Posted: 27 Apr 2018 12:15 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

ษัษฐรัมย์อธิบายระบบทุนนิยมทำชีวิตคนเปราะบาง ไม่มั่นคง ระบุ 3 ฐานคิดอุปสรรคต่อการสร้างรัฐสวัสดิการ-อนุรักษ์นิยมใหม่ ท้องถิ่นนิยม และเสรีนิยมใหม่ ย้ำว่ารัฐสวัสดิการไม่ได้ทำให้คนขี้เกียจ แต่จะเพิ่มศักยภาพคน เพิ่มความเป็นประชาธิปไตย แค่ลดงบกลาโหม-มหาดไทย เก็บภาษีฐานทรัพย์สิน ไทยสามารถสร้างรัฐสวัสดิการแบบนอร์ดิกได้

สวัสดิการคือสิทธิของประชาชนที่รัฐต้องจัดหาให้

อนุรักษ์นิยมใหม่ ท้องถิ่นนิยม และเสรีนิยมใหม่ คือ 3 ฐานคิดอุปสรรคต่อการสร้างรัฐสวัสดิการ
รัฐสวัสดิการทำให้คนขี้เกียจ ต่างชาติไม่มาลงทุน ประเทศไทยไม่มีความพร้อม และก่อให้เกิดปัญหาคอร์รัปชั่น เป็นมายาคติที่ต้องรื้อถอน

ลดงบกลาโหม-มหาดไทย เก็บภาษีฐานทรัพย์สิน เพิ่มประสิทธิภาพข้อมูลของราชการ รวมระบบสวัสดิการสุขภาพ จะได้เงิน 750,000 ล้านบาท เพียงพอสำหรับสร้างรัฐสวัสดิการแบบนอร์ดิก

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้สังคมไทยเริ่มรู้จักคำว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ เรียกว่าเริ่มลงหลัก แต่ยังไม่ปักฐาน มิหนำซ้ำเวลานี้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากำลังเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญจากรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพราะเมื่อดูจากเนื้อหาแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขพบว่ามีแนวโน้มว่าจะทำลายหลักการสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าลง

ขณะที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจรัฐสวัสดิการ ไม่เข้าใจว่ามันคือสิทธิของตนที่รัฐจะต้องจัดหาให้ประชาชนในฐานะผู้เสียภาษี ซ้ำยังมีมายาคติที่ว่ารัฐสวัสดิการจะทำให้คนขี้เกียจ เศรษฐกิจย่ำแย่ ที่สำคัญคือคำถามที่ว่าจะเอาเงินมาจากไหน

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี จากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ในบรรยายหัวข้อ ‘ความเป็นไปได้ในการจัดสวัสดิการถ้วนหน้าของรัฐไทย’ ในงานเสวนา ‘ไทยนิยม (ไม่) ยั่งยืน’ หยุดรัฐสงเคราะห์ เดินหน้ารัฐสวัสดิการ ประชาชนต้องมีบำนาญถ้วนหน้า ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดยเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ที่จะทำให้เห็นว่ารัฐสวัสดิการสามารถเป็นไปได้จริงในประเทศไทย

ชีวิตบนความเปราะบาง


“ความจน ความด้อยโอกาส ความสิ้นหวัง ถูกทำให้กลายเป็นแฟนตาซีให้เราเสพและชม คนที่มีโอกาสมองว่ามีคนที่ด้อยโอกาสกว่าเรา เราต้องออกไปทำงานรับใช้ระบบให้มากขึ้น ส่วนคนที่ด้อยโอกาสเหมือนกันก็มองว่าอย่างน้อยยังมีการโอบอุ้มดูแล แต่ถ้าทุกอย่างถูกทำให้เป็นการสงเคราะห์ เราต้องลดค่าความเป็นมนุษย์เพื่อจะได้รับการช่วยเหลือดูแล นี่คือกระแสที่เกิดขึ้นในสังคมไทย”

