'เจฟฟ์ เบซอส' เจ้าของแอมะซอนและวอชิงตันโพสต์ ปัจจุบันเขาเป็นผู้ที่มีมูลค่าทรัพย์สิน 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มาภาพประกอบ: Steve Jurvetson (CC BY 2.0)


Posted: 05 Aug 2018 03:40 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-08-05 17:40


ในปีนี้มีข่าวระบุถึง 'เจฟฟ์ เบซอส' เจ้าของแอมะซอนและวอชิงตันโพสต์ในฐานะเศรษฐีรายใหญ่ของโลกที่รวยกว่า 'บิล เกตต์' แต่ทว่าเบื้องหลังความร่ำรวยของเขาแลกมาด้วยความเจ็บปวดของคนทำงานให้กับบรรษัทของเขา รวมถึงแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำหนักมากในระดับที่จะสร้างปัญหาต่อระบอบประชาธิปไตยตามมา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเบซอสเป็นตัวร้ายแต่อย่างใด ปัญหามาจากระบบในสหรัฐฯ ที่เป็นต้นเหตุเอื้อให้เศรษฐีสั่งสมทุน ผลักภาระภาษีให้กับคนที่มีรายได้จากการทำงานแทนที่จะได้เก็บจากนายทุนและก่อความเหลื่อมล้ำได้มากขนาดนี้

5 ส.ค. 2561 รายงานจากสื่อดิแอตแลนติคนำเสนอปัญหาความเหลื่อมล้ำในสหรัฐฯ โดยพูดถึงมหาเศรษฐี เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งบริษัทอีคอมเมิร์ซแอมะซอนและเจ้าของสื่อวอชิงตันโพสต์ ในปัจจุบันเขาเป็นผู้ที่มีมูลค่าทรัพย์สิน 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่ กลายเป็นมหาเศรษฐีคนเดียวที่มีเงินมากกว่าบิล เกตส์ ครึ่งหนึ่ง มากกว่ามาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก สองเท่า และมากกว่าโดนัลด์ ทรัมป์ 100 เท่า และเมื่อเทียบกับรายได้ต่อหัวโดยเฉลี่ยของครอบครัวอเมริกันแล้ว เขามีทรัพย์สินมากกว่าถึง 2 ล้านเท่า นอกจากนี้ยังมีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 50,000 ล้านดอลลาร์ภายในไม่ถึง 1 ปี

ถึงแม้จะมองได้ว่าความเฉียบแหลมในการเป็นเจ้าของธุรกิจของเขาจะทำให้เขาส่งอิทธิพลในด้านต่างๆ เกี่ยวกับการอ่านและการซื้อขาย-จัดส่งสินค้าในโลกปัจจุบัน แต่ในแง่ที่เขามีทรัพย์สินมากมายขนาดนี้เป็นผลมาจากความล้มเหลวทางนโยบาย วิธีการทางภาษี ระบบการโอนทรัพย์สิน ระบบธุรกิจ และบรรยากาศการควบคุมทำให้เกิดการสั่งสมความมั่งคั่งแค่ในกลุ่มคนจำนวนไม่กี่คน

ในบทความของดิแอตแลนติคยังระบุถึงเรื่องที่บริษัทแอมาซอนของเบซอสเป็นหนึ่งในบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่แสดงให้เห็นถึงตัวอย่างของการที่ทุนมีชัยเหนือแรงงาน อีกทั้งเบซอสเองก็ไม่ใช่คนที่ใช้เงินไปกับการกุศลเท่าไหร่เมื่อเทียบกับเศรษฐีอื่นๆ อย่างเกตส์ ในทางตรงกันข้ามเขาบอกว่าเขาจะใช้ "การถูกหวยทางการเงิน" จากบริษัทแอมาซอนให้กับโครงการเดินทางสู่อวกาศ

ในขณะที่เบซอสบอกว่าเขามีเงินมากจนมีการกุศลไม่มากพอจะให้เขาเอาไปบริจาค คนงานที่ทำงานให้แอมะซอนกลับทำรายได้น้อยกว่า 28,446 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี อีกทั้งยังต้องทำงานภายต้การถูกสอดส่องแข่งกับเวลา ต้องจัดการกับสินค้าจำนวนมากถึง 1,000 รายการและเดินมากถึง 15 ไมล์ ต่อการทำงานหนึ่งกะ มีคนงานบางคนบอกว่าพวกเขาได้พักเข้าห้องน้ำแค่เพียง 6 นาทีเท่านั้น จนถึงขั้นมีลูกจ้างชั่วคราวล้มลงเสียชีวิตบนพื้นขณะทำงานเมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว ทั้งนี้แอมะซอนยังมักจะตอบโต้กับคนที่เปิดโปงเรื่องของลบริษัท เคยมีการร้องเรียนในเรื่องค่าแรงและการละเมิดเวลาทำงานเกิดขึ้นซ้ำๆ หลายครั้ง
การเลี่ยงภาษีของเจ้าของทุน และการกดค่าแรงที่ผลักภาระภาษีให้กับคนทำงาน

