Posted: 10 Aug 2018 09:46 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-08-10 23:46
ชัยพงษ์ สำเนียง
“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที...”
สาย สีมา “ปีศาจ” ของ เสนีย์ เสาวพงศ์
ในทศวรรษที่ 2540 กระแสการเมืองภาคประชาชนเกิดความตื่นตัวมากขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่เพิ่มช่องทาง และสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง และในช่วงเวลานี้รัฐบาลพรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เข้ามาบริหารประเทศในปี พ.ศ. 2543 – 2549 ได้มีนโยบายหลายนโยบาย เช่น กองทุนหมู่บ้านละล้าน 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการพักชำระหนี้เกษตรกร โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และโครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งสร้างผลกระเทือนต่อการเมืองไทยอย่างมาก โดยเฉพาะการกำหนดนโยบายทางการเมืองที่ประชานิยม (populism) ได้กลายเป็นรูปแบบที่นักการเมืองใช้ในการหาเสียงกันมากที่สุด
1. ประชานิยมกับประชาธิปไตยที่กินได้
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ใช้นโยบายประชานิยมเพื่อดึงคะแนนเสียงจากคนชนบทให้ได้มากที่สุด แทนที่จะอาศัยการแจกสิ่งของเงินทองผ่านระบบอุปถัมภ์แบบเดิม (ดู นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2552) เป็นนโยบายที่นักวิชาการต่างวิจารณ์ว่าเป็น “นโยบายเฉพาะหน้า” “นโยบายที่ฉาบฉวย” (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2549; เอนก เหล่าธรรมทัศน์ 2549) ไม่ได้มุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมแต่อย่างใด ส่วนแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อการทำนโยบายประชานิยมน่าจะเป็นแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนที่แพร่หลายอยู่ในสังคมไทยมากว่าสามทศวรรษก่อนหน้านั้นแล้ว คนไทยยอมรับและสนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่นกันอย่างชัดเจนโดยเฉพาะหลังวิกฤตเศรษฐกิจ และคนส่วนมากเห็นด้วยกับการสร้างชุมชนในชนบทให้เข้มแข็งเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศโดยอาศัยภูมิสังคม แต่รัฐบาลต้องการตองสนองต่อความต้องการของประชาชนหลังวิกฤตเศรษฐกิจในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากเศรษฐกิจ โดยอาศัยเอาแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนมาปรับใช้เป็นนโยบาย เพื่อแลกกับคะแนนเสียงหรือความนิยมทางการเมืองมากกว่าของคนในชนบทและคนจนในเมือง ผ่านนโยบายที่บริหารจัดการให้เงินและผลประโยชน์จากรัฐในรูปแบบต่าง ๆ ไปถึงมือชาวบ้านอย่างจับต้องได้ (ดูเพิ่มใน ฉัตรทิพย์ นาถสุภา 2553ก, 2553ข, 2554) นโยบายประชานิยมนี้คล้ายนโยบายเงินผัน สมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในปี พ.ศ.2518-2519 ที่กระจายเงินเข้าสู่ชนบทให้เงินถึงชาวบ้านโดยตรง ผ่านภาคการผลิต และทำให้การจ้างงานขยายตัว เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งเป็นต้นแบบของประชานิยมสมัยแรกๆ
นโยบายประชานิยม และผลงานด้านเศรษฐกิจนับเป็นจุดขายสำคัญของรัฐบาล พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้มาก เพราะเชื่อว่าความสามารถในการบริหารในภาคเอกชนที่ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณประสบความสำเร็จมาแล้วจะถูกนำมาใช้ในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศให้รุ่งเรือง ซึ่งรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตรได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในนโยบายเศรษฐกิจอย่างมาก โดยได้กำหนดให้การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ โดยรัฐบาลพ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตรได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจคู่ขนาน (Dual Track) ที่มุ่งใช้พลังเศรษฐกิจและทรัพยากรภายในประเทศเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจโดยให้ความสำคัญกับการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะการ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส” ให้แก่ประชาชนระดับรากฐานเพื่อสร้างอำนาจซื้อในประเทศ พร้อมกับการพยายามเร่งขยายการส่งออกของประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น และมีเงินไหลเข้าระบบเศรษฐกิจในประเทศโดยรวมมากขึ้น โดยมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ และโครงการช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมให้ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้โดยรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง นโยบายที่สำคัญ อาทิเช่น
1) พักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย 3 ปี และการลดภาระหนี้ รัฐบาลดำเนินโครงการนี้ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) โดยให้เกษตรกรสามารถเลือกที่จะพักชำระหนี้ 3 ปี โดยไม่เสียดอกเบี้ย หรือเลือกลดภาระหนี้ โดยรัฐบาลได้เข้าไปช่วยเกษตรกรในการปรับโครงสร้างและฟื้นฟูอาชีพของตนเองอีกด้วย โครงการนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 2.3 ล้านราย เป็นยอดหนี้ หรือยอดพักชำระหนี้ประมาณ 94,000 ล้านบาท หลังจากดำเนินโครงการครบ 3 ปี พบว่ายอดหนี้ลดลง 16,000 ล้านบาท คงเหลือที่ค้างชำระ 78,000 ล้านบาท และพบว่าประชาชนที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 48 เห็นว่าตนเองมีรายได้เพิ่มขึ้น และร้อยละ 46 มีเงินเก็บเพิ่มมากขึ้น (ไทยรัฐ 2549 : 2 อ้างใน เอนก เหล่าธรรมทัศน์ 2549 : 137) และลดภาระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยผ่านสถาบันเกษตรกร ซึ่งเป็นการลดภาระดอกเบี้ยร้อยละ 3 ให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกที่มีหนี้ไม่เกิน 100,000 บาท และเป็นมาตรการจูงใจให้เกษตรกรที่มีหนี้ค้างชำระส่งชำระหนี้คืนแก่สหกรณ์ ทำให้สหกรณ์มีทุนหมุนเวียนสำหรับช่วยเหลือสมาชิกเพิ่มขึ้น จะเห็นว่ามีประชาชนจำนวนมากที่เข้าร่วมโครงการนี้แม้ว่าได้ผลไม่ถึงร้อยละ 50 ของผู้เข้าร่วมโครงการ แต่ได้สร้างโอกาสให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสหาช่องทางในการประกอบอาชีพ เป็นนโยบายที่เข้าถึงเกษตรกรโดยตรง เพราะผ่านชำระผ่าน ธกส. ส่วนใหญ่ลูกค้า หรือลูกหนี้ คือ เกษตรกรรายย่อยในชนบท และในอีกแง่หนึ่งเป็นการสร้างโอกาสในเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ในชนบทได้มีเวลาในการหาเงินมาเพื่อชำระหนี้