ษัษฐรัมย์ อธิบายว่า ปัจจุบันประชาชนแบกรับความเสี่ยงแทนระบบเศรษฐกิจ ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาหลังจากระบบเศรษฐกิจเติบโตภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ กลุ่มทุนสามารถสะสมทุนได้ง่ายขึ้นและพยายามกดดันรัฐให้ตัดสวัสดิการภายใต้เงื่อนไขต่างๆ นั่นคือแนวโน้มของคนที่รวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันคนที่จนที่สุดก็มีแนวโน้มจะจนมากขึ้น แม้มูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมหาศาลอย่างต่อเนื่อง แต่คนส่วนใหญ่กลับมีชีวิตเปราะบาง ยากลำบากมากขึ้น

วิถีชีวิตในระบบทุนนิยม คนส่วนใหญ่เกิดมาพร้อมกับความจน ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อตนเองกระทั่งชีวิตเริ่มดีขึ้น พอมีครอบครัวชีวิตก็กลับไปจนอีก เริ่มฟื้นตัวเมื่อลูกๆ เรียนจบตอน 50 ชีวิตเริ่มสบายขึ้นไม่กี่ปีก็ต้องเกษียณ ต่อจากนั้นก็ดำรงชีวิตอยู่ด้วยเงินออมที่พอมีอยู่บ้าง

“แต่ในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการ เป็นสิทธิถ้วนหน้า ครบวงจร ไม่ต้องมีการพิสูจน์ เช่นกลุ่มประเทศนอร์ดิก คุณเกิดมาจนกระทั่งตาย ระดับความยากจนของคุณอยู่ในระดับต่ำ คุณไม่จำเป็นต้องคิดว่าต้องเก็บเงินเพื่ออนาคต คุณสามารถใช้ชีวิตกับปัจจุบันได้ สามารถลงทุนในสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ ได้ คุณสามารถไปเที่ยว ดูละครเวที งานวิจัยของอาจารย์เดชรัต สุขกำเนิด พบว่าคน 50 เปอร์เซ็นต์ล่างใช้เงินหมดไปกับค่ากิน เราไม่มีสิทธิซื้อความบันเทิงในชีวิตอื่นๆ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการ”

ความเข้าใจผิดประการสำคัญของผู้คัดค้านรัฐสวัสดิการก็คือประเทศไทยไม่ใช่ประเทศร่ำรวย แต่ษัษฐรัมย์กล่าวว่าประเทศรัฐสวัสดิการเหล่านี้ก็ไม่ได้ร่ำรวยเมื่อเริ่มนโยบายรัฐสวัสดิการ หากมองย้อนกลับไป ฟินแลนด์แย่กว่าไทยมาก เคยเกิดสงครามกลางเมืองคนตาย 6 หมื่นคน สวีเดนต้นศตวรรษที่ 20 ก็ยากจนมาก เป็นประเทศเกษตรกรรมที่คนเกือบครึ่งประเทศอพยพไปอเมริกา จนรัฐบาลบอกว่าถ้าเป็นแบบนี้ประเทศอยู่ต่อไปไม่ได้ จึงต้องมีสวัสดิการที่จะพัฒนาคนขึ้นมา จากนั้นด้วยเวลาหลักทศวรรษประเทศเหล่านี้ก็ก้าวออกจากประเทศเกษตรกรรมยากจนสู่ประเทศที่มีความมั่งคั่ง ใส่ใจชีวิตของคน ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

สวัสดิการ 3 รูปแบบ

ษัษฐรัมย์ อธิบายต่อว่ารูปแบบรัฐสวัสดิการมีอยู่ 3 แบบใหญ่ๆ แบบแรกคือรูปแบบตลาด

“สิ่งที่เราประสบอยู่คือปลาใหญ่กินปลาเล็ก ทำงานมีเงินเดือนก็เอาไปซื้อประกัน มีกองทุนบำนาญให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการ ถ้ามีความเสี่ยงมากๆ รัฐบาลช่วยเหลือดูแล เช่น คนพิการ ผู้มีรายได้น้อย แต่ต้องผ่านกลไกการพิสูจน์ความจน โมเดลนี้ใช้ในสหรัฐอเมริกา คนที่จนมากๆ มีความเสี่ยงมากๆ น่าสมเพชเวทนาในสายตารัฐ รัฐก็จะเข้ามาดูแล ที่เหลือก็ปากกัดตีนถีบกันไป สภาพแบบนี้ทำให้มีความเหลื่อมล้ำในระดับสูง”

