Posted: 31 Jul 2018 12:00 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-07-31 14:00



ทวีศักดิ์ เกิดโภคา: เรื่อง

นัฐพล ไก่แก้ว: ภาพประกอบ


หลังอิ่มหนำถ้วนหน้ากับทุเรียนแสนอร่อยราคาแพงในปีนี้ และปรากฏการณ์ “แจ๊คหม่า” เราจะสรุปภาพรวมการปลูกทุเรียน หลังเกษตรกรเริ่มโค่นพืชอื่นหันมาปลูกทุเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ ลงท้ายจะเหมือนยางพาราหรือไม่ เพื่อนบ้านของเราที่เป็นคู่แข่งในตลาดทุเรียนอย่างสำคัญ ประเทศไหนอยู่ตรงไหน แล้วยักษ์ใหญ่อย่างจีนเข้ามายึดกุมกี่จุดแล้วในเส้นทางการค้าทุเรียน

เป็นเรื่องที่ตื่นเต้นกันพอสมควรหลังรัฐบาลไทยทำความตกลงกับบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่แห่งแดนมังกรอย่าง อาลีบาบา ของแจ๊ค หม่า โดยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ว่าด้วยการนำร่องโครงการจัดซื้อสินค้าเกษตร ได้แก่ ทุเรียนและข้าว เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2561 จากนั้นเพียง 1 วัน สื่อหลายสำนักพากันพาดหัวใหญ่ปรากฎการณ์แจ๊ค หม่า ใช้พลังอีคอมเมิร์ซขายทุเรียนหมอนทอง 80,000 ลูกลูกละประมาณ 1,000 บาท หมดภายใน 1 นาทีผ่านแอปพลิเคชั่น Tmall สิ่งที่เกิดขึ้นถูกกล่าวขานราวกับเวทมนต์

ทว่าผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนชาวไทย หรือล้ง [1] กลับชี้ให้เห็นว่าจำนวนทุเรียน 80,000 ลูกนั้นเป็นปริมาณทุเรียนที่ส่งออกไปยังประเทศจีนอยู่แล้วตลอดเดือนเมษายน ก่อนมีการลงนาม MOU และถือเป็นปริมาณการสั่งซื้อปกติ โดยวันหนึ่งๆ มีการส่งทุเรียนไปจีนอย่างน้อย 2,000 ตันต่อวัน ทุเรียน 80,000 ลูกมีน้ำหนักเพียง 240 ตัน ส่วนราคาที่เพิ่มสูงขึ้นก็ไม่เกี่ยวกับ MOU แต่อย่างใด หากแต่เกิดจากปัญหาการขนส่งทุเรียนไปยังประเทศจีนทำให้สินค้าขาดตลาด ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น

สัญชัย ปุรณะชัยคีรี ประธานกรรมการบริษัท ริชฟิลด์ เฟรชฟรุ๊ต จำกัด บริษัทผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปรากฎการณ์ แจ๊ค หม่า ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแต่เพียงการโฆษณาเสียมากกว่า แม้ว่าจะขายได้ 80,000 ลูก ใน 1 นาที แต่ขายขาดทุนกิโลกรัมละ 100 บาท รวมๆ แล้วขาดทุนเพื่อการโฆษณาไป 4 ล้านเหรียญ

“เขาขาดทุนไป 4 ล้านเหรียญ แล้วมันก็ไม่ได้ขายยาก เขามีเครือข่ายของเขา มันเป็นการสร้างภาพลักษณ์ เป็นการสร้างกระแส เพื่อแลกกับสิทธิพิเศษทางการค้าเท่านั้น แจ๊ค หม่า ไม่ได้เป็นคนทำให้ทุเรียนขึ้นราคา ทุเรียนมันขึ้นราคาตามกระแสตลาด แล้วเขาใช้กระแสนี้มาสร้างอิมเมจให้ตัวเอง ไม่มีเขา ราคาทุเรียนก็ราคานี้อยู่แล้ว บ้าจี้กันไปหมด” สัญชัยกล่าว

