Posted: 25 Apr 2018 05:17 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

หน่วยงานความมั่นคงสั่งเบรคการนำเสนอรายงานละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐกะเหรี่ยง อ้างรัฐบาลพม่าขอมาเพราะกลัวเสียภาพลักษณ์ ด้านผู้จัดต้องย้ายสถานที่จากคณะสังคมศาสตร์ มช. ไปที่โบสถ์คริสต์ สุดท้ายตำรวจตามมาสั่งระงับขณะเตรียมสถานที่

ส่วนเนื้อหารายงานเผยสถานการณ์ละเมิดข้อตกลงหยุดยิงของกองทัพพม่า ที่ล่าสุดเสริมกำลังทหาร-ตัดถนนเข้าเขตกะเหรี่ยงเคเอ็นยู จนเกิดปะทะหลายครั้ง เกิดเหตุทหารพม่าโจมตีพลเรือน จนชาวกะเหรี่ยงอพยพแล้ว 12 หมู่บ้าน 2,417 คน ปิดโรงเรียน 5 แห่ง และล่าสุดยังมีเหตุยิงผู้นำชุมชนกะเหรี่ยงเสียชีวิตด้วย

000

ชาวบ้านกะเหรี่ยงในเขตมูตรอ ต้องอพยพจากชุมชนกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDPs) และสถานการณ์ตึงเครียดเมื่อกองทัพพม่าเสริมกำลัง-มุ่งตัดถนนยุทธศาสตร์ในพื้นที่ ล่าสุดมีผู้อพยพแล้ว 12 หมู่บ้าน 2,417 คน (ที่มา: KPSN)


ภาพปกรายงาน “การเดินทางกลับพร้อมฝันร้าย ความหวังของชาวกะเหรี่ยงต่อสันติภาพและเสถียรภาพ ภินท์พังเพราะปฏิบัติการของกองทัพพม่า” (ที่มา: KPSN)

25 เม.ย. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ จ.เชียงใหม่ ห้ามเจ้าของสถานที่และผู้จัดกิจกรรม จัดงานสัมมนาเพื่อเปิดตัวรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งจัดโดยเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสันติภาพ (Karen Peace Support Network - KPSN) และศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ซึ่งกำหนดจัดในช่วงบ่ายวันนี้

งานดังกล่าวมีอันต้องยกเลิกกระทันหัน หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่สั่งห้ามจัดงาน ทำให้วิทยากรที่ได้รับเชิญมาร่วมงาน อาทิสิโพรา เส่ง อดีตรองประธานสภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการ RCSD เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประเทศไทยและพม่า องค์กรแม่น้ำนานาชาติ รวมถึงชาวบ้านกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ ต่างเดินทางมาเก้อ

โดยก่อนหน้านี้เวทีสัมมนากำหนดจัดที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อมาทางผู้จัดงานได้รับแจ้งจากทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่าไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ ทำให้เมื่อวานนี้ (24 เม.ย.) มีการประกาศเปลี่ยนสถานที่จัดงานเป็นโบสถ์คริสต์ที่สวนเจ็ดริน ถนนห้วยแก้ว แต่สุดท้ายต้องประกาศยกเลิกจัดกิจกรรมหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมาที่สถานที่จัดงานตั้งแต่ช่วงสาย เพื่อสั่งผู้ดูแลสถานที่และคณะทำงานซึ่งกำลังเตรียมสถานที่ว่าห้ามจัดการสัมมนา

อนึ่ง ผู้จัดงานระบุด้วยว่า แม้จะเลิกแจ้งยกเลิกจัดกิจกรรมไปแล้ว แต่ยังพบว่าในช่วงก่อนเริ่มงาน ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบมาเฝ้าสังเกตการณ์