รูปแบบที่ 2 รูปแบบประกันสังคม

“เป็นโมเดลที่มีการผสมผสานใช้ในประเทศไทย แต่มีการใช้ในประเทศเยอรมนีอย่างเข้มข้น คือวางเงื่อนไขให้บริษัทเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบ มีสวัสดิการของผู้ใช้แรงงาน แต่ก็มีข้อเสีย แม้การดูแล การทดแทนจะอยู่ในระดับสูง แต่มาพร้อมกับวัฒนธรรมอำนาจนิยมในที่ทำงาน คุณจะถูกคาดหวังว่าต้องทำงานหนักเพื่อให้คุณเติบโต แล้วคุณจะได้สวัสดิการเพิ่มขึ้นภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ที่สำคัญที่สุดคือมันพยายามควบคุมดูแลเฉพาะแรงงานที่อยู่ในระบบเท่านั้น ซึ่งไม่เหมาะกับโมเดลเศรษฐกิจของไทย เพราะเราเป็นไม่กี่ประเทศที่มีความพิกลพิการคือพอเศรษฐกิจเติบโตขึ้น เรากลับมีแรงงานนอกระบบมากขึ้น งานวิจัยของอาจารย์แบงค์ งานอรุณโชติ ชี้ให้เห็นว่า แรงงานนอกระบบที่มีอยู่มากกว่า 10 ล้านคนในสังคมไทย เกินครึ่งยากจน มีรายได้ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจโยนความเสี่ยงให้แรงงานนอกระบบ ให้ผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มนี้ที่ทำงานหนักมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่เป็นกลุ่มที่ได้รับสวัสดิการน้อยที่สุด รูปแบบนี้จึงไม่ถูกใช้เป็นโมเดลหลักได้ในสังคมไทย”

รูปแบบที่ 3 รูปแบบรัฐสวัสดิการที่ดูแลทุกคนเยี่ยงมนุษย์ รับประกันชีวิตที่มั่นคง สวัสดิการเป็นหลักพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันในสังคมในฐานะมนุษย์

"ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการ ดัชนีการพัฒนามนุษย์อยู่ในอันดับท็อปทั้งนั้น มายาคติข้อหนึ่งคือถ้าเป็นรัฐสวัสดิการ ผู้คนจะจนเท่าๆ กัน ซึ่งผิด กลุ่มประเทศพวกนี้เป็นประเทศที่คนมีความสามารถในการซื้อติดท็อป 20 ดัชนีจีนี่ (Gini index) ที่บอกความเสมอภาคของคน ประเทศเหล่านี้ก็ติดท็อปไฟว์ของโลก มันจึงไม่ใช่โลกอุดมคติ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและยังมีอยู่ ถ้าเราติดตามกระแสของคนที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะพบว่าคนอีกครึ่งโลกกำลังต่อสู้เพื่อสิ่งนี้เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะเผชิญเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น เราจึงไม่ได้ต่อสู้ตามลำพัง”

3 ฐานคิดอุปสรรคต่อการสร้างรัฐสวัสดิการ

สำหรับในประเทศไทย ษัษฐรัมย์แสดงให้เห็นว่ามีฐานคิดอยู่ 3 ประการที่กีดขวางการสร้างรัฐสวัสดิการ

กลุ่มแรก กลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่คือกลุ่มที่เห็นความไม่เป็นธรรม ความไม่ถูกต้อง มีเจตนาดี แต่คิดว่าไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เมื่อเปลี่ยนอะไรไม่ได้ ก็ทำแต่เรื่องเล็กๆ อย่างการเสียสละเชิงปัจเจก ซึ่งอีกด้านก็คือการผลิตซ้ำให้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้รับการแก้ไข