จะอย่างไรก็ตาม เรื่อง “ทุเรียน” กลายเป็นข่าวที่มีให้อ่านแทบทุกวันตลอดฤดูกาลของทุเรียนในปีนี้ แต่ข่าวที่ดูจะโดดเด่นจากบรรดาข่าวทุเรียนราคาดี ทุเรียนไม่พอขาย หรือกระทั่งข่าววิ่งราวทุเรียน คือ ปีนี้ในหลายพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย เกษตรกรเริ่มทยอยโค่นพืชพันธุ์ที่เคยปลูกอยู่ก่อนหน้าแล้วหันมาปลูกทุเรียนแทน เพื่อตอบสนองกับกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของจีน ด้วยเหตุที่คนชั้นกลางในจีนขยายตัวอย่างรวดเร็วอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปฎิรูปเศรษฐกิจโดยการเปิดเสรีการค้าการลงทุนต่อเนื่องมา 30 ปี จนจีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก
พื้นที่ปลูกทุเรียนในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลจากภาพรวมพื้นที่ปลูกทุเรียนจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่าปี 2558[2] มีพื้นปลูกที่ให้ผลแล้วทั้งหมด 498,952 ไร่ พื้นที่ปลูกทั้งหมด 618,709 ไร่ มีผลผลิตรวมทั้งสิ้น[3] 603,332 ตัน ทั้งหมดร้อยละ 84.29 เป็นทุเรียนหมอนทอง ปี 2559[4] มีพื้นที่ให้ผลลดลงเหลือ 495,981 ไร่ แต่มีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 621,689 ไร่ และมีผลผลิตรวมทั้งสิ้น 613,593 ตัน ทั้งหมดร้อยละ 89.59 เป็นทุเรียนหมอนทอง ปี 2560[5] มีพื้นที่ให้ผลทั้งหมด 581,659 ไร่ มีผลผลิตทั้งสิ้น 517,955 ตัน คาดว่าปี 2561 จะมีพื้นที่ปลูกทุเรียนซึ่งสามารถให้ผลผลิตได้แล้วทั้งหมด 611,186 ไร่ จากข้อมูลทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ปลูกทุเรียนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งนี้สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คาดว่าผลผลิตทุเรียนปีนี้จะมีประมาน 760,000 ตัน[6]

หากดูรายจังหวัด ข้อมูลในปี 2559 พบว่าจันทบุรีเป็นจังหวัดที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดมีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 165,046 ไร่ รองมาเป็นจังหวัดชุมพร 138,801 ไร่ นครศรีธรรมราช 60,194 ไร่ ระยอง 52,706 ไร่ สุราษฎร์ธานี 46,113 ไร่ นอกจากนี้ข้อมูลยังเผยให้เห็นว่า ไม่ได้มีแต่เพียงภาคใต้หรือภาคตะวันออกเท่านั้นที่มีการปลูกทุเรียน


สำหรับราคาเฉลี่ยทุเรียนพันธุ์หมอนทอง[7] พบว่านับตั้งแต่ปี 2551 ราคาทุเรียนหมอนทองที่เกษตรกรขายได้ที่หน้าสวน มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จากราคาเฉลี่ย 20.93 บาทต่อกิโลกรัมจนมาถึง 81.73 บาทต่อกิโลกรัมในปี 2561 ขณะที่ราคาทุเรียนสูงสุดที่ขายได้คือ 134.98 บาทต่อกิโลกรัมในเดือนมีนาคม 2560 ส่วนในปี 2544 – 2550 ทุเรียนหมอนทองมีราคาเฉลี่ยไม่ถึง 20 บาท ต่อกิโลกรัม

ไทยครองแชมป์ส่งออกทุเรียนไปจีน ตำแหน่งนี้กำลังถูกท้าทาย

ในภาพใหญ่ จีนเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญประเทศหนึ่งของไทย นับตั้งแต่ปี 2553 จีนกลายเป็นประเทศผู้ซื้อสินค้าส่งออกจากประเทศไทยมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 1 มูลค่าทั้งหมด 678,631.83 ล้านบาท แม้ในปี 2558-2559 ประเทศผู้ซื้อสินค้าส่งออกจากประเทศไทยจะพลิกกลับมาเป็นสหรัฐอเมริกา

ในปี 2560 จีนได้กลับขึ้นมาอยู่ในอันดับ 1 อีกครั้ง มีมูลค่าทั้งหมด 995,474.82 ล้านบาท คิดเป็น 12.47 % ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย รองมาเป็นสหรัฐอเมริกา 898,823.30 ล้านบาท 11.23 % ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

นอกจากนี้ในปี 2553 ยังเป็นปีที่จีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ขณะที่ในปี 2557 จีนกลายเป็นประเทศที่ขายสินค้าให้กับประเทศไทยเป็นอันดับ 1 มีมูลค่าทั้งหมด 1,251,528.28 ล้านบาท ปี 2560 มีมูลค่าทั้งหมด 1,514,987.66 ล้านบาท คิดเป็น 19.97 % ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของไทย รองมาเป็นญี่ปุน 1,097,916.09 ล้านบาท คิดเป็น 14.47% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด [8] ทั้งหมดนี้คือหนึ่งสิ่งที่เป็นหลักฐานยันว่า จีนเป็นประเทศที่มีอิทธิพลในทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทยอีกประเทศหนึ่ง


ตลาดส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง 15 อันดับ ตั้งแต่ปี 2558-2561
ข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

ในกลุ่มสินค้าหลักของไทยที่ส่งออกไปยังประเทศจีน ทุเรียนจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าประเภทผลไม้สด แช่แข็ง แช่เย็นและอบแห้ง ซึ่งถือเป็นสินค้าที่ติดอยู่ใน 15 อันดับที่มีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศจีนมากที่สุด