2) แก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรตามโครงการการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตรและโครงการแผนฟื้นฟูการเกษตร โดยมีเกษตรกร 180,996 ราย ได้รับการช่วยเหลือโดยให้มีการแขวนดอกเบี้ยของเกษตรกรที่ยังคงเป็นหนี้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2547 และให้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยการขยายระยะเวลาการชำระเงินต้นออกไปไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2555 โดยงดคิดดอกเบี้ย หากเกษตรกรไม่สามารถชำระต้นเงินกู้ตามกำหนด จะต้องรับภาระดอกเบี้ยที่แขวนไว้ และดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นหลังจากวันแขวนดอกเบี้ยไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
3) ปรับโครงสร้างหนี้ของสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยรัฐบาลได้ร่วมกับสถาบันการเงิน 10 แห่ง ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ ชะลอการดำเนินคดีหรือการบังคับคดีกับสมาชิกเป็นการชั่วคราวจนกว่าการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้จะเสร็จ
4) การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อส่งเสริมกระบวนการพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านและชุมชนเมืองในด้านการเรียนรู้ การสร้างและการพัฒนาความคิดริเริ่ม รวมถึงการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม ในการจัดระบบบริหารเงินทุนหมุนเวียนในหมู่บ้านด้วยตนเอง รวมทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสให้คนในหมู่บ้านได้เข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้นและไม่ต้องพึ่งแหล่งทุนนอกระบบ และเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนระยะยาวแก่ประชาชนในชนบทที่จะสนับสนุนการดำเนินโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ด้วย
5) โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นโครงการที่ได้สร้างสวัสดิการพยาบาลอย่างทั่วหน้า โครงการนี้ได้ช่วยให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล โครงการนี้ได้ทำให้ประชาชนจำนวน 47.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 75 ของประชากรทั้งประเทศได้เข้าถึงการรักษาทางการแพทย์อย่างเท่าเทียม และประชาชนถึงร้อยละ 95.7 มีความพึงพอใจต่อโครงการนี้อย่างสูง ทำให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 10,634 ล้านบาทต่อปี และส่งผลต่อเนื่องให้จำนวนคนจนในประเทศลดลงไปถึง 700,000 คน[1] (ไทยรัฐ 2549 อ้างใน เอนก เหล่าธรรมทัศน์ 2549 : 135-136) ซึ่งโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ไม่เพียงให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์อย่างทั่วถึงแล้ว ยังได้สร้างสำนึกความเป็น “พลเมือง” ที่ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมจากภาครัฐ ซึ่งประชาชนในชนบทส่วนใหญ่มักไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง โครงการนี้จึงสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานของสังคมไทย ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีโครงการรักษาฟรีสำหรับคนจน หรือการออกหน่วยแพทย์ของโครงการการกุศลของหลายหน่วยงาน แต่ก็เป็นการสงเคราะห์เป็นครั้งคราว ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ทำให้การเข้าถึงการรักษาพยาบาลยังเกิดความแตกต่างอยู่ โดยเฉพาะคนจน มักไม่เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีพอ เพราะการเจ็บป่วยทำให้แรงงานในครอบครัวหายไปและไม่มีเงินพอที่จะรักษา แต่โครงการนี้ได้สร้างความเท่าเทียม เสมอหน้าให้คนทุกชนชั้น และเปลี่ยนความคิดจากการ “สงเคราะห์โดยรัฐ” เป็น “สวัสดิการที่รัฐควรทำ” ให้ประชาชน ทำให้ประชาชนในชนบทและคนจนเมืองชื่นชอบโครงการนี้เป็นอย่างยิ่ง
6) การปฏิรูประบบราชการ เป็นอีกโครงการหนึ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทย โดยการปฏิรูปกระทรวง ทบวง กรม และลดขั้นตอนการดำเนินงานของภาครัฐให้น้อยลง เพื่อความสะดวกรวดเร็ว เช่น ผู้ว่า CEO หรือการที่นักการเมืองสามารถเข้าครอบงำ สั่งการระบบราชการได้โดยตรง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ข้าราชการมีอำนาจในการครอบงำนักการเมือง[2] สิ่งที่เห็นอย่างชัดเจน คือ ระบบราชการตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลอย่างดี และทำให้การบริการประชาชนเป็นไปอย่างทั่วถึง เช่น “ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประชาชนขึ้นอำเภอ เข้าโรงพยาบาล ศาลากลาง ประชาชนได้รับการบริการอย่างดียิ่ง ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่เหมือนก่อนหน้านี้ที่ประชาชนต้องก้มหัวให้ข้าราชการ ข้าราชการเป็นนาย แต่ทักษิณ ทำให้ข้าราชการเป็นผู้รับใช้ประชาชน”
