Posted: 26 Apr 2018 09:11 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ณัฐพล เมฆโสภณ สัมภาษณ์
ฉัตรชัย ไสยมาตย์ ภาพ

ณัฐพล เมฆโสภณ จับเข่าคุยกับ 'ฮอคกี้ Hockhacker' หรือ เดชาธร บำรุงเมือง ศิลปินเพลงฮิปฮอป ฟังจากปาก ถึงที่มาของเพลงวิจารณ์การเมืองและสังคม ที่ตรงไปตรงมาแต่ก็โคตรแรงของเขา



“จุดมันขึ้นมา แล้วก็เดินหน้าไป ไม่ต้องไปง้อใคร สร้างขึ้นมาด้วยมือเรา
ความรู้ที่ได้มา ประสบการณ์ที่มีมากกว่า บางสิ่งที่เสียไป แปรเปลี่ยนมันเป็นปรัชญา วันนี้ที่ล้มไป ลุกขึ้นมาแล้วเริ่มใหม่ ก้าวตามความฝันไป ด้วยอุดมการณ์ของเรา”



นี่คือท่อนฮุกของเพลง ‘อุดมการณ์’ เพลงที่แต่งโดย “Hockhacker” ซึ่งเป็นชื่อในวงการเพลงฮิปฮอปของ ‘ฮอคกี้’ เดชาธร บำรุงเมือง อายุ 28 ปี ทีมงานเบื้องหลัง หรือ crew ของ “Rap is Now” (RIN) แต่นอกเหนือจากงานในฐานะ RIN crew แล้ว ฮอคกี้ยังร้องและแต่งเพลงแร็ปเองอีกด้วย เช่น เพลง อุดมการณ์ และผลงานเพลงอัลบัม Citizen Mixtape ประกอบด้วย ผู้อาศัย (Citizen), Losing My Mind, และ Four Point Old (4.0) ทั้งหมดนี้เป็นเพลงที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสังคมที่ฮอคกี้ หรือ Hockhacker มองเห็นและอยากเอามาพูดเป็นเพลง

เวลาที่เราได้เห็นวัยรุ่น และคนต่างๆ มากมาย ออกมาเรียกร้องเพื่อสิทธิทางการเมือง สิทธิมนุษยชน แต่งเพลงวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นไปของสังคม ผมจะคิดเสมอว่า คนพวกนี้เป็นคนที่กล้าหาญมากๆ ที่พวกเขากล้าวิจารณ์ แม้ว่าอาจจะต้องถูกจับ ถูกดำเนินคดี หรือถูกตะโกนด่าทอจากคนที่ไม่เห็นด้วยกับพวกเขา บางครั้งผมจินตนาการถึงเหตุผลของการต่อสู้ของพวกเขาได้นะ แต่เราก็ยังอยากได้ฟังจากปากพวกเขาอยู่ดีว่า ‘ทำไมคุณยังวิ่ง’ วันนี้เราเลยมานั่งจับเข่าคุย ประดุจ Fan Meet กับ ฮอคกี้ Hockhacker ถึงเพลงที่เขาเคยทำ และการทำเพลงแร็ปวิจารณ์การเมือง และสังคม

จุดเริ่มต้นของฮอคกี้นั้น เริ่มแรกเขาได้รับอิทธิพลจาก “Linkin Park” วงนูเมทัล เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เขาเริ่มหัดแร็ป เริ่มเขียนเนื้อเพลงเอง แต่ที่ทำให้ฮอคกี้ เริ่มอยากแร็ปจริงๆ จังๆ คือ เห็นคนอื่นๆ ไปแข่งกันใน Rap is Now เห็นเขา battle กัน ด่ากันในร้านนั่นเอง

“...จุดเริ่มต้นก็คืออยากเป็นแบบที่เขาเป็น แบบที่เขาแร็ปกันร้านในผับนั่นแหละ แค่นั้นเลย แค่ battle กัน แต่ด้วยความที่เราโตกว่าเด็ก เราอายุ 23-24 แล้ว เราเคยทำสารคดี เราเคยผ่านการทำงานเกี่ยวกับปัญหาสังคม ผมก็เลยลองเอามาทำเป็นเพลงด้วย…”

