แมวนอนอยู่ท่ามกลางเศษวัสดุก่อสร้างในพื้นที่ที่เคยเป็นชุมชนป้อมมหากาฬ

Posted: 26 Apr 2018 05:57 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

เรื่อง: เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา

ภาพ: Genevieve Glatsky/ เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา

คุยกับอาสาสมัครและชาวชุมชนที่ดำเนินการนำแมวออกจากพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬที่กำลังถูกรื้อ เพจดัง 'ทูนหัวของบ่าว' ชวนอาสาสมัครเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันนำแมวไปฉีดวัคซีนและตรวจโรค ก่อนประกาศหาเจ้าของไปรับเลี้ยงต่อไป (มีประมวลภาพท้ายข่าว)

26 เม.ย. 2561 พื้นที่ภายในกำแพงของชุมชนป้อมมหากาฬเดิมคลาคล่ำไปด้วยชาวชุมชนบางส่วนและเหล่าผู้ใช้แรงงานที่มาขนย้ายสิ่งของและรื้อบ้าน หลังจากชาวชุมชนที่เหลือตัดสินใจย้ายออกเมื่อวานนี้ และได้มีการจัดงานอำลาชุมชนที่ยืนหยัดต่อสู้ถึง 26 ปีเพื่ออยู่ในที่ดินเดิมในฐานะ ‘พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต’ ด้วยการรักษาวัฒนธรรมและความเป็นชุมชนไว้

นอกจากเสียงของการรื้อย้าย ยังมีเสียงร้องเหมียวๆ จากเจ้าแมวที่เดิมอาศัยในชุมชนป้อมมหากาฬร่วมกับมนุษย์ มันถูกแปรสภาพเป็นแมวจรไปในชั่วข้ามคืนเมื่อชาวชุมชนที่ย้ายออกไปไม่ได้มันนำไปด้วยอันมาจากเหตุว่า หนึ่ง แมวเหล่านี้ไม่มีเจ้าของเป็นตัวเป็นตน (ตัวที่มีเจ้าของก็ได้นำออกไปแล้ว) สอง ชุมชนกัลยาณมิตร เขตบางซื่อที่ทางชุมชนป้อมฯ ได้รับการช่วยเหลือจากเครือข่ายที่นั่นให้ไปอาศัยเป็นชุมชนใหม่ชั่วคราว และบริเวณนั้นเลี้ยงสุนัขกันเป็นส่วนใหญ่

ผลลัพธ์ของการแปรสภาพชุมชนเป็นสวนสาธารณะที่เริ่มจากโครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬเพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติในปี พ.ศ. 2502 จึงไม่เพียงแต่ทำให้เกิดภาวะ ‘คนไร้บ้าน’ แต่ยังมีการทำให้เกิดภาวะ ‘แมวไร้บ้าน’ หนึ่งในชาวชุมชนระบุว่า มีแมวที่ถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลังเป็นจำนวนราว 10-20 ตัว เครือข่ายสังคมออนไลน์ของคนรักแมวทั้งหลายจึงกระจายข่าวเรื่องแมวไร้บ้านจนมีการนัดหมายอาสาสมัครมาทำกิจกรรมช่วยนำแมวออกจากชุมชนเพื่อไปหาเจ้าของใหม่


แมวฝาแฝดถูกอาสาสมัครจับไว้ในกรง

เมื่อ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา เพจ Kingdom Of Tigers: ทูนหัวของบ่าว ได้เชิญชวนอาสาสมัครมานำแมวออกจากชุมชนในเวลา 13.00 น. ของวันนี้ โดยแมวเหล่านี้จะถูกนำไปตรวจเลือด ทำหมันและทำการรักษาที่โรงพยาบาลวิภาวดี เป็นผลให้มีอาสาสมัครมาร่วมด้วยช่วยกันจำนวนหนึ่งในวันนี้ ซึ่งมีจากที่มาตามนัดหมาย และมาช่วยเหลือเนื่องจากอาศัยอยู่ใกล้เคียงและรู้จักกับคนในชุมชน


