Posted: 24 Apr 2018 11:10 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

โอนเงินของผู้ที่เคยเป็นสมาชิกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอื่น มายัง กบข.ได้ เปิดช่องให้กองทุนจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จำกัด ได้ ตุลาการ อัยการ เกษียณเกินกว่า 60 ปี มีสิทธิขอรับเงินสะสม เงินสมทบ เมื่อสิ้นปีงบฯ ไม่ต้องรอเกษียณ


24 เม.ย.2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นและข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานด้วยว่า ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม. ในวันนี้ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 เนื่องจากกฎหมายฉบับเดิมไม่ทันกับสถานการณ์การลงทุนในปัจจุบัน โดยมีการแก้ไขในประเด็นสำคัญ อาทิ สามารถโอนเงินของผู้ที่เคยเป็นสมาชิกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอื่น มายัง กบข. ได้ พร้อมเปิดช่องให้กองทุนสามารถจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จำกัด ได้ เพื่อขยายโอกาสในการหาผลประโยชน์ให้กับกองทุน การส่งเงินสะสมเข้ากองทุนจากเดิมร้อยละ 15 เพิ่มเป็นร้อยละ 30 ของเงินเดือน นอกจากนี้ยังให้สมาชิกที่เกษียณอายุราชการเกินกว่า 60 ปี เช่น ตุลาการ อัยการ มีสิทธิขอรับเงินสะสม เงินสมทบ เมื่อสิ้นปีงบประมาณเมื่ออายุ 60 ปี ไม่ต้องรอเกษียณอายุราชการ

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลสรุปไว้ดังนี้


1.กำหนดเพิ่มเติมประเภททรัพย์สินของกองทุนโดยกำหนดให้กองทุนประกอบด้วยเงินของสมาชิก ที่โอนย้ายมาทั้งจำนวนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีการออกจากงานหรือการชราภาพตามที่คณะกรรมการกำหนด

2. กำหนดเพิ่มเติมให้กองทุนมีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึงการจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจำกัด

3. กำหนดเพิ่มเติมให้ในกรณีที่บุคคลใดซึ่งเข้ารับราชการได้แสดงเจตนาให้โอนเงินทั้งหมดที่ตน มีสิทธิได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีการออกจากงานหรือการชราภาพตามที่คณะกรรมการกำหนดมายังกองทุน ให้กองทุน รับเงินดังกล่าวเข้าบัญชีเงินรายบุคคลของสมาชิก เพื่อให้กองทุนนำไปลงทุนหาผลประโยชน์ต่อไป ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

4. กำหนดให้สมาชิกสามารถส่งเงินสะสมเข้ากองทุนได้ไม่เกินร้อยละสามสิบของเงินเดือน

5. กำหนดให้สมาชิกซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แต่สมาชิกภาพของสมาชิกยังไม่สิ้นสุด ให้มีสิทธิขอรับเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าวตั้งแต่สิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

6. กำหนดให้ในกรณีที่สมาชิกซึ่งสมาชิกภาพสิ้นสุดลงและมีสิทธิได้รับเงินสะสม เงินสมทบเงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าว ยังไม่ขอรับเงินคืนหรือแสดงความประสงค์ขอทยอยรับเงินคืน หรือในกรณีที่ทายาทผู้มีสิทธิรับเงินยังไม่ได้ยื่นคำขอรับเงินดังกล่าว ให้กองทุนบริหารเงินที่ยังไม่รับเงินคืนต่อไปได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวเว้นแต่ทายาท มีสิทธิเลือกแผนการลงทุนที่กองทุนจัดไว้ได้แต่ถ้าผู้นั้น ขอโอนเงินไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีการออกจากงานหรือการชราภาพ ให้กองทุนโอนเงิน ไปยังกองทุนดังกล่าวภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่ผู้นั้นแสดงความประสงค์และได้ปรากฏหลักฐานถูกต้องครบถ้วน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

7. กำหนดให้เงินของกองทุนที่อยู่ในบัญชีเงินสำรองและบัญชีเงินกองกลางให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง และให้กองทุนจัดให้มีแผนการลงทุนสำหรับเงินที่อยู่ในบัญชีเงินรายบุคคลเพื่อให้สมาชิกเลือกโดยอย่างน้อยต้องจัดให้มีแผนการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่า ร้อยละหกสิบด้วย ในกรณีที่สมาชิกไมได้ใช้สิทธิเลือกแผนการลงทุนให้ถือว่าสมาชิกยินยอมให้กองทุนจัดแผน การลงทุนที่กำหนดให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเหมาะสมกับช่วงอายุของสมาชิก

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.