Posted: 09 Aug 2018 04:57 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-08-09 18:57


นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ สัมภาษณ์/ถ่ายภาพ

คุยกับ ‘ชองยุนซอก’ นักทำหนังชาวเกาหลีใต้ฝีมือเป็นที่ยอมรับทั่วโลก เมื่อให้เขาวิพากษ์สังคมไทย สิ่งที่เขาเลือกที่จะพูดถึง คือ “การออกแบบของ BACC นั้นลอกแบบมาจาก กุกเกนไฮม์ ในนิวยอร์ก แบบหน้าด้านๆ จนผมรู้สึกเขินแทนคนไทย” และ “ผมได้ยินว่า ประมาณ 8 ปีที่แล้วก็มีคนตายเพราะการประท้วงกว่า 90 คน ผมสงสัยว่า แล้วทำไมถึงไม่มีคดีอาญาเกิดขึ้นเลย”

‘ชองยุนซอก’ คือนักทำหนังชาวเกาหลีวัย 38 ปี เมื่อเขาทำหนังสารคดียาวเรื่องแรก ‘Non-Fiction Diary’ ออกฉายในปี 2013 ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทสารคดีในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ก่อนจะได้รับเชิญให้ไปฉายในเทศกาลหนังทั่วโลก พอปี 2017 เขาทำหนังสารคดียาวอีกเรื่องคือ ‘Bamseom Pirates Seoul Inferno’ ก็คว้ารางวัลสเปเชียลเมนชั่น จากเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติยามากาตะ

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Documentary Club ในโครงการ "Doc World เชื่อมต่อโลกกว้าง เสริมพลังนักสร้างสารคดี ครั้งที่ 1” ได้นำสารคดีทั้งสองเรื่องของชองยุนซอกมาฉาย พร้อมเปิดเวที Q&A หรือถาม-ตอบกับผู้กำกับ โดยวันที่ 4 ส.ค. ฉายเรื่อง ‘Bamseom Pirates Seoul Inferno’ ซึ่งเป็นสารคดีตามติดชีวิตวงดนตรี พังค์-แบล็คเมทัลหัวขบถ ที่ภายหลังโปรดิวเซอร์ของวง ‘ปาร์ค จอง กึน’ (Park Jeong-Geun) ถูกจับในข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายความมั่นคงของเกาหลีใต้ตามมาตรา 7 จากการรีทวีตข้อความแซวผู้นำเกาหลีเหนือจนเป็นข่าวดังไปทั่วโลกอยู่พักหนึ่ง



ภาพประกอบจากหนังเรื่อง Bamseom Pirates Seoul Inferno

หลังหนังจบลง การได้คุยกับผู้กำกับตัวจริง จึงทำให้เรารู้ว่า ชองยุนซอกนั้นเป็นสายแหวกแหกแนวและกวน (ตีน) อย่างล้นเหลือ สังเกตจากการตอบคำถาม เมื่อมีคนถามถึงสังคมเกาหลีในตอนนี้ เขาตอบว่า “สังคมเกาหลีพังไปแล้ว และไทยก็กำลังจะพัง” หรือเมื่อถามถึงทุนในการทำหนัง เขาตอบหน้าตาเฉยว่า “หนังของผมทุกเรื่องขาดทุน แล้วก็ขาดทุนขึ้นเรื่อยๆ ก็นับว่าเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง คติของผม ถ้าจะพังก็ต้องพังให้ที่สุด”

พอถามว่า ทำเรื่องนี้แล้วคุณกังวลไหมว่าจะเสี่ยงกับข้อหาฝ่าฝืนความมั่นคงเหมือนกัน เขาตอบสบายๆ ว่า “จริงๆ ตอนที่ทำหนังเสร็จออกมา มันไม่ค่อยดีมากเท่าไหร่ ผมได้แต่ภาวนาทุกวันให้ตัวเองโดนจับ เผื่อหนังจะได้มีจุดขายบ้าง” และเล่าอย่างภูมิใจว่า “ก่อนหนังฉายมีข่าวว่า มีการขึ้นแบล็คลิสต์ศิลปินเต็มไปหมด ผมก็เข้าไปตรวจรายชื่อว่ามีใครบ้าง แล้วก็เสียใจมากที่ไม่มีชื่อผมอยู่ในนั้น แต่หลังจากหนังฉาย มีเจ้าหน้าที่รัฐบาลติดต่อมาว่า คุณอาจจะติดแบล็คลิสต์รอบต่อไปนะ ผมดีใจสุดๆ ไปเลย ผมร้องดังมากด้วยความดีใจจนเจ้าหน้าที่ตกใจ ต้องปลอบผมว่า ใจเย็นๆ นะ อันนี้ยังไม่คอนเฟิร์ม”