อมรินทร์ หนึ่งในอาสาสมัครที่มานำแมวออกจากชุมชน

อมรินทร์ (สงวนนามสกุล) หนึ่งในอาสาสมัครที่มาช่วยจับแมวระบุว่า เห็นข่าวจากเพจทูนหัวของบ่าว และอยากให้แมวทุกตัวได้บ้าน จึงอาสามาร่วมด้วยช่วยกัน โดยแมวที่ถูกจับวันนี้ดูเครียด ซึ่งเป็นปรกติของแมวเวลาถูกจับขังหรือเดินทางก็จะเครียด ไม่ยอมกินอาหาร หนักๆ ก็อาจจะมีผายลม ทั้งยังเชิญคนที่รักแมวให้มาดูเผื่อจะถูกโฉลกกับน้องๆ เพราะแมวที่นี่น่ารักทุกตัว อาจจะเครียดนิดๆ แต่พอเลี้ยงๆ ไป เขาก็จะรักเจ้าของเอง

“เผอิญเลี้ยงแมวอยู่แล้วสองตัว ตอนแรกก็ไม่ได้รักแมว แต่รับแมวจรมาเลี้ยงแล้วผูกผัน ก็เลยรักแมว”

“รู้สึกดี อยากให้แมวได้บ้านทุกตัว มีคนที่บริจาคกรงจากลาดกระบัง ไปเอากรงแล้วก็รีบเอามาทางนี้ ทางทูนหัวของบ่าวจะโพสท์ภาพแมวทุกตัวลงผ่านเพจของเขาเพื่อหาเจ้าของ” อาสาสมัครหนุ่มกล่าว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหล่าอาสาสมัครกระจายตัวรอบๆ พื้นที่เพื่อตามหาแมว แมวที่ชุมชนจำนวนหนึ่งเป็นมิตรกับผู้คนที่เข้าหา แต่เมื่อถูกจับเข้ากรงจะมีอาการเครียด สังเกตได้จากอาการขนพอง การส่งเสียงร้องตลอดเวลา และพยายามแหกกรงออกมา อาสาสมัครต้องใช้อาหารเข้าล่อ เมื่อจับเข้ากรงได้ก็ให้อาหารและกิ่งไม้ให้แมวแทะเล่น แต่แมวบางตัวยังคงนิ่งและสุขุมแม้จะถูกจับเข้ากรง


ซ้ายไปขวา: จินห์จุฑา รุจิระกำธรชัย สุภาภรณ์ ราชอุไร

จินห์จุฑา รุจิระกำธรชัย หนึ่งในอาสาสมัครที่มาช่วยกันนำแมวออกจากพื้นที่ระบุว่าแมวที่จับนั้นคุ้นคนและน่ารัก เธอได้รับข่าวสารจากเพจแมวที่เธอเป็นสมาชิกและติดตาม เธอมีประสบการณ์ในการเลี้ยงแมว และถ้าจับแมวจรแถวบ้านได้ก็จะนำไปทำหมัน วันนี้เธอมากับเพื่อนอีกหนึ่งคน

“ปรกติตามกลุ่มเพจแมว เห็นเพจทูนหัวของบ่าวลง แล้วว่างก็เลยมา เพราะมีประสบการณ์ในการดูแลแมว”

“เพิ่งจับได้ตัวสองตัว คิดว่ายังร้อนอยู่ มันเลยไม่ออกมา แต่ตัวที่จับได้ไม่มีตัวไหนที่ขู่ เขาคุ้นคน จับง่าย น่ารัก” จินห์จุฑากล่าวในช่วงเที่ยงวัน

อาสาสมัครสาวคนเดิมทิ้งท้ายว่าการรับเลี้ยงแมวจรมีส่วนช่วยลดการสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ไม่ว่าจากการรวมกลุ่มกันเยอะๆ ของแมวจร การกิน การขับถ่าย แม้แต่การถูกรถทับ และแมวจรก็น่ารักไม่ต่างอะไรกับแมวพันธุ์เลย


