(ภาพขณะเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปที่บ้านนักศึกษาในจังหวัดเชียงราย)


Posted: 24 Apr 2018 10:29 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

บรรยากาศทางการเมืองของไทยในเดือนเมษายนนี้ยังคงร้อนระอุไม่ยิ่งหย่อนกับสภาพอากาศ กล่าวคือ ตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา ประชาชนที่สนับสนุนข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดการเลือกตั้งตามที่ได้สัญญาไว้ หรือกลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงดำเนินคดีถึง 106 คนแล้วในเวลานี้ แต่นอกจากวิธีการดังกล่าว คนอยากเลือกตั้งยังต้องประสบการคุกคามถึงบ้านหรือที่สื่อมักเรียกว่า “เยี่ยมบ้าน” ที่ คสช.มักนำมาใช้อย่างสม่ำเสมอ

หากย้อนดูการละเมิดสิทธิด้วยวิธีการไปคุกคามถึงบ้าน จะเห็นว่าปฏิบัติการนี้ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังการรัฐประหารเมื่อเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา และยังดำรงอยู่จนกลายเป็นวิธีการหลักที่เจ้าหน้าที่ใช้คุกคามประชาชน ซึ่งเป็นกรณีหนึ่งที่ทำให้องค์การระหว่างประเทศและนานาชาติสากลต่างออกมาแสดงความกังวลต่อการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวไทย

ท่าทีของรัฐบาลต่อข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ต่อการแถลงรายงานการปฏิบัติ ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ 200 ประเทศทั่วโลกประจำปี 2560 โดยเนื้อหารายงานส่วนของประเทศไทย อ้างอิงข้อมูลปี 2559-2560 ระบุว่า

“ประเทศไทยยังมีการจำกัดเสรีภาพพลเมืองโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่พบหลายปัญหา เช่น กรณี เจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ จับกุมผู้เห็นต่างทางการเมือง จำกัดสิทธิเสรีภาพทางสื่อออนไลน์” ซึ่งพล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า “เป็นเรื่องขององค์กรแต่ละประเทศที่จะคิดอย่างไร ซึ่งเราห้ามไม่ได้ แต่รัฐบาลยืนยันว่าสิ่งที่เราทำในปัจจุบันนี้ ทำตามข้อกฎหมาย” (อ่าน ที่นี่)

ในวันเดียวกัน พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในฐานะสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่รายงานสิทธิมนุษยชนของสหรัฐอเมริกา ที่ได้แถลงตำหนิรัฐบาลคสช. ในประเด็นของการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการเชิญตัว “คนคิดต่าง” เข้าค่ายทหารนั้นว่า

“ปกติการเชิญตัวคนคิดต่างนั้น เราแค่เชิญไปพูดคุยทำความเข้าใจ” และพล.อ.ธารไชยยันต์ ยืนยันอีกว่า คสช.ไม่ได้ไปทำร้าย หรือใช้ความรุนแรงอะไรที่สำคัญหากพิจารณาสถานการณ์ในปัจจุบันจะพบว่าคสช.และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้เห็นต่างในการเชิญมาพูดคุยอย่างนุ่มนวล เป็นการทำความเข้าใจเท่านั้น”(อ่าน ที่นี่)

รูปแบบการคุกคามคนอยากเลือกตั้ง

“…. ตำรวจสันติบาลทั้ง 2 ท่าน (ไม่ขอเอ่ยชื่อนะครับ) มาคุยในลักษณะเป็นมิตร ซึ่งก็ถือว่าผ่อนคลายดี ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ความรู้สึกของประชาชนเวลามีเจ้าหน้าที่มาบ้านมันจะไม่ใช่แบบนั้น…”

ความรู้สึกจากหนึ่งในกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงตามไปพบที่บ้าน สะท้อนให้เห็นบรรยากาศการคุกคามคนอยากเลือกตั้งตลอดเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งสวนทางกับคำแถลงของโฆษกรัฐบาล คนอยากเลือกตั้งคนดังกล่าวได้เล่าว่า เขารู้สึกกังวลต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ได้บัญญัติไว้ เช่นเดียวกับกลุ่มนักศึกษาในภาคกลางและภาคเหนือหลายจังหวัดซึ่งต้องถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไปพบที่บ้าน อาทิ