ในปี 2660 มีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศจีนทั้งสิ้น 22,396.91 ล้านบาท จากมูลค่าส่งออกทั้งหมด 75,700.46 ล้านบาท ขณะที่ประเทศซึ่งนำเข้าสินค้าประเภทนี้จากไทยเป็นอันดับ 1 คือประเทศเวียดนาม มีมูลค่าทั้งสิ้น 34,867.58 ล้านบาท แต่จีนก็ยังถึงว่าเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ เพราะความเป็นจริงแล้ว อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เคยอธิบายกับบีบีซีไทย[9]ว่า ผลไม้ที่ส่งออกไปเวียดนามนั้น บริโภคภายในประเทศเวียดนามเพียงร้อยละ 30 ที่เหลือนำไปแปรรูปหรือติดฉลากว่า Made in Vietnam เพื่อส่งไปขายในจีนต่อ โดยอาศัยความได้เปรียบทางด้านภาษี


ตลาดส่งออกทุเรียนสดของไทย 15 อันดับ ตั้งแต่ปี 2558-2561
ข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

ขณะที่การส่งออกทุเรียนของประเทศไทยนั้นมีตลาดส่งออกหลักอยู่ที่ จีน เวียดนาม และฮ่องกง มูลค่าการการส่งออกทุเรียนสดให้กับ 3 ประเทศในปี 2560 มีมูลค่า 21,239.46 ล้านบาท จากมูลค่าทั้งหมด 22,098.44 ล้านบาท และเมื่อเทียบส่วนต่างจากมูลค่าการส่งออกทุเรียนสดในปี 2558 และ 2559 จะพบว่าการส่งออกทุเรียนมีมูลค่าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 2558 มีมูลค่า 13,246.39 ล้านบาท ขณะที่ปี 2559 มีมูลค่า 17,505.76 ล้านบาทเท่านั้น

ตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ประกอบความต้องการซื้อที่มหาศาลจากประเทศจีน ดูแล้วจะเป็นไปในทางที่ดี เกษตรกรไทยในเวลานี้ต่างปลูกทุเรียนหมอนทองกันเพิ่มมากขึ้น กระนั้นก็ตามประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่สามารถปลูกทุเรียนได้

คู่แข่งสำคัญของไทยคือ มาเลเชีย ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ[10] ระบุว่ามาเลเชียในปี 2560 มีพื้นที่ปลูกทุเรียนซึ่งให้ผลได้แล้วทั้งสิ้น 319,053 ไร่ จากพื้นที่ปลูกทั้งหมด 441,298.75 ไร่ ในปี 2558 มีผลผลิตทั้งสิ้น 368,270.7 ตัน หากเทียบกับไทยมาเลเชียมีพื้นที่ปลูกน้อยกว่าไทยครึ่งหนึ่ง

แม้พื้นที่ปลูกและผลผลิตจะน้อยกว่าเรา แต่มาเลเชียมีจุดเด่นที่สายพันธุ์ทุเรียนซึ่งได้รับการยอมรับในระดับ Premium Grade นั่นคือ พันธุ์มูซานคิง เป็นพันธุ์พื้นเมืองของมาเลเชียและได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งทุเรียน” เพราะมีรสชาติดี เนื้อเนียนสีแหลืองเข้ม รสชาติหวานมัน มีกลิ่นเฉพาะตัว และเป็นที่นิยมของชาวจีน มูซานคิงมีราคาสูงกว่าหมอนทองมาก ตกกิโลกรัมละประมาณ 300-400 บาท

สำหรับการส่งออก ในปี 2559 มาเลเซียส่งออกทุเรียนในรูปผลไม้แช่แข็งในปริมาณราว 1,300 ตัน มีตลาดส่งออกหลักอยู่ที่จีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78 ของการส่งออกรวมทั้งหมด ขณะที่รัฐบาลมาเลเชียกำลังสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อปีให้มากถึง 303,000 ตัน

สัญชัย ปุรณะชัยคีรี ในฐานะผู้ส่งออกผลไม้รายใหญ่ของไทยเห็นว่า หากย้อนหลังกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ต้องยอมรับว่าไทยเป็นประเทศเจ้าผลไม้แห่งเอเชีย แต่ในวันนี้ไทยเริ่มมีคู่แข่งที่แข็งแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับทุเรียน ประเทศไทยเคยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ผลิตทุเรียนดีที่สุดในโลก แต่วันนี้อาจไม่ใช่แล้ว เพราะเวลานี้ทุเรียนที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในโลกอยู่ในประเทศมาเลเชีย โดยมูซานคิงได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดทุเรียนโลก สถานการณ์ในวันนี้มาเลเชียเป็นประเทศที่ผลิตทุเรียนคุณภาพดีที่สุด เพียงแต่ประมาณยังน้อยเกินไป