"รัฐสวัสดิการไม่มีทางได้มาจากคณะรัฐประหารและอำนาจเผด็จการ 4 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่ามันคือการลดทอนอำนาจของคนในสังคม จนตอนนี้แม้ 30 บาทจะยังคงอยู่ แต่ก็ง่อนแง่นมาก เพราะฉะนั้นรัฐสวัสดิการต้องมาพร้อมกับอำนาจประชาธิปไตย”

กลุ่มที่ 2 คือลัทธิท้องถิ่นนิยม ทำให้การต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการแบบก้าวหน้าครบวงจรไม่สามารถก้าวหน้าได้ เนื่องจากมีกรอบการมองว่าเมื่อไม่สามารถแก้ไขโครงสร้างได้ เพราะรัฐไม่เป็นธรรม รัฐทุจริต ดังนั้น ก็หันมาทำในระดับท้องถิ่น ทั้งที่ปัญหาหลายอย่างไม่สามารถแก้ได้ด้วยการต่อสู้เฉพาะประเด็น

“สิ่งที่เราต้องการมากกว่าคือการขยายประเด็นให้เห็นว่า สิ่งที่คุกคามเราไม่ใช่คนละโมบโลภมากในประเด็นท้องถิ่นเล็กๆ แต่คือกลไกความไม่เป็นธรรมขนาดใหญ่ในระบบทุนนิยมที่คุกคามเรา ต้องต่อสู้พร้อมกันทุกระบบ ทุกปัญหา ทุกประเด็น”

กลุ่มที่ 3 คือลัทธิเสรีนิยมใหม่ กลุ่มนี้มองว่าปัญหาสวัสดิการคือการขาดข้อมูลที่ดี รัฐจึงไม่ต้องทำอะไร เพียงแค่เอาข้อมูลไปให้ ชาวบ้านก็จัดการตัวเองได้ด้วยเครือข่ายที่มีอยู่แล้ว ด้วยการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เพิ่มโอกาสการแข่งขันในตลาดให้มากขึ้น แต่โมเดลนี้จะไม่แตะโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมภายในรัฐ

มายาคติต่อรัฐสวัสดิการ

นอกจากฐานคิดที่เป็นอุปสรรคข้างต้นแล้ว ยังมีมายาคติต่อรัฐสวัสดิการที่ต้องรื้อถออน


“มีการโจมตีว่ารัฐสวัสดิการทำให้คนขี้เกียจ งอมืองอเท้า ไม่มีแรงจูงใจออกไปต่อสู้กับโลกภายนอก ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ข้อเท็จจริงคือรัฐไม่ได้แจกเงิน แต่ทำให้คนไม่ต้องกังวลเวลาป่วย ตกงาน ไม่ต้องจ่ายค่าทำประกันชีวิต มันจะทำให้คนมีเวลาทำสิ่งที่อยากทำ เกิดแรงงานสร้างสรรค์ เศรษฐกิจเติบโต กลุ่มประเทศรัฐสวัสดิการเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก และสามารถก้าวพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจได้โดยการที่รัฐลงทุนดูแลประชาชน การมีสวัสดิการจะไม่ทำให้คนขี้เกียจ แต่จะทำให้คนได้ทำสิ่งที่รักมากขึ้น

“ความเข้าใจผิดอีกข้อหนึ่งคือต่างชาติจะไม่มาลงทุนเพราะภาษีสูง แต่ความจริงแล้วประเทศรัฐสวัสดิการเป็นประเทศที่ดึงดูดกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนอย่างมาก เพราะการลงทุนไม่ได้ขึ้นกับต้นทุนทางบัญชีอย่างเดียว เวลาต่างชาติมาลงทุน เขาคำนึงถึงโครงสร้างพื้นฐาน คำนึงถึงทรัพยากรมนุษย์ คำนึงถึงบรรยากาศในการลงทุน บรรยากาศในการบริโภค ดังนั้น การลงทุนกับประชาชนก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง เหมือนกับเราสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง เหมือนที่ทุกคนสามารถเรียนฟรีจนจบปริญญาตรี โท เอกได้ ก็เป็นปัจจัยที่ดึงดูดให้ต่างชาติมาลงทุนไม่น้อยไปกว่าการมีแรงงานราคาถูกและภาษีต่ำเช่นเดียวกัน