ข่าวแจ้งว่า สาเหตุของการสั่งห้ามจัดเวทีสัมมนาเนื่องจากรัฐบาลพม่าได้ประสานมายังหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยเพื่อขอให้ระงับการจัดงาน เพราะอาจส่งผลต่อภาพพจน์ของรัฐบาลพม่าและกระบวนการสันติภาพ ทำให้หน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยสั่งการมายังผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อขอไม่ให้ใช้สถานที่ ต่อมาเมื่อคณะผู้จัดงานเตรียมย้ายออกไปจัดงานที่สวนเจ็ดริน ก็ยังมีการสั่งการไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เพื่อขอให้มาระงับการจัดงานครั้งนี้

เพียรพร ดีเทศน์ หนึ่งในวิทยากรที่ได้รับเชิญไปร่วมงานในครั้งนี้ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่การจัดกิจกรรมครั้งนี้ถูกระงับ เพราะประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญแก่รายงานชิ้นนี้ เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในดินแดนที่ติดกับประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณชายแดนฝั่งตะวันตก ซึ่งจะต้องส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ผ่านมามีประชาชนจากรัฐกะเหรี่ยงต้องหนีภัยสงครามมายังชายแดนไทยจำนวนนับแสนคน และยังมีผู้พลัดถิ่นระลอกใหม่ ซึ่งยังไม่มีวี่แววว่าจะได้คืนสู่บ้านเดิม

“ดิฉันไม่แน่ใจว่าเหตุผลลึกๆ ในการสั่งห้ามหรือยกเลิกจัดกิจกรรมในครั้งนี้คืออะไร แต่สิ่งที่ไม่อยากเห็นคือกระบวนการสิทธิมนุษยชนของเราไม่ควรถูกบั่นทอนลงไปอีก เพราะทุกวันนี้ เราก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมโลกอยู่พอสมควรแล้ว เห็นได้จากรายงานของสหประชาชาติฉบับล่าสุด” เพียรพรกล่าว

รายงานเผยกองทัพพม่าสร้างถนนยุทธศาสตร์-ละเมิดข้อตกลงหยุดยิง
ทำชาวบ้านกะเหรี่ยงอพยพแล้ว 12 หมู่บ้าน มากกว่า 2,417 ราย

อ่านรายงาน The Nightmare Returns: Karen hopes for peace and stability dashed by Burma Army's actions



ชุมชนผู้อพยพในพื้นที่มูตรอ รัฐกะเหรี่ยง (ที่มา: KPSN)

สำหรับรายงานที่เตรียมนำมาเปิดตัวในเวทีครั้งนี้ เป็นรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ซึ่งจัดทำโดยเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสันติภาพ โดยมีชื่อเรื่องว่า “การเดินทางกลับพร้อมฝันร้าย ความหวังของชาวกะเหรี่ยงต่อสันติภาพและเสถียรภาพ ภินท์พังเพราะปฏิบัติการของกองทัพพม่า” ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2561 เป็นต้นมา กองทัพพม่าเริ่มการตรึงกำลังทหารครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่ปี 2551 ในเขตมูตรอ หรือผาปูน รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามชายแดนไทยด้าน จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งปัจจุบันมีการเสริมกำลังทหารพม่าเข้ามากว่า1,500 ราย

โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ยึดครองของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ปีกทางการทหารของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) โดยเหตุเสริมกำลังของทหารพม่าดังกล่าวนับเป็นการละเมิดข้อตกลงหยุดยิงระดับประเทศ เป็นเหตุให้มีการปะทะกับกองพลน้อยที่ 5 KNLA หลายครั้ง นอกจากนี้มีรายงานด้วยว่าทหารพม่าได้โจมตีอย่างไม่เลือกเป้าหมายต่อพลเรือน ส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 304 ครัวเรือน รวมจำนวนอย่างน้อย 2,417 คน จาก 12 หมู่บ้าน ต้องหนีภัยสงคราม ทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนมาอาศัยอยู่ในป่า นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านอีก 72 ครัวเรือน กว่า 483 คน จาก 4 หมู่บ้าน เตรียมอพยพเพิ่มเช่นกัน