สัญชัย ระบุด้วยว่า เวียดนามเองก็กำลังขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย เพราะมีการแข่งผลิตทุเรียนหมอนทอง โดยมีการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนวันละประมาณ 500 ตัน ขณะเดียวกันมาตราการในการจัดการคุณภาพทุเรียนของไทยเองก็ด้อยลง เพราะมีการตัดทุเรียนอ่อน และกำลังจะเป็นปัญหาการส่งออกทุกเรียนในอนาคตอันใกล้ หากเทียบกันมาเลเชียมีทุเรียนที่คุณภาพดีกว่า ส่วนเวียดนามมีต้นทุนในการขนส่งน้อยกว่า ใช้เวลาเดินทางเพียง 18 ชั่วโมงขณะที่ไทยใช้เวลาส่งทุเรียนไปยังประเทศจีนประมาณ 3 วัน สุดท้ายแล้วประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่ส่งออกที่ได้แต่ปริมาณ คุณค่าไม่ได้ ซึ่งภาวะนี้มีความอ่อนไหวกับตลาดมาก เป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์[11] ระบุว่า ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาเวียดนามได้เปลี่ยนไปปลูกทุเรียนพันธุ์ใหม่แทนพันธุ์ท้องถิ่น ซึ่งพันธุ์ที่เลือกปลูกส่วนใหญ่เป็นพันธุ์หมอนทอง มีสัดส่วนร้อยละ 40 ของพื้นที่ปลูกทุเรียนทั่วประเทศ

“วันนี้ทุกคนยังมองว่าทุเรียนราคาดี โค่นยางปลูกทุเรียน โค่นมังคุดปลูกทุเรียน แล้วมันก็จะเหมือนกับลำไยที่มีการซื้อกับข้ามปี แล้ววันหนึ่งก็บอกว่าไม่เอาแล้ว หรือยางพาราเคยได้ราคา 130 บาท แต่พอปริมาณมันเยอะขึ้น ประเทศคู่แข่งมากขึ้น ทีนี้ก็ต้องบอกว่า 50 บาทก็ขอเถอะ มันมีมีอะไรง่ายๆ แล้วถ้ายังไม่มีการพัฒนาอะไร ตอนนี้ประเทศข้างๆ เราพัฒนากันหมดแล้ว เราพัฒนาไม่ทัน นี่คือปัญหาใหญ่” สัญชัยกล่าว

นอกจากประเทศมาเลเชียที่ถือเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยแล้ว อัทธ์ พิศาลวานิช ยังเผยข้อมูลให้เห็นว่า อินโดนีเซียเองก็เป็นประเทศที่ปลูกทุเรียนได้มากถึง 1 ล้านตันต่อปีในปี 2559 จากพื้นที่ปลูกทั้งหมดเพียง 382,787 ไร่ ส่วนใหญ่เน้นบริโภคภายในประเทศ ฟิลิปปินส์เองก็ปลูกทุเรียน103,856.25 ไร่ มีผลผลิต 71,444 ตัน ในขณะที่เวียดนามปลูกทุเรียนทางตอนใต้ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง มีพื้นที่ปลูก 168,759 ไร่ ให้ผลผลิต 259,436 ตัน ส่วนกัมพูชา มีพื้นที่ปลูก 7,456 ไร่ ได้ผลผลิต 3.3 หมื่นตัน ทั้งหมดนี้คือหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าแม้ปัจจุบันไทยยังเป็นแชมป์ส่งออกทุเรียน แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้คือ ความท้าทาย
นิทานยางพารา สู่อนาคตทุเรียนไทย

ทุเรียนที่ดีต้องสีเหลืองเข้ม นี่คือเทรนด์ทุเรียนในตลาดจีนปัจจุบัน สัญชัยชี้ให้เห็นว่าในช่วงปีที่ผ่านมาทุเรียนเนื้อเหลืองเข้มเช่นพันธุ์กระดุม ชะนี พวงมณี ก้านยาว ราคาไม่ตกยังยืนราคาได้ ในขณะที่ทุเรียนสีเหลืองอ่อนอย่างหมอนทอง ราคาขึ้นๆ ลงๆ ตามความต้องการของตลาด

ภายใต้เทรนด์ดังกล่าว สัญชัยขยายภาพให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งดูจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม เพราะเกษตรกรไทยหลายรายหันมาปลูกทุเรียนพันธ์หมอนทองเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นทุเรียนที่ผลโตมีน้ำหนักมากและให้ผลผลิตต่อต้นสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ เขาคาดการณ์ว่าทุเรียนหมอนอาจจะล้นตลาดใน 5 ปีข้างหน้า

“มีคนชอบพูดเข้าข้างตัวเองว่า ทุเรียนเป็นโรค ติดเชื้อรา มีโรคอื่นๆ แล้วก็ไม่กลัวว่ามีคนปลูกเยอะ แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่เพราะอัตราส่วนที่จะรอดมีสูงกว่าต้นที่จะตาย และตลาดในช่วงที่ผ่านมา 3 ปี เรียกได้ว่าโตไปกว่า 100-200 เปอร์เซ็นต์ ต่อไปก็อาจจะมีการชะลอตัว และจะไม่ได้ราคาเหมือนตอนนี้” สัญชัยกล่าว

