ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

Posted: 28 Apr 2018 02:45 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระบุมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย 23-28 เม.ย. รวม 30 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,098 หลังคาเรือน 7,364 คน ผู้เสียชีวิต 1 ราย รัฐบาลจะเริ่มส่งน้ำเข้าพื้นที่ 12 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง 10 จังหวัด ดีเดย์ 1 พ.ค.นี้

28 เม.ย. 2561 นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ช่วงวันที่ 23 – 28 เมษายน 2561 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย รวม 30 จังหวัด 77 อำเภอ 157 ตำบล 357 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,098 หลังคาเรือน 7,364 คน ผู้เสียชีวิต 1 ราย พร้อมได้ประสานจังหวัดหน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น โดยแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค กระเบื้องมุงหลังคา และวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือนแก่ผู้ประสบภัย รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจ ประเมินและจัดทำบัญชีข้อมูลความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ อีกทั้งจ่ายเงินสงเคราะห์ค่าจัดการศพตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนดแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

รัฐบาลจะเริ่มส่งน้ำเข้าพื้นที่ 12 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง 10 จังหวัด ดีเดย์ 1 พ.ค.นี้

นอกจากนี้ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า1 พ.ค. นี้รัฐบาลจะเริ่มส่งน้ำเข้าพื้นที่ 12 ทุ่งลุ่มต่ำ ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ครอบคลุม 10 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ได้แก่ จ.นครสวรรค์ จ.ชัยนาท จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง จ.พระนครศรีอยุธยา จ.สุพรรณบุรี จ.ปทุมธานี และ จ.นนทบุรี รวมพื้นที่ 1.15 ล้านไร่ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้เตรียมการเพาะปลูกข้าวเร็วขึ้น 1 เดือน ซึ่งประสบผลสำเร็จมากในปีที่แล้ว

"รัฐบาลออกมาตรการแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมทุกปี โดยเลื่อนปฎิทินการเพาะปลูก และใช้พื้นที่ 12 ทุ่งเป็นแก้มลิงธรรมชาติชั่วคราวสำหรับพักชะลอน้ำรองรับน้ำหลากหลังเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จช่วงเดือน ก.ย. โดยปีที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่ได้รับประโยชน์และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้ง ๆ ที่มีปริมาณฝนตกสะสมใกล้เคียงกับปี 2554 แต่ไม่เกิดความเสียหายเท่ากับปี 2554" พล.ท.สรรเสริญ ระบุ

สำหรับมาตรการครั้งนี้ถือเป็นปีที่ 2 ต่อเนื่องจากปีก่อน โดยสามารถรองรับน้ำไว้ได้มากถึง 1.5 พันล้านลบ.ม. ซึ่งเท่ากับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 2 เขื่อน ช่วยลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนตามแนวริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เขตเศรษฐกิจตอนล่าง กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยดำเนินการควบคู่กับการปรับปรุงเสริมคันกั้นน้ำให้มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ และไม่เป็นอุปสรรคต่อการสัญจร นอกจากนี้ พื้นที่แก้มลิงก่อให้เกิดอาชีพประมงเป็นแหล่งอาหารโปรตีนให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เสริม รวมทั้งทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของดิน ช่วยตัดวงจรการแพร่ระบาดโรคพืชและแมลงต่าง ๆ ได้ดี โดยพบว่าชาวนาที่ปลูกข้าวนาปรังได้ผลผลิตอยู่ในเกณฑ์สูง

พล.ท.สรรเสริญ ยังระบุว่าทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร โดยรับทราบปัญหาผลผลิตทางการเกษตรถูกน้ำท่วมเสียหายเป็นประจำ จึงได้สั่งการให้แก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยได้ออกมาตรการเลื่อนเวลาการปลูกข้าวจากเดือน มิ.ย. เป็นเดือน พ.ค. ซึ่งช่วยลดความเสียหายได้มาก พร้อมทั้งกำชับให้ขยายผลไปยังพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นทั้งในภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย

"นายกฯ เน้นย้ำ อยากให้พี่น้องเกษตรกรมีความสามัคคีและร่วมมือกัน เพาะปลูกหรือทำการเกษตรอย่างพร้อมเพรียงกัน เมื่อถึงเวลาเปิดปิดน้ำ ซึ่งนอกจากจะเกิดผลดีต่อพี่น้องเกษตรกรโดยตรงแล้ว ยังช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางอีกด้วย" พล.ท.สรรเสริญ ระบุ

ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ [1] [2]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.