ในรายงานระบุด้วยว่า KNU และกองทัพพม่าต่างลงนามในความตกลงหยุดยิงเมื่อปี2558 ซึ่งห้ามการขยายโครงสร้างพื้นฐานทางการทหาร และห้ามการเสริมกำลังทหาร ในพื้นที่หยุดยิง แต่กองทัพพม่าอย่างน้อย 8 กองพัน ได้เคลื่อนกำลังพลเข้าสู่พื้นที่ลูทอ โดยไม่มีการทำข้อตกลงล่วงหน้า และเริ่มก่อสร้างถนนยุทธศาสตร์ทางทหาร ที่เหล่อมูพลอ และเคพู หากถนนนี้สร้างเสร็จ อาจส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่อย่างถาวร

“ชาวบ้านกว่า 2,417 คนรวมทั้งผู้สูงวัย ผู้หญิงและเด็ก ได้หลบหนีจากถิ่นฐานบ้านเรือนพากันไปหลบซ่อนในป่าเขา คาดว่ามีชาวบ้านอีก 483 คนเตรียมจะหลบหนีจากหมู่บ้านของตน ระหว่างที่ทหารพม่าพยายามเสริมกำลังในทางตะวันตกเฉียงเหนือของพื้นที่ลูทอ (Luthaw) คนเหล่านี้แทบไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้า พวกเขาสามารถน้ำข้าวของติดมือไปได้เพียงเล็กน้อย พวกเขาต้องอยู่ในป่าอย่างเหน็บหนาว โรงเรียน 5 แห่งต้องปิดตัวลงเนื่องจากการสู้รบ” ในรายงานระบุ

ปะทะไม่ต่ำกว่า 39 ครั้ง ล่าสุดมีนักกิจกรรมชุมชนเสียชีวิต 1 ราย


โดยสถานการณ์ในพื้นที่นับตั้งแต่ 1 มีนาคม จนถึงขณะนี้ (25 เม.ย. 2561) มีการปะทะระหว่างกองทัพพม่ากับทหารกะเหรี่ยง KNLA ไม่ต่ำกว่า 39 ครั้ง ชาวบ้านกะเหรี่ยงระบุว่ากองทัพพม่ายิงปืนใส่พลเรือนที่ไม่มีอาวุธ และทหารพม่ายังยิงปืนครกใส่พื้นที่ของพลเรือน มีการรบกวนพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน และการก่อสร้างถนนยังรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่บรรพชนตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงด้วย

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 5 เมษายน ซอโอ้มู นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยงวัย 42 ปี หนึ่งในทีมงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวกะเหรี่ยงพลัดถิ่น ก็ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างเดินทางกลับบ้านที่เหล่อมูพลอ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)



KNU หวั่นความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกองทัพพม่าถดถอย หากดึงดันเสริมกำลัง-สร้างถนน

อนึ่งในวิดีโอนำเสนอของเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสันติภาพ (KPSN) ที่เผยแพร่ออนไลน์เมื่อ 24 เม.ย. [คลิกเพื่อชมวิดีโอ] พันตรีซอเกลอะโด แห่งกองพลน้อยที่ 5 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ให้สัมภาษณ์กับ KPSN ระบุว่า กองทัพพม่าทำหนังสือขอฟื้นฟูการสร้างถนนยุทธศาสตร์ระหว่างค่ายทหารพม่าที่เคพู (Kay Pu) มาถึง Ler Mu Plaw (เหล่อมูพลอ) ในพื้นที่เมืองมูตรอ รัฐกะเหรี่ยง

แต่จากข้อตกลงหยุดยิงระหว่างสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กับกองทัพพม่า ห้ามไม่ให้ทั้ง 2 ฝ่าย ขยายพื้นที่ยึดครองหรือเพิ่มกำลังทางทหาร หรือสร้างค่ายทหารเพิ่มในพื้นที่หยุดยิง