จากซ้ายไปขวา ยีเจวอน (ล่ามชาวเกาหลี), ชองยุนซอก, วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา (ผู้ดำเนินรายการ) ภาพจาก Documentary Club

ถัดมาในวันที่ 5 ส.ค. เป็นคิวของ ‘Non-Fiction Diary’ หนังสารคดีที่ใช้ภาพและฟุตเทจเก่าประกอบบทสัมภาษณ์ของผู้อยู่ในเหตุการณ์ หนังพูดถึงแก๊งค์ ‘จีจอน’ แก๊งค์ฆาตกรฆ่าต่อเนื่องที่เลือกเหยื่อที่พวกเขาคิดว่าเป็นคนรวย (แต่พวกเขาเข้าใจผิด จึงได้เหยื่อที่เป็นเพียงนักธุรกิจปกติแทน) มาทรมาน ฆ่า และกินเนื้อ ซึ่งเป็นคดีสะเทือนขวัญในช่วงยุค 90 ที่คนเกาหลีจำไม่เคยลืม

แต่สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้พิเศษคือ การเชื่อมโยงคดีสะเทือนขวัญนี้เข้ากับเหตุการณ์ในช่วงเดียวกัน คือกรณีห้างสรรพสินค้าและสะพานข้ามแม่น้ำในกรุงโซลถล่มจนมีผู้เสียชีวิตมากมาย ที่สุดท้ายแล้ว หนังตั้งคำถามว่า มันต่างกันตรงไหนระหว่างฆาตกรที่ฆ่าคนกับผู้บริหารที่กอบโกยผลประโยชน์ไม่สนใจความปลอดภัยในการก่อสร้าง และบางทีสิ่งที่ต่างคงเป็นโทษประหารที่แก๊งค์จีจอนได้รับ กับโทษสถานเบาของเหล่าผู้บริหาร


'แก๊งค์จีจอน' ภาพประกอบจากหนังเรื่อง Non-Fiction Diary

ซากตึกถล่ม ภาพประกอบจากหนังเรื่อง Non-Fiction Diary

ชองยุนซอกเล่าให้ฟังใน Q&A หลังหนังฉายจบว่า เป็นเรื่องน่าแปลกที่แก๊งค์จีจอนตั้งใจจะฆ่าคนรวย แต่กลับเลือกผิดและฆ่าคนธรรมดาแทน ส่วนคนรวยก็กลับตายในเหตุการณ์ห้างถล่มซึ่งมีสาเหตุจากการกอบโกยเงินของผู้บริหารซึ่งเป็นคนรวยเหมือนกัน

“ระหว่างการรีเสิร์ชข้อมูลของแก๊งค์จีจอน ผมพบรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ คือ พบว่า สมาชิกคนที่อายุน้อยที่สุด อายุมากกว่าผม 3 ปี เขามีอะไรหลายอย่างเหมือนผม เช่น เพลงที่เราชอบคือเพลงเดียวกัน คนมักจะถามว่า ทำไมวัยรุ่นกลุ่มนี้จึงทำแบบนั้น แต่นั่นไม่ใช่คำถามสำคัญสำหรับผมเลย ระหว่างทำหนัง คำถามที่ผมถามตัวเองบ่อยๆ ก็คือ เราเหมือนกันขนาดนี้ แต่ทำไมเขาเป็นฆาตกร ส่วนผมเป็นผู้กำกับหนัง”

