โรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ (ภาพจาก wikimedia)

Posted: 06 Aug 2018 03:59 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-08-06 17:59



หลังความขัดแย้งที่กินเวลานานกว่า 40 ปี และกระบวนการสันติภาพที่ใช้เวลานานกว่า 2 ทศวรรษ ในที่สุดประธานาธิบดีฟิลิปปิส์ได้ลงนามในร่างกฎหมายจัดตั้งเขตปกครองตัวเองทางตอนใต้ของมินดาเนาซึ่งจะอนุญาตให้มีรัฐบาลและสภาของตัวเอง ใช้กฎหมายอิสลามและชนเผ่าร่วมกับกระบวนการยุติธรรมปกติ
6 มิ.ย. เว็บข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า โรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ลงนามในกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร (Bangsamoro Organic Law) ซึ่งจะแปรแปรสภาพพื้นที่เขตปกครองตนเองมุสลิมที่ตั้งอยู่บนเกาะทางใต้ของเกาะมินดาเนาเป็นเขตปกครองตนเองใหม่ในชื่อบังซาโมโร หลังกบฏชาวโมโรสู้รบกับกองกำลังของฟิลิปปินส์มาเป็นเวลา 40 กว่าปีเพื่อก่อตั้งรัฐอิสลาม ตามมาด้วยกระบวนการสันติภาพที่นับจากวันนี้ก็ยาวนานกว่า 22 ปีแล้ว โดยร่างกฎหมายดังกล่าวยังได้รับการยอมรับโดยอัลฮัจ มูราด อิบราฮิม แกนนำของกลุ่มแนวกลุ่มแนวหน้าปลดปล่อยอิสลามโมโรในมินดาเนา (MILF) อีกด้วย

แฮรี่ โร๊ค โฆษกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กล่าวว่าการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในมินดาเนา อีกทั้งยังขอบคุณทุกภาคส่วนที่สนับสนุนให้เกิดกฎหมายฉบับนี้ “เราขอแสดงความขอบคุณทุกๆ ท่านที่ทำงานอย่างหนักจนทำให้เกิดการผ่านกฎหมายฉบับนี้” โร๊คกล่าว “เราจะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐในมินดาเนาเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาภายในพื้นที่ต่อไปในอนาคต”

กระบวนการหลังผ่านกฎหมาย

หลังร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับการลงนามจากประธานาธิบดีแล้ว กระบวนการต่อไปที่จะเกิดขึ้นในเขตปกครองตนเองมุสลิมที่ตอนนี้รัฐบาลฟิลิปปินส์มีอำนาจปกครองเสียเป็นส่วนใหญ่คือ
กฎหมายจะถูกนำไปลงประชามติในพื้นที่ที่จะถูกรวมอยู่กับบังซาโมโร ซึ่งคาดว่าจะมีการประชามติในเดือน พ.ย. ปีนี้ ตามมาด้วยการแต่งตั้งสมาชิกหน่วยงานด้านการเปลี่ยนผ่านบังซาโมโรในเดือน ธ.ค. ปีนี้หรือเดือน ม.ค. ปีหน้าโดยประธานาธิบดี
เขตปกครองเดิมจะถูกแทนที่ด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘บังซาโมโร’ ซึ่งแปลว่าชาติของโมโร
จะมีรัฐบาลบังซาโมโรที่มีหัวหน้ารัฐมนตรี (chief minister) และประธานในทางพิธีการเรียกว่า วาลี (Wali)
จะมีรัฐสภาที่ประกอบด้วยสมาชิกทั้งสิ้น 80 คน แบ่งสัดส่วนเป็นผู้แทนพรรคร้อยละ 50 ผู้แทนอำเภอร้อยละ 40 และผู้แทนเขตร้อยละ 10 ในจำนวนนี้รวมไปถึงผู้แทนสองคนสำหรับชนพื้นเมืองและชุมชนที่ไม่ใช่ชาวโมโร
เขตการปกครองบังซาโมโรจะไม่มีทหารและตำรวจเป็นของตัวเอง แต่จะเป็นกองกำลังจากทางการฟิลิปปินส์ กฎหมายนี้ยังห้ามไม่ให้รัฐบาลท้องถิ่นจัดซื้ออาวุธเองเพื่อป้องกันการกระทำการกบฏ
รายได้ของบังซาโมโรร้อยละ 25 จะถูกส่งให้กับรัฐบาลกลาง ที่เหลือจะเป็นของบังซาโมโร ซึ่งคำนวณแล้วเท่ากับเขตปกครองเกิดใหม่จะได้รายได้มากกว่าเดิมร้อยละ 5 โดยรายได้ที่ได้มาจากภาษีเงินได้ ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ รวมถึงภาษีจากทรัพยากรธรรมชาติ
ด้านกระบวนการยุติธรรม จะมีศาลปกติ แต่จะใช้กฎหมายอิสลามหรือชารีอะห์กับคดีที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิม และจะใช้กฎหมายชนเผ่าในกรณีที่มีข้อขัดแย้งระหว่างชนพื้นเมืองในบังซาโมโร
จะมีการโอนถ่ายลูกจ้างในหลายภาคส่วนไปอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลบังซาโมโร โดยมีเพียงลูกจ้างในภาคการศึกษา สาธารณสุขและสวัสดิการสังคมเท่านั้น คาดว่าจะมีพนักงานประจำมากกว่า 6,000 คนที่ทำงานกับเขตปกครองตนเองปัจจุบันที่จะต้องตกงาน
ประวัติการต่อสู่ของกลุ่ม MILF