คล้ายกับ อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งมองว่า เวลานี้หลายประเทศพยายามผลักดันเรื่องทุเรียนน ประเทศไทยเองก็ขยายพื้นที่การปลูก เนื่องจากเกษตรกรเห็นว่าทุเรียนมีราคาดีขึ้น แต่คำถามที่สำคัญคือ ตอนนี้เรายังไม่รู้เลยว่าอีก 5 ปีข้างหน้าความต้องการทุเรียนจะเพิ่มขึ้นเท่าไร ขณะที่การผลิตมีมากขึ้นทั้งจากไทยเองและประเทศเพื่อนบ้านที่อย่างมาเลเชียและเวียดนาม ทั้งหมดตลาดทุเรียนร้อยละ 80 อยู่ที่จีน นั่นหมายความว่าในตลาดมีผู้ซื้อรายใหญ่อยู่คนเดียว แต่กำลังมีผู้ผลิตเพิ่มมากขึ้นทุกปี

“โจทย์ใหญ่ในวันนี้ ในอีก 5 ปีข้างหน้าเราต้องมีตัวเลขการผลิตทั้งของเราเอง และของประเทศเพื่อนบ้าน มีตัวเลขเท่าไหร่ ความต้องการของตลาดมีอยู่เท่าไหร่ หากเรามองตรงนี้ชัด มันจะทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้น แต่วันนี้เรายังมองไม่เห็นตรงนั้น” อัทธ์ กล่าว

หากเทียบประเทศในอาเซียน มาเลเชียและเวียดนามคือ สองประเทศที่มีศักยภาพในการขึ้นมาเป็นคู่แข่งขันในตลาดทุเรียนกับไทยมากที่สุด สัญชัยให้ข้อมูลว่า ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลเวียดนามให้การสนับสนุนเกษตรกรเพิ่มเพิ่มผลผลิตทุเรียนนอย่างเต็มที่ คุณภาพทุเรียนหมอนทองที่เวียดนามกับไทยไม่แตกต่างกัน เพราะอยู่ในพื้นที่ที่มีเส้นรุ้งเส้นแวงเท่ากันหมด เช่นเดียวกับกันอัทธ์ที่ชี้ว่าในช่วงที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของมาเลเชียประกาศว่า มาเลเชียตั้งเป้าที่จะเป็นผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ของโลก

แม้ทุกวันนี้ไทยจะยังคงเป็นประเทศเดียวที่มีผลผลิตที่ผ่านมาตรฐานการค้าทุเรียนกับจีน[12] โดยสาระสำคัญอยู่ที่ผลผลิตจะต้องได้รับการรับรองแหล่งผลิต GAP ใช้โรงคัดบรรจุที่ได้รับการรับรอง GMP และทุเรียนที่จะส่งออกได้ต้องปลอดจากศัตรูพืชควบคุมของจีน ทำให้เป็นประเทศเดียวที่สามารถส่งทุเรียนสดไปขายที่จีนได้ แต่ก็ใช่ว่าไทยจะเป็นประเทศเดียวอีกต่อไป ทั้งสองประเทศพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพผลิตผลให้ผ่านมาตรฐานดังกล่าว

สถานการณ์ทุเรียนที่เป็นอยู่ในเวลานี้มีโอกาสที่ซ้ำรอยกับกรณีของยางพารา เพราะเป็นพืชที่ปลูกได้ในหลายประเทศในอาเซียน เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ผลผลิตล้นตลาด ราคาก็จะตกลงตามธรรมชาติ ทุเรียนหมอนทองก็กลายเป็นทุเรียนอุตสาหกรรมที่ต้องนำไปแปรรูปมากขึ้น

สัญชัย เห็นว่า หากจะเดินผ่านสถานการณ์นี้ไปได้เกษตรกรควรจะหันมาปลูกทุเรียนที่หลากหลายสายพันธุ์มากขึ้น ไม่ควรทุ่มกำลังผลิตไปกับทุเรียนหมอนทองทั้งหมด ขณะที่อัทธ์เห็นว่าเมื่อผลผลิตกำลังจะเพิ่มขึ้น ก็มีความจำเป็นต้องเร่งหาตลาดเพิ่มขึ้น เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น พร้อมกันกับเพิ่มศักยภาพให้กับสหกรณ์การเกษตรเพื่อที่จะดำเนินการส่งออกสินค้นไปยังต่างประเทศเองให้ได้มากขึ้น อีกทั้งจำเป็นต้องมีการคิดค้นการแปรรูปทุกเรียนในหลายหลากรูปแบบ นอกจากนี้ต้องทำมาตรฐานทุเรียนไทยให้เป็นที่ยอมรับและต้องมีความแตกต่างจากทุเรียนประเทศอื่นๆ
มองสองมุมเรื่อง “ล้งจีน” ครองตลาดทุเรียนไทย