“อุดมการณ์” เพลงให้กำลังใจ นศ. ที่กำลังถูกคุกคามสิทธิเสรีภาพ

เพลงอุดมการณ์ เป็นเหมือนเพลงสะท้อนตัวตน รวมถึงอุดมการณ์ในฐานะศิลปินของฮอคกี้ ที่อยากมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคม และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ Hockhacker เริ่มปล่อยเพลง อุดมการณ์ หลังเหตุการณ์ ตำรวจรวบตัวนักศึกษา และนักกิจกรรม ประมาณ 20 คน หลังทำกิจกรรม 1 ปีรัฐประหาร หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อ 22 พฤษภาคม 2558 เพื่อให้กำลังใจผู้ที่ถูกควบคุมตัวในวันนั้น


“เรื่องเศร้า ของเรามันต่างกัน ได้แต่ไล่จับ คนคิดต่างระหว่างวัน
ไม่สนใจแก่นแท้ที่แบ่งปัน คิดได้เมื่อไหร่ จงวิ่งตามมาให้ทัน”


ทว่า นี่เป็นเหตุการณ์ที่สองที่ผลักดันให้ฮอคกี้เขียนเพลงนี้จนสำเร็จ เหตุการณ์ที่ทำให้เริ่มเขียนเพลงนี้มาจากการที่ทหารเข้าแทรกแซงการกิจกรรมฉายภาพยนตร์ของมหาวิทยาลัยบูรพา ฮอคกี้ เริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของเพลงนี้ พร้อมกับโชว์ให้ลายบนเสื้อยืดสีแดงเลือดหมูของเขา ซึ่งเสื้อนี้เป็นเสื้อกลุ่มทำภาพยนตร์ของ ม.บูรพา เอกภาพยนตร์ ตอนนั้น ม.บูรพา มีกิจกรรมฉายภาพยนตร์ชื่อว่า “บางแสนรามา” จัดโดยนิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาภาพยนตร์และโทรทัศน์ ภาควิชานิเทศศาสตร์ ซึ่งเป็นพวกรุ่นน้องของฮอคกี้ ในกิจกรรมมีทั้งการฉายภาพยนตร์ของนิสิตปี 3-4 และก็มีการนำเรื่อง “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับประเด็นเขาพระวิหาร กำกับโดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล มาฉายในงาน แต่ก็เกิดปัญหาขึ้น เนื่องจากมีการติดต่อจากทางทหารขอความร่วมมือให้งดการฉายภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง เพราะอาจกระทบความมั่นคง ทำให้ทางอาจารย์และคณะนิสิตผู้จัดงานงดฉายภาพยนตร์ดังกล่าว และเซ็นเซอร์ตัวเองล่วงหน้าด้วยการงดฉายหนังสั้นอื่นๆ บางเรื่อง เพราะเกรงจะเกิดปัญหาระหว่างการจัดฉาย เหตุการณ์นี้นำมาซึ่งการตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีการพยายามขัดขวางไม่ให้นิสิตจัดฉายภาพยนตร์ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ในงานดังกล่าวว่าเป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ ซึ่งภายในเพลงจะมีท่อนที่ร้องว่า “นกบางตัวไม่ได้เกิดมาอยู่ในกรง กล้าหาญยืนหยัดโผปีกบินอย่างทรนง”