วันที่ 12 เมษายน 2561 มีเจ้าหน้าที่สันติบาล จำนวน 2 นาย เดินทางไปที่บ้านของนายชินภัทร วงค์คม นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา บอกกับเขาว่ามาพูดคุย “ปรับความเข้าใจ” ในเรื่องการทำกิจกรรมทางการเมือง เรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดการจัดการเลือกตั้งที่ชัดเจน และภายหลังนายชินภัทรยังได้รับทราบจากเพื่อนบ้านอีกว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจประมาณ 10 นาย เดินทางไปที่บ้านในจังหวัดพะเยาด้วย แต่ขณะนั้นไม่มีใครอยู่บ้าน จึงไม่ได้พบเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้น ก็ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่เดินทางมาอีก

ในเวลาต่อมา ตำรวจสันติบาลในจังหวัดพะเยา จำนวน 2 นาย เข้ามาที่บ้านของนายชินภัทรอีก เจ้าหน้าที่ระบุว่าได้รับคำสั่งให้มาเยี่ยมและมาพูดคุย “ปรับความเข้าใจ” โดยได้สอบถามเรื่องการทำกิจกรรมของนายชินภัทร และสอบถามถึงการทำกิจกรรมของกลุ่มนักศึกษาที่กรุงเทพฯ ด้วย พร้อมกับบอกว่าสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ยังไม่ปกติ โดยขอให้อย่าให้ออกมาเคลื่อนไหว และได้บอกกับทางครอบครัวนายชินภัทรว่าให้ลูกตั้งใจเรียนก่อนจะดีกว่า ก่อนที่เจ้าหน้าที่ได้ถ่ายรูปของนายชินภัทรเอาไว้ และเดินทางกลับ

ที่เชียงใหม่ นอกจากมีการดำเนินคดีกับคนอยากเลือกตั้ง หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหมจำนวน 6 คน ไปก่อนหน้านี้แล้ว ยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเดินทางไปติดตามกลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมในหลายพื้นที่ เข้าพูดคุยกับพ่อแม่ของนักศึกษาและขอไม่ให้ลูกของพวกเขาออกมาทำกิจกรรมอีก

ที่นครสวรรค์ นายภูมิวัฒน์ แรงกสิวิทย์ หนึ่งในนักศึกษาที่ถูกคุกคามจากการไป “เยี่ยมบ้าน” ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เขาตัดสินใจเดินทางไปลงบันทึกประจำวัน ทั้งที่ศูนย์ดำรงธรรม และค่ายจิรประวัติ มณฑลทหารบกที่ 31 (มทบ.31)

ขณะที่ในกรุงเทพฯ พบว่า มีนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3 คน ซึ่งทำกิจกรรมชูป้าย “ชาวจุฬาฯ รักลุงตู่ (เผด็จการ)” โดยขีดกากบาทที่คำว่าลุงตู่ ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไปกล่าวปาฐกถาที่หอประชุมจุฬาฯ เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา ก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าไปติดตามตัวทั้งที่บ้านและในมหาวิทยาลัย โดยเจ้าหน้าที่พยายามขอข้อมูลส่วนตัวต่างๆ และเข้าพูดคุยเรื่องการทำกิจกรรมกับครอบครัวของพวกเขา

ไม่เพียงแค่นักศึกษาเท่านั้น เจ้าหน้าที่ยังได้คุกคามอาจารย์บางคน และดำเนินคดีในบางกรณีโดยเมื่อวันที่ 18 เม.ย.มีตำรวจนอกเครื่องแบบมาเยี่ยมที่บ้าน ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อเจ้าหน้าที่พบว่าอาจารย์คนดังกล่าวไม่อยู่ จึงเข้าพบภรรยาของอาจารย์แทน

เหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นในเขต สภ.ลาดหลุมแก้ว ในวันที่ 18 เมษายน เมื่อนางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ได้รับโทรศัพท์จากคุณแม่ของเธอ แจ้งว่าในช่วงสายของวัน มีตำรวจ 2 นาย เดินทางมาที่บ้านของเธอและกล่าวกับแม่ของเธอว่า “ผู้กำกับ สภ.ลาดหลุมแก้ว ให้พวกเรามาเยี่ยมยามถามไถ่ว่าน้องลูกเกดและครอบครัวสบายดีไหม ทำอะไรอยู่ พักที่ไหน” โดยมีเจ้าหน้าที่ใส่ชุดนอกเครื่องแบบ 2 นาย จอดรถไว้นอกหมู่บ้าน ก่อนจะเดินเท้าเข้ามาสวัสดีทักทายคนในบ้าน

แต่รูปแบบที่อุกอาจที่สุดที่เกิดขึ้นกับคนอยากเลือกตั้ง เกิดขึ้นในวันที่ 17 เมษายน เมื่อเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบควบคุมตัวนาย เอกชัย หงส์กังวาน และนาย โชคชัย ไพบูลย์รัชตะ ไปจากป้ายรถประจำทางย่านลาดพร้าวใกล้บ้านพักของนายเอกชัย ขณะที่เจ้าตัวกำลังเดินทางไปทำกิจกรรมรดน้ำดำหัวพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยจากคำบอกเล่าของทั้งสองพบว่า ได้มีตำรวจนอกเครื่องแบบหลายนาย พาตัวพวกเขาทั้ง 2 คน ไปควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจนครบาล 4 โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า “นายสั่ง”

ต่อมานายโชคชัยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวประชาไทว่าเขาถูกบังคับคลุมหัวแล้วให้นั่งขดตัวอยู่ในรถตรงช่องวางระหว่างเบาะ เอาเข่ากดตัวและศีรษะแนบกับเบาะ ภายหลังปล่อยตำรวจปล่อยตัวพวกเขาโดยไม่มีแจ้งข้อกล่าวหา เจ้าตัวประกาศฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ผู้สั่งการควบคุมตัวนอกกฎหมาย (อ่าน ที่นี่)


(กลุ่มคนอยากเลือกตั้งชุมนุมที่หน้าร้านแมคโดนัลด์
ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561)
เรียกร้องเลือกตั้งโดยสันติเป็นไปได้แค่ไหน

เมื่อเดือนมีนาคม 2560 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้มีข้อสังเกตเชิงสรุปต่อประเทศไทย ที่แสดงถึงความกังวลในการบังคับใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และเสนอแนะให้ไทยประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก หรือจำกัดหรือห้ามการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเป็นการชุมนุมโดยสงบนั้น เนื่องจากปฏิบัติการนั้นขัดต่อข้อ 19 และข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยเป็นภาคี

ในกรณีนี้ หากเราพิจารณาจาก คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ 2557 จะเห็นได้ว่า กฎหมายนี้ได้เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจระบุขอบเขตของการชุมนุม หรือมั่วสุมทางการเมือง ได้อย่างกว้างขว้าง โดยปราศจากความรับผิด

ในทางหลักการแล้ว การชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งตามที่รัฐบาลเคยให้คำมั่นสัญญาไว้ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยตรงของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 133 (3) มิใช่การมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ที่ขัดกับข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 แต่อย่างใด การบังคับใช้คำสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองต่อกลุ่มคนอยากเลือกตั้งก็ดี ปฏิบัติการคุกคามถึงบ้านไปจนถึงการควบคุมตัว ทั้งหมดเป็นการสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชน และตอกย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์การคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่สืบเนื่องจากการออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้ง



ที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (ที่มา: United Nations Photo)
Roadmap ที่ไม่อยากได้ยินเสียงใคร

คำถามประการต่อมาคือ หากการเลือกตั้งเป็นหนึ่งใน Roadmap รัฐบาลแล้ว เหตุใดการคุกคามคนอยากเลือกตั้งจึงยังดำเนินต่อไป นอกจากคำมั่นสัญญาจากนายกรัฐมนตรีแล้ว การเดินหน้าตามโรดแมฟของรัฐบาลยังปรากฏในกรณีอื่นด้วย เช่น “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ได้วางแผน 6 เดือนหลัง เพื่อเดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใส เป็นที่ยอมรับอีกด้วย (อ่าน ที่นี่)

