ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
Posted: 05 Aug 2018 01:03 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-08-05 15:03
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต แนะเร่งรัดลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจทางด้านคมนาคมและระบบรางก่อนเลือกตั้ง ลดต้นทุนโลจีสติกส์ของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจในระยะยาว แต่ให้ระวังการก่อหนี้ภาครัฐ ปัญหาทุจริตรั่วไหลของโครงการตลอดจนการประเมินโครงการเชิงบวกมากเกินไปจนเกิดการลงทุนเกินความจำเป็น ประสบภาวะขาดทุนยาวนานและเป็นภาระทางงบประมาณ ส่วนการเร่งรัดการเปิดประมูลโครงการใหญ่ๆ นั้นไม่มีความจำเป็น ควรรอรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง
5 ส.ค. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นต่อการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและเร่งรัดการเปิดประมูลโครงการเมกะโปรเจคต์ต่างๆ ก่อนการเลือกตั้งว่าการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจทางด้านคมนาคมและระบบรางก่อนเลือกตั้งหลายแสนล้านบาทเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องรอบคอบ โปร่งใส และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ มองผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศเป็นหลัก ส่วนการหวังกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนการเลือกตั้งนั้นไม่ควรนำมาเป็นเป้าหมายหลัก เป็นเพียงผลพลอยได้จากการลงทุนเมกะโปรเจคต์เหล่านี้ เนื่องจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดการลดต้นทุนโลจีสติกส์ของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจในระยะยาว เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่ให้ระวังเรื่องการก่อหนี้ภาครัฐและการบริหารจัดการหนี้สาธารณะในอนาคต ต้องระมัดระวังการให้สัมปทานที่อาจเอื้อประโยชน์กับเอกชนรายใหญ่จนก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อรัฐและประชาชน ต้องเอาใจใส่กับปัญหาทุจริตรั่วไหลของโครงการตลอดจนต้องไม่ประเมินโครงการต่างๆ ในเชิงบวกมากเกินไปจนเกิดการลงทุนเกินความจำเป็นไม่คุ้มทุน ประสบภาวะขาดทุนยาวนานและเป็นภาระทางงบประมาณจำนวนมากในอนาคต
สำหรับประเด็นการประเมินโครงการลงทุนขนาดใหญ่เชิงบวกมากเกินไปนั้นเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ จากแบบสำรวจของหอการค้าญี่ปุ่นในกรุงเทพฯและองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นหรือเจโทรได้ถามถึงความกังวลใจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยเกี่ยวกับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อีอีซี โดยพบว่า 36% มีความกังวลใจต่อมุมมองเชิงบวกของรัฐบาลไทยต่ออุปสงค์ในอนาคต เช่น กรณีการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตลอดจนการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งรัฐบาลได้ประมาณการตัวเลขผู้ใช้บริการทั้งรถไฟฟ้าความเร็วสูงและสนามบิน ซึ่งอาจจะเป็นตัวเลขที่มีมุมมองเชิงบวกเกินไป ทำให้มีผลต่อการประมาณการลงทุนโครงการ รวมทั้งตัวเลขการลงทุนของบริษัทเอกชนในพื้นที่อีอีซี บริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาสำรวจข้อมูลและประเมินแล้วไม่ได้ออกมาเป็นบวกมากเท่าตัวเลขของรัฐบาล นอกจากนี้ นโยบายส่งเสริมการลงทุนโครงการพื้นฐานทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่บางส่วนนั้นเป็นการลงทุนแบบ PPP คือเป็นการลงทุนรัฐร่วมเอกชน ซึ่งขณะนี้บางโครงการยังไม่มีความชัดเจนตามที่วางแผนไว้ ซึ่งผลสำรวจมีบริษัทญี่ปุ่น 35% ยังมีความกังวลถึงความไม่ชัดเจนของแผนการพัฒนาโครงการต่างๆ ในเขตอีอีซี เป็นต้น
ส่วนการเร่งรัดการเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่ในรัฐบาลชุดนี้อาจไม่ได้มีความจำเป็นมาก การเปิดประมูลภายในระบบการเมืองแบบปิดอาจก่อให้เกิดการเอื้อประโยชน์จากการวิ่งเต้นกับผู้มีอำนาจได้ง่าย การเปิดประมูลภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลและต้องดำเนินการตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดจะเป็นการเหมาะสมกว่า ตั้งแต่เดือน ก.ค.ไปจนถึงปลายปีนี้ กระทรวงคมนาคมจะทะยอยเสนอโครงการต่างๆไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ซึ่งในส่วนโครงการรถไฟทางคู่เฟสสอง 9 เส้นทาง 3.9 แสนล้านบาท จะเสนอ ครม.ทั้งหมดในปีนี้ และคาดว่าในเดือนก.ค.จะเสนอรถไฟทางคู่สายใหม่เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 7.2 หมื่นล้านบาทให้ ครม.พิจารณาได้ ส่วนที่เหลืออีก 8 เส้น อยู่ระหว่างดำเนินการตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 1.01 แสนล้านบาท จะเปิดประมูลในเดือน ต.ค.นี้ ส่วนสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ 1.09 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนแบบ PPP จะเสนอครม.อนุมัติในเดือน พ.ย.นี้ ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง 2.6 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเสนอ ครม.พิจารณาได้ในเดือน ต.ค.-พ.ย.ปีนี้เช่นกัน และโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะเปิดประมูลปลายปีนี้ เป็นต้น
หากรัฐบาล คสช วิตกกังวลว่า โครงการขนาดใหญ่อาจจะมีความล่าช้า ไม่มีความต่อเนื่องหลังการเลือกตั้งก็ต้องถามว่าทำไมผู้มีอำนาจจึงร่างรัฐธรรมนูญออกแบบให้ระบบเลือกตั้งได้รัฐบาลที่อ่อนแอ ยกเว้นรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจาก คสช. เท่านั้นจึงจะเข้มแข็งด้วยเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียงที่ตัวเองแต่งตั้ง การออกแบบรัฐธรรมนูญแบบนี้ไม่ได้เป็นการวางรากฐานให้ระบอบประชาธิปไตยมั่นคงแต่ต้องให้เกิดความมั่นคงในการสืบทอดอำนาจมากกว่า เมื่อไม่ได้รัฐบาลเข้มแข็งหลังการเลือกตั้งย่อมเป็นอุปสรรคต่อการสานต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงการขนาดใหญ่ทั้งหลาย ไม่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อการปฏิรูปประเทศและจะทำให้ประเทศประชาชนเสียโอกาส
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่ออีกว่าขอเสนอให้ออกระเบียบและเงื่อนไขเพิ่มเติมด้านสิ่งแวดล้อม การถ่ายโอนเทคโนโลยี สภาพการจ้างงาน และการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการให้สัมปทานต่างชาติในโครงการขนาดใหญ่ต้องรอบคอบและโปร่งใส การให้สัมปทานต้องยึดหลักธรรมาภิบาล มียุทธศาสตร์ที่ดี รักษาดุลอำนาจอย่างเหมาะสมในโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้ผลประโยชน์จากการลงทุนกระจายมายังคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่คนไทยกลุ่มเล็กๆ หรือทุนขนาดใหญ่ข้ามชาติเท่านั้น นอกจากนี้ควรเร่งรัดในการบังคับใช้กฎหมายภาษีลาภลอยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจเกิดความเป็นธรรมในการใช้งบประมาณในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่
แสดงความคิดเห็น