7) กองทุนหมู่บ้านละล้าน เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่ “ได้ใจ” ชาวบ้านมาก เพราะโครงการนี้ปล่อยกู้ให้หมู่บ้านต่างๆ ได้ถึง 80,000 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาทและมีผู้ได้รับประโยชน์ถึง 18 ล้านราย กองทุนหมู่บ้านเป็นการให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนได้โดยตรง (เอนก เหล่าธรรมทัศน์ 2549 : 136) เป็นการจัดการของคนในท้องถิ่นในการบริหารจัดการเงินจำนวนนี้ เพื่อใช้ในการลงทุน หรือประกอบกิจการขนาดเล็ก ในอดีตการเข้าถึงแหล่งทุนของชาวบ้านเป็นไปอย่างยากลำบาก และเงินทุนต่างๆ ต้องผ่านระบบราชการและไม่ตกถึงมือชาวบ้านอย่างแท้จริง แม้ว่านโยบายนี้จะได้รับการวิจารณ์จากนักวิชาการว่าไม่ก่อให้เกิดการลงทุน และพบว่ามีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่นำเงินไปลงทุน แต่พบว่ามีการชำระคืนถึงร้อยละ 94 (สมชัย จิตสุชน 2549 อ้างใน เอนก เหล่าธรรมทัศน์ 2549 : 136 - 137) ทำให้โครงการนี้เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ทำให้ประชาชนมีความชื่นชอบ แม้ภายหลังรัฐบาลต่อมา เช่น รัฐบาลนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ดำเนินการต่อและเพิ่มเงินให้กองทุนหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งธนาคารประชาชนที่เป็นอีกหนึ่งแหล่งเงินทุนที่สร้างโอกาสให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยที่ต้องการประกอบอาชีพแต่ขาดแคลนเงินทุนสามารถกู้เงินได้แทนการพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ซึ่งดำเนินการผ่านธนาคารออมสินในการช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยให้มีโอกาสกู้เงินเพื่อไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้ตนเองได้ การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นมาตรการสำคัญที่รัฐบาล พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ประกาศเป็นนโยบายและสามารถสร้างเป็นผลงานที่เห็นได้อย่างชัดเจน โดยโครงการนี้มีเป้าหมายสนับสนุน ส่งเสริม และสร้างให้เกิดผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อเป็นพื้นฐานที่เข้มแข็งและมั่นคงของเศรษฐกิจไทยให้สามารถฟื้นตัวและเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็ได้จัดตั้งธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนด้วยการสนับสนุนเงินทุน โดยการอนุมัติสินเชื่อให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เป็นการสร้างโอกาสให้เกษตรกรในการเข้าถึงแหล่งทุนโดยสามารถนำสินทรัพย์ 5 ประเภท อันได้แก่ ที่ดิน สัญญาเช่า เช่าซื้อ หนังสืออนุญาตให้ประโยชน์และหนังสือรับรองทรัพย์สินทางปัญญาและเครื่องจักร แต่โดยส่วนใหญ่จะเน้นสิทธิในการครอบครองที่ดินทำกินไปใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการใหม่ได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยมีโอกาสที่จะสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบเพื่อสร้างรายได้ ส่งผลเป็นการสร้างงานที่สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันยังได้มีการดำเนินการเร่งรัดออกโฉนดที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน และที่ดินที่ประชาชนครอบครองอยู่ในรูปแบบอื่น ๆ ให้แก่ประชาชนเพื่อนำไปใช้ค้ำประกันเงินกู้ตามแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน (ดูเพิ่มใน เอนก เหล่าธรรมทัศน์ 2549)
ความสำคัญของนโยบายประชานิยม ประการแรก คือ นโยบายประชานิยมทำให้การแข่งขันกันทางนโยบายเกิดขึ้นจริง แต่เป็นการแข่งขันทางนโยบายที่พยายามจะเป็นประชานิยมมากกว่ากันเพื่อหวังคะแนนเสียงจากผู้เลือกตั้ง ก่อนการก่อเกิดของพรรคไทยรักไทยนั้น นโยบายของรัฐบาลมักจะได้มาจากการกำหนดของเทคโนแครตหรือข้าราชการนักวิชาการ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ฯ มากกว่าที่จะมาจากนักการเมือง เมื่อมีการก่อตั้งพรรคไทยรักไทย การกำหนดนโยบายเปลี่ยนโฉมหน้าไป เพราะพรรคไทยรักไทยมีนโยบายของตัวเอง สภาพัฒน์หรือหน่วยราชการอื่นที่เคยมีบทบาทในการกำหนดนโยบายเป็นเพียงส่วนเสริมที่คอยนำเอานโยบายกว้าง ๆ ของพรรคไทยรักไทยไปแปรเป็นรูปธรรมและนำไปปฏิบัติใช้
รวมทั้งรัฐบาลเองเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายด้วยตัวเองไม่ได้หวังพึ่งข้าราชการประจำในการดำเนินงาน แต่ได้ปฏิรูประบบราชการของรัฐบาลไทยรักไทยเพื่อให้ราชการสะนองตอบนโยบาย โดยรัฐบาลเองเปรียบเสมือนการปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นความพยายามที่จะก้าวรุดหน้าไปกว่าระบบอำมาตยาธิปไตย โดยมุ่งหมายสยบข้าราชการระดับสูงให้อยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายบริหารอย่างสิ้นเชิง รัฐบาลของนายกฯ ชาติชาย เริ่มกระบวนการนี้ แต่หลังจากที่ฝ่ายข้าราชการแข็งขืน รัฐบาลของนายกฯ ชวน หลีกภัย ก็โอนอ่อนลง รัฐบาลภายใต้การนำของไทยรักไทยเริ่มต้นเหมือนในกรณีของนายกฯ ชาติชาย คือ เข้าแทรกแซงการเลื่อนขั้น แต่ไทยรักไทยไปไกลกว่านั้น และในขณะนี้การแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งสำคัญๆ ล้วนแล้วแต่เป็นการตัดสินใจโดยฝ่ายบริหาร คือเป็นเรื่องของการเมืองจริงๆ อุดมการณ์ซีอีโอท้าทายความเป็นใหญ่ของอมาตยาธิปไตย และกำหนดให้ข้าราชการเป็นผู้รับใช้นักธุรกิจ แทนที่จะเป็นผู้กำกับนักธุรกิจดังแต่ก่อน (ผาสุก พงษ์ไพจิตร 2546)
ความสำคัญประการที่สองของนโยบายประชานิยม คือ เป็นการเปิดเวทีของการถกเถียงว่านโยบายประชานิยมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร เนื่องจากผลกระทบโครงการเอื้ออาทรต่าง ๆ และนโยบายแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน ได้ถูกนักวิชาการบางท่านมองว่าเป็นนโยบายที่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในระยะยาว ในทัศนะของนักวิชาการ นโยบายประชานิยมมิใช่นโยบายที่ดีแต่เป็นนโยบายที่ทำลายกลไกปกติของตลาด ในขณะที่นักวิชาการอีกกลุ่มมองว่านโยบายประชานิยมเป็นการสร้างมูลค่าในทางเศรษฐกิจขึ้นจาการหมุนเงินเข้าใช้จ่ายในตลาดหลายรอบ จึงเหมาะแก่การกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนเพื่อให้ภาพรวมของเศรษฐกิจดีขึ้น