การส่งออกทุเรียนจากสวนไปถึงมือผู้บริโภคในประเทศจีนโดยหลักแล้วจะขนส่งทางถนน ผู้ที่เป็นตัวเชื่อมสะพานนี้คือ ล้ง หรือผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ โดยจะมีการเข้าไปรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรจากสวน นำมาคัดแยกคุณภาพแล้วดำเนินการส่งออกไปขายยังประเทศจีน ผู้ที่เข้ามาทำธุรกิจนี้ไม่ได้มีเฉพาะคนไทยเท่านั้น

รายงานการพิจาณาศึกษาเรื่อง การตั้งโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) ของผู้ประกอบการต่างชาติในจังหวัดจันทบุรี ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 2559[13] เผยให้เห็นข้อมูลจากศูนย์วิจัยพืชสวนจังหวัดจันทบุรีซึ่งระบุว่าในเวลานั้นจันทบุรีมีโรงคัดบรรจุผลไม้ที่ได้รับการรับรองคุณภาพและมาตรฐาน GMP ทั้งหมด 122 แห่ง แบ่งเป็นทุเรียน 38 แห่ง มังคุด 24 แห่ง ลำไย 34 แห่ง กล้วยไข่ 1 แห่งและผลไม้รวมอีก 25 แห่ง โดยในจำนวนทั้งหมดเป็นกิจการของพ่อค้าชาวจีนไม่ถึงครึ่ง แต่กลับพบว่ามีปริมาณการซื้อสินค้าร้อยละ 70 ของปริมาณทั้งหมดในจังหวัด โดยสินค้าที่มีปริมาณการซื้อมากที่สุดคือ ทุเรียน

ในด้านหนึ่ง สัญชัยมองว่า การที่นักธุรกิจจากจีนเข้ามารับซื้อสินค้าจากเกษตรกรเองเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยกระจายสินค้าให้ไปทั่วประเทศจีน และล้งจีนกลุ่มทุเรียนมีความหลากหลาย ยังไม่มีความเป็นเอกภาพ ต่างคนต่างแย่งกันซื้อสินค้า แตกต่างจากกรณีของลำไยเพราะโรงอบแห้งมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งจึงทำให้ล้งจีนกลุ่มลำไยรวมตัวกันเพื่อผลประโยชน์ได้ง่ายกว่า โดยสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ผู้ที่จะเสียผลประโยชน์คือ ล้งไทยรายย่อย ซึ่งจำเป็นตัวปรับตัวเพื่อตามความเปลี่ยงแปลงให้ทัน

อย่างไรก็ตามรายงานของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สนช. กลับตรวจพบว่า ระยะหลังมานี้พ่อค้าชาวจีนได้เข้ามาประกอบธุรกิจโดยอาศัยชื่อคนไทยในลักษณะของการเป็นตัวแทนแอบแฝง และด้วยความที่มีเงินทุนสูงจึงมักรับซื้อสินค้าในราคาที่สูงกว่าพ่อค้าชาวไทย ทำให้ล้งไทยไม่สามารถแข่งขันได้ หลายรายต้องหันไปประกอบอาชีพอื่น จึงยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าหากสถานการณ์ยังคงเป็นแบบนี้ไปอีก 5 ปี อาจจะทำให้ธุรกิจรับซื้อผลไม้ในจังหวัดจันทบุรีตกอยู่ในมือของล้งจีนทั้งหมด และอาจจะส่งผลต่อการเกิดวิกฤติราคาและตลาดผลไม้

ดังเช่นกรณีของลำไย ปี 2537 มีพ่อค้าชาวจีนและไต้หวันเริ่มเข้ามารับซื้อสินค้าเพื่อไปขายต่อ ทำให้ราคาปรับสูงขึ้น จนทำห้เกษตรกรหันมาปลูกลำไยมากขึ้น จากนั้นพ่อค้าชาวจีนก็ได้ขยับจากการรับซื้อสินค้าเพียงอย่างเดียว เข้ามาลงทุนทำโรงรับซื้อและคัดแยกลำไย แต่ยังใช้ชื่อคนไทยเป็นตัวแทนแอบแฝง จากการตรวจของสำนักข่าว TCIJ[14] พบว่าปัจจุบันมีการจดทะเบียนโรงรับซื้อลำไยทั้งหมด 112 โรง ร้อยละ 90 เป็นของพ่อค้าจีน ทำให้มีอำนาจในการต่อรองสูง ส่วนล้งไทยที่มีอยู่เดิมส่วนมากได้เลิกกิจการไป เนื่องจากนักลงทุนจีนมีระบบเงินทุนหมุนเวียนที่ดีกว่า มีการจองผลผลิตด้วยเงินสด และผู้ประกอบการชาวไทยไม่สามารถสู้ราคาได้ จึงได้ปรับตัวด้วยการให้คนจีนเช่าโรงคัดแยกผลผลิตที่มีอยู่ แล้วผันตัวเองไปเป็นผู้รับจ้างรวบรวมผลผลิต ตามความต้องการของผู้ประกอบการคนจีนที่มีออเดอร์เข้ามา

