Posted: 24 Apr 2018 01:39 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
ศรายุธ ตั้งประเสริฐ สัมภาษณ์
คุยกับ วิญญัติ ชาติมนตรี เรื่องของ "แหวน" พยานปากสำคัญคดีสังหารหมู่ 6 ศพ วัดปทุม เมื่อเธอต้องกลายมาเป็นผู้ต้องหาในคดีร้ายแรง เธอถูกจับกุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เธอติดคุกนานกว่า 3 ปี โดยคดีแทบไม่คืบหน้า ไม่มีญาติ ไม่มีเงินประกันตัว และดูเหมือนว่าเธอจะถูกลืม
วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฏหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.)[1] ทนายความของ"แหวน" ณัฎฐธิดา มีวังปลา เผยว่าได้มีการเตรียมการยื่นขอประกันตัว แหวนอีกครั้ง โดยคาดว่าจะยื่นคำร้องต่อศาลทหารหลังสืบ พลโทวิจารณ์ จดแตง ฝ่ายกฎหมาย คสช. พยานโจทก์ปากแรก ซึ่งถือว่าเป็นปากสำคัญแล้วเสร็จ แต่ยังมีปัญหาเรื่องเงินหรือหลักทรัพย์ในการประกันตัว เนื่องจากเงินกองทุนที่เคยได้ากการบริจาครวมถึงหยิบยืมมาได้นำไปใช้ประกันผู้ต้องหาคดีการเมืองรายอื่นหมดแล้ว จึงมีความจำเป็นต้องขอรับบริจาคในกรณีของแหวน ซึ่งถือเป็นการขอรับบริจาคหรือหยิบยืมในทางสาธารณะกรณีแรกของ สกสส.
"แหวน" ณัฎฐธิดา มีวังปลา อดีตพยาบาลอาสา เป็นพยานปากสำคัญที่จะเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชาในคดีสังหาร 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม[2] เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 แต่ได้ถูกจับกุมและถูกแจ้งข้อหาร้ายแรงในคดีก่อการร้ายและ 112 แหวนถูกคุมขังมานานกว่าสามปี โดยที่ผ่านมาศาลได้เคยมีคำสั่งให้ประกันตัวแล้วหนึ่งครั้ง ในคดีก่อการร้าย แต่แหวนกลับต้องโดนอายัดตัวต่อในคดี 112
วิญญัติให้รายละเอียดคดีว่า แหวน ถูกเอาผิดจากกระแสข่าวว่าจะมีการรอบวางระเบิดร้อยจุดทั่วกรุงเทพ แหวนถูกจับกุมเนื่องจากเป็นสมาชิกอยู่ในกลุ่มไลน์ที่มีการพูดคุยประเด็นการเมือง และจากหลักฐานการโอนเงินจาก สุรพล เอี่ยมสุวรรณ 1 ใน 5 ผู้ต้องหาโอนมาให้ เป็นจำนวน 5,000 บาท แหวนให้การว่าเธอยืมเงินสุรพลมาเพื่อจ่ายค่าเช่าร้านซักรีดที่เป็นกิจการของเธอในขณะนั้น และในส่วนข้อกล่าวหาว่ามีการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันกษัตริย์นั้น โจทก์ใช้ข้อความหนึ่งในแอคเคาต์ไลน์ของแหวนที่ใช้สนทนาในกลุ่มไลน์เป็นหลักฐานในการเอาผิด
กระบวนการพิจารณาคดีก่อการร้ายผ่านอย่างล่าช้า อัยการส่งสำนวนฟ้องศาลเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2558 ศาลนัดสอบคำให้การ 20 มกราคม 2559 และนัดสืบนัดแรก 4 เมษายน 2559 เวลาผ่านไปกว่าสองปีจนถึงปัจจุบันสืบพยานโจทก์ได้ประมาณสิบปากเท่านั้น จากพยานโจทก์ทั้งหมดในบัญชีพยานกว่าสามสิบปาก
ความล่าช้าในกระบวนการเกิดจาก พยานโจทก์ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ เมื่อถึงวันที่ศาลนัดก็มักจะไม่มา โดยให้เหตุผลว่าติดราชการบ้าง ย้ายที่อยู่ที่ทำงานบ้าง ประกอบกับกระบวนการในการไต่สวนค่อนข้างละเอียด ต้องอ่านเอกสาร ต้องลงรายมื่อชื่อรับรองทำให้เกิดความล่าช้า
เคยมีความพยายามในการหยิบยืมเงินมาประกันตัวแหวนพร้อมกับเพื่อนที่ถูกจับในคดีเดียวกัน บางคนได้ประกันตัวออกไป แต่แหวนกลับถูกอายัดตัว และถูกฟ้องในข้อหา 112 ต่อ