ดิแอตแลนติคยังเปิดเผยถึงข้อจำกัดในระบบภาษีของสหรัฐฯ ที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ นั่นคือในระบบ "ภาษีอัตราก้าวหน้า" แบบสหรัฐฯ ระบุให้คนทำงานที่ได้รับเงินเดือนมากกว่าต้องจ่ายภาษีสูงกว่าคนทำงานที่ได้รับน้อยกว่า อย่างไรก็ตามเบซอสทำงานโดยรับเงินเดือนจำนวนน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับความร่ำรวยของเขามาจากปริมาณหุ้นที่เขาเป็นเจ้าของ ซึ่งรายได้ส่วนหลังนี้เป็นรายได้ที่ขึ้นกับภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ (capital-gains taxes) แต่อัตราการเก็บภาษีนี้น้อยกว่าอัตราภาษีเงินได้จากการทำงาน ทำให้คนรวยจากการเป็นเจ้าของทุนอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ อาจจะจ่ายเงินน้อยกว่าเลขาฯ ที่ทำงานให้เขาเสียอีก

นอกจากนี้ในกรณ๊ของแอมะซอน พวกเขายังไม่ได้จ่ายภาษีเงินได้บรรษัทสำหรับรัฐบาลกลางเมื่อปีที่แล้วด้วย แม้จะมีรายได้หลายพันล้าน นอกจากนี้ยังมีการพยายามต่อกรกับภาษีระดับรัฐและภาษีสำหรับท้องถิ่นด้วยการอ้างผลประโยชน์การลงทุนและ "การสร้างงาน" แต่ก็ทำให้เบซอสรวยขึ้นเรื่อยๆ จากการเลี่ยงภาษี

ในแง่ของการจ่ายเงินเดือนแอมะซอนจ่ายค่าตอบแทนเริ่มต้นให้พนักงานน้อยกว่าค่าแรงยังชีพของสหรัฐฯ คือราว 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมงและเงินค่าจ้างโดยเฉลี่ยก็ต่ำกว่าค่าแรงยังชีพในสหรัฐฯ ด้วย ดิแอตแลนคิตระบุว่าการจ่ายค่าแรงน้อยๆ นี้เองที่ยิ่งกลายเป็นการที่บรรษัทผลักภาระให้กับผู้จ่ายภาษี เพราะทำให้คนยากจนรายได้น้อยแหล่านี้ต้องหันมาพึ่งพาโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ขณะที่บรรษัทเลี่ยงภาษีนี้กดขี่ค่าแรงจากคนระดับล่างไปเรื่อยๆ เพื่อเอื้อผลประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่
จำกัดการแข่งขัน

นอกจากนี้แอมะซอนยังฉาวโฉ่ในเรื่องของ "Noncompete agreements" หรือ "ข้อตกลงไม่แข่งขัน" คือการให้คนงานต้องลงนามข้อตกลงว่าจะไม่ตั้งบริษัทหรือทำงานในแบบที่เป็นการแข่งขันกับบริษัท ของแอมะซอนให้คนงานลงนามว่าในช่วงหลังออกจากงาน 18 เดือน จะต้องไม่ไปทำงานให้กับบริษัทที่เป็นคู่แข่งแอมะซอน "ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยทางอ้อม" ก็ตาม ซึ่งเป็นการวางเกณฑ์ข้อตกลงที่กว้างมากในระดับที่ทำให้คนที่ออกจากแอมะซอนอาจจะถึงขั้นไม่สามารถไปสมัครงานกับบริษัทไปรษณีย์ บริษัทขนส่ง โกดังหรือห้างค้าปลีก ใดๆ ได้

ไม่เพียงแค่แอมะซอนเท่านั้นที่มีลักษณะการกีดกันการแข่งขันเช่นนี้ บรรษัทใหญ่อื่นๆ เช่น แมคโดนัลด์ ก็เคยมีนโยบายให้ลูกจ้างลงนามข้อตกลง "no-poaching clauses" ซึ่งหมายถึงการห้ามไม่ให้สาขาอื่นๆ ในแฟรนไชล์เดียวกันจ้างพนักงานจากอีกแฟรนไชล์ โดยถือเป็นการจำกัดการแข่งขันแย่งลูกจ้างเพื่อกดค่าแรง รวมถึงเป็นการจำกัดให้ลูกจ้างที่มีประสบการณ์ไม่สามารถเติบโตในการทำงานกับสาขาอื่นได้

อย่างไรก็ตามในช่วงกลางเดือน ก.ค. 2561 ที่ผ่านมามีข่าวเรื่องรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ บ็อบ เฟอร์กูสัน ประกาศเรื่องที่บรรษัทฟาสต์ฟู้ดรายใหญ่ในสหรัฐฯ รวมถึงแมคโดนัลด์ ลงนามร่วมกันว่าจะยกเลิกข้อบังคับ "no-poaching" นี้โดยที่เฟอร์กูสันแถลงว่า "กฎหมายต่อต้านการผูกขาดในรัฐของพวกเราชัดเจนว่า ธุรกิจจะต้องแข่งขันกันเพื่อหาลูกจ้างในแบบเดียวกับที่แข่งขันกันในการหาลูกค้า" โดยที่ข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลกับทั่วประเทศสหรัฐฯ ไม่ใช่เพียงแค่รัฐใดรัฐหนึ่ง
อำนาจการกำหนดราคา และบีบช่องทางธุรกิจอื่นๆ

