Posted: 27 Apr 2018 08:03 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

อัฐพล ปิริยะ รายงาน

ชวนอ่าน บทบันทึกจากสัมมนาวิชาการสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา ในหัวข้อ "อนาคตของชาติใคร ? ... การศึกษากับการปลูกฝังอุดมการณ์ของรัฐ" โดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา รองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ธเนศ ได้พูดถึงเรื่องการศึกษาในวันที่คนไม่เท่าเทียม โดยมองว่าการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกันนั้น เป็นปัญหาสำคัญของการศึกษาในสังคมที่คนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นคนจน พร้อมทิ้งโจทย์สำคัญ ควรปรับปรุงการศึกษาของแต่ละชนชั้นให้เหมาะสมและมีคุณภาพ
การศึกษาเป็นเรื่องพิสดาร

“การศึกษาเป็นเรื่องพิสดาร” ธเนศ กล่าวแก่นักศึกษาครูจำนวนมากที่เข้าร่วมสัมมนาอย่างใจจดใจจ่อ มีทั้งสิ่งที่พวกเขาเข้าใจและไม่เข้าใจจากสิ่งที่ธเนศ สื่อสารออกมา สำหรับธเนศ เขามองว่าการศึกษาเป็นเรื่องพิสดาร เป็นกลไกของระเบียบวินัยที่ฝึกให้คนสามารถนั่งทนฟังการสอนของครูอาจารย์ได้เป็นชั่วโมง การถูกสั่งให้ไม่ใช้เสียง หรือแม้กระทั่งการอั้นฉี่ขณะเรียนได้เป็นเวลานาน

“เพราะฉะนั้น การนั่งเรียนหนังสือมันเป็นเรื่องพิสดาร จนกระทั่งคุณต้องฝึกฝนบำเพ็ญตบะแบบปรมาจารณ์เตียซำฮง นั่งเข้าหาผนังถ้ำเป็นเวลา 25 ปี มันคือการฝึกแบบนั้น มันไม่มีมนุษย์ที่ไหนทำได้ ถ้าทำได้หมดก็คงไปหาพระผู้เป็นเจ้ากันหมดแล้ว” ธเนศ กล่าว


ทั้งนี้ ธเนศ ยังอธิบายว่า การนั่งโต๊ะไม่ใช่ธรรมชาติแต่เดิมของมนุษย์ แต่วิธีคิดเรื่องการศึกษาภาคบังคับได้ทำให้เราเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องวินัยในห้องเรียน แต่ยังรวมไปถึงการห้ามร่วมเพศ สภาพสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้ผู้คนต้องเรียนให้จบประถมฯ มัธยมฯ ปริญญาตรี มีงานทำ จึงสามารถมีครอบครัวได้ ขณะที่สังคมกรีกในอดีตมีลักษณะที่ต่างกันไป

“ในสังคมกรีก อายุ 13-14 ต้องรีบมีผัวซะ ไม่นั้นมันจะวุ่นวาย เพราะมันต้องแอบไปเอากัน” ธเนศ กล่าว
การศึกษาของความไม่เท่าเทียม


ธเนศ ได้อธิบายบริบททางความคิดเรื่องการศึกษา ผ่านภูมิหลังประวัติศาสตร์ของสังคมอเมริกันที่ไม่มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ร่วมกับสังคมศักดินา เนื่องจากไม่มีกษัตริย์ปกครองความหลากหลายทางชนชั้น ทำให้ชนชั้นกลางมีความเชื่อความใฝ่ฝันแบบอเมริกันดรีม ที่จะไต่เต้าบันไดทางสังคมจากระดับต่ำไปสู่ระดับสูงสุด การไต่ระดับทางสังคมดังกล่าวนำไปสู่การที่ทุกคนในสังคมอเมริกันเชื่อว่า ตนเป็นชนชั้นกลางที่มีความเท่าเทียมกัน แม้ว่าสังคมอเมริกันในอดีตเป็นสังคมที่มีทาสและยกเลิกไปในครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 แต่สิทธิและความเท่าเทียมกันในการขยายตัวของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ขยายไปสู่คนผิวดำจนกระทั่งปี 1960 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ธเนศ กล่าวต่อ ว่าความแตกต่างของสีผิวเป็นสิ่งที่มีมีบทบาทสำคัญ แม้คนอเมริกันจะมีความรู้สึกว่าสังคมตัวเองนั้นมีความเท่าเทียมกัน หรือใช้ภาษาเดียวกัน แต่วิถีชีวิตทางชนชั้นแต่ละชนชั้นมันก็แตกต่างกัน ชนชั้นที่แตกต่างกันทำให้วิถีชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกันไปด้วย และมันจะทำให้โอกาสในชีวิตของเราแตกต่างกัน ชนชั้นแสดงถึงการมีสุขภาพที่แตกต่างกัน อายุเฉลี่ยที่แตกต่างกัน การรอดตายของเด็กทารกที่แตกต่างกัน อาชญากรรมที่แตกต่างกัน