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่ล้งจีนจะเข้ามาควบคุมตลาดทุเรียน โดยตอนนี้ล้งต่างชาติมีอยู่ 2 ประเภทคือ ล้งปกติที่เป็นคนต่างชาติที่เข้ามาเหมาสวนทุเรียน รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร และล้งที่เป็นล้งออนไลน์ก็มีโอกาสที่อาจจะผูกขาด และหากมีความกังวลในเรื่องนี้ สหกรณ์ก็ต้องปรับตัวเพิ่มขีดความสามารถที่จะนำทุเรียนส่งออกไปต่างประเทศเองได้

เขามองต่อไปว่า การเข้ามาของแจ๊ค หม่า ด้านหนึ่งส่งผลดีที่จะส่งกระจายสินค้าจากไทยไปตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งช่องทาง แต่อย่าลืมว่าอาลีบาบาเป็นหน้าร้าน เหมือนห้างๆ หนึ่ง เขาก็จะต้องหาของมาขายในห้าง และของเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมาจากไทยเท่านั้น เขาอาจเอาของมาเลเชียมาด้วย คำถามที่สำคัญคือ สินค้าเราเมื่อเข้าไปอยู่ในอาลีบาบา มันอาจจะธรรมดามาก ต้องมีอะไรที่แตกต่าง ฉะนั้นจึงต้องสร้างเอกลักษณ์ของเราให้ได้

“อาลีบาบา จริงๆ แล้วก็คือล้งออนไลน์ แต่การขนส่งทุเรียนยังเป็นของเราอยู่ หากอนาคตเขาเอาระบบการขนส่งของเขาเข้ามาด้วย เขาก็จะคุมได้หมด อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ลองไปดูที่ห้วยขวางสิ ห้องแถวต่างๆ มีแต่ผู้ประกอบการที่เป็นคนจีน ถามว่ากฎระเบียบต่างๆ ไม่มีเหรอ มันก็มีแต่ก็เห็นอย่างที่ปรากฎอยู่ การบังคับกฎหมาย กฎระเบียบที่เรามีอยู่ยังไม่ครอบคลุมหรือ ไม่ได้ให้แต้มต่อกับผู้ประกอบการชาวไทยหรือเปล่า” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ กล่าว

ในอีกด้านหนึ่ง ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ตลาดดอทคอม ให้สัมภาษณ์ในรายการตอบโจทย์[15] หลังจากมีข่าวการขายทุเรียนของแจ๊คหม่าว่า แม้จะมีการพูดว่าจะนำสินค้าไทยไปขายยังประเทศจีน ส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการชาวไทยและสนับสนุนการท่องเที่ยวไทย แต่นี่คือความจริงเพียงด้านเดียว เขาเห็นว่าการเข้ามาของแจ๊คหม่านั้นยังมีความจริงอีกด้านหนึ่งที่ยังไม่มีการพูดถึง สิ่งที่แจ๊คหม่ากำลังทำคือการสร้างประตูที่คนไทยสามารถเอาสินค้าไปขายยังประเทศจีนได้ มีกลไกพิเศษมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย แต่ในทางกลับกันประตูนี้จะเป็นช่องทางในการนำสินค้าเข้ามาในไทยได้เช่นกัน และมีเป็นไปได้ว่ากองทัพสินค้าจากประเทศจีนจะไหลเข้ามาในไทย ซึ่งย่อมส่งผลต่อผู้ประกอบการชาวไทยแน่นอน

ภาวุธเห็นว่า สิ่งที่น่ากังวลสำหรับการเข้ามาของธุรกิจอย่างอาลีบาบา หรือนักธุรกิจจีนในกลุ่มอื่น เขาไม่ได้เข้ามาเพียงธุรกิจเดียว เขามีเรื่องอีคอมเมิร์ชเข้ามา มีเรื่องการเงินอิเล็กทรอนิกส์ มีเรื่องของการขนส่ง ซึ่งสามารถรู้ได้หมดว่ามีสินค้นอยู่ที่ไหนบ้าง คนซื้ออะไรบ้าง สินค้าประเภทไหนขายได้หรือขายไม่ได้ พฤติกรรมผู้บริโภคเป็นอย่างไร ทั้งหมดนี้คือข้อมูลมหาศาลที่เขาจะได้ และจะทำให้เขาเข้าใจคนไทยมากกว่าคนไทยเข้าใจตัวเอง เขาสามารถนำเข้ามูลเหล่านี้มาคาดการณ์ และวางแผนการขายในอนาคตได้

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ทิ้งทายว่าสถานการณ์ทุเรียนไทยเป็นเพียงภาพหนึ่งที่ทำให้เห็นพลังทางเศรษฐกิจของประเทศจีน จีนเป็นตลาดที่ใหญ่มาก 33 มณฑลมีกำลังซื้อเยอะ มีรายต่อหัวเพิ่มมากขึ้น เรียกได้ว่ามีตลาดเป็นหลักประกัน