ไม่เพียงแค่การลิดรอนสิทธิของคนงานเท่านั้น แอมะซอนยังอาศัยการครอบงำอีคอมเมิร์ซในการกำหนดราคาสินค้าและการบีบช่องทางธุรกิจอื่น เช่น เคยมีการวิจัยจากดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าการที่แอมะซอนไปก่อตั้งศูนย์คลังสินค้าออนไลน์ของตัวเองทำให้ธุรกิจโกดังในพื้นที่นั้นๆ มีรายได้น้อยลง บีบให้คนทำงานในโกดังเหล่านั้นมีรายได้น้อยลงไปด้วย

ในแง่ของสหภาพแรงงานที่จะช่วยเรียกร้องค่าแรงและพัฒนาสภาพการทำงาน แอมะซอนพยายามกีดกันการจัดตั้งสหภาพแรงงานโดยเสมอ ด้วยวิธีการรังแกคนที่จะมาเป็นผู้นำสหภาพเช่นการไล่ออก การสั่งปิดปฏิบัติการของคนงานที่พยายามจัดตั้ง อีกทั้งยังอบรมฝ่ายผู้จัดการว่าจะทำลายสหภาพฯ อย่างไร

นอกจากนี้ดิแอตแลนติคยังวิพากษ์ฝ่ายกำกับดูแลของรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงศาลที่ไม่อยู่ข้างสหภาพแรงงานแต่หันไปเข้าข้างเจ้าของธุรกิจซ้ำๆ มาร์ค ไพรซ นักเศรษฐศาสตร์แรงงานจากศูนย์วิจัยคีย์สโตนกล่าวว่าการถูกจำกัดของสหภาพแรงงานและปัจจัยอื่นๆ ดังที่กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ล้วนทำให้คนรวยล้นฟ้ารวยขึ้นเรื่อยๆ และเกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้

รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์เองก็ไม่ได้มีนโยบายที่ช่วยให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจดีขึ้นแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังซ้ำเติมให้แย่ลงไปอีกด้วยการมีนโยบายลดภาษีบรรษัทซึ่งเอื้อต่อคนรวยแทนที่จะช่วยคนงานรายได้ปานกลางและไม่ได้แก้ปัญหาช่องโหว่การเลี่ยงภาษีใดๆ เลย นอกจากนี้ยังมีการลดการกำกับดูแลธุรกิจใหญ่เหล่านี้และแต่งตั้งศาลสูงสุดเป็นกลุ่มที่มีจุดยืนสนับสนุนบรรษัทยักษ์ใหญ่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ผลลัพธ์จากสิ่งเหล่านี้ทำให้ครอบครัวชาวอเมริกันยากจนลงกว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจขณะที่คนรวยล้นฟ้าสั่งสมทรัพย์สินจำนวนมาก
ระบบเศรษฐกิจถูกปั่นให้เอื้อประโยชน์คนบางกลุ่ม

"ความเป็นห่วงเรื่องระดับความเหลื่อมล้ำอย่างน่าประหลาดนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเกี่ยวกับความเป็นธรรม หรือไม่ใช่เรื่องที่ว่าอิจฉา 'องุ่นเปรี้ยว' ต่อคนที่ประสบความสำเร็จอย่างง่ายๆ เสมอไป" ดิแอตแลนติคระบุว่าความเหลื่อมล้ำจากการสั่งสมทุนแบบนี้ทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองและการชะงักงันของเศรษฐกิจตามมา รวมถึงสร้างความเสี่ยงต่อการทำลายประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตามดิแอตแลนติคเน้นย้ำว่าสิ่งที่พวกเขานำเสนอนี้ไม่ใช่เพราะต้องการให้มองว่าเบซอสเป็นผู้ร้าย แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าระบบมีข้้อผิดพลาด การสั่งสมความมั่งคั่งมหาศาลท่ามกลางความเดือดร้อนเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าเกมเศรษฐกิจเกมนี้มัน "ถูกปั่นระบบ" ให้เอื้อประโยชน์ต่อคนบางกลุ่มมาตั้งแต่แรกแล้ว

เรียบเรียงจาก

Jeff Bezos’s $150 Billion Fortune Is a Policy Failure, The Atlantic, 01-08-2018
https://www.theatlantic.com/business/archive/2018/08/the-problem-with-bezos-billions/566552/

Some fast-food chains end restrictive "no-poach" clauses, CBS News, 12-07-2018
https://www.cbsnews.com/news/fast-food-chains-end-restrictive-no-poach-clauses/
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.