อย่างไรก็ดีรัฐบาลการประกาศใช้และดำเนินนโยบายช่วยเหลือประชาชนชั้นล่างในเรื่องต่าง ๆ ตามแนวนโยบายประชานิยม เป็นการเข้าไปเบียดยึดพื้นที่ทางการเมือง ทั้งของเอ็นจีโอและเครือข่ายการเมืองภาคประชาชนอื่นๆ ด้วยวิธีการดึงมวลชนให้มาอยู่กับภาครัฐและกลไกตลาด เป็นการที่รัฐเข้าไปครอบงำสังคม เป็นการโดดเดี่ยวผู้นำหรือกลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาล ทำให้รัฐบาลสามารถดำเนินการปิดล้อมทางการเมืองต่อขบวนการประชาชนที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนในการพัฒนาแบบทางเลือกและสิทธิของประชาชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรได้มากขึ้น นโยบายประชานิยมของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ลดทอนบทบาทฐานะตลอดจนศักยภาพในการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนไปได้อย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มที่ภาครัฐและฝ่ายทุนจะใช้ความรุนแรงสกัดความเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน เพราะเท่าทีผ่านมาการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนทั้งเพื่อดูแลชีวิตตนเองและลดฐานะการครอบงำของรัฐล้วนต้องเผชิญกับแรงต้านจากภาครัฐและบางส่วนของภาคสังคม สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะแรงเฉื่อยของแนวคิดแบบเอารัฐเป็นตัวตั้ง เป็นการที่ผู้นำของรัฐและชนชั้นนำทางการเมืองไม่ค่อยยอมรับสิทธิของประชาชนที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการใช้อำนาจ ทั้งนี้เป็นเพราะกรอบความคิดของชนชั้นนำในรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐมักเห็นการเรียกร้องสิทธิของกลุ่มประชาชนต่างๆ เป็นเรื่องผิดกฎหมายหรืออยู่นอกระบบ
ความไม่เข้าใจและการวางเฉยของสังคมที่ไม่เดือดร้อนเป็นการบั่นทอนการเมืองภาคประชาชนเพราะมีส่วนทำให้เกิดความแตกต่างและเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชนที่เสียเปรียบซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในชนบท กับประชาชนที่ได้เปรียบซึ่งจะเป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองเป็นพวกชนชั้นกลาง สภาพของชนสองกลุ่มนี้ไม่ใช่เรื่องของการมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ต่างกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงจิตสำนึกทางการเมืองและวิถีชีวิตตลอดจนรสนิยมทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างมากด้วย
การที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ใช้นโยบายประชานิยม ทำให้ได้รับความนิยมจากประชาชนจำนวนมากทำให้การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 พรรคไทยรักไทยที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ถึง 377 คน และเป็นรัฐบาลพรรคเดียวเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย แม้ว่าภายหลังจะได้รับการต่อต้าน ประท้วงจากพันธมิตรประชาธิปไตยที่มีนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นแกนนำ มีการยุบสภา ฯ ในการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2549 พรรคไทยรักไทย ก็สามารถชนะเลือกตั้งได้คะแนนในระบบบัญชีรายชื่อถึง 16 ล้านเสียง (อเนก เหล่าธรรมทัศน์ 2549 : 153-154) แสดงให้เห็นความนิยมในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนโยบายประชานิยม
แม้ว่านโยบาย “ประชานิยม” ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างไพศาล ทั้งเกิดภาคการผลิตใหม่ผ่านนโยบาย SMEs การพักชำระหนี้ กองทุนหมู่บ้านละล้าน แปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน เกิดสวัสดิการอย่างถ้วนหน้า เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค ฯลฯ แต่ก็ได้เกิดการวิจารณ์จากนักวิชาการณ์จำนวนมาก (ดูเพิ่มใน เอนก เหล่าธรรมทัศน์ 2549 : 136; เกษียร เตชะพีระ 2553ก; 2553ข; ผาสุก พงษ์ไพจิตร 2546; นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2549) ว่าเป็นนโยบายที่ฉาบฉวยเพื่อหาคะแนนเสียงในชนบท ไม่ได้มุ่งเปลี่ยนแปลงชนบทอย่างแท้จริง ยังทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ใหม่ ที่รัฐเป็นผู้อุปถัมภ์ในแนวดิ่ง ที่รอรับอุปถัมภ์จากรัฐเพียงฝ่ายเดียว และอาจทำให้รัฐสูญเสียเงินจำนวนมหาศาล และอาจทำให้เกิดการล้มละลายของรัฐ เหมือนประเทศในแถบละตินอเมริกาที่ใช้นโยบายประชานิยม และการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างสูงทำให้ไม่สนใจต่อระบบรัฐสภา เพราะตลอดที่เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ค่อยเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร และไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ การการที่เป็นพรรคเสียงข้างมากเพียงพรรคเดียวทำให้ตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ อย่างเด็ดขาด รวมถึงองค์กรตรวจสอบ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการเลือกตั้ง และสมาชิกรัฐสภา (ส.ว.) ต่างถูกแทรกแซงจากเครือข่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมถึงนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน (NGOs) ที่คอยท้วงติ่งให้ข้อเสนอแนะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่รับฟัง หรือที่ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ (2549 : 154-160, 178-184) วิจารณ์ว่าเป็น “ทรราชย์ของเสียงข้างมาก” (tyranny of the majority)
รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกวิจารณ์ว่าเป็นยุคที่มีการทุจริตขนานใหญ่ เป็นการทุจริตที่มีความซับซ้อน หรือ “การทุจริตเชิงนโยบาย” มี “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ของคนในเครือข่ายอย่างกว้างขว้างในหลายเรื่อง (ดูเพิ่มใน นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2549) เช่น การที่ออกนโยบายเอื้อต่อผลประโยชน์ของบริษัทตนเอง และพวกพ้อง การจ่ายเงินใต้โต๊ะถึงร้อยละ 40 ของโครงการที่ลงทุนโดยรัฐบาล การออกหวยบนดินที่ไม่นำเงินเข้าคลังแต่กลับนำมาใช้จ่ายเพื่อโครงการประชานิยม การขายหุ้นให้บริษัทเทมาเส็ก (ประเทศสิงคโปร์) การซื้อที่ดินรัชดา หรือการสร้าง “อาณาจักรแห่งความกลัว” “รัฐตำรวจ” เช่น นโยบายปราบปรามยาเสพติด ทำให้เกิดการฆ่าตัดตอน มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,500 คน ทั้งที่ยังไม่ได้พิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรม การหายตัวของทนายสมชาย นีละไพจิตร กรณีล้อมปราบที่มัสยิดกรือแซะ และหน้ที่ว่าการอำเภอตากใบ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 110 คน (OK Nation 2554) เป็นปัญหาที่เรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน และการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มักเป็นผู้ผูกขาดการเสนอญัตติสาธารณะแต่ผู้เดียว (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2549 : 227-233) โดยไม่รับฟังข้อท้วงติง และห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างต่อเนื่องจากประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เช่น ปรากฏการณ์ “สนธิ” หรือ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” หรือ “คนเสื้อเหลือง” ที่ชุมนุมประท้วง โจมตีทักษิณว่าเป็นรัฐบาลที่มีการทุจริตอย่างกว้างขวางและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[3]
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ทักษิณถูกต่อต้านอย่างกว้างขวาง คือ ระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ของพันตำรวจโท ทักษิณ ครอบครัวชินวัตรและดามาพงศ์ ขายหุ้นของ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ที่ครอบครองอยู่ทั้งหมด ให้แก่บริษัทเทมา เส็ก โฮลดิ้ง จำกัด (พีทีอี) ทักษิณได้ชี้แจงว่าเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน แต่กลับได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายที่ว่าด้วยการขายหุ้นในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้านั้น เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกรณีดังกล่าว รวมทั้งการไม่ต้องเสียภาษีรายได้จากผลกำไรในการขายหุ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาคกัน เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นจุดสำคัญที่ทำให้กระแสการขับไล่ ขยายตัวออกไปในวงกว้าง ท่ามกลางการกดดันจากหลายฝ่าย ในท้ายที่สุดรัฐบาลต้องยุบสภาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายน 2549 แต่การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคฝ่ายค้าน ที่ประกอบไปด้วยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชนไม่ลงเลือกตั้ง ทำให้สมาชิกพรรคไทยรักไทยบางคนถูกกล่าวหาว่าได้จ้างพรรคเล็กลงสมัครเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาในวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะและให้จัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 แต่ก่อนจะมีการเลือกตั้งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปก.)[4] ได้ทำการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549[5] เป็นอันสิ้นสุดรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
แม้ภายหลังพรรคไทยรักไทยจะถูกรัฐประหาร และต่อมาตั้งรัฐบาลที่มี พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้ความคุ้มครองของ คมช. มีเวลาบริหารประเทศอยู่ปีเศษ[6] และมีการประกาศกฎอัยการศึกหลายจังหวัด แต่การเลือกตั้งในปี 2551 พรรคพลังประชาชนที่เปลี่ยนมาจากพรรคไทยรักไทยก็ชนะเลือกตั้ง มีนายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เครือข่ายภายใต้การสนับสนุนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อมาตามลำดับ ภายหลังมีการยุบพรรคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ และได้ดำเนินนโยบายเพื่อเอาใจประชาชนมากมาย เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เรียนฟรี เพิ่มเงินเดือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รถเมย์ฟรี รถไฟฟรี ค่าไฟฟรี[7] ฯลฯ ก็ไม่สามารถชนะเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2554 ได้ พรรคเพื่อไทยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้การสนับสนุนมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคสามารถชนะเลือกตั้งเกินครึ่งถึง 265 เสียงจาก 500 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตได้นายกรัฐมนตรีได้เพียง 159 เสียง แม้ภายหลังจะเกิดการรัฐประหารในปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการมาถึงทุกวันนี้ (สิงหาคม 2561) แต่ก็ไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง เพราะตระหนักดีว่าการเลือกตั้งเป็นสิ่งเดี่ยวที่เขาเหล่านั้นควบคุมไม่ได้ แม้จะทำให้ทักษิณและยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็ตาม แสดงให้เห็นว่าแม้มีความพยายามทำลาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเครือข่าย หรือ “ระบอบทักษิณ” ด้วยวิถีทางต่าง ๆ ก็ไม่สามารถทำลายความนิยมต่อนโยบายและตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้