“ผมพูดถึงรุ่นน้องหรือรุ่นเดียวกันที่ถูกปิดกั้นจากข้างนอก ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้น ทีนี้เพลงมันยังไม่เสร็จ ผมแต่งตอนทำงานออฟฟิศ เราไม่ได้เก่งมาก ไม่ได้ปรึกษาใคร แต่ว่าเอาจากที่เราประสบ ฟัง Beat วนๆ อยู่ดีๆ มันมีเหตุการณ์ที่หน้าหอศิลป์ ที่นักศึกษาโดนล้อมจับ แล้วก็ผมมารู้จักพี่แมน ปกรณ์ อารีกุล, พี่กันต์ แสงทอง ซึ่งเขาเป็นเด็ก ม.บูรพา เคยมีปฏิสัมพันธ์กัน เคยร่วมกิจกรรมกัน ผมก็ได้ตามข่าวและก็อินไปกับเขา เห็นพี่เราโดนจับ ผมก็เลยทำเพลงเสร็จช่วงนั้นแหละ คือ ผู้ใหญ่ อาจารย์ มองว่าก็เพราะพวกเขาประท้วง สร้างความวุ่นวาย เขาก็ต้องมาจับสิ เพื่อความสงบเรียบร้อย แต่ในทางสัญลักษณ์ นักศึกษามันคือ เสรีภาพ เด็กที่เป็นอนาคตของประเทศ....”


เพลง ‘อุดมการณ์’

Citizen Mixtape เพลงวิจารณ์การเมืองแบบประชาชน

หลังจากนั้น Hockhacker ยังทำเพลงวิจารณ์การเมืองอีกครั้ง โดยใช้ชื่ออัลบัม ‘Citizen Mixtape’ ประกอบด้วยเพลง ผู้อาศัย (Citizen), Four Point Old (4.0), และ Lose My Mind ที่ฮอคกี้เรียกว่า เพลงบ่นการเมืองในแบบประชาชน ระบายความในใจ เช่น เพลง ผู้อาศัย กับ Losing My Mind ทั้งสองเพลงนี้มีจุดร่วมกัน คือ วิจารณ์สังคมที่เราต้องจำยอมอยู่ โดยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ โดยฮอคกี้ เล่าว่า จริงๆ มันเริ่มมาจากการ “บ่น” กับทุกสิ่งทุกอย่าง ผสมกับความอัดอั้นตันใจที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ การที่ต้องใช้ชีวิตแบบภาวะจำยอมในสังคม ทั้งๆ ที่เราเองก็เป็นประชาชนที่เสียภาษี ที่นี่ทำให้เราเป็นคนเสียสติ แต่พอมาเป็นเพลง มันพูดออกมา มันเลยกลายเป็นเรื่องของ ‘ภาวะจำยอมแบบไม่ยอม’ คือ เราพูดว่ายอม แต่จริงๆ เราไม่ยอม


เพลง ผู้อาศัย


เพลง Losing My Mind

ขณะที่เพลง ‘Four Point Old’ ที่วิจารณ์ถึงนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศร่วมกับการดำเนินทางเศรษฐกิจโดยใช้เทคโนโลยี “จริงๆ สาระไม่มีอะไรเท่าไหร่นะเพลงนี้...” ฮอคกี้ เริ่มเล่า

“คือเพลง ใจความคือพูดถึงความล้าหลัง…old ผมก็ใช้คำว่า old คือ พูดถึงยุค 4.0 ซึ่งผมเล่นคำระหว่าง 4.0 (อ่านว่า โฟร์ พอยต์ โอ) กับ old... ขอนึกเนื้อเพลงแป๊บหนึ่ง 4.old 4 to slow mo (tion) ก็คือเหมือนผมใช้คำว่าโฟร์ (4) แทน 4.0, 4 to slow mo มันก็คือช้า”

“ตรงๆ เลยก็คือว่า รัฐบาลย้อนแย้ง ผลักดันระบบ 4.0 เข้ามาในระบบ แต่ก็ไม่ได้เข้าใจคำว่า 4.0 จริงๆ ก็คงเป็นนโยบายของเขานั่นแหละ ที่พยายามฉายภาพออกมา ซึ่งผมเคยไปประชุมกับ กสทช. ผมก็เลยรู้เหมือนกันว่าในระบบราชการหน่วยงานพวกนี้เขาเป็นยังไง เขาทันพวกเราหรือเปล่า เขาทันประชาชนรึเปล่า คนอายุ 50 ที่ไม่ได้เกิดมาในยุคอินเทอร์เน็ต ไม่ได้เกิดมาในยุคแชต MSN ทันการเล่น 3G หรือ 4G เขาอาจจะรู้เรื่องเทคโนโลยีหรือเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีน้อยกว่าวัยรุ่นด้วยซ้ำ ผมด่ารัฐบาลด้วย ด่าระบบด้วย คือมันไม่ได้เป็นที่รัฐบาลอย่างเดียวหรอก มันเป็นที่ระบบ คนในระบบ ประชาชนที่ยังเฉยๆ กับระบบ”


