Posted: 27 Apr 2018 03:50 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

กรรมการสิทธิฯ มีมติชี้ การระบาดของ ‘ปลาหมอสีคางดำ’ จากกานา กระทบสิทธิการทำกินของเกษตรกรไทย แนะกรมประมงควบคุมดูแลการนำเข้าสายพันธุ์ของเอกชนอย่างเคร่งครัด เร่งแก้ไขและป้องกันการระบาด

27 เม.ย. 2561 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่มติ กสม. ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 14/2561 ลงวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณากรณีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำใน จ.สมุทรสงครามและ จ.เพชรบุรี ร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการแพร่พันธุ์ของปลาหมอสีคางดำซึ่งกรมประมง (ผู้ถูกร้อง) อนุญาตให้เอกชนนำเข้ามาทดลองเพาะเลี้ยง กระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของพันธุ์ปลาชนิดดังกล่าวรุกรานปลาพื้นถิ่น สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรในวงกว้างมาตั้งแต่ปี 2555

กสม. ลุยแม่กลอง ถก ผู้ว่าฯ - เกษตรกร ปมปลาหมอซีพีนำเข้า ระบาดทำสัตว์น้ำอื่นสูญหาย

กรณีดังกล่าว กสม. โดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร และพนักงานเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า เมื่อปี 2549 คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) มีมติอนุญาตให้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) นำเข้าปลาหมอสีคางดำจากสาธารณรัฐกานา ทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลแบบมีเงื่อนไข ต่อมาในปี 2553 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) นำเข้าปลาหมอสีคางดำ จำนวน 2,000 ตัว โดยมีศูนย์ทดลองอยู่ที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม จากนั้นปลาหมอสีคางดำได้ทยอยตายเกือบทั้งหมดภายใน 3 สัปดาห์ บริษัทจึงทำลายและฝังกลบซากปลาโดยการโรยด้วยปูนขาวและแจ้งให้กรมประมงทราบด้วยวาจา โดยไม่ได้จัดทำรายงานอย่างเป็นทางการและเก็บซากปลาส่งให้กับกรมประมงตามเงื่อนไขการอนุญาตของคณะกรรมการ IBC

ต่อมา ประมาณปี 2555 เกษตรกรในพื้นที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ได้พบการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำเป็นครั้งแรก กระทั่งปัจจุบัน เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ จ.สมุทรสงครามและ จ.เพชรบุรี ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำเป็นอย่างมาก เนื่องจากปลาชนิดดังกล่าวเป็นสัตว์ที่กินสัตว์น้ำขนาดเล็ก ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว และอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย จึงเข้าข่ายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน ส่งผลให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับความเดือดร้อน ประสบปัญหาภาวะขาดทุนและไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กสม. พิจารณาแล้ว จึงมีมติว่า การแพร่ระบาดของปลาชนิดดังกล่าว มีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิทางเศรษฐกิจ และการประกอบอาชีพของประชาชนอันกระทบต่อสิทธิมนุษยชนซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR)

อย่างไรก็ดี แม้ในชั้นนี้จะยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่ากรมประมงในฐานะผู้ถูกร้องละเลยการกระทำอันเป็นผลให้เกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำหรือไม่ แต่ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า กรมประมงไม่สามารถควบคุมดูแลและตรวจสอบติดตามให้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นอย่างครบถ้วนตามที่กรมประมงกำหนดให้ต้องรายงานและเก็บซากปลาให้กับกรมประมง กรณีนี้ กสม. จึงเห็นควรเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (1) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 (1) ดังนี้

1. กรมประมงควรแต่งตั้งคณะทำงานในระดับกรมเพื่อร่วมแก้ไขปัญหากับจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำอย่างรุนแรง โดยกำหนดให้มีผู้แทนร่วมแก้ปัญหาจากทุกภาคส่วนรวมทั้งเกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อน

2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรสนับสนุนงบประมาณเร่งด่วนให้กับกรมประมงเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ และการจัดการอื่นใดเพื่อนำปลาหมอสีคางดำไปกำจัด รวมทั้งอาจกำหนดแนวทางการเยียวยาเกษตรกรที่ประสบปัญหาภาวะขาดทุนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ

3. กรมประมงควรจัดให้มีกลไกหรือแผนปฏิบัติการป้องกันและควบคุมอย่างทันท่วงทีเพื่อรองรับกรณีสัตว์น้ำที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานและก่อผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และกำหนดแนวปฏิบัติในการควบคุมดูแลให้ผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตอย่างครบถ้วน รวมทั้งต้องเฝ้าระวัง ตรวจสอบ ติดตามกับผู้ได้รับอนุญาตดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และพิจารณาดำเนินการในกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาต

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.