Posted: 27 Apr 2018 11:49 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

คดีเงินวัดอันอื้อฉาวที่เกิดขึ้น โดยมีการพาดพิงถึงพระเถระผู้ใหญ่ 5 รูป ในประเทศไทยเวลานี้ นับว่าสร้างความสั่นสะเทือนออกไปยังวงการพระพุทธศาสนาหรือพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ไม่เว้นแต่วงการพระพุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกา

โดยที่ต้องเข้าใจว่า ในสหรัฐอเมริกาเองมีวัดไทยและชาวพุทธไทย-อเมริกันอยู่เป็นจำนวนมากแทบทุกรัฐ ก็แน่นอนว่าพวกเขาเหล่านี้ย่อมเกิดข้อสงสัย ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่แพ้คนไทยในประเทศเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนของพระเถระผู้ใหญ่บางรูปที่สัมพันธ์โดยตรงกับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดนโดยตรง งานนี้นับว่าข่าวสารออนไลน์มีผลต่อการรับรู้ต่อและการคิดวิเคราะห์ของชาวพุทธในต่างแดนมากจริงๆ มิใช่ชาวพุทธเชื้อสายไทยเท่านั้น หากแต่เป็นชาวพุทธทุกเชื้อชาติในสหรัฐอเมริกา

นอกเหนือไปจากความสงสัยต่อกระบวนการตรวจสอบพระสงฆ์ของรัฐบาลไทยว่าเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลหรือมีวาระทางการเมืองแอบแฝงหรือไม่แล้ว ชาวพุทธที่นี่ยังคำถามเกี่ยวกับความโปร่งใส ของการจัดการทรัพย์สินของวัดในเมืองไทยอีกด้วย พวกเขาเห็นว่า การจัดการทรัพย์สินของวัดในประเทศไทยยังดำเนินการกันอย่างไม่ค่อยเป็นระบบ ทั้งๆ ที่วัดไทยและพระสงฆ์ไทยอยู่ภายใต้กฎหมายคือพระราชบัญญัติสงฆ์ ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ บัญญัติใช้กับพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะมีคำถามคาใจจากบรรดาชาวพุทธในต่างแดนจำนวนไม่น้อยว่าการบริหารวัดของคณะสงฆ์ไทยได้มาตรฐานหรือมีความโปร่งใสมากน้อยขนาดไหน

กรณีเงินบริจาควัดแม้สัมพันธ์กับศรัทธาญาติโยมต่อพระสงฆ์หรือต่อวัด และเป็นคนละส่วนกับเงินสนับสนุนของรัฐบาล (งบประมาณ) ผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ก็ตาม แต่ในแง่คำสอนเรื่องสมถะสันโดษของพระสงฆ์หลายๆ วัดมีลักษณะของการปฏิบัติตรงกันข้ามกับบริบทคำสอนในพระพุทธศาสนาเรื่องความมักน้อย สมถะ สันโดษของพระสงฆ์ ตรงนี้อย่าคิดว่า ฝรั่งไม่เห็นหรือไม่สนใจนะครับ เขามองเห็นมากกว่าที่ชาวพุทธอย่างเราๆ ในประเทศ มองเห็นด้วยซ้ำ

ในอเมริกาศาสนากับรัฐแยกออกกันอย่างชัดเจน ที่เรียกว่า secular state นั่นแหละ โบสถ์หรือวัดตามกฎหมายอเมริกันมีสถานะเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร (nonprofit organization) เหมือนองค์กรไม่หวังผลกำไรโดยทั่วไป ไม่ได้มีสถานะพิเศษหรือกฎหมายพิเศษใดๆ คุ้มครองหรือปกป้อง รัฐเองก็ได้จัดงบประมาณใดๆ มาสนับสนุน แต่โปรดสังเกตว่า ศาสนาจำนวนมาก รวมถึงพระพุทธศาสนาต่างก็เข้าไปเผยแผ่ศาสนาของตนอย่างได้ผล จนทำให้คนอเมริกันเองเป็นพลเมืองบนความเป็นศาสนิกชนที่หลากหลายมากที่สุดในโลก เพราะความมีสิทธิเสรีภาพและกฎหมายถูกใช้ไปในอีกลักษณะหนึ่งคือ ใช้หลักสิทธิเสรีภาพคุ้มครองพลเมืองที่นับถือศาสนาทุกๆ ศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน

อานิสงส์ของหลักสิทธิเสรีภาพนี่เอง เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหนึ่งที่ถูกเผยแผ่อย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกาจนมีพุทธศาสนิกชนเกิดขึ้นจำนวนมาก ไม่นับรวมศาสนสถานอย่างวัดไทยที่ปัจจุบันอาจมีถึง 1000 วัดแล้วก็เป็นได้

แสดงให้เห็นถึงการเปิดกว้างของกฎหมายอเมริกัน แม้ว่ารัญอเมริกันจะไม่อุปถัมภ์คุ้มครองศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่ในแง่ของการให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาต่อพลเมืองกลับทำให้คนอเมริกันพาเป็นศาสนิกของแต่ละศาสนาๆ กันเป็นจำนวนมาก

จนกล่าวได้ว่า แท้จริงแล้วบนโลกเสรีนิยม คนอเมริกันมีศาสนาที่พึ่งทางใจกันเป็นส่วนใหญ่ แล้วแต่ว่าใครจะศรัทธาในศาสนาไหน ดังนั้น ในแง่การตลาดศาสนาหรือการเผยแผ่ศาสนา อเมริกาเป็นประเทศที่มีพื้นที่สำหรับส่วนแบ่งการตลาดด้านศาสนาอยู่อีกมาก

ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีบุคคลอเมริกันผู้มีชื่อเสียงจำนวนหนึ่งพากันนับถือพระพุทธศาสนา จนเป็นให้ชาวพุทธและพระสงฆ์ไทยจำนวนหนึ่งหันไปใช้วิธีการเอาชื่อหรือเครดิตของบุคคลเหล่านี้มาใช้อ้างอิง เพื่อการเผยแผ่พระศาสนา แต่พุทธศาสนิกชนชาวไทยต้องพึงเข้าใจว่า นัยของการนับถือพระศาสนาของชาวพุทธอเมริกันต่างจากชาวพุทธในเมืองไทยอยู่มาก บางครั้งก็ตรงหรือถูกตามคำสอนในพระพุทธศาสนา วัตรปฏิบัติบางอย่างอาจไม่ใช่ พระสงฆ์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องพึงระวังการนำชื่อของบุคคลสำคัญหรือมีชื่อเสียงฝ่ายอเมริกันมาสร้างเครดิตหรือโน้มน้าวให้ชาวพุทธไทยศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้น ทางที่ดีนั้นควรเผยแผ่พระธรรมคำสอนโดยเนื้อหาชองพระธรรมนั้นเองมากกว่า ดังกรณีการอ้าง สตีฟ จ๊อบบ์ ของพระสงฆ์ไทยบางรูป ที่แทบไม่ได้ดูบริบทการสมาทานศาสนาพุทธของจ้อบบ์เอาเลยว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไร ที่แท้ก็แค่การหาคนดังมาเป็นพวกเท่านั้น ไม่ต่างอะไรกับการมุ่งเอากะพี้เสียยิ่งกว่าแก่น

นอกจากนี้อเมริกันชนรวมถึงไทย-อเมริกันยังมีคำถามเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม เป็นคำถามที่มีมานานหลายปีว่า พระพุทธศาสนาในเมืองไทยเกื้อกูลหรือเอื้อเฟื้อต่อสังคมมากพอหรือไม่ วัดและพระสงฆ์เป็นที่สะสมของวัตถุธรรมที่ได้จากการรับบริจาคมากเกินไปหรือไม่? รวยกระจุกจนกระจาย... ได้มีการนำทรัพย์ที่สะสมนี้กระจายออกสู่สังคมที่กำลังต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ อย่างไร? ที่สำคัญคือ สังคมหรือชุมชนเหล่านั้นเป็นสังคมหรือชุมชนรอบวัดหรืออยู่ติดกับวัดนั่นเอง (สลัมรอบวัด) อาจเป็นเพราะภาพที่เห็นกันที่ผ่านมาคือวัดเป็นแหล่งสะสมความมั่งคั่งขณะที่ชาวบ้านรอบวัดเป็นอยู่อย่างเดือดร้อนและอัตคัดขัดสน

ดังนี้แล ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้วัดกับชุมชนอยู่อย่างไม่สัมพันธ์กันดังแต่ก่อน วัดและพระสงฆ์อยู่อย่างแปลกแยกกับชาวบ้านมากขึ้น ต่างฝ่ายต่างแทบปฏิสัมพันธ์กันในแง่จารีตเหมือนแต่ก่อน หากความสัมพันธ์เป็นไปในแง่พิธีกรรม และศาสนพิธีที่เลี่ยงเสียมิได้เท่านั้นเอง

กรณีอื้อฉาวเงินวัดในส่วนคณะสงฆ์ส่วนกลาง หรือ มหาเถรสมาคม (มส.) เอง ก็เป็นแต่เพียงตั้งรับอยู่กับที่ ไม่มีกิจกรรมก้าวหน้าหรือเชิงรุก ชี้ให้เห็นถึงการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับกับกระแสทัศน์แบบ 4.0 ครั้นเกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นก็หวังถึงการช่วยเหลือทำนองการได้รับหรือการแสดงออกถึงความเข้าใจจากฆราสชาวพุทธโดยถ่ายเดียว มิไยว่าแนวทางการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องของชาวพุทธในแบบ 4.0 นั้น ควรต้องมาจากฟากของพระเถระเองด้วย ดังนั้น เมื่อพูดกันถึงประเด็นนี้ ตำแหน่งโฆษกของมส. จึงไม่น่าจะเป็นตำแหน่งที่จำเป็นอีกต่อไป

อีกประการหนึ่งก็คือ หากมองเข้าไปใน มส. แล้วเราจะเห็นว่ามีพระเถระที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญเชิงวิชาการอยู่ในนั้น (เช่น พระพรหมบัณฑิต เป็นต้น) ก็ทำไมเล่าพระรูปที่มีความสามารถดังกล่าวจึงไม่ออกมาแสดงความเห็นว่าอะไรเท็จอะไรจริง แม้จะเป็นตามทัศนะของท่านก็ตาม หากน่าจะดีกว่าปล่อยให้เกิดความคลุมเครือสงสัยในบรรดาพุทธศาสนิกชนทั่วโลก โทษกันไปมาอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

การใช้กลยุทธ์ซื้อเวลาหรือ “ให้เวลากลบกระแส” เหมือนที่ผ่านๆ มาจึงอาจล้าสมัยเสียแล้วกับปัญหากรรมเดียวกันแต่เกิดขึ้นต่างวาระแบบนี้

ลองเป็นอย่างนี้ แม้โดยนโยบายของรัฐไทย ยังไม่ถือว่าแยกรัฐออกจากศาสนา แต่โดยพฤตินัยแล้วจะมีอะไรต่างกันด้วยเล่า กับ “แยกอัตโนมัติรัฐ-ศาสนา” 555

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.