0 0 0

‘ประชาไท’ ชวนซองยุนซอกคุยต่อ เพื่อถามเรื่องที่ค้างคาจากรอบตอบคำถาม Q&A รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านมุมมองที่เขามีต่อคนเกาหลีและคนไทย บางคำวิจารณ์ก็ทำให้เราเขินแทนคนไทย บางคำตอบก็ชวนเซอร์ไพร์สเพราะเขาดูจะรู้เรื่องเมืองไทยอยู่ไม่น้อย และบางแง่มุม เขาก็ดูจะคิดอะไรลึกซึ้งกว่าสิ่งที่เขาแสดงออกอยู่พอสมควร


อยากให้ช่วยแนะนำตัวเองหน่อย

ผมไม่รู้จะแนะนำตัวเองว่าเป็นอะไรดี ถ้าพูดเป็นทางการ ผมอาจจะบอกว่าตัวเองเป็นศิลปิน แต่ถ้าให้พูดจริงๆ ผมคงเรียกตัวเองว่าเป็นคนขี้เกียจคนหนึ่ง (ยิ้ม) ตอนแรกผมไม่ได้สนใจทำหนังเลย เพราะเรียนด้าน Contemporary Art มา แต่พอทำงานไปเรื่อยๆ จึงมีโอกาสได้มาทำหนัง เริ่มจากหนังสั้น ทำไปเรื่อยๆ ก็มีโอกาสทำเรื่อง Non-fiction Diary ซึ่งตอนแรกคิดว่าจะทำเป็นหนังสั้นแต่ก็กลายเป็นหนังยาว แล้วก็ดันได้รับรางวัลที่เทศกาลหนังปูซาน ได้ไปฉายในหลายประเทศ ทางรัฐบาลก็มีทุนให้กับหนังในแนวนี้ ผมเลยได้ไปแสดงตามที่ต่างๆ เลยกลายเป็นผู้กำกับไปเลย

ที่บอกว่าทำหนังแล้วขาดทุนไปเรื่อยๆ แล้วตอนนี้คุณอยู่ยังไง

ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน (นึก) ไม่รู้จริงๆ ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้วก็ไม่ได้ใช้เงินพ่อแม่ ตั้งแต่อายุประมาณ 29 ก็ไม่ได้ทำงานอื่นเลยแม้แต่งานพาร์ทไทม์ ก็ใช้ชีวิตด้วยตัวเอง แล้วก็อยู่มาได้เรื่อยๆ แต่จริงๆ แล้ว คิดว่าน่าจะเป็นแฟนที่มีเรื่อยๆ เป็นคนเลี้ยงผมมาตลอด (ยิ้ม)

ที่คุณบอกว่าสังคมเกาหลีพังไปแล้ว และสังคมไทยกำลังจะพัง ช่วยอธิบายหน่อย

แบบนี้ยังต้องอธิบายอีกเหรอถึงจะเข้าใจ


ก็เรายังไม่รู้เกี่ยวกับสังคมเกาหลีเท่าไหร่


สังคมเกาหลีพังไปแล้ว คนจนก็จนขึ้นเรื่อยๆ คนที่รวยก็รวยขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งประเทศไทยก็จะเป็นแบบนั้นเหมือนกัน เมื่อวานผมไป BACC มา ไปดูที่นั่นก็รู้แล้วว่า ประเทศไทยจะพัง เพราะการออกแบบของ BACC นั้นลอกแบบมาจากกุกเกนไฮม์ ในนิวยอร์ก (โซโลมอน อาร์. กุกเกนไฮม์ หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่เป็นที่รู้จักที่สุดในนครนิวยอร์ก) แบบหน้าด้านๆ จนผมรู้สึกเขินแทนคนไทย สังคมเอเชียตอนนี้มันสะท้อนว่า กำลังทำตามประเทศตะวันตกโดยที่ไม่คิดอะไรเลย


