Posted: 26 Apr 2018 07:51 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
กรณีผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงกว่า 2,400 คนอาศัยลี้ภัยอยู่ในป่าเขารัฐกะเหรี่ยงระลอกล่าสุด หลังทหารพม่าเสริมกำลัง-ปะทะหนัก หวังเปิดทางตัดถนนยุทธศาสตร์ ล่าสุดมีผู้อพยพ 3 ครอบครัวตัดสินใจเดินทางข้ามน้ำข้ามเขามาขออาศัยกับญาติที่ค่ายผู้อพยพใน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ไทยปฏิเสธการลี้ภัย และผลักดันกลับ
ผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง 3 ครอบครัว รวม 16 คน ระหว่างรอการส่งกลับที่ชายแดนไทย-พม่า ที่ท่าเรือด่านแม่สามแลบ ชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อ 26 เม.ย. 2561 (ที่มา: KPSN)
ผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง 3 ครอบครัว นั่งเรือโดยสารเพื่อรอการส่งกลับทางแม่น้ำสาละวิน ชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อ 26 เม.ย. 2561 (ที่มา: KPSN)
จากการนำเสนอข่าวชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ลูทอ ทางตอนเหนือของเมืองมูตรอ รัฐกะเหรี่ยง กว่า 2,417 คน จาก 12 หมู่บ้าน ต้องอพยพเข้าไปอยู่ตามป่าเขานับตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังกองทัพพม่าเสริมกำลังเข้ามาซ่อมถนนยุทธศาสตร์เชื่อมค่ายทหาร 2 แห่ง และมีเหตุปะทะกับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) รวมทั้งเหตุยิงพลเรือนจนชาวบ้านตัดสินใจอพยพออกจากพื้นที่นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่ามีผู้อพยพจากพื้นที่สู้รบดังกล่าว 3 ครอบครัว รวม 16 คน เดินทางมาถึงชายแดนไทย-พม่า และเข้าไปขออาศัยในค่ายผู้อพยพ อย่างไรก็ตามถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยผลักดันกลับ
โดยข้อมูลจากเจ้าหน้าที่เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสันติภาพ (KPSN) เปิดเผยว่า ตั้งแต่สัปดาห์ก่อนมีครอบครัวชาวกะเหรี่ยง 3 ครอบครัว รวม 16 คน เดินทางมาจากพื้นที่ลูทอที่มีการสู้รบในรัฐกะเหรี่ยง มาถึงค่ายแม่ลามาหลวง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยจากการสู้รบ
โดยผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง 3 ครอบครัวนี้ ตั้งใจมาอาศัยอยู่กับญาติที่อยู่ในค่ายผู้อพยพดังกล่าว อย่างไรก็ตามสถานการณ์ภายในค่ายผู้อพยพขณะนี้ครัวเรือนของผู้อพยพถูกตัดลดการปันส่วนอาหาร เนื่องจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่เคยให้ความช่วยเหลือตัดลดงบประมาณช่วยเหลือผู้อพยพ และเมื่อมีผู้อพยพที่เข้ามาใหม่ มาขออาศัยอยู่กับญาติภายในค่าย ญาติซึ่งได้รับการปันส่วนอาหารในจำนวนน้อยอยู่แล้ว ก็ไม่มีอาหารพอที่จะแบ่งให้กับผู้อพยพ จึงมีการแจ้งขอความช่วยเหลือกับคณะกรรมการค่ายผู้อพยพ
ต่อมาเมื่อวันจันทร์ (23 เม.ย.) มีการประชุมของคณะกรรมการค่ายผู้อพยพร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน และเจ้าหน้าที่ไทย มีการหยิบยกเรื่องผู้อพยพครอบครัวใหม่เข้ามาหารือ เพื่อขอแบ่งปันส่วนอาหารให้กับผู้อพยพเพิ่ม อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ที่เป็นปลัดอำเภอกล่าวว่าไม่สามารถรับผู้อพยพเพิ่มได้แล้ว จึงมีการนำผู้อพยพ 3 ครอบครัวดังกล่าวส่งกลับชายแดนไทย-พม่า ที่ท่าเรือแม่น้ำสาละวิน บริเวณจุดผ่อนปรนแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน
โดยในขณะนี้ครอบครัวผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง 3 ครอบครัวดังกล่าวอาศัยลี้ภัยอยู่ในชุมชนผู้อพยพภายในประเทศ (IDPs) แห่งหนึ่ง ภายในเขตรัฐกะเหรี่ยง ติดชายแดนไทย-พม่า อย่างไรก็ตามพวกเขาไม่สามารถกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมทางตอนเหนือของเมืองมูตรอ รัฐกะเหรี่ยงได้ เนื่องจากยังมีเหตุปะทะและทหารพม่ายังคงเสริมกำลังอยู่ในพื้นที่
อนึ่งในเพจ Burma Campaign UK ได้เผยแพร่ภาพการผลักดันผู้อพยพกลับด้วยโดยระบุคำบรรยายภาพว่า "วันนี้ครอบครัวผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง ผู้ได้พยายามข้ามชายแดนเข้ามายังประเทศไทย ภายหลังหลบหนีการโจมตีของกองทัพพม่าในพื้นที่ด้านตะวันออกของพม่า พวกเขาถูกบังคับผลักดันกลับไปยังชายแดนฝั่งพม่าโดยเจ้าหน้าที่ไทย"
คำบรรยายระบุต่อไปว่า "3 ครอบครัวซึ่งมีด้วยกัน 16 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 9 คน เป็นหนึ่งในจำนวนผู้คนกว่า 2,400 คน จาก 12 หมู่บ้าน ซึ่งหลบหนีปฏิบัติการทางทหารระลอกล่าสุดของกองทัพพม่าที่เมืองมูตรอ โดยส่วนใหญ่ของครอบครัวเหล่านี้กลายเป็นผู้อพยพภายในประเทศ (IDPs) และต่างซ่อนตัวอยู่ในป่า ที่ซึ่งพวกเขาเผชิญกับการขาดแคลนเสบียงอาหาร ความเจ็บไข้ได้ป่วย และความยากลำบากต่างๆ"
"และด้วยความกลัวถึงแก่ชีวิตและสวัสดิภาพของบุคคล ทำให้ 3 ครอบครัวนี้ตัดสินใจเดินทางไกลเพื่อความปลอดภัย มาที่ในค่ายผู้อพยพฝั่งประเทศไทย แต่ก็ถูกส่งกลับไปโดยเจ้าหน้าที่ไทย" ข้อมูลของ Burma Campaign UK ระบุ
อนึ่งข้อมูลจากรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR เมื่อ 31 มีนาคม ระบุว่า มีผู้อพยพในค่ายแม่ลามาหลวง ทั้งที่ลงทะเบียนและไม่ได้ลงทะเบียน 10,621 คน ขณะที่ภาพรวมทั่วประเทศ มีผู้อพยพอยู่ในค่าย 9 แห่ง ที่ UNHCR และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยดูแลรวม 99,886 คน
แสดงความคิดเห็น