เพลง Four Point Old (4.0)

ในด้านผลตอบรับนั้น แร็ปเปอร์ฮอคกี้ อธิบายว่า แม้ว่าจะไม่ได้คาดหวังมาก เนื่องจากตัวเองก็ไม่ใช่ศิลปินนักร้องมืออาชีพ แต่เพลง อุดมการณ์ ได้ผลตอบรับดีเกินคาด ได้รับการยอมรับจากทั้งอาจารย์ และเพื่อนฝูงที่รู้จัก

“…ตอนนั้นเราไม่รู้ว่ามันดีหรือมันแย่ แต่เราทำแล้วก็อยากให้คนอื่นฟัง เราก็เลยส่งให้เฉพาะคนที่เราอยากให้เขาฟัง แล้วก็มีกลุ่มโน้นกลุ่มนี้แชร์ไปเหมือนกัน มีอาจารย์สุชาติ สวัสดิ์ศรี (นักเขียนอาวุโส) แชร์เพลงให้ด้วย... แล้วก็มีอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ซึ่งเป็นอาจารย์ของอาจารย์ผมอีกทีหนึ่ง เขาก็แชร์ไป อาจารย์ผมก็บอกว่า ถ้าอยากทำ ทำต่อไป เราก็เลยรู้สึกว่าเรามาถูกทาง...”


ขณะที่เพลงอัลบัม Citizen Mixtape ไม่ได้มีผลตอบรับอะไรมาก รวมถึงการวิจารณ์ในแง่ลบแต่อย่างใด บางทีอาจเป็นเพราะยอดฟังไม่ได้มากเหมือนเพลงที่แล้ว หรือมีคนพูดถึงเพลงเท่าใดนัก แต่มันเป็นเหมือนการแสดงจุดยืนตัวเองเรื่องการเมืองว่า ‘เราเป็นแบบนี้’ แต่ก็มีคนที่ฟังแล้วนึกออกว่าหมายถึงอะไร แล้วแชร์ออกไป อย่างไรก็ตาม ฮอคกี้ก็มีความคิดว่า จริงๆ ก็เขาอาจมีสิทธิ์ได้ไปปรับทัศนคติ หรือทัวร์คุกกับเขาบ้าง เพราะสังคมยังมองว่า การวิพากษ์วิจารณ์คือการสร้างปัญหามากกว่าการช่วยเหลือสังคม เรื่องพวกนี้คือการโจมตีทำลายคนอื่น หรือเราจะเอาเรื่องเสียๆ หายๆ ของประเทศมาพูดทำไมละ หลายคนยังมองว่า ‘มันไม่ใช่เรื่องปกติ’