"เราไม่คิดว่านี่เป็นเวลาที่เหมาะสมในการสร้างถนน เราแจ้งกองทัพพม่าว่าพวกเขาไม่สามารถทำได้ แต่พวกเขาไม่สนใจและเดินหน้าตามแผนของพวกเขา"

ขณะที่กเวทูวินรองประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กล่าวว่า ที่ผ่านมาในช่วงหยุดยิง แม้จะไม่มีการก่อสร้างถนน กองทัพพม่าได้รับอนุญาตให้ขนส่งเสบียงด้วยวิธีอื่นๆ และไม่ถูกรบกวน และพวกเขาควรหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าเช่นนี้ซึ่งจะสร้างความขัดแย้งและบ่อนเซาะความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน

พล.ท.บอจ่อแฮ รองผู้บัญชาการกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) กล่าวว่า กองทัพพม่าอ้างว่าถนนเส้นนี้เพียงเพื่อขนส่งเสบียงระหว่างค่ายทหาร 2 แห่ง และชาวบ้านก็สามารถใช้ได้ถ้าพวกเขาต้องการ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากองทัพพม่าไม่เคยส่งเสบียงอาหารผ่านระหว่างค่ายทหารที่เคพู และเหล่อมูพลอ มาก่อน

และถนนเส้นที่มีการก่อสร้างนี้เป็นถนนยุทธศาสตร์ทางการทหาร กองทัพพม่าอ้างว่าได้แจ้งกับ KNLA กองพลน้อยที่ 5 หลายครั้งแล้วเรื่องการสร้างถนน แต่พวกเขาแค่แจ้ง พวกเขาไม่เคยได้รับการเห็นชอบให้สร้างถนนเลย ไม่ว่าจากฝ่าย KNLA กองพลน้อยที่ 5 และชาวบ้านในพื้นที่ พวกเขามีแต่ใช้กำลังทางทหารเพื่อแผนการสร้างถนน

โดย พล.ท.บอจ่อแฮ ถือว่าเรื่องนี้ละเมิดทั้งสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) และระเบียบปฏิบัติของ KNU และ KNLA


เครือข่ายกะเหรี่ยงฯ เรียกร้องให้กองทัพพม่ายึดข้อตกลงหยุดยิง
ยุติการสร้างถนน-ถอนกำลัง และให้ฝ่ายที่สามเข้ามาสอบสวน


ในช่วงท้ายของรายงาน เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสันติภาพ (KPSN) ได้ระบุข้อเสนอแนะว่า 1.กองทัพพม่าต้องปฎิบัติตามจรรยาบรรณของทหารที่กำหนดไว้ในความตกลงหยุดยิงระดับประเทศและให้ถอนกำลังทหารที่เข้าพื้นที่ควบคุมของ KNU ทั้งหมด

2.ควรให้ฝ่ายที่สามที่ไม่ใช่กองทัพพม่า KNU และรัฐบาลพม่า เข้ามาทำหน้าที่สอบสวนเพื่อคลี่คลายความตึงเครียด

3.กองทัพพม่าต้องยุติการดำเนินงานเพื่อก่อสร้างถนนใดๆ ในพื้นที่ควบคุม

4.ก่อนมีกระบวนการสันติภาพจะมั่นคงและการเมืองที่แน่นอน กระบวนการตัดสินใจต่างๆควรให้ KNU เข้าไปมีส่วนร่วม

5.ผู้นำ KNU และกองทัพพม่าต้องให้ความสำคัญกับการถอนกำลังทหารจากที่ดินของชาวบ้าน

6.รัฐบาลพม่าและองค์กรเอกชนในทุกระดับต้องเคารพและยอมรับโครงสร้างการปกครอง และการบริหารของชุมชนกะเหรี่ยง

7.หน่วยงานระหว่างประเทศ ควรส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นในประเทศ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.