“หรือความเชื่อที่ว่าประเทศของเราไม่พร้อม แต่ในช่วงที่ประเทศเหล่านี้ก้าวเข้าสู่การเป็นรัฐสวัสดิการ รายได้ประชาชาติต่อหัวหักอัตราเงินเฟ้อ ประเทศเหล่านั้นยากจนกว่าไทยเสียอีก อีกมายาคติหนึ่งคือรัฐสวัสดิการจะทำให้เกิดคอร์รัปชั่น ต้องดูแลคนมาก คนต้องพึ่งพิงรัฐ วิจารณ์รัฐไม่ได้ ลองมองย้อนกลับไป ประเทศไทยตั้งแต่มีการกระจายอำนาจในปี 2540 เป็นต้นมา ดัชนีการแข่งขันทางการเมืองสูงมากขึ้น เมื่อการแข่งขันทางการเมืองสูงมากขึ้นทำให้การตรวจสอบสูงมากขึ้น ดังนั้น การเกิดรัฐสวัสดิการที่ทำให้คนมีอำนาจต่อรองกับคนที่มีอำนาจในสังคม มันจะทำให้มีความเป็นประชาธิปไตยในชีวิตประจำวัน เราบอกว่าคนไทยไม่ใส่ใจการเมือง ไม่ยอมมีส่วนร่วมทางการเมือง เหตุผลอย่างหนึ่งคือต้องทำมาหากิน ความเปราะบางในชีวิตของพวกเขาสูงมาก ทำงานกันสี่สิบห้าสิบชั่วโมงต่อสัปดาห์จะเอาเวลาไหนมามีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ถ้ามีรัฐสวัสดิการ คนทำงานน้อยลง ไม่ต้องกังวลเวลาพ่อแม่ป่วยหรือลูกที่ต้องเรียนหนังสือ คนก็จะสามารถตรวจสอบอำนาจรัฐได้มากขึ้น อัตราการคอร์รัปชั่นก็จะน้อยลง

“การจัดรัฐสวัสดิการในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการคือการจัดผ่านการปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐกำหนดแนวทางว่าต้องมีแบบนี้ ท้องถิ่นก็ต้องแข่งกันเพื่อสร้างสวัสดิการที่ดีเพราะถ้าไม่ดีคนก็จะย้ายออกจากท้องถิ่น ท้องถิ่นก็จะมีการแข่งขันกันเพื่อสร้างสวัสดิการที่ดีมากขึ้น ที่ไหนจัดไม่ได้ รัฐส่วนกลางอุดหนุน ให้เงินท้องถิ่นจัดการให้ดีมากขึ้นตามเงื่อนไขที่รัฐวางไว้”

จะเอาเงินมาจากไหน?

คำถามสำคัญที่ปรากฏเสมอเวลาถกเถียงเรื่องการสร้างรัฐสวัสดิการก็คือ จะเอาเงินจากไหน ษัษฐรัมย์ กล่าวว่าถ้าเราอยากมีรัฐสวัสดิการก็ต้องมีการเพิ่มงบประมาณด้านสวัสดิการ และก็ต้องท้าทายอำนาจชนชั้นสูง อำนาจระบบทุนนิยม อำนาจเผด็จการและการผูกขาดไปพร้อมๆ กัน เพราะ...

“เป้าหมายแรกของรัฐคือการดูแลประชาชน จัดสวัสดิการให้ประชาชน ไม่ใช่รัฐทุนนิยม รัฐทหาร ที่มีเป้าหมายอื่นที่ต้องดูแลก่อน ต้องมีการเพิ่มงบประมาณด้านสวัสดิการ สิ่งนี้คือการเมือง ต้องมีการท้าทาย แต่ไม่ใช่ซีโร่ซัมเกมที่ผู้แพ้เสียทั้งหมด ชนชั้นสูงก็จะได้สิ่งใหม่ คือการที่ลูกของเขาจะสามารถเรียนโรงเรียนเดียวกันกับคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ได้ เขาเองก็จะสามารถนั่งรถเมล์ รถไฟฟ้าออกจากบ้านได้ กำแพงบ้านของพวกเขาจะเตี้ยลงทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม เขาจะสามารถใช้ชีวิตกับคนส่วนใหญ่ในสังคมได้

