ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

Posted: 28 Apr 2018 10:03 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ค้านคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน จัดสรรนมโรงเรียนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ส่อเอื้อประโยชน์กลุ่มนมกล่อง

29 เม.ย. 2561 สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์ระบุว่าตามที่คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือ มิลล์บอร์ดได้ออกประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน โดยกำหนดเงื่อนไขในเรื่องการอนุญาตให้ผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการ นำน้ำนมดิบไปผลิตเป็นนมกล่องชนิดยูเอชทีในช่วงปิดภาคเรียนที่ 2ได้ไม่เกิน 60 วัน ในกรณีที่ผู้ประกอบการมีการผลิตข้ามภาคเรียน ต้องใช้น้ำนมดิบที่มีคุณภาพ โดยผ่านการสุ่มตรวจคุณภาพ จากกรมปศุสัตว์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้น

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มเกษตรกรรายเล็กรายน้อยว่า คณะอนุกรรมการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาการจัดสรรสิทธิและคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ภาคเรียนที่ 1/2561 ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2561 และได้เลื่อนประชุมมาครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2561 แต่ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับการพิจารณาจัดสรรสิทธิการจัดจำหน่ายฯ เนื่องจากมีความพยายามที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเฉพาะราย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการนมกล่อง โดยหลีกเลี่ยงไม่ใช้หลักเกณฑ์ในหมวด 2 ของประกาศคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนภาคเรียนที่ 1/2561 ที่มิลล์บอร์ดได้ออกประกาศไว้ตาม พรบ.โคนมและผลิตภัณฑ์นม พ.ศ.2551 เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2561 ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจนว่า ให้นำข้อมูลปริมาณน้ำนมโคที่จัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) การซื้อขายน้ำนมโคกับศูนย์รวบรวมน้ำนมโค/ฟาร์มโคนมเพื่อแปรรูปจำหน่ายของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมทุกรายจากกรมส่งเสริมสหกรณ์มาใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดสรรสิทธิในการจำหน่ายนมโรงเรียนในภาคเรียนที่ 1/2561 นี้ และไม่เกินค่าเฉลี่ยของปริมาณน้ำนมโคที่มีอยู่จริงตามที่กรมปศุสัตว์สำรวจย้อนหลัง 4 เดือน (พ.ย.2560-ก.พ.2561) และต้องเป็นน้ำนมโคที่ได้จากศูนย์รวบรวมน้ำนมโคที่กรมปศุสัตว์รับรอง GMP หรือ GAP เท่านั้น

การที่ผู้ประกอบการใช้สิทธิภาคเรียนที่ 1/2561 ครบจำนวนที่ได้รับการจัดสรรแล้ว แต่มีการผลิตนมโรงเรียนข้ามภาคเรียนชนิดยูเอชที เกินกว่าปริมาณน้ำนมดิบที่ได้รับการจัดสรร จะต้องนำปริมาณน้ำนมดิบที่ใช้ผลิตนมข้ามภาคเรียนมาหักลดสิทธิที่จะได้รับการจัดสรรในภาคเรียนที่ 1/2561 ซึ่งต้องสอดคล้องตามปริมาณนมที่ได้รับจัดสรรสิทธิในแต่ละวัน พร้อมกันนี้การจัดสรรสิทธิต้องดูพื้นที่เป็นหลักเพื่อลดระยะเวลาขนส่งระหว่างโรงเรียนและสถานที่ผลิตด้วย

ทั้งนี้การประชุมของอนุมิลล์บอร์ดที่ผ่านมา 2 ครั้งไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะกลุ่มผู้ประกอบการนมกล่องไม่ยอมลดยอดเฉลี่ยลงมาตามที่หลักเกณฑ์กำหนด ยืนยันจะเอาแต่ยอดเดิมที่เคยได้รับเมื่อเทอมก่อน โดยไม่สนใจ MOU ที่กำหนดไว้ ทั้ง ๆ ที่ขัดต่อหลักเกณฑ์ อีกทั้งกรณีดังกล่าว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เคยชี้แนะแนวทางให้ไว้กับคณะกรรมการมิลล์บอร์ดจนมีการปรับหลักเกณฑ์จนเป็นที่พอใจกันของทุกฝ่าย แต่มาครั้งนี้กลุ่มผู้ประกอบการนมกล่องกลับไม่ยินยอมและยืนยันจะใช้ตัวเลขเดิม ทั้ง ๆ ที่ผิดหลักเกณฑ์ตามประกาศของมิลล์บอร์ด

ดังนั้นสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงเรียกร้องมายังคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนที่จะมีการประชุมกันใหม่ในวันที่ 30 เม.ย. 2561 นี้ ได้ยึดมั่นในประกาศคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนภาคเรียนที่ 1/2561 อย่างเคร่งครัด การจัดสรรสิทธิต้องเป็นธรรม โปร่งใส หากมีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการนมกล่องโดยไม่คำนึงถึงประกาศดังกล่าว สมาคมฯจำต้องนำความไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. และฟ้องศาลปกครอง เพื่อเอาผิดคณะกรรมการฯและคณะอนุกรรมการฯทุกคนอย่างไม่ละเว้นเพื่อรักษาบรรทัดฐานทางกฎหมายต่อไป

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.