Posted: 24 Apr 2018 10:57 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

เนื่องในวันกรรมกรสากล 1 พ.ค. ที่จะถึงนี้ เครือข่ายตรวจสอบบรรษัทข้ามชาติเอเชีย (ATNC) ออกแถลงการณ์ ‘หยุดชั่วโมงทำงานที่ยาวนานในเอเชีย!’ เรียกร้องค่าจ้างที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาศักยภาพในฐานะมนุษย์ ไม่จำเป็นต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อหารายได้สนองความต้องการพื้นฐานและทำงานหนักจนเสียชีวิตอีกต่อไป

25 เม.ย. 2561 เครือข่ายตรวจสอบบรรษัทข้ามชาติเอเชีย (Asia Transnational Corporation Monitoring Network - ATNC) ได้ออกแถลงการณ์หยุดชั่วโมงทำงานที่ยาวนานในเอเชีย! เนื่องในวันกรรมกรสากล 1 พ.ค. 2561 โดยระบุว่า ในสังคมสมัยใหม่ งานไม่มีความหมายต่อชนชั้นแรงงาน ชีวิตประจำวันของพวกเราจำเจซ้ำซาก น่าเบื่อ ถูกลดค่า เราทำงานไม่ใช่เพื่อพัฒนาศักยภาพ แต่เพื่อทำให้นายจ้างมั่งคั่ง เวลามีค่าของพวกเราส่วนใหญ่ต้องใช้ไปกับการสร้างกำไรให้แก่นายทุน การเป็นชนชั้นแรงงานจึงหมายถึงการถูกบังคับให้อุทิศเวลาของพวกเรา กระทั่งชีวิตให้แก่นายทุน

ในภูมิภาคเอเชีย ชีวิตของแรงงานผูกติดกับนายทุน คนงานใช้เวลาโดยเฉลี่ยวันละ 8-14 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละ 45-70 ชั่วโมงในที่ทำงานแต่ได้ค่าจ้างต่ำ เช่น คนงานในฮ่องกงทำงานสัปดาห์ละ 50.1 ชั่วโมง ในขณะที่เมื่อไม่นานมานี้ เกาหลีใต้ได้ประกาศลดชั่วโมงทำงานให้เหลือเฉลี่ยสัปดาห์ละ 52 ชั่วโมงจากแต่ก่อน 68 ชั่วโมง

ในส่วนอื่นๆ ของภูมิภาค คนงานถูกสั่งให้ทำงานยาวนานขึ้น คนงานตัดเย็บเสื้อผ้าในบังคลาเทศถูกบังคับให้ทำงานวันละ 14-16 ชั่วโมง เป็นเวลา 6 วัน/สัปดาห์ ในบางกรณี สภาพการทำงานที่ย่ำแย่มาจากการทำงานล่วงเวลาจนเหนื่อยล้า คนงานในญี่ปุ่นเข้าทำงานล่วงเวลา 80 ชั่วโมง/เดือน แต่สามารถทำงานมากถึง 159 ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับทำงานล่วงเวลาวันละ 6 ชั่วโมง

แม้ว่าในบางประเทศ เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ กฎหมายแรงงานกำหนดชั่วโมงทำงานไม่ให้เกินกว่า 8 ชั่วโมง หากรวมเวลาเดินทางไปทำงานก็เท่ากับ 12-13 ชั่วโมง ยิ่งถ้าการจราจรติดขัด เช่น ในกรุงจาการ์ตา มะนิลา คนงานใช้เวลาเดินทางถึง 5 ชั่วโมงในระยะทางจากบ้านถึงที่ทำงาน 10 กิโลเมตร

ความเครียดและความล้าซึ่งเป็นสาเหตุของการทำงานที่เหน็ดเหนื่อยก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคได้ ในจีน มีชั่วโมงทำงานเกิน 60 ชั่วโมง/สัปดาห์ จากรายงานอย่างเป็นทางการในปี 2014 คนงาน 1,600 คนเสียชีวิตทุกวันจากการทำงานที่เหน็ดเหนื่อย ในขณะที่คนงานหญิงในญี่ปุ่นเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวเนื่องจากทำงานล่วงเวลา 159 ชั่วโมงในเดือนนั้น

การทำงานหนักจนเสียชีวิตยังพบเห็นที่อื่นในเอเชียด้วย ในฮ่องกง ผู้โดยสารเสียชีวิต 19 คนจากการที่คนขับรถเมล์เหนื่อยล้าจากการทำงานที่ยาวนาน (12-14 ชั่วโมง) ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่นเดียวกับที่อินโดนีเซีย คนขับรถบรรทุกของบริษัท Pertamina (บริษัทน้ำมันของรัฐวิสาหกิจ) กำลังเผชิญกับความเสี่ยงในการขนน้ำมันเชื้อเพลงวันละกว่า 12 ชั่วโมง