“ที่สำคัญที่สุดคือการท้าทายอำนาจเผด็จการทางการเมืองและการผูกขาดทางเศรษฐกิจ รัฐสวัสดิการไม่มีทางได้มาจากคณะรัฐประหารและอำนาจเผด็จการ 4 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่ามันคือการลดทอนอำนาจของคนในสังคม จนตอนนี้แม้ 30 บาทจะยังคงอยู่ แต่ก็ง่อนแง่นมาก เพราะฉะนั้นรัฐสวัสดิการต้องมาพร้อมกับอำนาจประชาธิปไตย”

ษัษฐรัมย์ยกตัวอย่างว่า ถ้าสามารถเพิ่มเงินรายหัวต่อคนต่อปีของระบบหลักประกันสุขภาพจากประมาณ 3,000 กว่าบาทเป็น 5,000 บาทได้ จะสามารถจูงใจให้คนที่อยู่ในระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการมาใช้ระบบเดียวกันได้เพราะการรักษาพยาบาลจะมีคุณสูงขึ้น จากนั้นการควบรวมจะไม่ใช่เรื่องยากเกินไป และยังจะทำให้เงินรายหัวสูงได้ถึง 8,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งจะทำให้เทียบเท่ากับประเทศรัฐสวัสดิการทันที

ษัษฐรัมย์ กล่าวต่อว่าหากประเทศไทยจะสร้างรัฐสวัสดิการแบบนอร์ดิกต้องใช้เงินประมาณ 650,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 30 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านล้านบาท เขาบอกว่าประเทศไทยสามารถจัดหาเงินก้อนนี้ได้

“งบของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม 530,000 ล้านบาท ถ้าเราปรับลด 50 เปอร์เซ็นต์ ลดจำนวนทหารเกณฑ์ มีการกระจายอำนาจออกไปมากขึ้น เก็บภาษีที่เราไม่เคยเก็บอย่างภาษีจากการขายทำกำไรในตลาดหุ้นหรือภาษีผลได้จากทุนที่มีปริมาณกำไรในตลาดหุ้นอยู่ที่ประมาณ 900,000 ล้านบาทต่อปีเป็นอย่างน้อย ถ้าเราเก็บภาษี 30 เปอร์เซ็นต์หมายถึงเราจะมีเงินอีก 270,000 ล้านบาท และถ้าเรามีการจัดการข้อมูลสวัสดิการที่ทันสมัย สิ่งที่อยู่ในงบกลางของรัฐที่เป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรต่างๆ ก็จะลดลง

“อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจถ้าโมเดลนี้สามารถใช้ได้อย่างดีแบบครบถ้วนตามแพ็กเกจ สิ่งที่จะลดลงคือบำนาญ การรักษาพยาบาลของข้าราชการ เพราะสามารถใช้ในโมเดลเดียวกันได้ เราจะได้เงินอีก 200,000 ล้านบาท ผมคำนวณตัวเลขกลมๆ ทั้งหมดนี้เราจะได้ 750,000 ล้านบาท นี่ยังไม่ได้พูดถึงการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ซึ่งผมยืนยันว่าต้องมีและจะเป็นการลดอำนาจการเมืองของกลุ่มทุนไม่ให้เสียงดังเกินไป”

ษัษฐรัมย์เชื่อว่ารัฐสวัสดิการจะทำให้เศรษฐกิจไทยก้าวกระโดดอย่างมหาศาล จะทำให้คนมีโอกาสที่แท้จริง ประชาชนจึงต้องร่วมกันผลักดันให้พรรคการเมืองพูดเรื่องนี้เป็นวาระหลักของพรรค จนเกิดการสร้างฉันทามติชุดใหม่ ถึงตอนนั้นแผนปฏิรูปหรือยุทธศาสตร์ชาติก็จะไม่ใช่ข้อจำกัดอีกต่อไป

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.