ชนชั้นที่แตกต่าง = โอกาสที่แตกต่าง

ธเนศยังได้ชี้ถึงประเด็นสำคัญของความสัมพันธ์กันระหว่างชนชั้นและการได้รับโอกาสไว้ว่า ชนชั้นที่แตกต่างกันก็แสดงถึงโอกาสในการศึกษาที่แตกต่างกัน ชนชั้นเป็นตัวชีวัดเส้นทางชีวิตของแต่ละคนจะลงเอยชีวิตแบบไหน ชนชั้นจึงเป็นตัวทำนายผลลัพธ์ชีวิตของผู้คนจำนวนมาก ใครที่เกิดในชนชั้นไหนก็จะบ่อบอกถึงเส้นทางชีวิตที่แตกต่างกัน ชนชั้นที่แตกต่างกันนำไปสู่ความรู้สึกและความนึกคิดที่แตกต่างกัน ชนชั้นที่แตกต่างกันนำไปสู่รสนิยมที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การแต่งตัวไปจนถึงการกินอาหาร ตลอดจนการใช้ข้าวของเครื่องใช้ที่แตกต่างกัน

“ชนชั้นที่แตกต่างกันมักจะทำให้การศึกษาแตกต่างกัน ก็ทำให้คนต่างๆ เหล่านี้ไปยังโรงเรียนที่แตกต่างกัน มหาวิทยาลัยที่แตกต่างกัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ชนชั้นที่มีทรัพยากรมากกว่าหรือร่ำรวยมากกว่าสามารถเข้าถึงอำนาจ ทรัพยากรที่ต้องการ ตลอดจนสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับผู้ทรงอำนาจหรือผู้ทรงอิทธิพลที่แตกต่างกัน” ธเนศ กล่าว

ธเนศยังกล่าวเพิ่มอีก ว่าสถานะทางชนชั้นที่ไม่เพียงแต่ปกป้องความแตกต่างทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังบ่งบอกความแตกต่างทางวัฒนธรรม ด้วยการที่ไม่มีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจทำให้ชนชั้นที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม เกิดความรู้สึกว่าตนเองนั้นมีอิสระมากกว่าชนชั้นต่ำ
สูงศักดิ์ จึงแยกข้าง

ธเนศ อธิบายว่า ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางมักสำนึกว่าตนเองนั้นมีเสรีภาพเนื่องจากอิสระที่ได้รับจากการมีทรัพยากรที่มากมาย ด้วยสำนึกที่ว่าตนเองมีอิสระมากกว่าคนอื่นๆ ก็ทำให้คนเหล่านี้ทำอะไรที่บ่งบอกได้ว่ามีเสรีภาพมากกว่าชนชั้นต่ำ และการมีอิสระเสรีนี้เอง ทำให้ชนชั้นสูงแยกตัวเองออกจากผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมและสายสัมพันธ์อื่นๆ ได้มากกว่า เช่น การนั่งรถปรับอากาศ เดินทางโดยไม่ต้องแปดเปื้อนกลิ่นเหม็นสาบของคนจนบนรถเมล์สาธารณะหรือรถไฟฟ้า(BTS) หรือรถไฟใต้ดิน แม้กระทั่งปัญหาในทางวัตถุ

