Posted: 25 Apr 2018 03:03 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

'สมานฉันท์แรงงาน-สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ' ร้องประยุทธ์ ทำตามข้อเรียกร้อง 10 ข้อปีที่แล้วให้ได้ เผยขบวนวันกรรมกรสากลปีนี้ รณรงค์พรรคการเมืองของคนงาน และการเลือกตั้งโดยเร็ว


25 เม.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ ตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล

สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานว่า สาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน คสรท. และเลขาธิการ สรส. ระบุ ปีนี้คณะทำงานจัดงานวันกรรมกรสากล คสรท.และสรส. มีมติร่วมกันว่าจะเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ หรือ วันกรรมกรสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พ.ค. ของทุกปี และได้มีการขออนุญาตเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียบร้อยแล้ว แต่ในปีนี้จะไม่มีการยื่นข้อเรียกร้องใหม่ต่อรัฐบาล แต่จะเป็นการทวงถามข้อเรียกร้องเดิม จำนวน 10 ข้อ ตั้งแต่ปี 2560 เพราะยังไม่มีข้อใดได้รับการแก้ไข อาทิ ค่าจ้างแรงงานเท่ากันทั้งประเทศ ประกันสังคมไม่ได้ครอบคลุมการรักษาทุกโรค และปัญหาของแรงงานยังมีความรุนแรงมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวประชาไท สอบถาม ธนพร วิจันทร์ รองประธาน คสรท.เปิดเผยว่า ข้อเรียกร้องปีนี้เป็นการทวงถามข้อเรียกร้องเดิม จำนวน 10 ข้อ ตั้งแต่ปีที่แล้ว สำหรับค่าจ้างนั้นเราเรียกร้องค่าจ้างที่เป็นธรรมที่สามารถเลี้ยงสมาชิกในครอบครัวได้อีก 2 คน
สำหรับคำถามที่ว่า หากปีนี้รัฐบาลไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องอีกจะดำเนินการย่างไรต่อนั้น รองประธาน คสรท. กล่าวว่า มันต้องขับเคลื่อนต่อไป คสรท. เราอาจต้องยกระดับวิธีคิดของคนงาน จากข้อเรียกร้องที่ผ่านมามันไม่ได้รับการแก้ไข ทุกวันนี้เราไปร้องขอเขา ทั้งรัฐบาลที่มาจากทุนหรือทหาร ที่ไม่ทำให้เรา ซึ่งทุกวันนี้ก็ยิ่งแย่เข้าไปอีก

ธนพร กว่าวว่า สิ่งหนึ่งที่คนงานมองคือเรื่องของพรรคการเมือง เนื่องจากในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการก็มีพรรคการเมืองของคนงาน รวมทั้งสถานการณ์ตอนนี้ที่มีทั้ง เศรษฐกิจ 4.0 ซึ่งอาจส่งผลให้คนงานตกงานมากขึ้น ดังนั้นวันนี้คนงานควรมองประเด็นนอกโรงงาน เรื่องพรรคการเมืองมากขึ้น ไม่ใช่แค่พิธีกรรมวันกรรมกรสากลเท่านั้น ไม่ว่าคนงานเสื้อสีแดงสีเหลือง โดยที่ขบวนกรรมกรสากลปีนี้ คสรท. จะรณรงค์พรรคการเมืองของคนงาน และการเลือกตั้งโดยเร็ว และจะชี้ให้เห็นทางเลือกทางการเมืองที่นอกจากทหารหรือนักการเมืองที่มาจับมือกับทหาร


สำหรับข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ประกอบด้วย 1.รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ 2.รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน 3.ต้องใช้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ จำนวน 3 ฉบับ เกี่ยวกับเสรีภาพและการคุ้มครองสิทธิของแรงงาน 4.รัฐต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้บริการดี มีคุณภาพ อาทิ ยกเลิกการแปรรูปและแปลงภาพทุกรูปแบบ 5.รัฐต้องยกเลิกนโยบายลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว 6.รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคม อาทิ ให้โครงสร้างการบริหารสำนักงานประกันสังคมเป็นอิสระ เพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และผู้ชราภาพ และให้มีการจ่ายเงินสมทบในสัดส่วนเท่ากันระหว่างรัฐ

นายจ้าง ลูกจ้าง 7.รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและใช้กฎหมายเคร่งครัดกรณีไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย 8.รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนโดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันคุ้มครองสิทธิแรงงาน อาทิ ชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเลิกจ้างหรือเลิกกิจการ 9.รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกเข้าถึงสิทธิ์ ในด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมการทำงาน และ10.รัฐต้องจัดสรรงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯเพื่อใช้บริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.