นโยบายประชานิยมเป็นการสร้างมิติใหม่ทางการเมืองที่ทำให้พรรคการเมืองต่าง ๆ หันมาต่อสู้เชิงนโยบาย แทนการอิงกับตัวบุคคล การต่อสู้เชิงนโยบายทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการต่อรองกับนักการเมืองมากขึ้น รวมถึงทำให้นักเลง เจ้าพ่อ ผู้อุถัมภ์ท้องถิ่นลดอิทธิพลลง และทำให้เกิดชนชั้นใหม่ที่มี “สำนึกทางการเมือง” ในการมีส่วนร่วมกับรัฐในหลายมิติ ทำลายมายาคติ “โง่ จน เจ็บ” ที่คิดว่าประชาชนในชนบทตั้งรัฐบาล และชนชั้นกลางในเมืองล้มรัฐบาล (เอนก เหล่าธรรมทัศน์ 2552ก) แต่ภายใต้ความเปลี่ยนแปลง “ชาวชนบท” จำนวนมากมิได้จำยอมให้ “ชนชั้นกลางในเมือง” ล้มรัฐบาลที่เขาเลือกตั้งได้เช่นในอดีต เช่น เกิดคาราวานคนจน ที่ชุมนุมที่สวนลุมพินี เพื่อสนับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และในการเลือกตั้งทั้งในปี พ.ศ. 2548 และ 2549 ก็ได้ให้การสนับสนุนพรรคไทยรักไทยอย่างท้วมท้น หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่ารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้เกิดมิติใหม่ทางการเมืองที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยที่กินได้”
การขึ้นมามีอำนาจของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “สนธิ” หรือ “เสื้อเหลือง” ที่ต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยคนเสื้อเหลือง คือ คนระดับกลางหรือสูงกว่าเป็นคนที่ทำงาน “ในระบบ” หรือมีสถานะและการศึกษาที่สูง (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2554) หลังรัฐประหารได้เกิดกลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือ “คนเสื้อแดง” โดยขบวนการของคนเสื้อแดงเป็นขบวนการข้ามชนชั้น (อภิชาติ สถิตนิรามัย 2556) เป็นคนชั้นกลางในชนบท (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2553; 2554) เป็นชาวบ้านผู้รู้โลกกว้าง (Keyes 2553) ฯลฯ เกษียร เตชะพีระ (2555) ให้คำจำกัดความว่า “...หลังจากก่อหวอดสะสมฐานภาพทางเศรษฐกิจสังคมและบ่มเพาะความสุกงอมทางวัฒนธรรมการเมืองอยู่ในพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบทมานานปี กลุ่มชนผู้กลายมาเป็นคนเสื้อแดงก็ปรากฏตัว บนเวทีการเมืองมวลชนอย่างค่อนข้างกะทันหันโดยเฉพาะหลังรัฐประหาร คปค. พ.ศ.2549 และเติบใหญ่ขยายตัวอย่างรวดเร็วเหนือความคาดหมายจนกลายเป็นเครือข่ายการเคลื่อนไหวของประชาชนระดับชาติที่กว้างขวาง ยืดหยุ่น เหนียวแน่น ทนทายาด ชนิดที่แม้จะถูกกองกำลังความมั่นคงของรัฐปราบปรามอย่างหนักในปี 2552-2553 แต่ก็สามารถพลิกฟื้นกลับมาเป็นพลัง ฐานเสียงผลักดันให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้เพียงแค่หนึ่งปีให้หลัง ชั่วแต่ว่าที่ผ่านมาเครือข่ายขบวนการคนเสื้อแดง/นปช.มีสถานะเสมือนหนึ่ง "ลูกกำพร้า" ทางอุดมการณ์และการเมืองในประวัติศาสตร์ไทย คือเชื่อมต่อไม่ค่อยติดกับขบวนการต่อสู้ใหญ่ๆ ในอดีต ไม่ว่าขบวนการ 14 ตุลาคม 2516, ขบวนการพฤษภาประชาธิปไตย 2535, หรือขบวนการปฏิวัติของ พคท. พูดให้ลงตัวชัดเจนยากว่าตกลงคนเสื้อแดงสืบทอดอุดมการณ์และภารกิจทางการเมืองของขบวนการต่อสู้ใดในอดีตของไทย พวกเขามีที่มาที่ไป ที่อยู่ที่ยืนสืบทอดต่อเนื่องตรง ไหนอย่างไรในกระแสธารประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนไทย ในอันที่จะทำให้พวกเขาปักป้าย ยึดครองพื้นที่และประกาศฐานที่มั่นอันชอบธรรมของตนได้ในจินตนากรรม "ชาติไทย"/"ความเป็นไทย" ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และความทรงจำ...จนกระทั่งความคลี่คลายขยายตัวของสถานการณ์ความขัดแย้ง การตีความประเด็นข้อเรียกร้องเพื่อการเปลี่ยนแปลงระเบียบโครงสร้างการบริหารบ้านเมือง และการจำแนกฝั่งแยกแยะฝ่ายทางการเมืองในสังคมไทยเริ่มตกผลึกชัดเจนขึ้นหลังเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิต 2554 ผ่านการรณรงค์เคลื่อนไหวของปัญญาชนนักวิชาการกลุ่มฝ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 2549 เรียกร้องความยุติธรรมแก่ผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บล้มตาย และข้อเสนอให้ปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 ฯลฯ คนเสื้อแดงจึงพบความหมายนัยแห่งอุดมการณ์ และภารกิจการต่อสู้ของตนและเลือกตีความแบบ "นับญาติ" กับการอภิวัฒน์ 2475” การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงเป็นการสืบทอดเจตนาของคณะราษฎร และขบวนการเคลื่อนไหวนี้ทำให้เกิดความตื่นตัวทางการเมืองอย่างไพศาลในสังคมไทย (ดูเพิ่มใน อภิชาติ สถิตนิรามัย 2553; 2556; ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี และคณะ 2553) “หน่ออ่อนประชาธิปไตย” ได้ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่คนในอดีตไม่คุ้นชิน โดยฐานการเมืองที่สำคัญเป็นพื้นที่ชนบท และชุมชนจนเมือง และ “ที่สำคัญคนชั้นกลางเมืองไม่อาจผูกขาดความต้องการเสรีภาพ การสร้างเส้นสาย ธรรมาภิบาล ความเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเมืองประชาธิปไตยอีกต่อไป ปะชาชนคนอื่น ๆ จำนวนมากที่อาศัยอยู่ในประเทศเดียวกัน แต่อยู่ในบริเวณที่เรียกว่าชนบท หรือกึ่งชนบท หรือกึ่งเมืองก็ต้องการสิ่งเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมในชั่วหนึ่งอายุคนที่ผ่านมาจึงได้สร้าง “วัฒนธรรมของความเสมอหน้า” ขึ้นมาด้วย ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ยอมรับการเมืองแบบเก่าซึ่งคนชั้นกลางมีการศึกษาสูงเป็นผู้กำหนดหรือพยายามกำกับอีกต่อไป” (ผาสุก พงษ์ไพจิต 2555)