“ผมอยากจะเปลี่ยนมาใช้เป็นไอโฟนสิบ ก็เปลี่ยนได้โดยไม่ต้องคิดมากอะไร ความจำเป็นในการปรับตัวให้กับสิ่งแวดล้อมและคนรอบช้างจึงมีน้อยกว่า เพราะทุกอย่างมันถูก Condition (ทำให้เพียบพร้อม) เหมือนกันที่อยู่ในห้องที่มีแอร์ Condition”
ธเนศ กล่าว

ธเนศ ยังกล่าวต่อ ว่าด้วยสภาวะที่ตัดแยกในคราวเดียวกับการตัดขาดออกจากโลก จึงทำให้คนพวกนี้ไม่ต้องสนใจอะไรอื่น เช่น ความรู้สึกของผู้คนรอบข้าง กรอบความคิดแบบนี้สะท้อนเห็นได้ผ่านพนฃระนางแมรี่แองตัวเนต ที่ก่อนเกิดการปฏฺวัติฝรั่งเศส มักจะมีคำพูดว่า ชาวนาฝรั่งเศสไม่มีอะไรกิน แล้วพระนางก็ตอบว่า ถ้าชาวนาฝรั่งเศสไม่มีอะไรกิน ก็กินขนมเค้กแทนสิ นี่ก็คือสำนึกของคนที่มีจากชนชั้นที่แตกต่างซึ่งตัดขาดจากโลกภายนอก
ต่ำศักดิ์ จึงปรับตัว

ธเนศ กล่าวว่า สำหรับชนชั้นต่ำที่ไม่มีทรัพยากรและโอกาส ทุกอย่างจึงเต็มไปด้วยข้อจำกัด ชนชั้นต่ำจึงมีความคิดว่าไม่มีความสามารถที่จะควบคุมอะไรได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมภายนอก ตรงกันข้าม ตนเองกลับกลายเป็นผู้ที่ถูกควบคุม ด้วยความเข้าใจของชนชั้น ทำให้ชนชั้นต่ำเข้าใจว่าความสำเร็จในชีวิตขึ้นอยู่กับความเมตตาของคนอื่นๆ ชีวิตของตัวเองจึงต้องพึ่งพากับคนอื่น ความจำเป็นในการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมและคนรอบข้างจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ธเนศ ได้อธิบายถึงสภาวะที่ต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่นของชนชั้นต่ำว่า ทำให้เกิดความระมัดระวังต่อสิ่งรอบข้างและสนใจต่อสิ่งอื่น เช่น อารมณ์ความรู้สึก สีหน้าของคนรอบข้าง ด้วยความที่คนชนชั้นต่ำต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่นๆ จึงทำให้คนชนชั้นต่ำมีความสามารถในการประเมินความรู้สึกของคนอื่นๆ ได้มาก อย่างไรก็ตาม สำนึกความเป็นอิสระของชนชั้นต่ำนั้นมีน้อยเมื่อเทียบกับคนชนชั้นสูง เพราะความไม่เป็นอิสระของคนชนชั้นต่ำจึงทำให้ต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่น ความสัมพันธ์เพื่อการพึ่งพาอาศัยคนอื่นๆ จึงเป็นทักษะที่สำคัญของคนชนชั้นต่ำ

ฝัน เปลี่ยน โลก ความเป็นไปไม่ได้ในการศึกษาของชนชั้นต่ำ

ธเนศ ได้อธิบายให้เห็นว่า การที่ชนชั้นต่ำไม่ได้มีทรัพยากรทางเศรษฐกิจและการเมืองมากเท่ากับคนชนชั้นสูง เนื่องจากข้อจำกัดทางทรัพยากรของชนชั้นต่ำ ทำให้กรอบคิดแบบว่า “ฉันยิ่งใหญ่มาก ฉันจะเป็นผู้สร้างประเทศ หรือฉันจะต้องเป็นผู้สร้างแรงสั่นสะเทือน” สำหรับชนชั้นต่ำเกิดขึ้นได้ยาก “แค่จะซื้อโทรศัพท์มือถือก็ต้องคิดแล้วคิดอีก”