“...ก็คือการเป็นประชาชนมันพูดได้อยู่แล้วแหละ เพราะว่าเราเสียภาษีให้ประเทศ เราต้องใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ที่ประเทศนี้ การวิพากษ์สังคม การเมือง แล้วก็ส่วนรวม มันทำได้อยู่ละ ในสังคมประชาธิปไตยนะ แต่ว่าในยุคปัจจุบันนี้ ก็ทำได้ ก็ยังทำได้อยู่ แต่ว่ามันมีความเสี่ยง คือ ไม่รู้ว่าวันนี้จะมีเพลงที่ผมไปแล้ว ไปเข้าหูตำรวจคนหนึ่ง แล้วก็ทหารที่ดูแลเรื่องนี้แล้วผมอาจจะโดนเรียกก็ได้ หรือเอาแค่ใกล้ๆ ตัวเลย แบบเพื่อนแม่ผม หรือว่าญาติผมที่เป็นเฟซบุ๊กเป็นเฟรนด์กัน แล้วเห็นผมปล่อยเพลงอันนี้ออกไป แล้วเค้าเผลอกดมาฟัง ผมอาจจะถูกครอบครัว หรือว่าถูกญาติมิตร มองไม่ดีก็เป็นไปได้ ก็คือว่า เรื่องที่คนพูดออกไปแล้ว คนยังมองกันว่า บ้าการเมืองเหรอวะ ยังอะไรอย่างนี้อยู่เลย มันยังไม่ใช่เรื่องปกติ มันก็ต้องทำจนกว่ามันจะเป็นเรื่องปกติ...”

เพลงสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ (?)


Hockhacker เชื่อว่า จริงๆ เพลงแร็ปวิพากษ์สังคมการเมือง สามารถเปลี่ยนความคิดของคนได้ แต่ว่าปัญหาไม่ใช่แค่เราต้องเจาะกลุ่มเป้าหมายที่อาจจะเห็นต่างจากความคิดของเรา หรือไม่เห็นด้วยกับเพลงให้ฟัง แต่ว่ามันยากตั้งแต่ต้นทาง มันอยู่ที่วิธีการแต่งเพลงวิพากษ์สังคม ให้มีผลกระทบด้วยเช่นกัน

“ผมว่าได้ เพราะว่า เอาจริงๆ เพลงวิพากษ์สังคม หรือเพลงวิพากษ์อะไรก็ตาม ถึงแม้เนื้อหาของการวิพากษ์มัน มันคือการเอาแง่ลบมาพูดกัน มันคือการเอาไอ้ที่ต้องปรับปรุงมาพูดกัน คือ มันเป็นเรื่องลบก็จริง แต่ว่ามันคือเรื่องลบที่จะถูกแก้ไขเพื่อนำไปสู่เรื่องบวก เพราะฉะนั้น ผมว่ามันคือการที่คนที่จะวิพากษ์อะไรได้ มันคือคนที่เห็นปลายทางแล้วว่า ถ้าเราเปลี่ยนไอ้สิ่งนั้นได้ ทุกอย่างมันจะดีขึ้น สิ่งที่เขาคิดมันจะดีขึ้น ตัวผมเองก็คิดว่า เราพูดเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ แล้วจนคนมันเริ่มเห็นด้วยกับเราเยอะๆ ยังไงคนมันก็ต้องปรับวิธีมองของมันเองด้วย แล้วก็วิธีที่นำเสนอของแต่ละคน การแสดงออกของแต่ละคนอาจจะเปลี่ยนไป ภาพรวมก็อาจจะดีขึ้นเรื่อยๆ”

“เราจะแต่งเพลงให้คนที่เค้าสนับสนุนทหารคนหนึ่ง ฉุกคิดขึ้นมา อย่างน้อยไม่ต้องเปลี่ยนความคิดหรอก ฉุกคิดขึ้นมาว่าแบบว่า เราแบบตรวจสอบรัฐบาลทหารไม่ได้เลย คนที่เขาแต่งตั้งเข้าไป มันไม่มีคนที่ถูกเลือกเลย มีแต่คนที่เขารู้จักทั้งนั้นเลย จะทำยังไงให้คนที่เขาเชียร์รู้สึกว่า อันนี้มันเป็นปัญหา อันนี้มันยากมากเลยนะที่จะต้องถ่ายทอดออกมาเป็นเนื้อเพลง คือ เราสามารถเขียนมันลงไปได้ในงานเขียน ในเว็บไซต์ แต่ว่าการกระจายออกไป ให้คนที่เขาไม่ได้อยู่ในกลุ่มเป้าหมายเราฟัง มันยากกว่า… ไม่ได้ยากที่เป้าหมายนะ มันยากที่ต้นทางแต่ถ้าคนที่ทำต้นทางได้สำเร็จ หรือแบบเกิดจากการตกผลึกทางความคิดออกมาแล้วจนรู้แล้วว่า สื่อเรื่องนี้ควรพูดเพื่อจี้จุดคน ถ้าทำสำเร็จ ผมว่ายังไงมันก็เปลี่ยนได้ มันสามารถเปลี่ยนความคิดคนได้แหละ”