คุณกำลังบอกว่า เอเชียควรรักษาอัตลักษณ์ของตัวเองไว้

แต่มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะตอนนี้เราทุกคนได้ทำตามเขาไปแล้ว ดังนั้นตอนนี้ทุกคนจึงพัง ถึงจะพยายามเท่าไหร่ก็ทำอะไรไม่ได้ เท่าที่ผมคิดได้เร็วๆ คนเอเชียไม่ค่อยสนใจว่า เอเชียจะเป็นยังไง สิ่งที่มันแปลกคือ อย่างเกาหลีจะทำตามอเมริกาและคิดว่าตัวเองอยู่ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ส่วนจีนจะคิดว่าตัวเองดีที่สุดในเอเชีย และญี่ปุ่นจะไม่คิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของเอเชีย คือคิดว่าตัวเองพัฒนาไปกว่านั้น

ประเทศเอเชียตะวันออก เกาหลี จีน ญี่ปุ่น เจอสิ่งที่ไทยกำลังเจอมาก่อน เลยคิดว่าหนังทั้งสองเรื่องนี้สำคัญซึ่งคนไทยควรจะได้ดู ทั้งสองเรื่องนี้ผมใช้เวลาทำรวม 10 ปี ซึ่งก็คืออดีตและปัจจุบันของเกาหลี และสิ่งนี้ก็คืออนาคตของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมจึงอยากแชร์สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในเกาหลี แล้วให้ลองมาถกกัน


อยากให้คุณลองวิพากษ์วิจารณ์เมืองไทยในแบบที่คุณเห็น

ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ ทุกคนเลี้ยงผมดีมากจนไม่รู้จะวิจารณ์อะไร (หัวเราะ) แต่เมื่อปีที่แล้วพอบอมซอมไพเรท (Bamseom Pirates Seoul Inferno) ไปแสดงที่ร็อตเตอร์ดัม หลังจากนั้นผมมาแบ็คแพ็คที่ไทย ผมรู้สึกว่ากรุงเทพฯ เหมือนโซลประมาณ 20 ปีที่แล้ว ปกติเวลาผมไปเที่ยวที่ไหนผมจะเดินไปเรื่อยๆ แบบไม่มีจุดหมายหนึ่งวัน เพื่อดูว่าระบบทางเดินของประเทศนั้นๆ เป็นอย่างไร

ผมรู้สึกว่าระบบทางเดินของไทยนั้นไม่ดีเอาเสียเลย มันอาจเป็นประเด็นเล็กๆ แต่มันสะท้อนว่า ประเทศไทยไม่ได้ให้คุณค่ากับคน กรุงเทพฯ รถเยอะ ทางเดินแคบ และไม่ค่อยมีการจำกัดความเร็วรถ การจำกัดความเร็วแสดงให้เห็นว่า รัฐให้คุณค่ากับชีวิตคน เมื่อไม่ค่อยมีในเรื่องแบบนี้ ก็แสดงให้เห็นว่ารัฐให้ความสำคัญกับอย่างอื่นมากกว่าคน ซึ่งแต่ก่อนเกาหลีก็เป็นแบบนี้ และปัญหานี้ก็ไม่ได้มีแค่ในไทย ถ้ามองทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยก็ถือเป็นประเทศที่พัฒนากว่า

พอมารอบนี้ ผมได้ฟังเกี่ยวกับการเมืองไทยเยอะมาก ผมได้ยินว่าประมาณ 8 ปีที่แล้วมีคนตายเพราะการประท้วงกว่า 90 คน ผมสงสัยว่า แล้วทำไมถึงไม่มีคดีอาญาเกิดขึ้นเลย เพราะเหตุการณ์ประท้วงและมีคนตายที่เกาหลีนั้นเกิดขึ้นบ่อยมาก แต่ทุกครั้งที่มีคนตายเพียงแค่หนึ่งคนก็จะมีการประท้วงที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามมา จากร้อยเป็นพันเป็นหมื่นคนเพื่อประท้วงเรื่องนั้นต่อไป และหาวิธีเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาล อาจจะเป็นการไล่ประธานาธิบดีในขณะนั้นออกก็ได้ เช่น ปีที่แล้วก็เพิ่งมีการรวมตัวประท้วงเพื่อไล่ประธานาธิบดีออก แต่ขณะที่ของไทยตายไปตั้ง 90 คนกลับไม่เห็นมีการเรียกร้องความรับผิดชอบต่อเรื่องแบบนี้ ผมเลยแปลกใจ แต่จะให้เข้าใจก็คงต้องเข้าใจ