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน[16] ระบุว่า ในปี 2560 GDP เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.9 จีนมีประชากรจำนวน 1.39 พันล้านคน เพิ่มขึ้น 7.37 ล้านคนจากปี 2559 โดยจีนมีประชากรเพศชาย 711.37 ล้านคน และเพศหญิง 678.71 ล้านคน มีประชากรวัยทำงาน (อายุ 16 – 59 ปี) จำนวน 901.99 ล้านคน ครองสัดส่วนร้อยละ 64.9 ของประชากรทั้งหมดของจีน ในปี 2560 รายได้เฉลี่ยของประชากรจีนอยู่ที่ 25,974 หยวน (130,876.38 บาท) ต่อปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 ทั้งนี้ รายได้เฉลี่ยของประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองอยู่ที่ 36,396 หยวน (183,390.19 บาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ระบุต่อว่า นอกจากพลังซื้อแล้ว จีนยังเงินทุนอีกมหาศาล คนจีนสามารถเข้ามาซื้อทุเรียนเหมาสวนในไทยได้ หรือตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา เข้ามาเปิดห้องแถวขายสินค้าส่งออกไปจีน เข้ามาทำโรงแรม นี่คือสิ่งที่ทำเห็นถึงพลังอำนาจทางการเงินของประเทศจีนที่มีผลต่อไทย

ส่วนพลังอำนาจทางนโยบายของประเทศจีน ดูได้จากโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ One Belt, One Road (OBOR) ซึ่งนี่คือนโยบายของรัฐบาลจีนที่เข้ามาช่วยส่งเสริมและผลักดันให้ธุรกิจออกไปนอกประเทศ นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางในการส่งเสริมผู้ประกอบการที่จะออกไปลงทุนในต่างชาติ ขณะเดียวกับการพัฒนาทางเทคโนโลยี และความศักยภาพในทางวิชาการของจีนก้าวล้ำหน้าไปมากกว่าทุกประเทศในอาเซียนรวมทั้งไทย

“เราพูดถึงทุเรียนเราก็เห็นการเข้ามาทำธุรกิจของนักธุรกิจจีน ทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน แต่ตอนนี้รัฐบาลจีนกำลังผลักดันให้นักวิชาการมาทำวิจัยเรื่องสินค้าเกษตรในอาเซียนแล้ว นักธุรกิจจีนไม่ได้อยู่ที่จีนอย่างเดียว แต่เขาไปทุกที่ ขณะที่สถานการณ์โลกในเวลานี้อเมริกากำลังทำสงครามทางการค้ากับประเทศจีน จีนไม่หลบนะครับ เขายืนแลกหมัด” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศกล่าว





[1] ล้งวิพากษ์จีน ! ซื้อทุเรียน 8 หมื่นลูก ชี้ออร์เดอร์ปกติก่อนเซ็น MOU “อาลีบาบา” / อ้างอิงจาก https://www.prachachat.net/local-economy/news-148618


[2] เข้าถึงได้จาก: http://www.agriinfo.doae.go.th/year59/plant/rortor/fruit1/durian.pdf


[3] เข้าถึงได้จาก: http://www2.oae.go.th/forecast/04_DEC2558/Thai/situation/sit_t_19.pdf


[4] เข้าถึงได้จาก: http://www.agriinfo.doae.go.th/year60/plant/rortor/fruit1/durian.pdf


[5] เข้าถึงได้จาก: https://www.kehakaset.com/newsactivities_details.php?view_item=327


[6] เข้าถึงได้จาก: http://thainews.prd.go.th/website_th/news/news_detail/WNPOL6104240010005


[7] ข้อมูลจาก: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เข้าถึงได้ที่ http://oldweb.oae.go.th/download/price/monthlyprice/Horticulture/durian.pdf


[8] ข้อมูลจาก: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร


[9] เข้าถึงได้จาก: https://www.bbc.com/thai/thailand-42941461


[10] ข้อมูลการผลิตและการตลาดทุเรียนในมาเลเชีย เข้าถึงได้จาก: http://www.ditp.go.th/contents_attach/226581/226581.pdf


[11] เข้าถึงได้จาก: http://www.ditp.go.th/contents_attach/138082/138082.pdf


[12] อ่านเงื่อนไขการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนได้ที่นี่: http://www.chanidservice.com/pdf/050560_16.pdf


[13] เข้าถึงได้จาก: http://library2.parliament.go.th/giventake/content_nla2557/d081859-02.pdf


[14] อ้างจาก : ทุนจีนรุกคืบทำ ‘ล้งจีน’ บุกสวนผลไม้ไทย จี้รัฐ 'ล้อมคอก-ขันน็อต-ใช้กฎหมาย' เข้าถึงได้ที่ https://www.tcijthai.com/news/2016/08/scoop/6187


[15] เข้าถึงได้จาก: https://www.youtube.com/watch?v=2b3sFsgdfCU


[16] เข้าถึงได้จาก: http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/about-china/economy.php[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.