การผ่านกฎหมายนี้ถือเป็นการสิ้นสุดการเจรจาสันติภาพอันยาวนานถึง 22 ปีระหว่างกลุ่มแนวหน้าปลดปล่อยอิสลามโมโรในมินดาเนา (MILF) และรัฐบาลฟิลิปปินส์ กลุ่ม MILF แยกตัวมาจากแนวหน้าปลดปล่อยชาติโมโรหรือ MNLF ที่ก่อตั้งขึ้นมาและกระทำการต่อต้านรัฐบาลเมื่อปี 2513 โดยมีเป้าหมายเพื่อก่อตั้งรัฐอิสลามที่เป็นเอกราชจากฟิลิปปินส์

หลังจากนั้น 6 ปี เมื่อกลุ่ม MNLF ตกลงปลงใจกับภาวะการเป็นเขตปกครองตนเอง สมาชิกบางคนได้แยกตัวออกมาตั้งกลุ่ม MILF เพื่อดำเนินการต่อสู้ต่อไป จากนั้นมีการเจรจากับ MILF และรัฐบาลในปี 2539 ในยุครัฐบาลฟิเดล รามอส แต่ในปี 2542 รัฐบาลโจเซฟ เอสตราดาประกาศสงครามเต็มรูปแบบกับกลุ่ม MILF ทำให้กระบวนการเจรจาชะงักไป และมาเริ่มใหม่ในปี 2544 ในรัฐบาลกลอเรีย อาโรโย กระทั่งมีสัญญาสันติภาพเกิดขึ้นระหว่างกลุ่ม MILF และประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโนในเดือน ต.ค. 2555 ตามมาด้วยข้อตกลงอย่างครอบคลุมในปี 2557

กฎหมายบังซาโมโรถูกร่างโดยสภาคองเกรสมาตั้งแต่เดือน ม.ค. 2558 ในชื่อ “กฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร” ในขณะนั้นมีเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างตำรวจกับกลุ่มนักสู้ของ MILF เมื่อตำรวจปฏิบัติการจับกุมกลุ่มก่อความไม่สงบเจอาห์ อิสลามียา ซึ่งเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายอัลเคดา หลังจากนั้นมีการกล่าวโทษกลุ่ม MILF ในสภานิติบัญญัติซึ่งทำให้กระบวนการทำกฎหมายบังซาโมโรถูกลดความสำคัญลง

ประธานาธิบดีดูเตอร์เตผู้มาจากมินดาเนาและระบุว่าตนมีเชื้อสายโมโรให้สัญญาว่าจะก่อตั้งบังซาโมโรทันทีหลังจากขึ้นเถลิงอำนาจในปี 2559

โมโรเป็นชื่อที่เพี้ยนมาจากคำเรียกภาษาสเปนที่เรียกชาวมัวร์ ชาวโมโรคือกลุ่มคนจำนวนมากกว่าสิบล้านคนจากหลายชาติพันธุ์ในมินดาเนา พวกเขาหลบหนีการถูกครอบงำจากสเปนและศาสนาคริสต์ในฟิลิปปินส์ในช่วงศตวรรษที่ 16-19 พวกเขายังต่อต้านการที่สหรัฐฯ เข้ามายึดฟิลิปปินส์เป็นอาณานิคมในช่วงศตวรรษที่ 20 ด้วย

เส้นทางการต่อต้านที่ยาวนานทำให้พวกเขามีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ค่อนข้างแตกต่างจากชาวฟิลิปปินส์อื่นๆ ทำให้เกิดการถูกเลือกปฏิบัติรวมถึงการถูกลงโทษโดยรัฐบาลกลาง หลายจังหวัดของโมโรติดรายชื่อจังหวัดที่ยากจนที่สุดในฟิลิปปินส์

แปลและเรียบเรียงจาก
Duterte gives autonomy to Muslim-majority Mindanao region after decades of violence, Reuters, August 6, 2018
Philippines: Duterte to approve autonomous 'Bangsamoro' proposal, Aljazeera, Jul 22, 2018
Congress approves final Bangsamoro Basic Law, Davaotoday, Jul 19, 2018[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.