เราเลยถามต่อว่า ในทัศนะของฮอคกี้มีแนวคิดแต่งเพลงวิพากษ์สังคมยังไง ฮอคกี้ อธิบายว่า การแต่งเพลงวิพากษ์สังคมให้ดี มันก็ควรจะสร้างผลกระทบได้ และการทำเพลงที่สร้าง impact หรือ effect ต่อคนอื่นๆ ได้ อย่างแรก คือ เราต้องเข้าใจปัญหา และอีกอย่างหนึ่ง คือ เราต้องไม่ทนกับปัญหานั้น ไม่ยอมจำนน ต้องมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงมัน

“…จะวิพากษ์อะไรให้มันดีหรือมันไม่ดี หรือว่ามันมีผลกระทบ ก็อยู่ที่คนวิพากษ์ รู้ปัญหานั้นจริงๆ แค่ไหน แล้วก็รู้สึกกับมันแค่ไหนนั่นแหละ …คือผมมองว่ามันไม่ต้องศึกษาก็ได้นะ ถ้าศึกษาในที่นี้หมายถึงต้องไปเรียน หรือต้องไปค้นคว้าอ่านอะไรมาเพิ่มเพื่อต้องเข้าใจ ก็เป็นวิธีหนึ่ง แต่บางทีมีวิธีของประสบการณ์ มันมีวิธีของการประสบพบเจอ คือ คนที่เดินทางกลับบ้านเองทุกวันด้วยรถเมล์ เขาไม่ต้องไปอ่านงานวิจัยหรืออะไรเลยนะ เค้าจะรู้ว่า ตรงนี้มันติดเพราะอะไร ...เรื่องปัญหาจริงๆ คนที่ประสบอยู่บ่อยๆ มันก็จะรู้ว่าปัญหานี้มันมี แต่ว่าทีนี้คนนั้นจะศึกษาต่อ หรือว่าแค่ทนกับมันแล้วยอมปัญหา หนีไปเรื่อยๆ ซึ่งมันก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยน… ถ้าคนที่มันรับเรื่องนี้บ่อยๆ แล้วไม่ยอม ผมว่าคนเราจะเปลี่ยนได้ และถามว่าอะไรที่ทำให้คนไม่ยอม ก็คือการที่ต้องมีตัวกระตุ้นให้เรา รู้สึกว่ามันใกล้ตัว ก็คือเพลงแร็ป หรือสื่อต่างๆ ทุกสื่อเลย อาจจะช่วยให้แบบรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรายอมไม่ได้ละ ต้องทำอะไรสักอย่างให้มันเปลี่ยน”

ก้าวต่อไปในการ ‘รันวงการ’ ในฐานะศิลปินเพลงแร็ปของ Hockhacker เขาวางแผนว่า จะทำอัลบัมของตัวเอง โดยเจ้าตัวตั้งใจอยากให้เพลงอัลบัมนี้เข้าถึงคนหลากหลายกลุ่ม และทำให้คนรู้สึกว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว และมีความหวังในการเปลี่ยนประเทศให้ดีขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ พ่อหนุ่มแร็ปเปอร์จะมีโปรเจกต์เล็กๆ ที่จะทำร่วมกับ ‘Liberate P’ เพื่อสะท้อนเรื่องการเมือง และใช้เพลงเพื่อขับเคลื่อนสังคม ชื่อว่า “Rap Against Dictatorship” ทั้งนี้ Hockhacker แย้มให้ฟังว่า เราอาจจะได้เห็นตัวโปรเจกต์นี้เต็มๆ ตอนช่วงกลางเดือนพฤษภาคม

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.