Tanawat Wongchai

“ตอนเขาเริ่มสร้างทำไมถึงไม่ออกมาต่อต้าน ?”

คำถามนี้เป็นคำถามที่ฝ่ายต่อต้านการออกมาเรียกร้องของภาคประชาชนทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพตั้งคำถามถึงกิจกรรมเรียกร้องผืนป่าดอยสุเทพดังกล่าว (ติดตามอ่านความเคลื่อนไหวได้ที่เพจ ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ)

เมื่อวานได้มีโอกาสพูดคุยกับแกนนำของขบวนการเคลื่อนไหว ก็ทราบข้อมูลว่าหมู่บ้านป่าแหว่ง ซึ่งเป็นบ้านพักข้าราชการตุลาการนี้ เริ่มการก่อสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.2558 (จากรูปจะเห็นว่ารูปถ่ายจาก google map เมื่อปี พ.ศ.2557 ยังไม่มีการไถพื้นที่ขึ้นสูงเท่ากับปี พ.ศ.2561 : ขอบคุณภาพจาก บีบีซีไทย - BBC Thai) โดยในตอนแรกก็มีการสร้างอาคารสำนักงานศาลในพื้นที่ด้านล่างตามปกติ

ขออธิบายเสริมว่าถนนเส้นเลียบคลองชลประทาน (คนเชียงใหม่จะเรียกกันติดปากว่า “เส้นคันคลอง”) นับตั้งแต่ศูนย์ประชุมนานาชาติไปจนถึงสุดถนนทางเชื่อมกับอำเภอแม่ริม เป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการทั้งหมด (รวมถึงสนามกีฬาสมโภช 700 ปี อีกด้วย) ดังนั้น ในตอนแรกประชาชนในพื้นที่จึงไม่ได้สังเกตุเห็นความผิดปกติใดๆ เพราะ การก่อสร้างอาคารสำนักงานของภาครัฐ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นบนถนนเส้นนี้อยู่แล้ว

จนกระทั่งเมื่อมีการเริ่มไถพื้นที่ป่าบนดอยขึ้นไปสูงมากขึ้น จนเห็นได้ชัดเจน (ดังปรากฎในภาพด้านล่าง) ชาวบ้านในพื้นที่ก็ได้มีการเริ่มรณรงค์ต่อต้านการก่อสร้าง แต่ไม่เป็นข่าวเลย กระแสเงียบมาก ขนาดผมเป็นคนเชียงใหม่ และอาศัยอยู่ในอำเภอแม่ริม ต้องเดินทางผ่านเส้นทางนี้บ่อยๆ ก็เห็นถึงความอัปยศนี้ แต่ยังไม่เคยได้ยินหรือเห็นการรณรงค์เลย กระแสการต่อต้านนี้เริ่มหนาหูมากขึ้นในหมู่คนเชียงใหม่ช่วงกลางปี พ.ศ.2559 และกระแสทำท่าจะจุดติดในหมู่คนเชียงใหม่

แต่ช่วงปลายปี พ.ศ.2559 มีเหตุการณ์สวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 เกิดขึ้น ทำให้แกนนำตัดสินใจยุติการรณรงค์ไว้เป็นการชั่วคราว และกลับมาทำการรณรงค์ใหม่อีกครั้งหลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้นลงในช่วงปลายปี พ.ศ.2560

การรณรงค์ในครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มีประชาชนทั่วทั้งประเทศให้ความสนใจ ไม่ใช่เพียงแค่คนเชียงใหม่อีกต่อไปแล้ว ความคับข้องใจของประชาชนที่มีต่อความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เกิดขึ้น ระหว่างการใช้อำนาจรัฐต่อประชาชนกับการใช้อำนาจรัฐต่อผู้มีอำนาจด้วยกันเอง จึงทำให้กระแสการต่อต้านหมู่บ้านป่าแหว่งลุกลามอย่างรวดเร็ว จนนำมาสู่การชุมนุมใหญ่เมื่อวานนี้ ที่มีประชาชนเข้าร่วมกว่าครึ่งหมื่น (นับว่าเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ในรอบหลายปีที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่)

ฟางเส้นสุดท้ายที่จุดให้คนเชียงใหม่ออกมาชุมนุมกันมากมายเป็นประวัติการณ์เมื่อวานนี้ คงมาจากคำพูดของข้าราชการบางท่าน ที่ขอให้ศาลอยู่ในหมู่บ้านป่าแหว่ง 10 ปี เพื่อพิสูจน์ตัวเอง และการที่ข้าราชการหลายๆ คนอ้างเหตุผลเพื่อความสะดวกสบายในการอยู่อาศัยในหมู่บ้านป่าแหว่งนั่นแหละ และจากการพูดคุยกับคนเชียงใหม่ที่ไม่ได้ออกไปชุมนุมแทบจะเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าต้อง “รื้อถอน” หมู่บ้านนี้ทิ้งเสีย (มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจว่าขนาดนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่คนหนึ่ง ที่มีอิทธิพลในพื้นที่เคยอยากจะสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นไปบนวัดพระธาตุดอยสุเทพ ยังถูกกลุ่มผู้สนับสนุนเขาต่อต้านเสียเละเทะ พูดอีกอย่างคือ ดอยสุเทพ เป็นเหมือนชีวิตจิตใจอย่างนึงของคนเชียงใหม่ที่พวกเขาไม่ยอมให้ใครมารุกราน ยิ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ด้วยแล้ว กระแสต่อต้านจึงขยายวงกว้างมากขึ้น)

ในเมื่อรัฐบาลมีนโยบายทวงคืนผืนป่าจากประชาชนได้ และมองว่าประชาชนไม่สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ เหตุใดรัฐบาลถึงไม่สามารถทวงคืนผืนป่าจากศาล และมองว่าศาลก็ไม่สามารถอยู่ร่วมกับผืนป่าได้เช่นกัน นี่คือความคับข้องใจอีกส่วนหนึ่งที่ถูกสื่อสารออกมาผ่านกลุ่มชาติพันธุ์ในงานเดินขบวนเมื่อวานนี้

ฟังแกนนำเล่าให้ฟังแล้วรู้สึกเห็นใจและเคารพในความพยายามของแกนนำเป็นอย่างมากกับการต่อสู้ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาครับ ถึงแม้ว่าจะเหนื่อยยาก และไม่ค่อยมีคนสนใจเลยในตอนแรกเริ่ม แต่กลับกลายเป็นการรณรงค์ที่สร้างการตื่นตัวให้กับคนในสังคมได้มากมายขนาดนี้

หวังว่าฝ่ายที่ต่อต้านการรณรงค์ในครั้งนี้ จะเข้าใจแล้วนะครับว่าคนที่รณรงค์เค้าไม่ได้พึ่งมาทำการรณรงค์ เขารณรงค์มาตั้งแต่แรกแล้ว เพียงแต่ไม่เป็นกระแสเท่านั้นเอง และอย่าคิดว่าการรณรงค์ทุกอย่างจะต้องเป็นการรณรงค์ที่ต่อต้านรัฐบาลทหารที่พวกคุณรักเสมอไปครับ หยุดมายาคติที่ว่าทุกอย่างในโลกนี้ทักษิณอยู่เบื้องหลังแล้วใช้เงินซื้อเสียทีเถอะครับ หวังว่าโควตา 8 บรรทัดในการอ่านของคนที่ต่อต้านการรณรงค์นี้จะยังไม่หมดนะครับ

ด้วยรักและอยากให้อ่านจนจบ[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.