขึ้นมาแสดงออกเพื่อปกป้องสิทธิหรือเสรีภาพบางอย่าง โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมหรือประโยชน์สาธารณะ เพื่อลดทอนความสามารถหรือยับยั้งการเคลื่อนไหวหรือการแสดงความคิดเห็น โดยทั่วไปมักจะเป็นการกระทำของฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่าเพื่อปิดปากฝ่ายที่มีอำนาจน้อยกว่า และข้อหาหลักที่มักจะถูกนำมาใช้ฟ้องคดีคือความผิดฐานหมิ่นประมาททั้งทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งเมื่อถูกฟ้องแล้วสิ่งที่ตามมาคือความยุ่งยากต่าง ๆ ที่จำเลยจะได้รับ เช่น การที่ต้องเสียเวลามาศาลจนกว่าคดีจะสิ้นสุด การต้องมีหลักประกันตัวในกรณีถูกฟ้องเป็นคดีอาญา ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการต่อสู้คดีไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทางหรือค่าทนายความ ผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ ชื่อเสียงเกียรติยศ รวมถึงความวิตกกังวลที่ต้องตกเป็นจำเลย เป็นต้น
สำหรับการฟ้องคดีที่เป็น SLAPP ในต่างประเทศ ตัวอย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาเคยเกิดขึ้นหลายคดี ที่โด่งดังคือคดี North Dakota ซึ่งกรีนพีซ (Green Peace) ฟ้องว่าการดำเนินการจัดทำท่อส่งก๊าซของบริษัทเอกชนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทจึงฟ้องกลับเรียกค่าเสียหายจำนวน 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะชนะคดีจริง ๆ จึงมีลักษณะเป็นการฟ้องปิดปากอย่างหนึ่ง ส่วนในประเทศไทยนั้นก็มีตัวอย่างหลายกรณีเช่นกัน เช่น คดีที่ผู้ประกอบการเหมืองแร่ที่จังหวัดเลยฟ้องเยาวชนที่รายงานข่าวเกี่ยวกับมลพิษจากเหมืองแร่ผ่านรายการโทรทัศน์ รวมถึงฟ้องสถานีโทรทัศน์ที่เผยแพร่ข่าวดังกล่าวด้วย หรือกรณีที่บริษัทผู้รับสัมปทานทำเหมืองหินที่เขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกลุ่มชาวบ้านที่ทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานของรัฐในข้อหาหมิ่นประมาททางแพ่ง โดยเรียกค่าเสียหายถึง 60 ล้านบาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของประเทศไทยนั้นการฟ้องคดีที่มีลักษณะเป็น SLAPP ไม่ได้จำกัดเฉพาะกรณีที่บริษัทหรือกลุ่มทุนฟ้องประชาชนนักปกป้องสิทธิหรือองค์กรพัฒนาเอกชนเท่านั้น แต่มีคดีจำนวนมากที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้แจ้งความและดำเนินคดีเสียเอง โดยใช้ความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาทและการหมิ่นประมาททางแพ่ง รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ เช่น พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2551 และกฎเกณฑ์ที่ตราขึ้นในสถานการณ์พิเศษ เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 มาใช้เพื่อเป็นการปิดปากการแสดงออกของภาคประชาชน ตัวอย่างเช่นการดำเนินคดีแก่กลุ่มชาวบ้านผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา จากกรณีการเดิน “เทใจให้เทพา” เพื่อยื่นหนังสือแก่นายกรัฐมนตรีขอให้ระงับโครงการดังกล่าว โดยถูกดำเนินคดีในหลายข้อหารวมทั้งตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ หรือการเดินมิตรภาพ We Walk ที่ถูกดำเนินคดีตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เป็นต้น รวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิทางการเมืองอีกหลายกรณีที่ถูกดำเนินคดีตามกฎเกณฑ์ของ คสช. ทั้งนี้ ยังไม่นับการนำกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาใช้เพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่อยู่ในฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในอีกหลายกรณีอีกด้วย
จะเห็นได้ว่า การฟ้องคดีที่มีลักษณะเป็น SLAPP นั้นคือการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของฝ่ายผู้ฟ้องคดีเพื่อปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพของอีกฝ่าย ดังนั้น ในหลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับการป้องกันมิให้มีการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือเพื่อปิดปากคน ด้วยการตรากฎหมายที่เรียกว่า Anti-SLAPP Act เช่นในหลายมลรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือตัวอย่างประเทศในกลุ่มอาเซียนคือกรณีของฟิลิปปินส์ซึ่งตรากฎหมายขึ้นในปี ค.ศ. 2010 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ให้เกิดความชัดเจนว่าคดีลักษณะใดถือเป็น SLAPP กำหนดห้ามให้ฟ้องคดีที่มีลักษณะดังกล่าวและให้อำนาจศาลที่จะไม่รับคำฟ้องเช่นนั้นไว้พิจารณาได้
ในส่วนของประเทศไทยนั้นก็มีข้อเสนอจากทางศาลยุติธรรมที่จะให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อให้ศาลมีอำนาจสั่งไม่รับคำฟ้องได้หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นคดีที่มีลักษณะเป็นการแกล้งฟ้องหรือฟ้องไม่มีมูล ซึ่งหากเป็นผลสำเร็จก็น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเฉพาะในคดีอาญาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการปรับเปลี่ยนทัศนคติของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้รู้เท่าทัน รวมถึงการทำหน้าที่กลั่นกรองคดีเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตโดยฝ่ายที่ต้องการนำกระบวนการยุติธรรมมาปิดปากฝ่ายที่มีอำนาจน้อยกว่า.
_______________________
[1]เสวนา “SLAPP Law ปฏิบัติการปิดปากคนด้วยกฎหมาย “ ประกอบด้วยวิทยากรดังนี้
อาจารย์เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
คุณ ส. รัตนมณี พลกล้า นักกฎหมาย ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน(CRC)
คุณรุ่งเรือง ระหมันยะ นักปกป้องสิทธิชุมชน จากบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ผู้มีประสบการณ์ในการเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาจากการปกป้องฐานทรัพยากร
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 19 เม.ย. 2561[right-side]
แสดงความคิดเห็น