หนังเกาหลีที่เราได้ดูก็มีที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมเกาหลีอยู่พอสมควร ทำให้รู้สึกว่าวงการภาพยนตร์เกาหลีก็เปิดกว้างพอประมาณหนึ่ง


10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้เป็นแบบนั้น ทุกคนที่ทำหนังในเชิงวิพากษ์จะอยู่ในแบล็คลิสต์ของรัฐบาล และไม่เคยได้ฉายหนัง โรงหนังอาร์ตที่ฉายหนังอินดี้หรือหนังเชิงศิลปะก็ไม่มีทุนจากรัฐบาลจนต้องปิดตัวไปหมด แต่คนเหล่านี้ก็ยังยืนยันที่จะทำหนังมาตลอดโดยไม่ได้สนใจเรื่องไม่มีทุนหรือไม่มีโรงฉาย

มีหนังเรื่องหนึ่งชื่อ The Attorney (2013) ซึ่งผู้กำกับที่ทำหนังเรื่องโดนวิจารณ์อย่างมากจากรัฐบาล และรัฐบาลยังสั่งไม่ให้มีการเทรดหุ้นของบริษัทที่ทำหนังเรื่องนี้ในตลาดหลักทรัพย์ คิดดูว่าขนาดหนังไซส์ใหญ่ขนาดนี้ที่มีบริษัทใหญ่มาซับพอร์ทก็ยังโดน ไม่ต้องพูดถึงศิลปินอิสระว่าจะยิ่งโดนหนักขนาดไหน

ประธานาธิบดีปาร์ค กึน เฮ ที่เพิ่งโดนไล่ออกจากตำแหน่ง เหตุผลหลักอย่างหนึ่งก็มาจากคดีเรือเซวอล ซึ่งหนังทุกเรื่องหรือสารคดีที่เกี่ยวกับเรือเซวอลถูกห้ามฉายโดยรัฐบาล นึกภาพว่า มีคนที่อยากทำหนังเกี่ยวกับคดีเรือเซวอลและไม่สนใจว่ารัฐบาลจะว่ายังไง ใช้เวลาทำอยู่ 5 ปี พอเสร็จรัฐบาลบอกว่าห้ามฉาย สำหรับชีวิตผู้กำกับแล้ว นั่นคือจุดจบ เป็นเหมือนความตายในรูปแบบหนึ่ง

การโดนแบล็กลิสต์ใช้ชีวิตลำบากมากขึ้นไหม

จริงๆ สิ่งที่เรียกว่า ‘แบล็คลิสต์’ ทุกคนรู้ว่ามี แต่ไม่มีการประกาศออกมาเป็นทางการ แต่หลังจากเปลี่ยนเป็นรัฐบาลชุดปัจจุบันถึงเพิ่งรู้ว่ามันมีอยู่จริง ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐที่ต่อต้าน ไม่ยอมทำแบล็คลิสต์ก็จะโดนไล่ออกหมด คนที่อยู่ในแบล็กลิสต์ตอนนี้มีประมาณ 2,000 คน คือเป็นรายชื่อทั้งหมด ทั้งนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว ศิลปิน ผู้กำกับ นักเขียน คนทั่วไป คือประกาศให้คนรู้เลย ทุกอาชีพโดนได้หมด แต่คนทำหนังอาจจะโดนกดดันมากที่สุด เพราะหนังสร้างผลกระทบได้มากที่สุด ทุกคนที่โดนแบล็คลิสต์ก็โกรธ โมโห แต่ส่วนตัวผมดีใจมากและอาจจะดีใจอยู่คนเดียว

สิ่งที่ผมอยากขอร้องทุกคนคือ ถ้าการหาเงินมันสนุกก็ทำไป ถ้าการเรียนมันสนุกก็ทำไป ถ้าการทำงานมันสนุกก็ทำไป ถ้าการมีแฟนมันสนุกก็ทำไป ทำอะไรที่ตัวเองชอบและมีความสุข อย่างทุกวันนี้การทำหนังทำให้ผมมีความสุข การที่ชื่อผมไปอยู่ในแบล็กลิสต์มันก็เหมือนเหตุการณ์หนึ่งที่ผ่านไป เหมือนกับป้ายรถเมล์ที่ผมผ่านตอนนั่งรถเมล์ ผมไม่ได้เก็บมาคิดมาก และไม่ได้มีผลกระทบกับชีวิตของผมมากขนาดนั้น