ท้ายที่สุดเราอาจกล่าวได้ว่าในช่วงรัฐประหาร (2557) ที่ผ่านมาคนจนและผู้ได้รับผลกระทบจากการทำงานของรัฐและทุนจำนวนมากสร้างอำนาจต่อรองโดยการใช้การเมืองภาคประชน ผ่านการเดินขบวนประท้วงในรูปของเครือข่ายปัญหาต่าง ๆ เช่น สมัชชาคนจน เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ/ภาคอีสาน/ภาคใต้[8] แม้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้บ้างไม่ได้บ้างก็ถือว่าเขาเหล่านั้นมีอำนาจในการต่อรองกับรัฐในระดับหนึ่ง แต่ภายใต้รัฐประหารเราพบว่ารัฐได้ใช้อำนาจเผด็จการในการเข้ารุกไล่ กวาดปราบผู้คน โดยเฉพาะคนจนอย่างหนักหน่วง อาทิการเชิญ(บังคับ)แกนนำกลุ่มปฏิรูปที่ดินภาคใต้เข้าไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร หรือการขนย้ายอุปกรณ์สำรวจน้ำมันโดยการอำนายการของเจ้าหน้าที่รัฐในจังหวัดขอนแก่น การใช้ความรุนแรงโดยการลอบทำร้ายจนแกนนำเสียชีวิต[9]
ความรุนแรงต่อคนยากคนจน[10] ในช่วงที่ผ่านมาเกิดภายใต้เงื่อนไขที่เขาเหล่านั้นมีอำนาจต่อรองน้อย แม้แต่การชุมนุมประท้วงก็ได้รับการห้ามปรามจากกฎอัยการศึก การเข้ามาขัดขวางของเจ้าที่รัฐในระดับต่าง ๆ เสียงของคนจนที่เคยเปล่งผ่านการเมืองภาคประชน ผ่านสองเท้าที่เข้ามาประท้วงเพื่อสร้างแรงกดดันต่อรัฐ และสร้างความเข้าใจต่อสังคมก็ถูกรัฐเผด็จการยึดไป ในห้วงเวลานี้อำนาจต่อรองของคนจนจึงจำกัดจำเขี่ยอย่างถึงที่สุด
การแก้ไขปัญหาคนจนของรัฐเผด็จการที่ไร้ประสิทธิภาพ คือ “ประชานิยมสิ้นคิด” เช่น ให้ผู้ที่มีรายได้น้อยไม่เกิน 2,422 บาท/คน/เดือน หรือ 29,064 บาท/คน/ปี ขึ้นรถเมล์รถไฟครึ่งราคา นโยบายประชารัฐต่าง ๆ[11] ซึ่งมาตรการข้างต้นยากจะปฏิบัติเพราะจะทราบได้อย่างไรว่าใครมีรายได้เท่าไหร่ รวมถึงมาตรการดังกล่าวมิได้เพิ่มอำนาจการต่อรองให้คนจน แต่เป็นการซ้ำเติมให้คนจนตกที่นั่งลำบากมากขึ้น ให้อยู่ภายใต้การสงเคราะห์ของคนอื่น/หรือรัฐ การกระทำข้างต้นยิ่งทำลายศักดิ์ศรีของคนจนลงอย่างน่าใจหาย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ “คนเสื้อแดง” สัมพันธ์กับการพัฒนาที่ลำเอียงของรัฐไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ที่เน้นการพัฒนาเมือง และทอดทิ้งชนบท ทำให้ช่องว่าคนรวยกับคนจน ชนบทกับเมือง การเข้าถึงทรัพยากรอย่าไม่เท่าเทียม ฯลฯ ถ่างกว้างขึ้น เมื่อมีนโยบายประชานิยมที่เอื้อต่อคนชนบท ทำให้เกิดสำนึกความเป็น “เจ้าของประเทศ” ที่ทุกคนมีส่วนในประเทศนี้มิใช่แต่คนรวย หรือคนชั้นกลางเท่านั้นที่ผูกขาดความเป็นเจ้าของประเทศ แม้ภายหลังมีการทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างเอาจริงเอาจังจาก “คนเสื้อแดง” ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยม ทำให้คนกลุ่มนี้มีสำนึกทางการเมืองใหม่ ที่เชื่อมั่น ศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบสำคัญ รวมถึงเชื่อว่าระบอบนี้สร้างความเป็นธรรม เท่าเทียมให้คนในสังคมไทย ต่อต้าน “สองมาตรฐาน” “อำมาตย์” ซึ่งแตกต่างจาก “ไพร่” (คำนิยามตัวตนของคนเสื้อแดง) เป็นชุดวาทกรรมของความไม่เท่าเทียมในสังคม ความเปลี่ยนแปลงในห้วงเวลานี้ได้ทำให้เกิดสำนึกทางการเมือง สำนึกความเป็นพลเมืองอย่างกว้างขวางในสังคมไทย
จากสถานการณ์ดังกล่าวเราจะตอบได้ว่าทำไมคนถึงเรียกร้องหา “ปีศาจทักษิณ” “ประชา(นิยม)ธิปไตยที่กินได้” เพราะรัฐประหารไม่อาจทำให้คนเท่ากัน เสมอหน้า และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กลับมุ่งแต่สร้างรัฐสังคมสงเคราะห์ที่ทำให้คนตกเป็นไพร่ข้ารอความเมตตา และรียกทวงบุญคุณอยู่ร่ำไป ทั้งที่เขาเหล่านั้นก็คือเจ้าของประเทศแต่ไม่มีสิทธิในประเทศนี้อย่างที่มีที่เป็นใน “รัฐ” รัฐประหาร
อ้างอิง
เกษียร เตชะพีระ. (2537). จินตนากรรมชาติที่ไม่เป็นชุมชน: คนชั้นกลางลูกจีนกับชาตินิยมโดย
รัฐไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมนักข่าวหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ.
______. (2547). บุชกับทักษิณ ระบอบอำนาจนิยมขวาใหม่ไทย-อเมริกัน. กรุงเทพฯ : โครงการ
จัดพิมพ์คบไฟ.
______. (2553ก). สงครามระหว่างสี : ก่อนถึงจุดที่ไม่อาจหวนกลับ. กรุงเทพฯ : โอเพน บุ๊กส์.
______. (2553ข). สงครามระหว่างสี : ในคืนวันอันมืดมิด. กรุงเทพฯ : โอเพน บุ๊กส์.
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. (2553ก). เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีต. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์.
______. (2553ข). การเป็นสมัยใหม่กับแนวคิดชุมชน. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์.
______. (2554). แนวคิดเศรษฐกิจชุมชน ข้อเสนอทางทฤษฎีในบริบทต่างสังคม. พิมพ์ครั้งที่ 4.
กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์.
นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2541). วัฒนธรรมความจน. กรุงเทพฯ: แพรว.
______. (2549). วัฒนธรรมคนอย่างทักษิณ. กรุงเทพฯ : มติชน.
______. (2552). รากหญ้าสร้างบ้าน ชนชั้นกลางสร้างเมือง. กรุงเทพฯ: มติชน.
______. (2553). การเมืองของเสื้อแดง. กรุงเทพฯ : โอเพ่นบุ๊กส์.
______. (2554ก). บทบาทชนชั้นนำและการเมืองภาคประชาชน
______. (2554ข). เบี้ยไล่ขุน. กรุงเทพฯ : มติชน.
ประภาส ปิ่นตบแต่ง. (2541). การเมืองบนท้องถนน : 99 วันสมัชชาคนจน และประวัติศาสตร์
การเดินขบวน ชุมนุมประท้วงในสังคมไทย. ต้นตำรับ.
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. และคณะ. (2553). พัฒนาการจิตสำนึกและปฏิบัติการทางการเมืองของ
ชาวเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่ : รายงานวิจัย. เชียงใหม่ : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2546). ประชาธิปไตย ประชาสิทธิ ประชาธรรม. ปาฐกถานำในการสัมมนา
ประจำปี ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ
______. (2555). [ออนไลน์]. "ผาสุก"ชี้ ปรากฏการณ์ Arab Spring ลามทั่วโลก ถึงเวลา"
วัฒนธรรมของความเสมอหน้า". สืบค้น 15 สิงหาคม 2555
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1345041454&grpid=03&catid&subcatid
อภิชาต สถิตนิรามัย. (2553). เสื้อแดงคือใคร: ม็อบเติมเงิน ไพร่ หรือชนชั้นกลางใหม่กับทางแพร่งของสังคมไทย. ใน Red Why: แดงทำไม. กรุงเทพฯ : โอเพน บุ๊กส์.
