รังสิมันต์ โรม หลังยุติการชุมนุมเมื่อว้นที่ 10 ก.พ. 2561 (แฟ้มภาพ Banrasdr Photo)

Posted: 27 Apr 2018 12:02 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

อัยการสูงสุดยื่นฟ้องแยก รังสิมันต์ โรม คดีคนอยากเลือกตั้งราชดำเนิน 50 ผิด ม.116 ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 บรรยายฟ้อง ชุมนุมขับไล่ประยุทธ์ ประวิตร พร้อมชูสามนิ้ว ทำให้ประชาชนเข้าใจว่ารัฐบาลทหารจำกัดเสรีภาพ ถือเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลอนุญาตให้ประกันตัวหลักทรัพย์ 50,000 บาท

27 เม.ย. 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อเวลา 9.30 น.รังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ได้เดินทางเข้ารายงานตัวที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก ภายหลังอัยการสั่งฟ้องคดีกรณีการชุมนุม หยุดยื้ออำนาจ หยุดยื้อเลือกตั้ง: หมดเวลา คสช. ถึงเวลาประชาชน” ของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และกลุ่ม START UP PEOPLE ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561 หรือ “คดี RDN50” โดยรังสิมันต์ถูกแยกฟ้องมาจากแกนนำคนอื่นๆ อีก 6 คน ซึ่งคดียังอยู่ในชั้นสอบสวน

มนตรี นามขาน พนักงานอัยการจากสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ยื่นฟ้องคดีของรังสิมันต์ต่อศาลอาญาไปเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2561 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

อัยการได้บรรยายฟ้องโดยกล่าวหาว่าจำเลยกับพวกอีก 6 คน ได้ร่วมกันใช้รถยนต์ติดเครื่องขยายเสียงเป็นเวที ด้านข้างของตัวรถยนต์ได้ติดป้ายโจมตีพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แล้วจำเลยกับพวกได้ร่วมกันปราศรัยโจมตีการทำงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี คณะรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยผลัดเปลี่ยนกันขึ้นกล่าวปราศรัย และร่วมกันปลุกระดมมวลชนให้เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายในสิ้นเดือน พ.ย. 2561 พร้อมกับการชูนิ้วสามนิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง) บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และถนนราชดำเนิน อันเป็นสัญลักษณ์ในทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนั้น อันมิใช่การกระทำในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนที่พบเห็นเข้าใจว่ารัฐบาลและทหารจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งก่อให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบกับรัฐบาล และเป็นการยุยงปลุกปั่น สร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนที่เห็นต่างกับรัฐบาล ซึ่งเป็นการร่วมกันมั่วสุมชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ได้รับมอบหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

หลังจากเข้ารายงานตัวต่อศาล รังสิมันต์ได้ถูกนำตัวเข้าไปในห้องเวรชี้ และผู้พิพากษาเวรได้อ่านคำฟ้องคดีให้จำเลยฟัง พร้อมกับสอบถามคำให้การ แต่รังสิมันต์ระบุยังไม่ให้การในชั้นนี้ ศาลจึงกำหนดวันนัดพร้อมเพื่อสอบถามคำให้การต่อไปในวันที่ 18 มิถุนายน 2561 เวลา 9.00 น.

สำหรับกรณีการชุมนุม RDN50 นี้ มีแกนนำถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 116 และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 จำนวน 7 ราย ในกรณีของรังสิมันต์ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2561 และพนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้ง ได้นำตัวไปขอฝากขังที่ศาลอาญา โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง และอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักทรัพย์ 50,000 บาท ต่อมาอัยการจึงได้ยื่นฟ้องคดีของรังสิมันต์ต่อศาลอาญาเข้ามาก่อน

ในส่วนคดีของแกนนำอีก 6 คน ได้แก่ กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์, ณัฏฐา มหัทธนา, อานนท์ นำภา, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, ชลธิชา แจ้งเร็ว, สุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกให้ไปพบเพื่อส่งตัวให้อัยการครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 61 โดยมีกาณฑ์ไปพบตามนัด ขณะที่ผู้ต้องหาคนอื่นติดภารกิจ โดยยื่นหนังสือขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 11 มิ.ย. 61 แต่พนักงานสอบสวนไม่อนุญาตให้เลื่อนและได้เดินทางไปที่ศาลเพื่อขอออกหมายจับ แต่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอออกหมายจับ และให้ผู้ต้องหาทั้งห้าไปพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 9 พ.ค.61 เวลา 9.00 น. เพื่อนำตัวส่งพนักงานอัยการต่อไป

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.