การคุกคามดังกล่าวอาจจะมาจากการให้อำนาจของเจ้าหน้าที่ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ข้อที่ 4 และข้อที่ 6 ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอํานาจ ซึ่งในข้อ 4 ทำหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ออกคําสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย หรือมาให้ถ้อยคําหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดตามข้อ 3

(2) จับกุมตัวบุคคลที่กระทําความผิดซึ่งหน้า และควบคุมตัวผู้ถูกจับนําส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินการต่อไป

(3) ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเข้าร่วมในการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนในความผิดตามข้อ 3 ในการเข้าร่วมดังกล่าวให้ถือว่าเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

(4) เข้าไปในเคหสถาน หรือสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นบุคคลหรือยานพาหนะใดๆ ทั้งนี้ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่าบุคคลซึ่งกระทําความผิดตามข้อ 3 หลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทําความผิดหรือได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทําความผิดตามข้อ 3 หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไปหรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทําลาย หรือทําให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม

และข้อ 6 ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด ตามข้อ 3 ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอํานาจเรียกตัวบุคคลนั้นมาเพื่อสอบถามข้อมูลหรือให้ถ้อยคําอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดําเนินการตามข้อ 3 และในกรณีที่ยังสอบถามไม่แล้วเสร็จจะควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ก็ได้แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวัน แต่การควบคุมตัวดังกล่าวต้องควบคุมไว้ในสถานที่อื่นที่มิใช่สถานีตํารวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจํา และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้ต้องหามิได

ดังนั้น การตั้งข้อหากลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และปฏิบัติการคุกคามกลุ่มคนอยากเลือกตั้งด้วยการ “เยี่ยมบ้าน” ทำให้เห็นได้ว่า เจ้าหน้าที่ได้ใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ซึ่งที่ผ่านมาประจักษ์แล้วว่าเป็นการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทหารอย่างกว้างขวาง ขาดการตรวจสอบถ่วงดุล

คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2558 ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เป็นฐานในการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ขึ้นมา จึงขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

ตัวอย่างการใช้อำนาจตามข้อที่ 4 และข้อที่ 6 ตามที่แสดงให้เห็น ได้เปิดช่องให้มีการคุกคามประชาชนอย่างกว้างขวาง

ในแง่นี้แม้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งถูกประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 จะรับรองสิทธิและเสรีภาพไว้หลายประการ แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่าหลายมาตรายังไม่ถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง เพราะมีการอ้างคำสั่งหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นแนวทางปฏิบัติกับประชาชน ทำให้เกิดสภาวะที่ไม่ชัดเจนในระดับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตามมา

เมื่อมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ยังมีผลบังคับใช้ ส่งผลกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของประชาชนชนิดที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประเด็นนี้ต่างหากที่ผู้มีอำนาจจะต้องตอบให้ได้ว่า เหตุใดการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากตัวอย่างของการเยี่ยมบ้านกลุ่มคนเลือกตั้ง จึงยังคงเกิดขึ้น ไม่เพียงแค่นานาชาติสากลเท่านั้นที่อยากรู้ หากแต่ประชาชนคนไทยที่รอคอยการใช้สิทธิเลือกตั้งก็ต้องการคำตอบเช่นเดียวกัน

สิ่งที่พอจะสรุปภาพการละเมิดสิทธิประชาชนที่เด่นชัดเจนที่สุด ต่อกรณีการปฏิบัติต่อผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง คงเป็นไปตามที่ประชาชนคนอยากเลือกตั้งคนหนึ่ง เล่าถึงเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลมาเยี่ยมที่บ้านของเธอ เธอได้สอบถามเจ้าหน้าที่ถึงเหตุที่มาพบเธอที่บ้าน ก่อนจะได้ความว่าเพราะเคยไปร้องเพลงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ทำให้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่มาพูดคุยทำความเข้าใจ และโน้มน้าวเธอ จนเมื่อเธอกลับอีกว่า “แล้วมีคำสั่งให้สันติบาลไปทำความเข้าใจคนเสื้อสีอื่นบ้างไหมคะ ” เจ้าหน้าที่สันติบาลรายนั้น ส่ายหน้า ก่อนบอกว่า “ยังไม่มีนะครับ”



ที่มา: http://www.tlhr2014.com/th/?p=6958

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.