มีการเรียกไปปรับทัศนคติไหม

แบบนั้นเป็นสไตล์สมัยก่อนที่เรียกไปปรับทัศนคติหรือทรมาน ปัจจุบันรัฐบาลทำอะไรที่แฟนซีกว่า นั่นก็คือการตัดเงิน


แล้วมันจะไม่มีปัญหากับหนังเรื่องต่อไปที่คุณจะทำใช่ไหม


ทุนจากรัฐก็ลดไปเยอะหลังจากขึ้นแบล็คลิสต์ แต่โดยส่วนตัวผมไม่ใช่คนคิดมาก ดังนั้นถ้าหนังจะออกมาไม่ดี ไม่ได้รับรางวัล ก็เพราะผมดูแล้วรู้สึกว่ามันไม่ดีมาก ไม่เกี่ยวกับว่าผมจะโดนหรือไม่โดนแบล็คลิสต์

ภาพจาก Documentary Club

อยากแลกเปลี่ยนว่า ปรับทัศนคติในไทยอาจจะน่ากลัวกว่าเกาหลี เช่น มีทหารตามมาหาคุณที่บ้าน คุยกับพ่อแม่พี่น้องของคุณด้วย บางทีก็พาตัวไปเข้าค่ายทหาร ถ้าเป็นในเกาหลี ทำยังไงพวกเขาถึงจะเลิกทำเรื่องแบบนี้

ที่เกาหลีเคยเป็นมาก่อน ประมาณ 30-40 ปีที่แล้ว ผมเข้าใจว่ามันน่ากลัว แต่ผมเกิดไม่ทันเหตุการณ์พวกนี้เหมือนกัน

สำหรับผม เรื่องที่หนังเกี่ยวกับเหตุการณ์เรือเซวอลถูกห้ามฉาย ไม่ได้ทุน พวกผู้กำกับก็จะวิจารณ์ แต่ผมรู้สึกว่าคนพวกนั้นแค่ทำตามหน้าที่ เขาก็มีครอบครัว มีคนที่ต้องเลี้ยงดู เพราะฉะนั้นผมจะไม่โทษคนพวกเขา ดังนั้นคนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องอะไรพวกนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักศึกษาหรือศิลปิน หรือคนที่ยังไม่มีภาระต้องรับผิดชอบ ในบอมซอมไพเรท เด็กๆ พวกนั้นเขาทำไปโดยที่ไม่ได้คิดอะไรเยอะ ทำด้วยความโกรธ โมโห ดังนั้นไม่ต้องถามผมว่า ทำอย่างไรถึงจะให้เขาเลิกปรับทัศนคติ ถ้าคนโกรธ พวกเขาก็จะออกมาทำมันเอง ถ้ายังไม่ทำอะไรก็แสดงว่า พวกเขายังรู้สึกว่าสามารถใช้ชีวิตปกติได้อยู่

มีประธานาธิบดีเกาหลีคนหนึ่งคือ ‘คิมแดจุง’ เขาเป็นคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างหนัก มีคำพูดหนึ่งที่ดังมากของเขาคือ เขาบอกว่า ‘ถ้าโมโหก็ออกมาประท้วงหรือเขวี้ยงก้อนหินใส่ แต่ถ้าไม่มีความกล้าหาญพอจะทำสิ่งนั้น ขากลับบ้าน ตะโกนใส่กำแพงก็ยังดี’