______. (2553). รัฐธรรมนูญ การกระจายอำนาจ และการมีส่วนร่วมของประชาชน. กรุงเทพฯ: สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
อภิชาต สถิตนิรามัย ยุกติ มุกดาวิจิตร นิติ ภวัครพันธุ์. (2556). ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย.
เชียงใหม่: แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่.
เอนก เหล่าธรรมทัศน์. (2536). "ม็อบมือถือ" ชนชั้นกลางและนักธุรกิจกับพัฒนาการประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : มติชน.
______. (2543). การเมืองของพลเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: คบไฟ.
______. (2549). ทักษิณา-ประชานิยม. กรุงเทพฯ: มติชน.
______. (2550ก). ประชาธิปไตยท้องถิ่น : แง่คิดเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ.
______. (2550ข). การเมืองของพลเมืองสู่สหัสวรรษใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.
______. (2552ก). อภิวัฒน์ท้องถิ่น : สำรวจทฤษฏีการเมืองเพื่อสร้างท้องถิ่นให้เป็นฐานใหม่ของ
ประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.
______. (2552ข). สองนคราประชาธิปไตย. (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ: คบไฟ.
______. (2552ค). แปรถิ่น เปลี่ยนฐาน: สร้างการปกครองท้องถิ่นให้เป็นรากฐานของประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
Keyes, Charles. (2010). “Cosmopolinta” Villagers and Populist Democracy in Thailand. Paper
to be Presented at Conference. on Revisiting Agrarian Transformations in Southeast Asia May 13-15, 2010, Chiang Mai: Thailand.
OK Nation. (2554).
ทักษิณ!!!!..“กรือเซะ ๓๒ ศพ” “ ตากใบ ๗๘ ศพ” “ฆ่าตัดตอนยาเสพติด ๒๕๐๐ ศพ” ใคร??? สั่ง!!!! “ฆ่าประชาชน”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2555. จาก http://www.oknation.net/blog/kongplod/2011/06/22/entry-2
[1] ข้อมูลเมื่อปี 2549 เป็นข้อมูลล่าสุดของโครงการนี้เพราะต่อมามีการเปลี่ยนแปลงโครงการนี้เป็นรูปแบบอื่น เช่น รักษาฟรี ของรัฐบาลประชาธิปัตย์ แต่ไม่ได้สร้างความแตกต่างจากโครงการเดิมของรัฐบาลไทยรักไทยมากนัก ถึงแม้ว่าจะมีการวิจารณ์โครงการนี้ว่าเป็นโครงการที่ฉาบฉวย และไม่เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง และไม่พัฒนาให้ครอบคลุมกว้างขวาง แต่ว่าในทางตรงกันข้ามกับสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อระบบการเข้าถึงระบบสาธารณสุขไทยอย่างกว้างขวาง
[2] ในอดีตนโยบายต่างๆ ล้วนเกิดจากข้าราชการเป็นผู้เสนอให้รัฐมนตรี หรือนักการเมือง ทำให้ข้าราชการ หรือพรรคราชการเป็นผู้มีอิทธิพล และครอบงำทิศทางการพัฒนาสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แต่ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้แนวคิดเรื่องราชการกำหนดทิศทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป เพราะในสมัยรัฐบาลนี้ได้มีการเปลี่ยนตัวข้าราชการอย่างขนานใหญ่ มีการใช้แนวคิดการบริหารแบบเอกชนมาใช้ในระบบราชการเพื่อสนองนโยบายทางการเมือง
[3] ข้อกล่าวหานี้เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงและสร้างผลกระเทือนในวงกว้างอย่างยิ่ง และเป็นข้อหาที่สร้างความกดดันให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นอย่างมาก เพราะมีการเคลื่อนไหวจากหลายฝ่าย เช่น พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ที่ออกบรรยายตามโรงเรียมเตรียมทหาร ตำรวจ รวมถึงการกดดันจากราชนิกุล เป็นต้น
[4] ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)
[5] ในที่นี้มิได้ต้องการอธิบายการเมืองในช่วงเวลานี้ แต่เพื่อเป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยในหลายๆ มิติ และทำให้เกิดการตื่นตัวทางการเมืองที่เรียกว่า “คนเสื้อแดง” ที่เกิดการขยายตัวอย่างกว้างขวาง
[6] เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกคนที่ 25 เมื่อวันที่ 29 มกราคม - 9 กันยายน 2549
[7] ในส่วนของ 3 นโยบายหลังเป็นนโยบายที่สืบเนื่องมาแต่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และมีการปฏิบัติใช้มาถึงปัจจุบัน แม้ว่ามีการลดขนาดลงเช่นค่าไฟที่ไม่ให้เกิน 50 หน่วย/1 มิเตอร์ (2555)
[8] ดูเพิ่มใน, ประภาส ปิ่นตบแต่ง การเมืองบนท้องถนน : 99 วันสมัชชาคนจน และประวัติศาสตร์การเดินขบวน ชุมนุมประท้วงในสังคมไทย ต้นตำรับ, 2541.
[9] ดูเพิ่มใน, สมัชชาคนจนประณามความรุนแรงต่อคนจนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนายทุน เว็บไซด์ ประชาไท วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 (http://prachatai.org/journal/2015/02/57930)
[10] การแก้ไขคนจนในประเทศ ไม่มุ่งปรับโครงสร้างเพื่อกระจายทรัพยากรที่มีการเสนอมาอย่างยาวนาน เช่น การเก็บภาษีแบบก้าวหน้า เก็บภาษีมรดก การจำกัดการถือครองที่ดิน ฯลฯ ซึ่งจะทำให้คนทั่วไปเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น แต่สิ่งรัฐทำเป็นการแก้ไขปัญหาไปวัน ๆ ที่ไม่อาจทำให้คนจนลืมตาอ้าปากได้
[11] ไทยรัฐออนไลน์ รัฐจ่อออกบัตรตีตรา “คนจน” มีรายได้ 2,422 บาทรับสิทธิ์ลดค่าโดยสาร 12 กุมภาพันธ์ 2558 (http://www.thairath.co.th/content/480643)[full-post]
แสดงความคิดเห็น