การเสียชีวิตจากการทำงานล่วงเวลาแพร่หลายจนมีคำเรียก คือ โรคคาโรชิ (Karoshi) ในญี่ปุ่น โรค Gwarosa ในเกาหลีใต้ และโรค Guolaosi ในจีน แม้ว่ายังไม่มีคำเรียกเฉพาะในกัมพูชา คนงานตัดเย็บเสื้อผ้าก็ทำงานหนักจนเสียชีวิตเช่นกัน การเป็นลมหมดสติในโรงงานทีเดียวพร้อมกันเกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น กัมพูชา อินโดนีเซีย ส่วนในจีน เพิ่งมีโศกนาฏกรรมในโรงงานฟอกซ์คอนน์คือ การฆ่าตัวตายเพื่อหนีสภาพการทำงานที่โหดร้าย

การทำงานที่ยาวนานไม่ก่อผลดีให้แก่สังคมแต่อย่างใด การไม่มีเวลาพักผ่อนนำไปสู่การสะสมความเครียดความล้า ซึ่งเป็นสาเหตุของหลายๆ โรค ฮอร์โมนความเครียดที่สูงทำให้หัวใจล้มเหลว เส้นเลือดอุดตัน ความสามารถในการย่อยอาหารลดลงจากการพักผ่อนน้อยและนำพาโรคเบาหวาน การทำงานล่วงเวลาจะไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพเพราะสมองจะทำงานด้อยลงเนื่องจากความเหนื่อยล้าเช่นกัน

การนอนไม่เพียงพอจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและคนทำงานจะมีอารมณ์ก้าวร้าวขึ้น บ่อยครั้งมีการทะเลาะกันของคู่สามีภรรยาเพราะความเครียดสะสม และความเครียดนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล และเป็นเหตุให้เกิดการฆ่าตัวตายในเกาหลีใต้ ซึ่งมีอัตราการฆ่าตัวตายเฉลี่ยวันละ 40 คน

การแข่งขันอย่างเข้มข้นภายใต้ระบบทุนนิยมกลไกตลาดส่งผลร้ายต่อชนชั้นแรงงาน “การแข่งขันจนถึงระดับล่าง” ได้สร้างสภาพการทำงานที่โหดร้ายยิ่งกว่า คนงานถูกบังคับให้ทำงานหนักและหนักขึ้นแต่กลับไม่ได้อะไรและก็เสียชีวิตในที่สุด การขยายเวลาทำงาน นายทุนไม่เพียงแต่ขโมยผลผลิตจากการทำงานของแรงงาน แต่ยังรวมถึงศักดิ์ศรีและชีวิตของพวกเรา

การทำงานเกินขีดจำกัดของร่างกายและจิตใจได้พิสูจน์แล้วว่าส่งผลเสียหายต่อชีวิตของแรงงาน เครือข่ายตรวจสอบบรรษัทข้ามชาติในเอเชียขอเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ จำกัดชั่วโมงทำงานให้เหลือวันละ 6 ชั่วโมงอย่างเข้มงวดโดยไม่ลดค่าจ้าง เพื่อรักษาสุขภาพของคนทำงาน เราควรจะมีเวลาพักผ่อนอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง และชั่วโมงทำงานควรคำนึงถึงเวลาเดินทางจากบ้านไปที่ทำงานทั้งไป-กลับด้วย เราจะไม่มีเวลาพักผ่อนเหลือ หากใช้เวลาเดินทางมากเกินไป

เครือข่ายตรวจสอบ ATNC ขอเรียกร้องค่าจ้างที่เหมาะสม ไม่ใช่แค่เลี้ยงชีพขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่ต้องเพื่อพัฒนาศักยภาพในฐานะมนุษย์ ถ้าเรามีค่าจ้างที่เหมาะสม เราไม่จำเป็นต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อหารายได้สนองความต้องการพื้นฐาน และทำงานหนักจนเสียชีวิตอีกต่อไป

เราเคยได้รับชัยชนะจากการต่อสู้ให้มีชั่วโมงทำงานที่เหมาะสมมาแล้ว จากขบวนการเรียกร้อง “สามแปด” ในวันกรรมกรสากล วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1886 อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของชนชั้นแรงงานถูกแย่งชิง เพราะขณะนี้ชั่วโมงทำงานยาวนานเกือบเท่าอดีต เราไม่ควรเงียบเฉยอีกต่อไป เพราะคุณภาพขีวิตของเราลดลงจนมาจุดต่ำสุดคือความตาย เราควรทวงคืนชัยชนะที่ผ่านมา

อนึ่งองค์กรสนับสนุน ประกอบไปด้วย 1. Asia Monitor Resource Centre, Hong Kong 2. Globalization Monitor, Hong Kong 3. Committee for Asian Women, Malaysia 4. Centre for Workers Education, India 5. Labour Education Foundation, Pakistan 6. Ecumenical Institute for Labour Education and Research, Philippines 7. Textile and Garment Worker Federation, Bangladesh 8. Korean House for International Solidarity, Korea 9. Yokohama Action Research, Japan 10. Patchane Kumnak, Good Electronics Thailand 11. Thailand Confederation of Trade Union, Thailand 12. National Free Trade Union, Sri Lanka 13. Confederation of National Trade Union, Indonesia 14. The Indonesian Confederation of United Workers, Indonesia 15. Sedane Labour Resource Centre, Indonesia 16. Yaung Chi Oo Workers’ Association, Myanmar
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.