แต่ผมเป็นคนทำหนัง ผมไม่ได้เขวี้ยงก้อนหินใส่ใครเพื่อเรียกร้องอะไร แต่ผมแค่อยากทำให้หนังมันกระทุ้งคนดู และอยากให้หนังของผมได้ฉายในเชิงพาณิชย์ได้ เพราะมันสำคัญที่จะให้คนได้ดู ผมเห็นหลายกรณีที่ผู้กำกับหนังทำหนังวิจารณ์สังคมอย่างรุนแรง แต่หลังจากทำหนังเสร็จก็ไม่ทำอะไรต่อเลยก็มีเยอะแยะ ดังนั้น สิ่งที่ยากกว่าทำหนัง คือการเอาหนังเข้าไปฉายในโรงหนังเชิงพาณิชย์ ตอนที่ผมทำหนังตั้งแต่เรื่อง Non-fiction Diary คนมาบอกว่าหนังอย่างนี้จะไปฉายในโรงได้อย่างไร ผมรู้สึกว่า คนเหล่านี้ช่างไม่เข้าใจอะไรเลย เพราะสำหรับผม การเป็นศิลปินคือการท้าทายให้ทำในสิ่งที่คนบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้

มีคนถามผมมาตลอดว่า เมื่อไหร่จะทำหนังฟิคชั่น ผมคิดจะทำหนังฟิคชั่นแบบโรแมนติกคอมเมดี้ อย่างพวก บริดเจต โจนส์ ไดอารี่ อะไรแบบนั้น

ทั้ง Non-fiction Diary และ Bamseom Pirates ก็เป็นหนังที่สำคัญ บ่งบอกถึงสังคมในปัจจุบัน แต่เรื่องความรักเองก็มีความสำคัญเหมือนกัน ผมถ่ายสารคดีเพื่อให้เข้าใจมนุษย์ แต่คนส่วนใหญ่รู้จักแต่ตัวเอง และบางครั้งบางคนยังไม่รู้จักตัวเองด้วยซ้ำ ส่วนตัวผมเลยไม่ค่อยชอบบอกว่าตัวเองต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เพราะถ้าตัวเรามีคำตอบของเราให้คนอื่นเยอะมากไป มันจะทำให้เราเข้าใจคนอื่นยากขึ้น



ทุกวันนี้หนังทั้งสองเรื่องของคุณได้ฉายในโรงหนังเชิงพาณิชย์ที่เกาหลีหรือยัง

หนังทั้งสองเรื่องได้ฉายในโรงใหญ่แล้ว ฟีดแบคคือ คนที่ทำหนังหรือนักวิจารณ์จะชอบ ส่วนคนทั่วไปก็ด่าเยอะมาก แต่ผมคิดว่า ที่ด่าเยอะเป็นเพราะไม่เคยเห็นหนังแบบนี้มาก่อน จริงๆ แล้วผมชอบให้คนด่า เพราะการดูหนังแล้วคนด่าแปลว่าคนดูตกใจ การตกใจแปลว่า มันคือสิ่งที่แปลกใหม่

ในหนังเรื่องบอมซอมไพเรท คุณเล่าว่ามีฟุตเทจจากเกาหลีเหนือที่คุณยังไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ แปลว่าหนังของคุณเรื่องนี้ผิดกฎหมายอยู่ใช่ไหม

สำหรับเกาหลีเหนือก็คงถือว่าผิดกฎหมาย ที่ตลกคือฟุตเทจนั้นเป็นของเกาหลีเหนือ มีชื่อผู้กำกับเป็นคนเกาหลีเหนือ แต่จริงๆ คนที่ทำหนังเรื่องนั้นคือผู้กำกับเกาหลีใต้ที่ทางเกาหลีเหนือลักพาตัวไป ชื่อ ‘ชินซังโอก’ ถ้าวันไหนทางเกาหลีเหนือส่งเมล์มาทวงค่าลิขสิทธิ์ผมก็จะจ่ายเงินให้ เมื่อไหร่ก็ได้ แต่คิดว่าเขาคงไม่ได้ดูหนังผมหรอก


หนังเรื่องต่อไปจะเอามาฉายที่ไทยไหม

ตอนที่ไปฉายตามที่ต่างๆ มักจะมีคนถามว่า ทำไมคุณถึงทำหนัง ผมก็ตอบไปว่า เพราะทำหนังมีคนรักเยอะ จึงแน่นอนอยู่แล้วว่า ผมอยากให้คนไทยได้ดู

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.