ธเนศ กล่าวว่า กรอบคิดที่เชื่อว่าตัวเองมีความสามารถและสร้างแรงสั่นสะเทือนแสดงจิตสำนึกว่าตนเองมีความสำคัญ หรือตนเองเปลี่ยนโลกได้ เป็นสิ่งที่เป้นไปได้ยากมากในหมู่ชนชั้นต่ำ ในขณะที่ชนชั้นที่มีทรัพยากรมากกว่าก็สามารถที่จะบรรลุถึงความฝันของตัวเองได้

“ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ชนชั้นมีทรัพยากรมากกว่าจึงมีความเชื่อมันในตนเองและแรงจูงใจสูงกว่า ในขณะที่ชนชั้นที่มีทรัพยากรน้อยกว่ามักจะถูกมองว่าพวกนี้ไม่มีแรงจูงใจ ไม่มองโลกในแง่บวก ไม่คิดบวก ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่สำนึกถึงความเป็นปัจเจกชน ติดอยู่กับสำนึกบุญคุณและโครงสร้างอุปถัมป์ ด้วยสำนึกของความที่ชนชั้นต่ำต้องอาศัยคนอื่นๆ ทำให้สิ่งที่ตนเองทำไปนั้น ไม่ได้เป็นการกระทำของตนเองเพื่อตนเอง” ธเนศ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ธเนศ มองว่าแนวคิดเรื่องการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ อันมีผลลัพธ์จากวิธีคิดแบบปัจเจกชน ได้ทำให้คนมองว่าความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ต่อด้วยการปลุกสำนึกสร้างความเชื่อมั่นให้ตนเอง ดังปรากฏผ่านการใช้แนวคิดจิตวิทยาแบบมนุษยนิยม (Humanistic Psychology) ของอับราฮัม มาสโลว์ ซึ่งมีแนวคิดการใช้คนเป็นศูนย์กลาง เช่นเดียวกับแนวคิดการใช้นักเรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนการสอนเรื่องการศึกษา ของ ชาร์ล โรเจอร์

การศึกษาของการบรรลุเป้าหมาย

ธเนศ อธิบายว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่การศึกษาจะต้องทำให้มีเป้าหมาย ทุกคนถูกสถาปนาให้มีเป้าหมาย สังเกตได้จากการที่ครูแนะแนวถามเราว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ? หากไม่บรรลุเป้าหมายก็ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ด้วยชนชั้นที่แตกต่างกัน ก็ย่อมมีการบรรลุที่แตกต่าง เนื่องจากได้รับการศึกษาที่แตกต่าง วิถีชีวิตที่แตกต่าง โดยเฉพาะวิถีชีวิตของชนชั้นที่ไม่สูงมาก ตั้งแต่การต้องนั่งรถเมล์ที่ไม่มีแอร์ รถเมล์มาช้า หรือรถเมล์ไม่มาเลย การบรรลุเป้าหมายของชนชั้นต่ำจึงเป็นเรื่องยาก ต้องเรียนรู้ตามอัตภาพ ขณะที่ชนชั้นสูงได้รับการศึกษามากกว่า ทั้งการเรียนดนตรี กีฬา ผ่านการเรียนพิเศษต่างๆ จนเรียกได้ว่าเรียนทุกอย่างที่ขวางหน้า

“ปัญหาของการศึกษาสำหรับผม คือเรื่องช่องว่างของคนรวยกับคนจน ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ นี่คือปัญหาใหญ่มากกว่าการมองเรื่องคุณภาพการศึกษาไทย เราต้องถามว่าการศึกษาของชนชั้นไหนมีคุณภาพ ไม่มีคุณภาพ ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าคนจนเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ” ธเนศ กล่าว

สำหรับ อัฐพล ปิริยะ ผู้รายงานสัมมนาชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท ประจำปีการศึกษา 2/2560 จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีความสนใจเกี่ยวกับ One Piece, Star Wars, วรรณกรรม, การเมืองวัฒนธรรม และการศึกษา

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.