ระพีพรรณ ดวงราษี

ระพีพรรณ ดวงราษี ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ อายุ 49 ปี อดีตเจ้าของบ้านเลขที่ 119 ที่เพิ่งย้ายออกเมื่อวานนี้ ปัจจุบันเช่าบ้านอยู่บริเวณใกล้เคียง มีอาชีพค้าขายไก่ย่าง ส้มตำระบุว่า ดีใจที่มีคนประสานรับแมวไปเลี้ยง เพราะตอนแรกเป็นห่วง เนื่องจากเธอผูกพันกับแมวเหล่านี้มานาน เอาอาหารเย็นมาให้แมวกินตลอด และวันนี้เป็นอีกวันที่เธอมาให้อาหารแมว สังเกตจากจานข้าวที่เธอลงมือคลุกปลาทูเอง

“คุ้นเคยเพราะเอาข้าวมาให้กินทุกเย็น เป็นความผูกพัน พอจะไปเราก็เป็นห่วง ใจหาย แต่ก็ดีใจที่น้องๆ มารับเอาไป ไม่ห่วงแล้ว”


“บางตัวก็มี (เจ้าของ) บางตัวก็ไม่มี อาศัยกินอยู่กับพวกเรา พอเราค้าขายกลับมามันก็มาเรื่อยๆ ได้กินอยู่อย่างนี้”


รพีพรรณกล่าวพลางน้ำตาไหลว่าอยากให้แมวไปเจอคนรับอุปการะที่ดี “เอาไปเลี้ยง ฝากให้รักเขาเหมือนกับที่ป้ารัก ฝากดูแลเขา อยากให้เขาไปเจอที่ดีๆ ไปเจอคนดีๆ เลี้ยงเขา พูดแล้วก็จะร้องไห้ คิดถึง”

ปัจจุบันชาวชุมชนป้อมมหากาฬที่เหลือจำนวน 7-8 ครัวเรือน จำนวนราว 30 คน ได้ย้ายที่อยู่ไปยังชุมชนกัลยาณมิตร บริเวณวัดสร้อยทองตั้งแต่เมื่อวานนี้ (25 เม.ย. 61) วันนี้จึงเป็นวันที่สองของการขนย้ายสิ่งของของชาวชุมชน กระบวนการขนย้ายสิ่งของดำเนินไปพร้อมกับการรื้อบ้าน โดยไม้ที่ถูกรื้อไปจะกลายเป็นวัตถุในการสร้างชุมชนป้อมมหากาฬใหม่


พรเทพ บูรณบุรีเดช อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬระบุว่า ชาวชุมชนที่ย้ายออกไปอยู่กับชุมชนกัลยาณมิตร จะเก็บเงินเพื่อสร้างชุมชนป้อมมหากาฬใหม่บริเวณพุทธมนฑลสาย 2 แต่ก็คงใช้เวลาเพราะที่ดินที่ดูไว้ขนาด 106 ตร.ว. มีราคาราว 3 ล้าน 7 หมื่น 4 พันบาท สาเหตุที่เลือกที่ดังกล่าวเพราะว่ายังไม่ไกลจากชุมชนเดิมมากและสัญจรสะดวก โดยคิดว่าคงจะเอาเงินที่ชุมชนออมร่วมกันหลักหนึ่งแสนบาทไปหาทุนเพิ่มเติม

ปัจจุบันมีชาวชุมชนป้อมมหากาฬส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ที่สถานพักพิงชั่วคราวที่การประปาเก่าบริเวณแม้นศรี ชาวชุมชนดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ย้ายออกไปก่อนแล้ว เมื่อเดือน ม.ค. มีชาวชุมชนไปอาศัยที่การประปาประมาณ 60 คน โดยจะมีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อไปกู้เงินกับสภาพัฒนาองค์กรชุมชนหรือ พอช. ซื้อที่ดินและปลูกบ้านบริเวณเกียกกาย ร่วมกับชุมชนทอผ้าที่จะย้ายไปอยู่ที่เดียวกัน

ผู้สนใจช่วยเหลือในด้านต่างๆ ติดต่อได้ที่เพจ Catster by Kingdomoftigers และ Kingdom Of Tigers: ทูนหัวของบ่าว
ประมวลภาพพื้นที่ชุมชนในวันนี้




















[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.