คดี 112 อัยการพึ่งส่งฟ้องศาลเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2560 ทั้งที่มีการออกหมายจับไว้ ตั้งแต่ 19 มี.ค. 2558 ศาลนัดสอบคำให้การเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561และนัดสืบพยานปากแรกในวันที่ 4 พฤษภาที่จะถึงนี้ ทั้งนี้หากนับจากวันที่แหวนถูกควบคุมตัวโดยทหาร รวมเป็นเวลาสามปีเศษแล้ว
แหวนยังได้เคยเล่าให้ทนายฟังว่า ระหว่างถูกควบคุมตัวนายทหารหัวหน้าชุดที่มาสอบสวนได้เคยขู่เธอว่าหากไม่ยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหา เธอจะถูกดำเนินคดีด้วย ม.112 ด้วย ซึ่งในที่สุดก็เป็นจริงตามคำที่ทหารนายนั้นขู่
วิญญัติกล่าวว่าแหวนถูกควบคุมตัวโดยทหารตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2558 อุปกรณ์สื่อสารถูกยึด ถูกบังคับเอารหัสเพื่อเข้าถึงข้อมูลการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียตั้งแต่วันนั้น แต่ข้อความที่เป็นปัญหาถูกโพสต์ในกลุ่มไลน์เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 ในการสืบพยานโจทก์ปากแรก ซึ่งเป็นปากสำคัญนั้น อย่างน้อยน่าจะทำให้เหตุผลในการยื่นประกันขอปล่อยตัวชั่วคราว "แหวน" มีน้ำหนักมากขึ้น
แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องที่เธอเป็นคนตัวคนเดียว ญาติพี่น้องก็มีฐานะไม่ดีนัก เงินที่เคยใช้ยื่นประกันตัวเธอเราก็ได้นำไปใช้ประกันตัวนักโทษการเมืองรายอื่นไปแล้ว ทาง สกสส.จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำการรับบริจาคต่อสาธารณะในกรณีนี้[3] โดยประเมิณว่าทั้งสองคดีต้องใช้วงเงินประกันรวมประมาณ 900,000 บาท คดีแรกจำนวน 400,000 บาท (คดีก่อการร้าย) คดีที่ 2 จำนวน 500,000 บาท (คดี 112)
เชิงอรรถ
[1] สมาพันธ์นักกฏหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) เป็นกลุ่มนักกฎหมาย ทนายความที่รวมตัวขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหา นักโทษในคดีการเมืองหลังการรัฐประหาร คสช. 2557 โดยที่ผ่านมาได้ให้ความช่วยเหลือมาแล้วไม่ต่ำกว่า 33 คดี จำนวนผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ต่ำกว่า 133 คน
[2] นักการเมืองและผู้นำทหารที่มีโอกาสในการถูกเอาผิดจากการสั่งการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงอาทิเช่น
นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ศอฉ.เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์และรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รองหัวหน้าและประธานคณะที่ปรึกษาคณะรัฐประหาร คสช.
พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในช่วงเหตุการณ์ และรัฐมนตรีมหาดไทยในรัฐบาล คสช.ในปัจจุบัน
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ.ในช่วงเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 2553 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช.และนายกรัฐมนตรี
[3] ท่านที่มีความประสงค์จะบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือ "แหวน" ณัฎฐธิดา มีวังปลา สามารถติดต่อได้ที่ สมาพันธ์นักกฏหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) Facebook United Lawyers For Rights & Liberty หรือสามารถบริจาคเงินเพื่อสมทบทุนได้ที่ บัญชีธนาคารกสิกรไทย_สาขาศาลยุติธรรม ประเภทบัญชีออมทรัพย์ บัญชีเลขที่ 039-3-80178-6 ชื่อบัญชี นายกัณต์พัศฐุ์ สิงห์ทอง และนายศุภวัส ทักษิณ
แสดงความคิดเห็น